ลูกห้าวเที่ยวล่าสุด "ปิยบุตร"เปิดหน้าชน"องคมนตรี"


เพิ่มเพื่อน    

 

     เกิดปฏิกิริยาทางการเมืองตามมาเป็นลูกโซ่กับท่าทีการ "เปิดหน้าชน" ของ "ปิยบุตร แสงกนกกุล-แกนนำคณะก้าวหน้า-อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่-อดีตอาจารย์กลุ่มคณะนิติราษฎร์" ที่พาดพิงถึง "นุรักษ์ มาประณีต อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ หลัง ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นองคมนตรี" เมื่อ 4 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันสำคัญของประเทศไทย

                "ปิยบุตร" ระบุถึง "นุรักษ์-องคมนตรี" ไว้ โดยระบุถึงเส้นทางของนุรักษ์ก่อนจะมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ-ประธานศาล รธน. เช่นการเป็น "อดีตคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่เคยตัดสินยุบพรรคไทยรักไทย"

                อนึ่ง หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมจึงมีตำแหน่งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ตุลาการศาล รธน.อย่างในปัจจุบัน เหตุก็เพราะคณะตุลาการรัฐธรรมนูญดังกล่าวเกิดขึ้นหลัง คมช.ทำรัฐประหารเมื่อปี 2549 แล้วพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน มีคำสั่ง คมช.ให้ตุลาการศาล รธน. ยุคก่อนทำรัฐประหารสิ้นสภาพยกแผง จนต่อมามีการเลือกและตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญชุดใหม่ขึ้นมา โดยมี ปัญญา ถนอมรอด ประธานศาลฎีกาเวลานั้น เป็นประธานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญยุคนั้นมีการตัดสินคดีสำคัญๆ ก็คือ การยุบพรรคไทยรักไทย ในเรื่องการจ้างวานพรรคการเมืองขนาดเล็กส่งคนลงเลือกตั้ง แต่ไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นผลพวงคำร้องการสอบสวนทำคดียุบพรรคการเมือง เนื่องจากการเลือกตั้ง 2 เมษายน พ.ศ.2549 ของกรรมการการเลือกตั้งยุค พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ เป็นประธาน

                จุดหนึ่งที่น่าสนใจในการทำหน้าที่ของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเวลานั้น ปรากฏว่าต่อมาหลังมีการตัดสินยุบพรรคไทยรักไทยแล้ว มีการเปิดเผยข้อมูลออกมาว่าก่อนหน้าจะมีการตัดสินยุบพรรคไทยรักไทย ได้มีอดีตนายตำรวจยศ "พ.ต.อ." ไปติดต่อขอพบ "ม.ล.ไกรฤกษ์ เกษมสันต์ อดีตรองประธานศาลฎีกา” ซึ่งเวลานั้นเป็น 1 ใน 9 ตุลาการรัฐธรรมนูญที่ตัดสินให้ยุบพรรคไทยรักไทยที่ห้องทำงานศาลฎีกา เพื่อเสนอเงินให้ช่วยเหลือเรื่องการตัดสินคดียุบพรรค โดยครั้งแรกเสนอให้ 15 ล้านบาท และครั้งที่สองไปพบที่บ้านพัก เสนอให้อีก 30 ล้านบาท แต่ ม.ล.ไกรฤกษ์ไม่รับ จนต่อมามีการสอบสวนเอาผิดอดีตนายตำรวจคนดังกล่าว จนมีการตัดสินจำคุกในเวลาต่อมา ที่หากไปดูรายละเอียดคำตัดสินเรื่องนี้ก็จะเห็นอะไรหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะการพาดพิงถึงสตรีผู้มากบารมีทางการเมืองคนหนึ่ง

            ทั้งนี้ "ปิยบุตร" ได้ระบุในเฟซบุ๊กของตัวเอง โดยไล่ย้อนเส้นทางของนุรักษ์ โดยเฉพาะการตัดสินคดีต่างๆ สมัยเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญและตุลาการศาล รธน.ร่วม 12 ปี ว่าเคยตัดสินคดีสำคัญๆ อะไรมาบ้าง โดยระบุไว้

            “อนึ่ง นายนุรักษ์ มาประณีต เป็นตุลาการรัฐธรรมนูญยุบพรรคไทยรักไทย ตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค 111 คน เป็นเวลา 5 ปี-เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550-เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้ สมัคร สุนทรเวช พ้นจากนายกรัฐมนตรี-เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย พร้อมตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรครวม 109 คน เป็นเวลา 5 ปี-เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยกคำร้องคดียุบพรรคประชาธิปัตย์-เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เรื่องที่มา ส.ว.ตกไป-เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านตกไป-เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ.2557 ไม่ชอบ-เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นจากนายกรัฐมนตรี-เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคไทยรักษาชาติ และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค 10 ปี-เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และล่าสุด...ผลงานสุดท้ายก่อนพ้นจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ คือ #ยุบพรรคอนาคตใหม่ และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค 10 ปี" นี้คือสิ่งที่ปิยบุตรแสดงท่าทีไว้

                จนส่งผลทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ตามมาบนเสียงสะท้อนว่า เขาไม่นำเสนอข้อมูลให้ครบถ้วนรอบด้าน เสนอแต่ด้านที่ต้องการสื่อสาร โดยมีเจตนาบางอย่าง เพราะบางคำร้อง ศาล รธน.ในยุคที่นุรักษ์เป็นประธานและเป็นตุลาการศาล รธน. ก็ยกคำร้องไว้หลายเรื่อง แต่ปิยบุตรกลับเลือกที่จะไม่อ้างถึง เช่น "คดีล้มล้างการปกครอง-อิลลูมินาติ" ที่มีการยื่นร้องให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ แล้วศาล รธน.ยุคนุรักษ์เป็นประธาน ยกคำร้องด้วยมติเอกฉันท์ หรือเสียงวิจารณ์ว่าปิยบุตรไม่อ้างอิงถึงที่มาที่ไป-ความผิดในแต่ละคำร้อง เพื่อบอกว่าการที่ศาล รธน.ยุคนุรักษ์เป็นประธานศาล รธน.ได้ตัดสินไปนั้น ฝ่ายที่ถูกตัดสินให้มีความผิด ได้กระทำความผิดอะไรไปบ้าง อันเป็นการนำเสนอข้อมูลที่ไม่รอบด้าน ทั้งที่ปิยบุตรเคยเป็นนักวิชาการมาก่อน

            ล่าสุดหลังโดนวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้อย่างหนัก "ปิยบุตร” ออกมาย้ำเรื่องนี้อีกครั้งเมื่อวันที่ 6 พ.ค. โดยโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ซึ่งมีเนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า

            “ข้ออ้างที่ว่านายนุรักษ์ได้เป็นองคมนตรีแล้ว จึงไม่สมควรอภิปรายถึงการทำงานที่ผ่านมา ฟังไม่ขึ้น หากเรายึดถือตามนี้ ก็กลายเป็นว่าบุคคลใดที่ได้ดำรงตำแหน่งองคมนตรีแล้ว บุคคลนั้นจะหลุดพ้นจากการตรวจสอบ ศึกษา หรืออภิปรายใดๆ ถึงการกระทำหรือผลงานต่างๆ ก่อนที่เขาเป็นองคมนตรีอย่างนั้นหรือ หากเป็นเช่นนั้นจริง เราคงไม่มีการพูดถึงหรือไม่มีงานศึกษา วิจัย วิทยานิพนธ์ หนังสือที่เกี่ยวกับองคมนตรีแต่ละคน ยกตัวอย่างเช่น มีงานศึกษาเกี่ยวกับ ศ.สัญญา ธรรมศักดิ์ และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จำนวนมาก มิพักต้องกล่าวถึง ในประเทศไทยไม่มีกฎหมายใดห้ามวิจารณ์หรืออภิปรายถึงองคมนตรีด้วย ดังนั้น ในอนาคตหากจะมีใครศึกษา ค้นคว้า ความคิดของนายนุรักษ์ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด”

            ทั้งนี้ “นุรักษ์” เป็นตุลาการศาล รธน.เสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 ที่เห็นควรให้ยุบพรรคอนาคตใหม่กรณีเงินกู้ 191 ล้านบาท แต่เป็นเสียงข้างน้อย 1 เสียง ในจำนวน 7 เสียง ที่เห็นว่าควรเพิกถอนสิทธิ์การเมืองอดีตกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่โดยไม่มีกำหนด แต่แพ้โหวตไป เพราะอีก 6 เสียงเห็นควรให้เพิกถอน 10 ปีเท่านั้น จึงไม่แปลกที่ปิยบุตรจะไม่สบอารมณ์อดีตประธานศาล รธน.คนนี้

            ปฏิเสธไม่ได้ว่า ด้วยเพราะที่ผ่านมาบทบาทของปิยบุตร อย่างเช่น การเป็นอดีตแกนนำกลุ่มนิติราษฎร์ ที่เรียกร้องให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112-เป็นแกนนำ ส.ส.อนาคตใหม่ที่ลุกขึ้นอภิปรายคัดค้านการออก พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ จนห้องประชุมสภาฯ เงียบกริบ และมีการเตือนจากชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ตอนนั้นให้ระวังคำอภิปราย

                ทำให้ท่าทีของปิยบุตร แม้เวลานี้จะหลุดจากวงโคจรการเมืองในระบบรัฐสภาไปสิบปี แต่ก็ยังถูกจับจ้องและพูดถึงอยู่เสมอ อันเชื่อได้ว่า หลังจากนี้เมื่อสถานการณ์การเมืองกลับเข้าสู่โหมดปกติ การเคลื่อนไหวของคณะก้าวหน้าคงไม่ธรรมดาแน่นอน. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"