สัปดาห์ก่อนผมตั้งวงกับนายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ก่อนจะมีการประกาศผ่อนคลายมาตรการเข้มงวดเกี่ยวกับการสู้กับโควิด-19
ท่านอธิบายหลัก "ทุบด้วยค้อน และปล่อยให้ฟ้อนรำ" ให้ฟังว่า หลังจากใช้มาตรการเข้มข้นระยะหนึ่งก็ต้องผ่อนเบา...แต่ก็ต้องระมัดระวัง เฝ้าติดตามตลอดเวลา
"หากทุบด้วยค้อนแล้ว...ปล่อยให้เต้นรำ เกิดคนติดเชื้อกลับมาสูงขึ้น..เราก็ต้องทุบอีกครั้ง...และเฝ้าดูอย่างนี้จนสามารถควบคุมให้ได้" คุณหมอประสิทธิ์อธิบายให้ผมเห็นภาพชัดเจน
คุณหมอวิเคราะห์จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด นับจากวันที่ผู้ติดเชื้อถึง 100 รายทั่วโลก เช่น ประเทศเกาหลีใต้ จากที่ดูเหมือนเอาโควิดไม่ค่อยอยู่ ถึงวันนี้สามารถจัดการโควิดได้ดีมาก
เช่นเดียวกับประเทศไทย เริ่มต้นดูน่ากลัว แต่เมื่อคนไทยช่วยกันอย่างจริงจังก็ทำให้ควบคุมสถานการณ์ได้ดีพอสมควร
ขณะที่สิงคโปร์และญี่ปุ่น เริ่มมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่าสุดท้ายแล้ว 2 ประเทศนี้จะกลับมาควบคุมโรคนี้ได้ดี
สิงคโปร์มีผู้ป่วยเกิดใหม่สูงสุด รวมกว่าหมื่นราย แต่อัตราเสียชีวิตต่ำ ส่วนมาเลเซีย กราฟเริ่มวิ่งลงขนานกับประเทศไทย
"ยุทธศาสตร์ของเราคือยุทธศาสตร์ต้นน้ำ ตั้งเป้าหมายตัวชี้วัดลดผู้ป่วยใหม่ลงให้ได้ หน้าที่หลักคือคนไทยทั้งประเทศ ยุทธศาสตร์ปลายน้ำ ก็คือกระทรวง ทบวง กรม บุคลากรที่ดูแลระบบสุขภาพ ลดอัตราการเสียชีวิต เพิ่มอัตราการกลับบ้าน ณ วันนี้คนไทยทั้งประเทศช่วยกันทำ อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ รักษาระยะห่าง การใส่หน้ากากเป็นกิจวัตรประจำวันไปเรียบร้อยแล้ว และเกิดจากจิตสำนึกที่ดี มีวินัยของคนไทยกันเอง"
นพ.ประสิทธิ์บอกว่าไทยมีจำนวนผู้ป่วยลดลงอย่างชัดเจน บุคลากรทางการแพทย์ได้มีโอกาสพักผ่อนบ้าง แต่ก็พร้อมต่อสู้และทุ่มเทเสมอ ซึ่งการที่เรามีผู้ป่วยรักษาหายมากกว่าผู้ป่วยเข้าใหม่ จึงถึงเวลาต้องผ่อนคลายมาตรการต่างๆ แล้ว
"ผมอยากชวนคนไทยเข้าใจยุทธศาสตร์ค้อนกับการฟ้อนรำ (The Hammer & The Dance) การทุบด้วยค้อน (ควบคุม) และเปิดให้ฟ้อนรำ (ผ่อนคลาย) หลายประเทศเริ่มผ่อนคลาย โดยมีมาตรการที่แตกต่างกัน เพราะบริบทแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน"
คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลให้เหตุผลที่ต้องเปิดโอกาสให้ฟ้อนรำ เพราะการทุบด้วยค้อน หรือการควบคุมนั้นไม่ควรทำเป็นเดือนๆ เพราะสิ่งที่แลกมาคือเศรษฐกิจ ขณะที่ความตึงเครียดในสังคมจะเพิ่มขึ้น
การใช้ยุทธศาสตร์ทุบด้วยค้อนจะทำประมาณหนึ่งถึงเดือนครึ่ง จากนั้นต้องหาจุดสมดุล
วันนี้ไทยเข้าสู่เฟส 2 โดยที่ไทยผ่านเกณฑ์หลายๆ ตัว ตัวเลขค่าระดับการติดเชื้อพื้นฐาน ค่า RO อยู่ที่ 0.6 จึงถึงเวลาเปิดโอกาสให้ฟ้อนรำหรือผ่อนคลายได้
คนไทยให้ความร่วมมือดีมาก ใส่หน้ากาก มีเจลล้างมือ การให้ความรู้แก่สังคม ไทยทำได้ดี และการปิดสถานที่คนจำนวนมาก รัฐบาลได้ทำไปแล้ว
"แต่หากมีการผ่อนคลายแล้วพบว่าผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก ก็ต้องกลับมาทบทวนมาตรการต่างๆ ว่าได้ผลหรือไม่ เราจำเป็นต้องดึงคนไข้กลับมาให้ได้ก่อนถึงวิกฤติ"
โรงเรียนยังต้องปิดต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพราะเสี่ยงกับการที่เด็กจะแพร่เชื้อและนำกลับบ้านไปให้พ่อแม่ปู่ย่าตายายได้
สถานบันเทิงมีผลกระทบสูง การดื่ม ทานอาหารไม่ใส่หน้ากาก พูดจาด้วยความดังและแรง ทำให้ละอองต่างๆ มีโอกาสติดเชื้อสูง
การกีฬาก็มีผลกระทบกลางๆ ออกกำลังไม่ใส่หน้ากาก สังคมไทยเมื่อออกกำลังกายเสร็จก็จะนั่งคุยกัน รวมถึงฟิตเนสก็เกิดการแพร่กระจายของเชื้อได้ง่าย
การจัดประชุมในห้องที่ปิดมีคนจำนวนมากก็มีความเสี่ยงระดับหนึ่ง ณ วันนี้อาจยังไม่มีความจำเป็น สามารถใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยผ่อนผันได้
การเดินทางจากนอกประเทศเข้ามาในประเทศยังต้องรอไปอีกระยะหนึ่ง
ธุรกิจการส่งอาหาร ผลกระทบต่อการติดเชื้อถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำ นพ.ประสิทธิ์บอกว่า การลดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ด้วยการทำความสะอาดแบบปูพรมอาจไม่คุ้ม
แต่ทำความสะอาดเฉพาะที่ที่มีความเสี่ยงยังจำเป็น รวมถึงการมีแอปพลิเคชันติดตามก็มีส่วนช่วยเช่นกัน...รวมถึงการล้างมือ
ที่จะต้องทำจากนี้ไปคือ การตรวจหาเชื้อให้มากขึ้นเพื่อให้แน่ใจว่ามีเชื้อหรือไม่มีเชื้อ มีอาการ หรือมีภูมิคุ้มกันแล้วหรือไม่
คุณหมอประสิทธิ์ยืนยันว่าช่วงนี้เป็น "ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ" และต้องไม่ให้กลายเป็นการระบาด "รอบที่สอง" เหมือนบางประเทศ
มีบทเรียนในหลายประเทศที่ยืนยันว่าการผ่อนผันที่เร็วและมากเกินไปมีความเสี่ยงสูง
"การเปลี่ยนจากโหมดควบคุมไปสู่ผ่อนผันต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป จัดลำดับความสำคัญ ทั้งมิติสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม" คุณหมอบอกและยืนยันว่า
"ผมขอย้ำ เราอาจต้องกลับมาควบคุมอีกครั้งหากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อแย่ลง ความร่วมมือจากคนทั้งประเทศจึงสำคัญมาก ทั้งการรักษาระยะห่าง ใส่หน้ากาก ล้างมือ เป็นเรื่องที่ต้องทำยกเว้นไม่ได้ ที่ผ่อนผันได้คือการให้ออกจากบ้านไปทำกิจกรรมบางอย่างเพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกันต้องไม่ผ่อนผันในมาตรการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ"
ดังนั้นเมื่อเราเริ่ม "ฟ้อนรำ" แล้ว...อย่าได้ฟ้อนจนเพลิน เพราะถ้า "เริงระบำ" มากไปอาจโดนค้อนทุบอีกครั้ง!
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |