5 เม.ย.61-ที่โรงแรมรามาการ์เด้นท์ วันที่ 4 เม.ย. ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงโอกาสที่ประเทศไทยจะวิจัยและพัฒนากัญชาเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ภายในงานประชุมวิชาการสมุนไพรแห่งชาติ ว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องปรับเพื่อพิจารณาว่า สิ่งใดที่จะเกิดประโยชน์กับคนไทย ซึ่งการวิจัยพัฒนาเราควรจะทำเนื่องจากมีศักยภาพเหมือนสมุนไพรทั่วไป แต่มีกฎหมายที่ครอบไว้เนื่องจากเป็นสารเสพติด ซึ่งการปรับกฎหมายนั้นก็เพื่อให้วิจัยพัฒนา และทดลองในคน เพื่อนำไปสู่การสกัดมาใช้ทางการแพทย์ได้ ซึ่งเชื่อว่าไทยมีศักยภาพในการพัฒนาเรื่องนี้ และได้ปรึกษากันแล้วว่า เราจะตั้งคณะทำงานอย่างเป็นทางการขึ้น โดยดึงภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะนักวิชาการ ทั้งคณะวิจัยของมหาวิทยาลัยรังสิต รวมทั้ง ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา คาดว่าจะขอให้นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม(อภ.) เป็นประธาน
ด้านนพ.โสภณ กล่าวว่า ทางบอร์ดได้เดินทางไปที่ประเทศแคนาดา เพื่อศึกษาดูงาน ซึ่งโลกตะวันตกมีการพัฒนานำประโยชน์จากสารสกัดของกัญชาไปใช้ทางด้านการแพทย์ และด้านการผ่อนคลาย แต่ประเทศไทยคิด จะใช้เฉพาะด้านการแพทย์เป็นหลัก ประเด็นแรกที่ต้องมองนักวิชาการคงต้องช่วยว่ามีข้อบ่งชี้ที่จะใช้กัญชาทางการแพทย์มากน้อยเพียงใด
ประเด็นแรก คือ การรักษาโรคลมชัก โดยเฉพาะในเด็ก ยาที่มีอยู่บางครั้งไม่สามารถคุมการชักได้ ประเด็นที่ 2 คือโรคทางสมองอื่นๆ เช่น โรคพาร์กินสัน เมื่อได้ยาแผนปัจจุบันก็จะเกร็งจะแข็งไปหมด ประเด็นที่ 3 ที่ต้องวิจัยพัฒนา โรคมะเร็ง ว่าจะใช้กัญชามาช่วยอย่างไร และประเด็นที่ 4 ลดความเจ็บปวดแทนการใช้มอร์ฟีน ซึ่งก็จะมีการทำงานผ่านคณะทำงานวิชาการ ซึ่ง ได้มีการติดต่อทางศ.นพ.ธีระวัฒน์ เช่นกัน
เรื่องนี้ในคณะกรรมการปฏิรูปด้านสาธารณสุขก็มีการหารือเรื่องนี้เช่นกันนอกจากนี้ในฐานะอภ.ก็ต้องมีการศึกษา ทั้งการพัฒนาสายพันธุ์ แม้ของไทยจะมีสายพันธุ์ดี ต่อมาเราก็ต้องมีการพัฒนาเรื่องสารสกัด ซึ่งไทยยังใช้เอทานอลในการสกัดสารกัญชา แต่แคนาดาใช้การสกัดที่เรียกว่า คาร์บอนไดออกไซต์ ซึ่งแคนาดามีโรงงานถึง 13 แห่ง มีประสบการณ์ในการผลิตสารสกัด 4 ปี สิ่งสำคัญหากจะทำก็ต้องมีระบบการควบคุม ไม่ให้รั่วไหว ซึ่งมีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ( อย.) หรือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) ดูแล
นพ.โสภณ กล่าวถึงเรื่องการควบคุมกัญชา ว่า กฎหมายยาเสพติดมี 5 ประเภท โดยประเภทที่ 2 สามารถนำมาทำเป็นยาได้ แต่ต้องมีข้อบ่งชี้ทางวิชาการ ซึ่งปัจจุบัน กัญชา อยู่ในประเภท 5 ที่ห้ามเด็ดขาด จึงไม่อาจนำมาศึกษาวิจัยในคนได้ ซึ่งทางอธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิตเสนอปลดล็อคก็น่าจะเป็นประเด็นนี้ ซึ่งทางกระทรวงยุติธรรม และ อย.พยายามปรับปรุงพ.ร.บ.ยาเสพติดอยู่ ให้เป็นประมวลกฎหมายยาเสพติด ก็จะแก้ในประเด็นนี้ ซึ่งหากจะวิจัย ณ ขณะนี้ทำได้เพียงปลูกและสกัดสารออกมาเพื่อทดลองในสัตว์ แต่ในคนยังไม่ได้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |