ความต้องการแรงงานต่างด้าว :
สถาบันวิจัยประชากรและความมั่นทางสังคมแห่งชาติ (National Institute of Population and Social Security Research) ประเมินว่าเมื่อเข้าปี 2115 ประเทศจะมีประชากร 126.8 ล้านคน ในจำนวนนี้กว่าครึ่งมีอายุกว่า 50 ปี และมีอัตราการเกิดต่ำ
ข้อมูลอีกชิ้นระบุว่าวัยแรงงานคือช่วง 15-64 ปี ในปี 2013 มีวัยแรงงาน 65.77 ล้านคน จะลดลงเหลือ 37.95 ล้านคนในปี 2060 (หายไปเกือบครึ่ง พร้อมๆ คนสูงวัยที่เพิ่มขึ้น)
ปัจจุบันแรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่มาจากจีน อินโดนีเซีย เวียดนามและฟิลิปปินส์ ตัวเลขเดือนมิถุนายน 2017 สูงถึง 250,000 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 77 เมื่อเทียบกับปี 2011
ถึงกระนั้นก็ตามตำแหน่งพยาบาลกับผู้ดูแลผู้สูงวัยกำลังขาดแคลนอย่างหนัก มีผู้สมัครน้อยกว่าตำแหน่งงาน 3 -4 เท่าตัว สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะคนญี่ปุ่นเห็นว่างานหนักไม่คุ้มค่าแรง คาดว่าในปี 2025 จะขาดแคลนถึง 380,000 ตำแหน่ง
ในทศวรรษ 2050 แรงงานภาคการรักษาพยาบาล (แพทย์กับพยาบาล) จะสูงถึงร้อยละ 25 ของแรงงานทั้งหมด หุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติไม่สามารถทดแทนแรงงานเหล่านี้
จะเห็นว่าแม้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ก้าวหน้าเรื่องเทคโนโลยีการผลิต ใช้หุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติจำนวนมากเพื่อลดแรงงานมนุษย์ แต่ความก้าวหน้าเหล่านี้ยังไม่อาจทดแทนแรงงานส่วนที่ขาดไป เหตุเพราะตำแหน่งงานที่ขาดไม่สามารถทดแทนด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่นั่นเอง
งานพยาบาล ดูแลผู้สูงวัยเป็นงานที่ต้องอาศัยความรู้สึกอันละเอียดอ่อน ปฏิบัติต่อคนไข้ด้วยใจและมีวิธีการซับซ้อน
แรงงานญี่ปุ่นลดลงต่อเนื่อง ในขณะที่คนสูงวัยเพิ่มขึ้น
ไม่เพียงงานดูแลผู้สูงวัยเท่านั้น Yukio Noguchi จาก Waseda University’s Institute for Business and Finance ชี้ว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ขาดแคลนแรงงาน หวังใช้แรงงานต่างด้าวเช่นกัน รัฐบาลพยายามส่งเสริมใช้แรงงานในประเทศ แต่หลายคนสนใจงานอื่นๆ มากกว่า
การประเมินว่าเศรษฐกิจดิจิทัล การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 จะส่งผลต่อการจ้างงานอย่างไร จึงต้องประเมินจากปัจจัยผู้สูงวัย งานบางตำแหน่งที่ยังต้องใช้แรงงานมนุษย์เป็นหลักด้วย
นโยบายของรัฐบาลอาเบะ :
รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดโอกาสให้แรงงานต่างชาติฝึกอบรมโครงการฝึกอาชีพตำแหน่งพยาบาลและผู้ดูแลผู้สูงวัย ที่เรียกว่า Japan’s Technical Intern Training Program แต่เดิมโครงการนี้มุ่งหาแรงงานเพื่อป้อนภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรมและอื่นๆ ปัจจุบันเปิดให้กับตำแหน่งพยาบาลกับผู้ดูแลคนชราด้วย
หน่วยงานราชการอธิบายว่าโครงการมุ่งสอนให้แรงงานต่างชาติได้รับการฝึกอบรมตามแบบแผนของญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตามรัฐบาลอาเบะยังไม่เปิดทางให้แก่แรงงานต่างด้าวเต็มที่ ปัจจุบันสนับสนุนเฉพาะตำแหน่งงานด้านการเงิน ไอที เหตุเพราะยังมีผู้กังวลว่าคนต่างด้าวเป็นต้นเหตุอาชญากรรม ก่อการร้าย ความขัดแย้งทางเชื้อชาติ ช่องว่างรายได้ ดังเช่นประเทศพัฒนาอื่นๆ ประสบในขณะนี้
ไม่ว่าเหตุผลข้างต้นมีน้ำหนักมากเพียงไร รัฐบาลยึดข้ออ้างเหล่านี้
ในขณะที่ตลาดมีความต้องการต่อเนื่องเป็นแรงกดดันรัฐบาล รัฐบาลผ่อนคลายด้วยการรับแรงงานต่างด้าวหลายแสนคนในฐานะนักศึกษา (student) ผู้ฝึกงาน (trainee)
ผลจากนโยบายดังกล่าว บริษัทเอกชน องค์กรหลายแห่งเปิดรับการนักศึกษาฝึกหัดแก่บริษัทเอกชนที่ต้องการแรงงานต่างด้าว มีการอบรมสอนภาษาให้ด้วย
บางกรณีเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศ รัฐบาลญี่ปุ่นทำข้อตกลง “economic partnership agreements” (EPA programs) กับอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และเวียดนาม เพื่อรับนักศึกษาฝึกหัด เฉพาะ 3 ประเทศนี้ได้รับการดูแลที่เป็นระบบมากกว่า หากได้สอบผ่านได้ประกาศนียบัตรจะสามารถทำงานในญี่ปุ่นตลอดชีพ
Yukio Noguchi แย้งว่าต่อให้เปิดรับแรงงานต่างด้าวก็ใช่ว่าพวกเขาอยากจะมา ดังนั้นหากไม่เปิดกว้างตั้งแต่ตอนนี้ การขาดแคลนแรงงานจะรุนแรงมากในอนาคต เหตุที่กล่าวเช่นนี้เพราะมีปัญหาจากนโยบายของรัฐบาล
ปัญหาที่ยากจะแก้ไข :
ในทางปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานสายเกษตร อุตสาหกรรม พยาบาลหรือผู้ดูแลฝึกหัด เมื่อเข้ารับการอบรมจริงกลายเป็นว่าเป็นการทำงานมากกว่าฝึกงาน ในกรณีพยาบาลฝึกหัดกับผู้แลคนชราจะเป็นลูกมือของแรงงานญี่ปุ่นอีกทอด คงไม่เกินไปถ้าจะสรุปว่าเป้าหมายแท้ต่อนักศึกษาฝึกหัดเหล่านี้คือต้องการใช้แรงงานพวกเขากับงานที่คนญี่ปุ่นไม่อยากทำ
ประเด็นที่วิพากษ์กันมากคือการกดขี่แรงงานต่างด้าว เนื่องจากแรงงานฝึกหัดไม่สามารถเปลี่ยนงานหรือนายจ้าง ต้องทนอยู่แม้ไม่ชอบ นายจ้างอาศัยข้อได้เปรียบเรื่องนี้กดขี่แรงงาน ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานระบุว่าปี 2016 มีนายจ้างทั้งหมด 5,672 ราย ร้อยละ 70.6 ทำผิดกฎหมายแรงงานหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะชั่วโมงทำงานเกินกำหนด มาตรฐานความปลอดภัยในที่ทำงานต่ำ และกดค่าแรง
นายจ้างบางรายตั้งใจจ้างแรงงานที่มีความรู้น้อย เพราะพวกเขามักแยกไม่ออกว่าอะไรคือถูกหรือผิดกฎหมาย ถูกกดขี่หรือไม่
หลายคนที่ทนไม่ไหวทิ้งงานกลับบ้านเกิด
ปัญหาความแตกต่างทางสังคมเป็นอีกประเด็น ชาวญี่ปุ่นบางคนปฏิเสธที่จะสัมพันธ์ใกล้ชิด วางระยะห่างจากแรงงานต่างด้าว เรียกร้องให้พวกเขาต้องเก่งภาษาญี่ปุ่น ยอมรับแรงกดดัน
ปัญหาต่อพยาบาลฝึกหัดหลายกรณีเป็นปัญหาเรื่องชั่วโมงทำงานยาวนาน ผนวกกับการห่างไกลบ้าน ห่างไกลครอบครัว สภาพความเป็นอยู่ที่ไม่ดี ทั้งหมดเป็นเหตุให้หลายคนเมื่อทำงานได้ระยะหนึ่งก็ขอลาออก
เหตุที่เกิดปัญหาเหล่านี้เพราะรัฐบาลหละหลวม ขาดการดูแลตรวจสอบบริษัทกับองค์กรเปิดรับฝึกงาน หรือ อาจมองว่ารัฐบาลทำเป็นปิดตาข้างหนึ่ง ไม่ยอมรับรู้ปัญหา พยายามกันปัญหาออกจากตัว หรืออาจเห็นว่าที่เป็นอยู่เหมาะสมแล้ว
การต่อรองไม่สิ้นสุด :
ไม่อาจปฏิเสธว่างานพยาบาล ดูแลผู้สูงวัยเป็นงานที่ผู้หญิงทำได้ดีกว่าชาย อีกทั้งผู้ชายส่วนใหญ่ปฏิเสธงานทำนองนี้
ในกรณีญี่ปุ่น ถ้ายึดหลักอุปสงค์อุปทาน ย่อมได้ข้อสรุปว่าตำแหน่งพยาบาลจะมีรายได้ดี มีแรงจูงใจให้เข้าสู่อาชีพนี้
แต่รายได้ไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้พวกเธออยู่ในงานตลอดไป หลายคนลาออกจากที่ทำงานเดิมเพื่อไปอีกที่ๆ งานเบากว่า มีเวลาให้กับตัวเองและครอบครัวมากขึ้น
ในกรณีนักศึกษาฝึกงาน แม้ตำแหน่งที่เรียกคือนักศึกษาหรือผู้ฝึกงานแต่ในทางปฏิบัติไม่ได้เรียนรู้อะไรมาก เป้าหมายคือเป็นผู้รับคำสั่ง เป็นผู้ช่วยอีกทอด และจะต้องทำงานเหล่านั้นซ้ำๆ ไม่ได้ความรู้อะไรมากมาย
จากแรงกดดันต่างๆ ทำให้เกิดคำถามว่าแรงงานต่างด้าวจะอดทนต่อสภาพการจ้างงานได้หรือไม่
ในอีกมุมหนึ่ง หากอยู่ในประเทศตัวเองแต่ไม่มีงานไม่มีเงิน ความจำเป็นของปากท้องย่อมกระตุ้นให้ยอมรับเงื่อนไขเลวร้ายต่างๆ ที่ผ่านมาบางคนยอมเสียเงินให้กับนายหน้าเพื่อได้ทำงานในญี่ปุ่น โดนกดขี่ข่มเหงสารพัด เสี่ยงที่จะถูกล่วงละเมิดทางเพศ
ในขณะเดียวกันแรงงานต่างด้าวต้องยอมรับมาตรฐานของญี่ปุ่นที่อาจสูงกว่าประเทศตนเอง วัฒนธรรมที่แตกต่าง รู้ว่าอะไรควรอะไรไม่ควร การทำงานย่อมต้องเคารพกฎระเบียบของผู้ว่าจ้าง
การวางมาตรฐานให้สูงเป็นจุดเริ่มที่ดีและเป็นวัฒนธรรมของญี่ปุ่น ช่วยคัดกรองแรงงาน จุดอ่อนคือ ไม่เพียงพอต่อความต้องการ เกิดคำถามว่ากระทบต่อเศรษฐกิจสังคมมากแค่ไหน คุ้มกับการวางมาตรฐานที่สูงขนาดนั้นหรือไม่
หรือว่าคนญี่ปุ่นที่รับแรงงานต่างด้าวต้องปรับลดมาตรฐานเพื่อให้แรงงานรับได้ มิฉะนั้นก็ต้องดูแลตัวเอง ขาดแคลนแรงงานต่อไป
ในระดับปัจเจก มีทั้งคนสนับสนุนกับต่อต้าน บางคนเห็นว่าแรงงานต่างด้าวไม่ดีอย่างที่คิด สร้างปัญหา น่าโมโห แต่หากไร้คนเหล่านี้จะยิ่งเป็นปัญหากว่าหรือไม่ เป็นคำถามที่นายจ้างต้องตอบตัวเอง
ลูกจ้างต่างด้าวรู้ว่านายจ้างญี่ปุ่นต้องการตนมากแค่ไหน พร้อมๆ กับที่นายจ้างรู้ว่าลูกจ้างต้องการงานมากเพียงไร ถ้ามองในระดับโลก โลกมีแรงงานด้อยฝีมือเหลือเฝือ การขาดแคลนแรงงานเกิดในกลุ่มประเทศพัฒนาเป็นหลัก โดยรวมแล้วแรงงานยังล้นโลก แต่แรงงานมหาศาลดังกล่าวใช่ว่ามีคุณสมบัติเหมาะสม ที่ควรตระหนักคือคุณสมบัติที่ว่าไม่ใช่เรื่องการศึกษาสูงเสมอไป แต่เป็นแรงงานที่มีคุณสมบัติตามที่นายจ้างต้องการ
ในกรณีญี่ปุ่น ระบบการคัดกรองพยาบาล ผู้ดูแลคนสูงวัยจะดำเนินต่อไป พร้อมกับการปรับตัวของสังคมญี่ปุ่น เลือดเชื้อชาตินิยมน่าจะลดน้อยลง
------------------------
ภาพ : พยาบาลมีบทบาทมากกว่ารักษาคน
ที่มา : https://www.facebook.com/icn.ch/photos/a.672734836073269.1073741825.196338133712944/1902116329801774/?type=3&theater
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |