ผ่านมาแล้ว 3 วัน สำหรับการคลายล็อก หรือผ่อนปรน ในระดับที่ 1 ของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.
กิจกรรม กิจการ ต่างๆ ที่เคยเงียบเหงาตลอดช่วงเดือนเมษายน ซึ่งรัฐบาลใช้มาตรการ “กึ่งล็อกดาวน์” เพื่อการควบคุมการแพร่ระบาด กลับมามีชีวิตชีวา แม้จะยังมองไม่เห็นความแตกต่างจากเดิมมากเท่าไหร่
เหตุหนึ่งนั่นเพราะ ศบค.ไม่ต้องการจะคลายล็อกแบบรวดเดียวจบ เพราะหากพลาดพลั้งขึ้นมาจะมีชะตากรรมไม่ต่างอะไรกับสิงคโปร์และญี่ปุ่น ที่กลับมาระบาดระลอกที่สอง
ขณะเดียวกัน หากการผ่อนปรนครั้งนี้เพลี่ยงพล้ำอย่างน้อยความเสียหายตลอดช่วงระยะเวลา 14 วัน ก่อนที่จะมีการประเมินจะยังอยู่ในกรอบควบคุมได้
ตรงกันข้าม หากในช่วงระยะเวลา 14 วันนี้ มีผลออกไปในทิศทางที่เป็นบวก ก็จะส่งผลต่อการผ่อนปรนในระดับที่ 2 ต่อไป ซึ่งจะทำให้กิจกรรม กิจการต่างๆ ทยอยเปิดกันได้มากขึ้น
ดังนั้น 14 วันนี้ ถือเป็นช่วงเลี้ยวหัวต่อสำคัญอย่างที่ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ได้บอกเอาไว้ จะเป็นการกำหนดชะตากรรมของประเทศว่า หลังจากนี้การเดินไปข้างหน้าของเราจะเป็นอย่างไร
หากไปในทิศทางบวก ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ยังทรงตัวต่ำหลักสิบอยู่อย่างนี้ หมายความว่าประเทศไทยมีโอกาสก่อนใครเพื่อนที่จะขยับมาสู่ระยะเวลาของการฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจที่บอบช้ำ เหมือนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เริ่มเดินสายพบสมาคมผู้ประกอบด้านต่างๆ ในเวลานี้
แต่หากออกมาเป็นลบ หมายความว่าเราจะยังคงใช้ชีวิตกันแบบมีข้อจำกัดต่อไป หรือถ้าลบมากๆ เช่น เกิดการระบาดระลอกสอง ที่มีปริมาณผู้ป่วยรายวันสูงหลักสองหน่วย หรือสามหน่วย เราอาจจะกลับไปอยู่ในสภาพที่เหมือนช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา หรืออาจหนักกว่า
กิจกรรม กิจการต่างๆ ที่ได้รับการผ่อนปรนในระยะแรกๆ อาจจะต้องถูกทบทวนและปิดตัวลงชั่วคราวอีกครั้ง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อประเทศ
ทั้งนี้ ยอดตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่นี้ต้องจำแนกอีกว่า เป็นกลุ่มก้อนไหน เพราะหากพบในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ หรือศูนย์กักตัวแรงงานต่างด้าวที่ อ.สะเด่า จ.สงขลา หรือจากการค้นหาเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยง ในขณะที่ผู้ป่วยจากการสัมผัสจากการไปสถานที่แออัด ชุมนุม ชุมชน มีน้อยหรือไม่มี ตรงนี้ก็อาจทำให้ได้ผ่อนปรนไปอีกระดับ
อย่างไรก็ดี การผ่อนปรนในช่วง 14 วันแรกนี้ ยังทำให้ได้เห็นปัญหาของกิจกรรม กิจการต่างๆ ว่าจะต้องปรับ เพิ่ม ลด หรือแก้ไขอย่างไร เพราะต้องยอมรับว่า ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคมเป็นต้นมา เกิดข้อขัดข้อง และสิ่งที่น่ากังวลใจอยู่หลายอย่าง
เช่น การให้กลับมาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ โดยให้ซื้อกลับไปดื่มที่บ้านนั้น ปรากฏว่าบรรดาผู้ประกอบการรายย่อย และประชาชนทั่วไป พากันกว้านซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปกักตุนกันจนแน่นขนัด เบียดเสียด และชุลมุน สุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค
ซึ่งต่อให้ห้างร้านจะมีมาตรการเว้นระยะห่าง แต่มันกลับไม่สามารถปฏิบัติได้จริงในกรณีของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยสาเหตุหนึ่งที่คนพากันกักตุนครั้งนี้ เพราะกังวลและหวั่นใจว่า ศบค.จะห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีกครั้ง ดังนั้น ต้องให้ความชัดเจนตรงนี้ เพื่อลดปัญหา
เช่นเดียวกับการให้นั่งรับประทานอาหารที่ร้านอาหารได้ แต่กำหนดให้นั่งได้เพียง 1 คน ต่อ 1 โต๊ะเท่านั้น ซึ่งปรากฏว่าประชาชนยังเลือกซื้อกลับบ้านอยู่เหมือนเดิม นั่นเพราะบางคนอยู่เป็นครอบครัว สามีภรรยา การมานั่งรับประทานอาหารคนละโต๊ะมันยากในทางปฏิบัติ
ขณะที่ผู้ประกอบการร้านอาหาร เช่น ร้านอาหารอีสาน ก็สะท้อนออกมาเช่นเดียวกันว่า แม้รัฐบาลจะผ่อนปรนให้สามารถนั่งรับประทานที่ร้านได้ แต่สุดท้ายลูกค้ายังเลือกซื้อกลับไปทานที่บ้านอยู่ดี เพราะอาหารบางชนิด บางประเภท ไม่สอดคล้องกับการนั่งรับประทานคนเดียว
อย่างไรก็ตาม ศบค.เองน่าจะคงทราบปัญหา เพียงแต่ว่า ต้องรอดูสถานการณ์ในช่วง 14 วันนี้ว่า เป็นทิศทางอย่างไรก่อน เพื่อนำมาประเมิน ทบทวน ปรับปรุง รายละเอียดต่างๆ
การผ่อนปรนระดับที่ 1 หรือครั้งแรก ทำให้เห็นปัญหาในทางปฏิบัติหลายอย่าง ซึ่งน่าจะเป็นบทเรียนสู่การผ่อนปรนในระดับที่ 2 ต่อไป
โดยเฉพาะข้อกำหนดที่ต้องชัดเจน อย่างเรื่องการเดินทางข้ามจังหวัด ที่ประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อน ทันทีที่ ศบค.ปลดล็อก ก็เดินทางข้ามจังหวัดกันจนแน่นขนัด ดังภาพที่เห็นในถนนสายต่างๆ หรือบรรยากาศที่ จ.ภูเก็ต กระบี่ และพังงา ในช่วงวันที่ 3 พฤษภาคม
อีก 10 วันเศษๆ ก่อนครบ 14 วัน หลายอย่างน่าจะลงตัวมากขึ้น จากประสบการณ์และปัญหาต่างๆ ที่ได้พบเห็นตลอดช่วงนี้
ยกเว้นผลลัพธ์ที่ออกมาไม่ได้เป็นอย่างที่เราต้องการ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |