ประเทศไทยเราจะยืนอยู่จุดไหนของสมการใหม่หลัง Covid-19?
นี่เป็นคำถามที่สำคัญที่สุดในยามนี้
เพราะขณะที่เรากำลังดิ้นรนหาทางรอดจากภัยโรคระบาดครั้งประวัติศาสตร์นี้ เราก็ต้องวางแผนที่จะวางประเทศไทยในโลกยุคใหม่หลังสถานการณ์รุนแรงผ่อนเบาลง
เพราะเราต้องยอมรับว่าโลกจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
และหากเราไม่เตรียมยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการให้ชัดเจน เราจะไม่สามารถฟื้นจากความเจ็บปวดครั้งนี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม
เสมือนเราถูกส่งเข้าห้องไอซียูแล้ว รักษาตัวในฐานะคนไข้ความเสี่ยงสูง พออาการดีขึ้นก็เดินไม่เป็น ยังต้องหัดเดินอีกนาน ขณะที่คนอื่นที่เตรียมตัวดีกว่าเราอาจจะวิ่งฉิวไปข้างหน้าแล้ว
ถ้าเราท้อ มุ่งแต่จะเกี่ยงกัน หรือมี mindset แบบ “ค่อยทำค่อยไป” เราอาจจะหล่นไปอยู่ในกลุ่มประเทศ “ด้อยพัฒนา” อีกครั้งหนึ่งก็ได้
ความสามารถของเราในการควบคุมไม่ให้ตัวเลขคนติดเชื้อและเสียชีวิตครั้งนี้ย่อมทำให้เรามี “จุดแข็ง” ที่สามารถต่อยอดให้กลายเป็น “จุดขาย” ที่ยั่งยืนได้
ถ้าเราทำเป็นและทำจริง
หากเราสร้างจุดแข็งเรื่องสาธารณสุขอย่างเป็นระบบ ก็สามารถจะสร้างเศรษฐกิจให้กลับมาแข็งแกร่งได้...อาจจะแข็งแกร่งกว่าเดิมด้วยซ้ำไป
ในอดีตเราไม่เคยโยงเรื่องสาธารณสุขกับมิติอื่นๆ ของเศรษฐกิจเท่าที่ควร
หลังโควิดซาลง (อย่าหวังว่ามันจะหายไปหมดสิ้น) นักลงทุนและนักท่องเที่ยวจะให้ความสำคัญเรื่องมาตรฐานสุขอนามัยมากขึ้นกว่าเดิม
ประเทศไหนที่ได้ชื่อว่ามีระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็งจะมี “เรตติ้ง” หรือ “แต้มต่อ” ที่ดีกว่าประเทศอื่นในช่วงวิกฤติจะช่วยการตัดสินใจของคนที่จะมาลงทุนหรือเที่ยว
ความปลอดภัยจากโรคร้ายจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญของการตัดสินว่าประเทศไหนจะก้าวหน้าพัฒนาได้มากกว่ากัน
เราจะกลายเป็นส่วนสำคัญของ “ห่วงโซ่การผลิต” หรือ supply chain ของบริษัทนานาชาติได้อย่างดี การแพทย์เองก็จะกลายเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจไทยในยุคหลังโควิด
หากเราบริหารให้ดี เราสามารถยกระดับของการท่องเที่ยวเป็นธุรกิจ premium
เพราะนักท่องเที่ยวต้องการความปลอดภัย และพร้อมจะจ่ายมากกว่าเดิมเพื่อเดินทางไปประเทศที่มีมาตรฐานทางด้านสาธารณสุขเป็นที่น่าเชื่อถือ
ดังนั้นที่ว่า “จะไม่เหมือนเดิม” นั้นหมายความว่า หากสายการบินต้องปรับตัวให้เข้ากับมาตรฐานความปลอดภัยทางสุขภาพใหม่ ต้องจัดที่นั่งให้ห่างกันมากขึ้น และเจ้าหน้าที่ก็ต้องมีอุปกรณ์ป้องกันตัวเองมากขึ้น แปลว่าค่าใช้จ่ายจะต้องสูงขึ้น
นั่นหมายถึงการที่ค่าตั๋วเครื่องบินจะแพงขึ้น ค่าที่พักและอาหารก็จะสูงขึ้น เพราะต้องเพิ่มมาตรการความปลอดภัยมากขึ้น
ไทยอาจจะกลายเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวระดับกลางขึ้นไป
เราต้องจัดการบริหารให้เข้ากับการวางตำแหน่งหรือ positioning ให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง เพื่อจะได้ไม่ต้องแข่งขันในตลาดล่างที่จะมีการแข่งขันตัดราคากันจนอยู่กันไม่ได้
มาตรฐานสาธารณสุขที่ดีจะมีผลทางบวกสำหรับธุรกิจการท่องเที่ยว, อาหาร, การลงทุนและอุตสาหกรรมเกือบทุกประเภทด้วยซ้ำไป
คำว่า New Normal สำหรับไทยจึงไม่ควรจะเป็นเพียง “ความปกติแบบใหม่”
แต่ควรจะต้องเป็น “มาตรฐานใหม่” เพื่อการสร้างเศรษฐกิจใหม่สำหรับประเทศไทย
เพราะเมื่อเรายกมาตรฐานด้านสาธารณสุขในประเทศ ประชาชนคนไทยจะได้ประโยชน์เป็นหลัก
เราจะสร้างสังคมที่ตระหนักในเรื่องความสะอาดและสุขอนามัย ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างคนที่มีคุณภาพและยกระดับความรู้ความสามารถของประชากร
เมื่อสาธารณสุขในประเทศดีขึ้น คนต่างชาติก็จะให้คะแนนเราเป็นประเทศที่ต้องเลือกก่อนเมื่อต้องตัดสินใจใช้เงิน, ลงทุนหรือคบหาด้วยในทุกๆ ด้าน
เราก็สามารถสร้างแบรนด์ของ “สาธารณสุขแบบไทย” ในทุกกิจกรรม ตั้งแต่อาหาร, ส่งออก, บริการ, การเดินทาง, การขนส่ง, และการคบหากันทางด้านสังคม...รวมไปถึงความโดดเด่นในการส่งเสริม startups มากมาย
นี่เป็นเพียง “ร่างแรก” ของแผนปฏิรูปประเทศไทยหลังโควิดที่ทุกภาคส่วนควรจะต้องระดมสมองเพื่อเขียน
“พิมพ์เขียว” เพื่อสร้างชาติไทยใหม่อย่างแท้จริง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |