4 พ.ค. 2563 นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ โดยให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีที่เรียกเก็บตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 และจำพวกที่ 3 ทุกขนาด เป็นเวลา 1 ปี โดยให้มีผลใช้บังคับในวันที่พ้นกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือคาดว่ากฎกระทรวงฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้เร็วที่สุดประมาณต้นเดือน มิ.ย. 63 เบื้องต้นมีโรงงานที่ได้รับอานิสงส์ 56,598 ราย และคาดว่าภาครัฐจะเสียรายได้ประมาณ 231 ล้านบาท
ทั้งนี้การยกเลิกค่าธรรมเนียมให้แก่เจ้าของกิจการโรงงานถือเป็น1 ในมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยาให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ต้องการลดภาระและบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบกิจการโรงงานจากสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งมั่นใจว่ามาตรการดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งในการพยุงสถานะของโรงงานให้มีการประกอบกิจการอย่างต่อเนื่อง และจะเกิดผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมมากกว่ารายได้ที่รัฐจะต้องสูญเสียไป
“การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ลุกลามไปทั่วโลกได้เกิดผลกระทบในด้านต่าง ๆ หลายประการ เช่น ด้านการท่องเที่ยว, ด้านสุขภาพอนามัย รวมถึงด้านการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น โดยผลกระทบดังกล่าวไม่ส่งผลดีต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผู้ประกอบกิจการโรงงานด้วย โดยเฉพาะผลกระทบต่อรายได้ที่ตกต่ำ และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ดังนั้นการลดค่าธรรมเนียมถือเป็นแนวทางหนึ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมต้องการลดภาระ และบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบการโรงงาน อย่างไรก็ตามขั้นตอนนี้หลัง ครม.อนุมัติแล้ว ก็จะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วนต่อไป” นายประกอบ กล่าว
นายประกอบ กล่าวต่อว่า สำหรับในส่วนของโรงงานที่ยังไม่จ่ายค่าธรรมเนียมในปีนี้ ก็คงไม่ต้องจ่ายตามมาตรการเยียวยา แต่หากโรงงานใดที่ได้มีการจ่ายค่าธรรมเนียมไปแล้วก่อนที่กฎกระทรวงจะมีผลบังคับใช้ ทาง กรอ. ก็จะยกเว้นโดยไม่ต้องจ่ายในปี 64 แทน ซึ่งค่าธรรมเนียมประกอบกิจการรายปีที่โรงงานจำพวก2 และ3 หรือโรงงานที่มีเครื่องจักรกำลังรวมตั้งแต่ 50 แรงม้าขึ้นไปนั้น จะมีการจ่ายที่อัตราแตกต่างกัน โดยโรงงานที่มีเครื่องจักรตั้งแต่50 แรงม้า แต่ไม่ถึง100 แรงม้า จะจ่ายที่ 900 บาท, แรงม้าตั้งแต่ 100 แต่ไม่ถึง 200 แรงม้า จ่าย 1,500 บาท, ตั้งแต่ 200 แต่ไม่ถึง 300 แรงม้า จ่าย 2,100 บาท, ตั้งแต่ 300 แต่ไม่ถึง 400 แรงม้า จ่าย 2,700 บาท, ตั้งแต่ 400 แต่ไม่ถึง 500 แรงม้า จ่าย 3,600 บาท , ตั้งแต่ 500 แต่ไม่ถึง 600 แรงม้า จ่าย 4,500 บาท, ตั้งแต่600 แต่ไม่เกิน 700 แรงม้า จ่าย 5,400 บาท
ขนาดตั้งแต่ 700 แต่ไม่ถึง 800 แรงม้า จ่าย 6,600 บาท, ตั้งแต่ 800 แต่ไม่ถึง 900 แรงม้า จ่าย7,800 บาท, ตั้งแต่ 900 แต่ไม่ถึง 1,000 แรงม้า จ่าย 9,000 บาท, ตั้งแต่ 1,000 แต่ไม่ถึง 2,000 แรงม้า จ่าย 10,500 บาท, ตั้งแต่ 2,000 แต่ไม่ถึง 3,000 แรงม้า จ่าย 12,000 บาท, ตั้งแต่ 3,000 แต่ไม่ถึง 4,000 แรงม้า จ่าย 13,500 บาท, ตั้งแต่ 4,000 แต่ไม่ถึง 5,000 แรงม้า จ่าย 15,000 บาท , ตั้งแต่ 5,000 แต่ไม่ถึง 6,000 แรงม้าจ่าย 16,500 บาท และ 6,000 แรงม้าขึ้นไปจ่าย 18,000 บาท เป็นต้น
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |