ทช.สร้างฟีดเดอร์หนุนอีอีซี เพิ่มศักยภาพโครงข่ายที่สมบูรณ์


เพิ่มเพื่อน    

 

 การสนับสนุนอีอีซีนั้น กรมทางหลวงชนบท ถือเป็นส่วนประกอบย่อย เป็นเพียงฟีดเดอร์ ต้องยอมรับว่าหลักของการส่งเสริมอีอีซีต้องเป็นโลจิสติกส์หลักใหญ่ คือ กรมทางหลวง, กรมราง, รถไฟฯ และโครงการเชื่อมสามสนามบิน แต่เมื่อถามว่า ทช.รองรับอีอีซีตรงไหน เมื่อรถไฟความเร็วสูงเสร็จ กำหนดสถานีอย่างชัดเจน ทช.เป็นตัวเชื่อม เป็นฟีดเดอร์ให้เพื่อโครงข่ายมีความสมบูรณ์

 

 

        แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ยังไม่หมดไป แต่ปัจจุบันก็ถือว่าบรรเทาเบาลง และส่งผลให้หลายๆ หน่วยงานต้องปรับแผนการทำงานเพื่อลดผลกระทบ อย่างเช่นกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ที่ยังคงต้องเร่งเดินหน้าโครงการก่อสร้าง ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และซ่อมแซมถนนที่ได้รับความเสียหาย เพื่ออำนวยการให้ประชาชนได้สัญจรได้สะดวกสบาย และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการใช้จ่าย

(ปฐม เฉลยวาเรศ)

        นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท(ทช.) เปิดเผยว่า ในปี 2563 กรมไม่มีโครงการสำคัญขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโครงการที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท ส่วนโครงการที่มีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท มีเพียง 2 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการพัฒนาผังเมือง จ.อุตรดิตถ์ วงเงิน 430 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการประกาศประกวดราคา และ 2.โครงการพัฒนาผังเมือง จ.มหาสารคาม วงเงิน 167 ล้านบาท เนื่องจากปี 62 ได้รับงบประมาณมาค่อนข้างเยอะ ทำให้ปริมาณงานที่จะก่อสร้างมีจำนวนมาก

 

เน้นงานบำรุงรักษา

      ในปี 63 กรมจะเน้นไปที่เรื่องของการบำรุงรักษาทางในงบประมาณ 48,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นงบบำรุงรักษา 30,000 กว่าล้านบาท เช่นงานบำรุงปกติบนสายทาง เมื่อเห็นผิวถนนมีความเสียหายเล็กน้อยก็จะทำการซ่อมแซม ตัด ปะซ่อมหลุมบ่อ ตัดหญ้าข้างทาง ทำความสะอาดรางระบายน้ำ ท่อระบายน้ำ หรือบำรุงตามระยะเวลา คือจะเสียหายหรือไม่เสียหาย ภายใน 1 ปีต้องมีการตรวจสภาพ ฉาบผิวพื้นยืดอายุการใช้งานของถนน และงบด้านความปลอดภัยที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง 1,000 ล้านบาท

        นอกจากนี้ จะเป็นโครงการผูกพันงบประมาณ 5,000 ล้านบาท มีโครงการเก่าที่ค้างมาค่อยข้างเยอะ มีส่วนที่ต้องจัดซื้อจัดจ้างประมาณ 3,000 สัญญา มูลค่าสัญญาละประมาณ 10-20 ล้านบาท


เร่งเบิกจ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจ

      สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณในปี 2563 ปัจจุบันกรมจ่ายงบประมาณได้แล้ว 5% จากเป้าที่ตั้งไว้ 84% ของงบประมาณ ถือเป็นสิ่งที่ท้าทายเนื่องจากเหลือเวลาเพียง 5-6 เดือน ขณะนี้มีจัดซื้อจัดจ้างประมาณ 5,400 สัญญา คาดว่าจะเซ็นสัญญาและเริ่มดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างภายในเดือน เม.ย.-ก.ย.นี้ อย่างไรก็ตาม กรมจะต้องลงนามในสัญญาครบทุกรายได้ภายในสิ้นเดือน พ.ค.นี้

        "หลังจากลงนามในสัญญาว่าจ้างโครงการต่างๆ แล้ว ทช.จะเร่งทยอยเบิกจ่ายเงินงบประมาณให้เร็วที่สุดเพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมเร่งประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้างโครงการต่างๆ ให้ได้ผู้รับจ้างลงนามในสัญญาให้แล้วเสร็จภายในเดือน พ.ค. ตามเป้าหมายของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ" นายปฐมกล่าว

หนุนสร้างฟีดเดอร์รองรับอีอีซี

      สำหรับความคืบหน้าการดำเนินโครงการเพื่อสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) คือ ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี และระยอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ดีที่สุดและทันสมัยที่สุดในภูมิภาคอาเซียน นายปฐมกล่าวว่า การสนับสนุนอีอีซีนั้น กรมทางหลวงชนบทถือเป็นส่วนประกอบย่อย เป็นเพียงฟีดเดอร์ ต้องยอมรับว่าหลักของการส่งเสริมอีอีซีต้องเป็นโลจิสติกส์หลักใหญ่ คือ กรมทางหลวง, กรมราง, รถไฟฯ และโครงการเชื่อมสามสนามบิน แต่เมื่อถามว่าทช.รองรับอีอีซีตรงไหน เมื่อรถไฟความเร็วสูงเสร็จ กำหนดสถานีอย่างชัดเจน ทช.เป็นตัวเชื่อม เป็นฟีดเดอร์ให้เพื่อโครงข่ายมีความสมบูรณ์

      อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากรมได้ดำเนินการก่อสร้างถนนทางหลวงชนบทสาย รย.5050 แยกสายนิคมสร้างตนเองสาย 15 บ้านห้วยโป่ง อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง ระยะทาง 10.198 กิโลเมตร (กม.) โดยก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์เมื่อปี 2560 ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 204 ล้านบาท ขณะนี้มีโครงการที่ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์อีกจำนวน 1 สายทาง คือ ถนนทางหลวงชนบทสาย รย.4058 แยก ทล.3138-ทล.344 อำเภอบ้านค่าย, วังจันทร์ จังหวัดระยอง ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 159 ล้านบาท ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ทำการเกษตร เช่น ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง โครงการดังกล่าวนอกจากจะช่วยพัฒนาในเรื่องอีอีซีแล้ว ยังช่วยในเรื่องการขนส่งสินค้าให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะการขนส่งยางพาราไปยังตลาดกลางยางพาราภาคตะวันออกอีกด้วย

        นายปฐมกล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างเพื่อรองรับอีอีซี ดังนี้ ทางหลวงชนบทสายแยก ทล.7-ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ระยะทาง 10.570 กม. งบประมาณในการก่อสร้าง 1,499 ล้านบาท, ทางหลวงชนบทสาย ฉช.3001 แยก ทล.314-ลาดกระบัง จ.ฉะเชิงเทรา,  สมุทรปราการ ระยะทาง 20.328 กม. งบประมาณในการก่อสร้าง 3,801 ล้านบาท คาดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2564

        และทางหลวงชนบทสาย รย.3013 แยก ทล.331-ทล.3191 อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง ระยะทาง 17.324 กม. งบประมาณในการก่อสร้าง 709 ล้านบาท อยู่ระหว่างการรื้อย้ายสาธารณูปโภค และทางหลวงชนบทสาย รย.2015 แยก ทล.36-ทล.331 อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง ระยะทาง 11.465 กม. งบประมาณในการก่อสร้าง 673 ล้านบาท คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2565 อย่างไรก็ตาม ทช.ยังคงจัดเตรียมแผนดำเนินการก่อสร้างโครงการที่จะสนับสนุนอีอีซีอีกอีก 5 โครงการ

        นายปฐมกล่าวว่า เพื่อส่งเสริมการค้าชายแดน ทช.ได้เร่งเดินหน้าโครงการก่อสร้างหลายๆ โครงการเพื่อเป็นโครงข่ายเชื่อมต่อระหว่างเมืองและพื้นที่การค้า เช่นล่าสุดมีแผนที่จะพัฒนาโครงการก่อสร้างถนนสาย ง, ค3 และ ค4 ผังเมืองรวมเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม เพื่อสนับสนุนการขนส่งการท่องเที่ยวระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว บรรเทาการจราจรบนถนนสายหลัก และเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางพื้นที่ในจังหวัดนครพนมและจังหวัดใกล้เคียง

        "นครพนมมีพรมแดนติดแม่น้ำโขง มีเขตชายแดนเชื่อมต่อไปยัง สปป.ลาว มีการขนส่งสินค้า การท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ซึ่งโครงการนี้จะช่วยสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านโลจิสติกส์ การท่องเที่ยว รองรับการเจริญเติบโตของเมืองในอนาคต และแก้ไขปัญหาการจราจรที่หนาแน่นในเขตเมือง คาดจะก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ประมาณปลายปี 2563 โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวม 256.995 ล้านบาท เป็นงบผูกพัน 3 ปี (2561-2563)" นายปฐมกล่าว

        นอกจากนี้ ยังมีโครงการก่อสร้างถนนสาย ง2, ง3, ค1 และ ค2 ผังเมืองรวมเมืองแม่สอด จังหวัดตาก กระตุ้นเศรษฐกิจการค้าชายแดนรองรับการเจริญเติบโตของเมืองในอนาคต ส่งเสริมการคมนาคมในอำเภอแม่สอดและอำเภอใกล้เคียงสัญจรไปมาได้สะดวกยิ่งขึ้น และช่วยลดปริมาณจราจรติดขัดในเขตเมือง คาดก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2563 โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวม 450 ล้านบาท

แบล็กลิสต์ผู้รับเหมาทิ้งงาน

        นายปฐม กล่าวถึงกรณีที่มีผู้รับเหมาทิ้งงานจนทำให้เกิดปัญหานั้น ทช.จะขึ้นบัญชีดำ (Black List ) ตัดสิทธิ์ยื่นประกวดราคากับผู้รับเหมาททิ้งงาน ซึ่งในปี 2562 ที่ผ่านมามีผู้รับเหมาทิ้งงานถึง 7-8 สัญญา บางโครงการพบว่าทำแล้ว 90%  ก็ทิ้งงาน ส่วนใหญ่เกิดจากผู้รับจ้างขาดสภาพคล่อง ทำให้ละทิ้งงาน กรมต้องเรียกงานคืนและนำมาประกาศประกวดราคาใหม่ และที่ผ่านมายังพบว่ามีผู้รับเหมามักจะเพิกเฉย และเข้ามาดำเนินการซ่อมแซมถนน ในช่วงระยะรับประกัน 2 ปี และส่วนใหญ่จะเข้ามาซ่อมในช่วงที่ใกล้หมดระยะประกัน ดังนั้น ทช.จะทำการตรวจสภาพทางทุก 3 เดือน หากพบถนนชำรุด เสียหาย จะแจ้งผู้รับเหมาให้เข้ามาดำเนินการซ่อมแซมภายใน 30 วัน ซึ่งหากไม่เข้ามาซ่อมแซมจะขึ้นบัญชีดำ

        อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 นี้ ทช.จะเริ่มใช้แผ่นยางพาราหุ้มแบริเออร์คอนกรีต รวม 749 กิโลเมตร จากถนนทั้งหมดกว่า 48,000 กิโลเมตร และยังมีแผนที่จะก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณพระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ-ถนนเชื่อมต่อ-สะพานข้ามแม่น้ำท่าจีนบริเวณท่าฉลอม จ.สมุทรสาคร ระยะทางรวม 59 กม. วงเงินลงทุนรวมประมาณแสนล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณารายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) คาดจะเปิดประมูลและก่อสร้างในปี 65 วางแผนเปิดบริการไว้ช่วงปี 67 นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างสำรวจการถ่ายโอนถนนท้องถิ่นกลับมาให้กรมดูแล้ว เพื่อจัดทำแผนเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณา ซึ่งที่ผ่านมากรมโอนให้ส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศเมื่อปี 51-52 มีจำนวน 72,000 กม.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"