ศบค.พบผู้ป่วยรายใหม่ 3 ราย ลุยตรวจซ้ำในพื้นที่ยะลา หลังมีรายงานติดเชื้อมากผิดปกติจากการค้นหาเชิงรุก 30-40 ราย ยันไม่ปกปิดข้อมูล แต่ต้องให้มีมาตรฐานในระดับที่เชื่อถือได้ ด้าน จ.ยะลา ยืนยันพบติดเชื้อเพิ่ม 40 ราย รอผลยืนยันจากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ผบ.ทสส.ลั่นผ่อนคลายไม่ใช่ยอมให้การ์ดตก ถ้าผู้ประกอบการรายใหม่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการจะเตือนก่อนสั่งปิด “ปลัด มท.” แจงคนแห่ออกภูเก็ตผ่านคัดกรองแล้ว การท่าอากาศยานฯ แนะให้ตรวจสอบประกาศ 5 จังหวัดที่ต้องกักตัว 14 วัน สธ.เตือนขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ตรงเวลากำหนดผิด กม.
ที่ทำเนียบรัฐบาล เวลา 11.30 น. วันที่ 3 พฤษภาคม นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า สถานการณ์ประเทศไทย มีผู้ป่วยรายใหม่ 3 ราย ผู้ป่วยสะสม 2,969 ราย หายป่วยสะสม 2,739 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตยังอยู่ที่ 54 ราย และอยู่ระหว่างรักษา 176 ราย สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 3 ราย ในจำนวนนี้ 2 รายเป็นชายอายุ 45 ปี และหญิงอายุ 51 ปี มาจากสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ใน กทม. และอีก 1 รายเป็นชายไทยอายุ 24 ปี อยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ที่ จ.นราธิวาส ซึ่งเดินทางกลับมาจากทำงานที่มาเลเซียเมื่อวันที่ 18 เม.ย. ส่วนกรณีที่มีรายงานว่า สาธารณสุขจังหวัดยะลาค้นหาเชิงรุกใน 8 อำเภอ พบผู้ป่วยถึง 30-40 คนนั้น เป็นตัวเลขสองหลัก ถือเป็นตัวเลขที่มากผิดปกติ เพราะส่วนใหญ่จะเจอ 2-3% แต่ครั้งนี้มีถึง 30.7% จึงต้องนำมาวิเคราะห์ โดยทางผู้บริหารระดับสูงสั่งให้ทบทวนชุดข้อมูลตรงนี้อีกครั้ง
“การตรวจพบกลุ่มก้อนใหญ่นั้นดี แต่ความถูกต้องต้องมาก่อน โดยวันเดียวกันจะเก็บตัวอย่างใหม่อีกรอบ ต้องตรวจซ้ำให้มีมาตรฐานในระดับที่เชื่อถือได้ และแยกคนเหล่านี้ไปกักตัวในสถานที่ที่ปลอดภัย อาจช้าสักนิด แต่ผลออกมาต้องแน่นอน ทางทีมแพทย์จะพยายามอย่างที่สุดเพื่อให้ได้ข้อมูลถูกต้องและรายงานอย่างเร่งด่วน ยืนยันว่าวันนี้ยังมีผู้ป่วยรายใหม่ 3 ราย และไม่มีการปกปิดข้อมูลแต่อย่างใด จะนำเสนอข้อเท็จจริงให้ได้มากที่สุด การเฝ้าระวังยังมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเต็มที่”
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ในรอบ 28 วันที่ผ่านมา มีรายงานพบผู้ป่วยรายใหม่ใน 36 จังหวัด และมี 32 จังหวัดไม่มีรายงานผู้ป่วยรายใหม่ในรอบ 28 วันที่ผ่านมา รวมถึง 9 จังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยมาก่อนเลย ส่วนสถานการณ์ผู้ป่วยทั่วโลก มี 3,484,176 ราย เสียชีวิต 244,778 ราย องค์การอนามัยโลกได้เตือนประเทศต่างๆ ให้คลายล็อกอย่างช้าๆ และเตรียมรับการระบาดของโควิด-19 ที่จะมีตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่พุ่งอีกรอบ พร้อมเตือนประชาชนให้เว้นระยะห่างทางสังคมไว้ ซึ่งไทยทำมาตลอด จึงเกิดผลแบบนี้ ทุกวันนี้ที่ตัวเลขเป็นอย่างนี้จนทำให้เราสบายใจมากขึ้น เพราะได้รับความร่วมมือจากประชาชนมากกว่า 90% แต่สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้เป็นผลมาจากพฤติกรรมเมื่อสัปดาห์ก่อน แต่วันนี้คนออกมาจากบ้านมากมาย ซึ่งจะแสดงผลในสัปดาห์ต่อไป ย้ำว่ายังให้ปฏิบัติตามคำแนะนำและข้อกำหนดของ ศบค. แล้วเราจะผ่านเดือนนี้ไปได้ด้วยดี
นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า ส่วนผลการปฏิบัติงานด้านความมั่นคงในช่วงเคอร์ฟิวคืนวันที่ 2 พ.ค. ต่อเนื่องเช้าวันที่ 3 พ.ค. มีผู้ฝ่าฝืนชุมนุมมั่วสุม 107 ราย เพิ่มขึ้นจากคืนก่อน 32 ราย โดยเป็นการเล่นการพนันมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือดื่มสุราและยาเสพติด ออกนอกเคหสถาน 554 ราย เพิ่มขึ้นจากคืนก่อน 4 ราย จึงขอให้ลดการกระทำต่างๆ เหล่านี้เพื่อให้เรามีพื้นที่ปลอดภัยทั้งประเทศ
ยะลายันพบติดเชื้อ 40 ราย
เมื่อเวลา 15.00 น. ที่ห้องศรียะลา ศาลากลางจังหวัดยะลา นายวรเชษฐ พรมโอภาษ รอง ผวจ.ยะลา, นพ.สงกรานต์ ไหมชุมนพ.สสจ.ยะลา ร่วมแถลงข่าวถึงกรณีจังหวัดยะลา kick off ยุทธการเชิงรุก (Active case finding) ตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย.2563 พุ่งเป้าค้นหา คัดกรอง ตรวจเชื้อ covid-19 ในพื้นที่ที่มีรายงานการติดเชื้อผู้ป่วยมาก่อน และหาผู้มีความเสี่ยงครอบคลุมทุกอำเภอเพื่อให้พบผู้ติดเชื้อระยะแรก ได้รับการรักษาเร็ว ลดการแพร่เชื้อ หยุดยั้งการระบาดก่อนเดือนรอมฎอน ซึ่งบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ ได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ในกลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยง 9 กลุ่มเป้าหมาย (1.ผู้ร่วมกิจกรรมทางศาสนาจากต่างประเทศมาเลเซีย อินโดนีเชีย ปากีสถาน 2.ผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศมาเลเซีย 3.ผู้ร่วมกิจกรรมทางศาสนาในพื้นที่ 4.ผู้ที่ร่วมกิจกรรมฮาลาเกาะห์ 5.กลุ่มเสี่ยงหมู่บ้านที่ปิดพื้นที่ 6.ผู้สัมผัส ผู้ติดเชื้อยืนยัน 7.ผู้ที่เดินทางกลับจากกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด 8.กลุ่ม Local Quarantine 9.อื่นๆ) รวมเป้าหมายในการค้นหาเชิงรุกจำนวน 3,277 ราย ได้ทำการเก็บสิ่งส่งตรวจหาเชื้อ (Swab) ในช่วงระหว่างวันที่ 18-24 เม.ย.2563 พบผู้ติดเชื้อยืนยันจำนวน 20 ราย (อ.เมืองฯ 3 ราย, อ.ยะหา 3 ราย และ อ.บันนังสตา 14 ราย)
ทั้งนี้ ทีมสอบสวนโรคจังหวัดยะลาได้ทำการสอบสวนค้นหา ความเชื่อมโยงจากผู้ติดเชื้อยืนยัน 20 ราย พบผู้สัมผัสใกล้ชิด ที่มีความสัมพันธ์ทำกิจกรรมร่วมกันรวม 671 ราย ซึ่งได้ทำการเก็บสิ่งส่งตรวจผลพบผู้ติดเชื้อยืนยันเพิ่ม 6 ราย (อ.บันนังสตา 5 ราย และอ.ยะหา 1 ราย) และได้ทำการสอบสวนโรคทั้ง 6 ราย โดยค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิดได้เพิ่มอีก 311 ราย เมื่อวันที่ 2 พ.ค.2563 ได้รับรายงานผลการตรวจหาเชื้อจากจำนวน 311 ราย ผลปรากฏว่าพบผู้ติดเชื้อยืนยันจำนวน 40 ราย ไม่พบเชื้อ 271 ราย (อ.เมืองฯ 4 ราย, อ.ยะหา 24 ราย, อ.บันนังสตา 7 ราย และ อ.รามัน 5 ราย) ซึ่งเป็นข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อยืนยันสูงสุดตั้งแต่มีการรายงานของจ.ยะลา จึงเป็นข้อสังเกตให้มีการดำเนินการเก็บสิ่งส่งตรวจหาเชื้อใหม่ เพื่อส่งตรวจยืนยันอีกครั้ง ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.สงขลา เมื่อทราบผลยืนยันจะรายงานให้ทราบต่อไป
ด้าน พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) แถลงว่า มาถึงวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เห็นว่าควรมีมาตรการผ่อนคลายบางมาตรการ โดย 3 พ.ค.นี้เป็นวันแรกของการใช้มาตรการผ่อนคลาย ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้ชีวิตทุกคนเปลี่ยนแปลงไป ใน 2 ส่วนหลักการผ่อนคลายมาตรการเพื่อให้กิจการบางประเภทที่เคยปิดให้กลับมาเปิดดำเนินการได้ โดยหมายถึงกิจการอันจำเป็นแก่การดำรงชีวิต เช่น การออกกำลังกาย ร้านเสริมสวย โรงพยาบาล ให้สัตว์ได้รับการรักษา 2 วันที่ผ่านมาเกิดการเดินทางเป็นจำนวนมาก เพราะอาจเกิดความคลาดเคลื่อนในการสื่อความหมายของการผ่อนคลาย ซึ่งการผ่อนคลายจากมาตรการที่เคยปิดให้มาเปิดได้ ไม่ใช่ให้เราผ่อนคลายความเข้มงวดที่เคยมีต่อตัวเอง
“รัฐบาลไม่เคยแนะนำให้เราการ์ดตก จึงต้องทำความเข้าใจกันใหม่ว่าเรายังการ์ดตกไม่ได้ ดังนั้น การเดินทางไม่ใช่คำแนะนำที่รัฐบาลประสงค์ให้ทุกคนปฏิบัติได้ในขณะนี้ ในข้อกำหนดที่ประกาศออกมายังระบุว่างดหรือลดการเดินทางข้ามเขตจังหวัด เว้นแต่มีเหตุจำเป็นและต้องแสดงหลักฐาน และเมื่อเดินทางไปแล้วจะต้องเจอกับจุดตรวจเข้มคนของจุดตรวจทั้งหลาย ก็ต้องยอมรับสภาพว่าทั้งเดินทางไปและกลับจะต้องพบกับความไม่สะดวกเหล่านั้น” ผบ.ทสส.ระบุ
ผบ.ทสส.เตือนผู้ประกอบการ
พล.อ.พรพิพัฒน์กล่าวอีกว่า ที่จะเปลี่ยนแปลงไปมากครั้งนี้คือ ผู้ประกอบการ ที่ต้องจัดให้มีการดำเนินมาตรการตามหลักที่กำหนดคือ 1.จะต้องจัดให้มีการทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัส 2.ต้องจัดให้ทุกคนในสถานบริการนั้นมีหน้ากาก 3.ต้องจัดให้มีเจลสบู่หรือแอลกอฮอล์เพื่อล้างมือ 4.จะต้องจัดให้มีจัดมาตรการเว้นระยะ และ 5.ต้องทำทุกวิธีเพื่อไม่ให้เกิดความแออัดในสถานบริการนั้น ภาระหนักจะตกอยู่กับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการ กทม. ที่จะต้องจัดทีมลงไปตรวจ ให้เป็นไปตามข้อกำหนดที่กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำเป็นคู่มือออกมาแล้ว โดย ศบค.ได้มอบหมายให้ฝ่ายความมั่นคงทำหน้าที่ไปตรวจ เมื่อได้ไปสุ่มตรวจในบางซูเปอร์มาร์เก็ต ก็พบว่าอาจจะมีความคลาดเคลื่อนหรือขาดความพิถีพิถันในการดำเนินการไปบ้าง ซึ่งก็ได้รับการแก้ไขแล้ว
“ชุดตรวจของฝ่ายความมั่นคง หากตรวจแล้วพบว่าสถานประกอบการนั้นไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดหลักก็ต้องตักเตือน ถ้าไม่ทำอีกก็ปิด เพราะเป็นความรับผิดชอบต่อคนในภาพรวม” พล.อ.พรพิพัฒน์กล่าว
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การเดินทางข้ามเขตจังหวัดนั้น โดยทั่วไปเรายังงดหรือชะลอ เว้นแต่มีความจำเป็น ถ้าท่านใดมีความจำเป็นต้องมีหลักฐาน ปฏิบัติตามมาตรฐานการควบคุมโรค เป็นการขอความร่วมมือ เพื่อป้องกันยับยั้งการแพร่ระบาด ถ้าเข้าไปแล้วต้องถูกกัก 14 วัน แต่หากประชาชนมีความจำเป็นต้องเดินทาง 2-3 วัน เพื่อเดินทางไปทำธุระ เช่น งานศพ งานบวช หรือไปติดต่อราชการ ในส่วนนี้เจ้าหน้าที่เข้าใจข้อเท็จจริงในชีวิตจริง และปัญหาที่ต้องปฏิบัติร่วมกัน เมื่อท่านมีความจำเป็นจึงต้องอธิบายให้ได้ถึงเหตุผลและหลักฐานประกอบ จะกักตัวตามวันและเวลาที่อยู่จริง และจะบันทึกเป็นหลักฐานเพื่อสามารถสืบย้อนได้ เมื่อหากกลับออกไปแล้วมีประเด็นเกี่ยวกับการระบาดของโรค การคัดกรองโรคในจังหวัดปลายทางภูมิลำเนาเป้าหมายความหนักเบาขึ้นอยู่กับความเสี่ยงในแต่ละพื้นที่
นายฉัตรชัยกล่าวว่า กรณีที่มีการผ่อนผันให้ประชาชนออกจากจ.ภูเก็ตจำนวนมากนั้น เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่ามีคนไทยที่ไม่มีภูมิลำเนาใน จ.ภูเก็ต ประมาณกว่า 1 แสนคน และเมื่อเกิดสถานการณ์ในช่วงแรกๆ จังหวัดจึงประกาศห้ามเข้าและออก ตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา ในจำนวนนี้มี 5 หมื่นคนที่แจ้งว่าไม่มีงานทำ ต้องการออกจากจังหวัด แต่ระหว่างนั้นยังไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากจังหวัด จนกระทั่งสิ้นสุดเมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้มีการขึ้นทะเบียนผู้ที่มีความประสงค์จะออกจาก จ.ภูเก็ตแล้ว ไม่ได้หมายความว่าจะออกได้ทั้งหมด จ.ภูเก็ตมี 17 ตำบล ตำบลที่อนุญาตให้ออกมี 14 ตำบล ที่ผ่านกระบวนการคัดกรองตามมาตรฐาน อีก 3 ตำบลยังไม่อนุญาต และเมื่อขออนุญาตออก จะต้องมีหนังสือจากผู้ว่าราชการจังหวัดรับรองว่าเป็นบุคคลที่ผ่านการคัดกรองแล้วแจ้งไปยังจังหวัดปลายทาง รวมถึงด่านตรวจระหว่างทางให้ทราบ ขอให้มั่นใจว่ากระบวนการของราชการคัดกรองตามมาตรฐานชัดเจนแล้วจึงส่งมา
ด้านนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมให้ความมั่นใจผู้เดินทางว่าทำความสะอาด ฆ่าเชื้อสถานที่ให้บริการ ทั้งสนามบิน ยานพาหนะ เป็นประจำทุกรอบทุกวัน รวมถึงตรวจเช็กสุขภาพอนามัยพนักงานขับรถ กัปตัน แอร์โฮสเตส ขณะที่ระบบขนส่งสาธารณะผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามมาตรฐานสาธารณสุข ให้มีการวัดอุณหภูมิ ถ้าเกินกว่ากำหนดไม่อนุญาตให้เดินทาง การเว้นระยะห่าง จะมีการกำหนดจุดที่นั่งหรือจุดยืน เก้าอี้ตัวไหนไม่ให้นั่งก็ไม่ต้องนั่ง และมีการขายตั๋วตามจำนวนที่นั่ง อย่างไรก็ตาม ต้องตรวจสอบแต่ละจังหวัดแต่ละพื้นที่ว่ามีวิธีปฏิบัติและข้อกำหนดต่างๆ อย่างไรก่อนที่จะเดินทาง ไม่อยากให้เดินทางไปถึงแล้วขาดหลักฐานบางอย่าง อยากให้ทราบรายละเอียดเหล่านี้ว่าเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น ขอให้ทุกคนปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าว
ช่วงเคอร์ฟิวขายเหล้าไม่ได้
นายทวี เกศิสำอาง อธิบดีกรมท่าอากาศยาน กล่าวถึงการเปิดให้บริการของสายการบินที่เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2563 โดยมีสายการบินจำนวน 4 สายการบิน ได้แก่ สายการบินนกแอร์, สายการบินไทยแอร์เอเชีย, สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ และสายการบินไทยเวียตเจ็ท เปิดให้บริการ ณ ท่าอากาศยานของกรมท่าอากาศยาน จำนวน 14 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานลำปาง แม่สอด พิษณุโลก บุรีรัมย์ สกลนคร นครพนม ร้อยเอ็ด ขอนแก่น อุบลราชธานี อุดรธานี ตรัง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และกระบี่ ทั้งนี้ ขอให้ผู้โดยสารทุกท่านกรุณาตรวจสอบ ประกาศ คำสั่งจังหวัดที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง เพื่อการปฏิบัติตามประกาศของแต่ละจังหวัดได้อย่างถูกต้อง
สำหรับประกาศ คำสั่งของจังหวัดที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางและการดำเนินงานของท่าอากาศยานในสังกัด ทย. บุคคลภายนอกเข้าพื้นที่ต้องกักตัว 14 วัน ได้แก่ 1.จังหวัดพิษณุโลก 2. จังหวัดบุรีรัมย์ 3.จังหวัดกระบี่ 4.จังหวัดตรัง 5.จังหวัดนครพนม สำหรับจังหวัดปลายทางที่ไม่มีเงื่อนไขในการเข้า-ออก และไม่มีมาตรการปิดจังหวัด ได้แก่ จังหวัดลำปาง ตาก (แม่สอด) สกลนครร้อยเอ็ด ขอนแก่น อุบลราชธานี อุดรธานี นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี
ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า วันนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศไทย ที่มีการผ่อนปรนให้เปิดกิจการได้บางประเภท ในสถานที่ชุมชน เช่น ตลาดนัด แหล่งท่องเที่ยว ซึ่งเดิมตอนที่เราคุมโรคได้ดี อัตราการระบาดอยู่ที่ 2.81% ดังนั้นเมื่อเปิดแล้วจะแพร่สูงหรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการและประชาชนคือส่วนสำคัญ โดยมีป้อมปราการ 5 ด่านต้านโควิดคือ ขอย้ำว่าผู้ประกอบการคือแม่ทัพคุมด่านโควิด ส่วนลูกทัพคือประชาชน หากดื้อไม่ทำตาม จะเกิดปรากฏการณ์แพร่เชื้อสู่กันและกัน
นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผอ.สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีคนแห่ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ห้างสรรพสินค้าขายส่งขนาดใหญ่ใน จ.เลย หลังมีการคลายล็อกดาวน์ธุรกิจและสินค้าบางประเภทวันแรกว่า แม้รัฐบาลจะมีมาตรการคลายล็อกอนุญาตให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ แต่ยังคงกำหนดให้ขายตามเวลาเดิม คือ 11.00-14.00 น. และ 17.00-22.00 น. (ช่วงเย็นปกติถึง 24.00 น. แต่มีประกาศเคอร์ฟิวลดเวลาขายถึงแค่ 22.00 น.) ซึ่งหากใครขายไม่ตรงตามเวลาที่กำหนดถือว่ากระทำผิดกฎหมายฐานการจำหน่ายสุราก่อนเวลา มีโทษปรับ 1 หมื่นบาท ส่วนคนโพสต์หากเป็นการโพสต์ในลักษณะจงใจโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อขาย มีโทษปรับ 5 แสน จำคุก 1 ปี
วันเดียวกันนี้ จุฬาราชมนตรีออกประกาศเรื่อง มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ว่าด้วยการผ่อนปรนให้ปฏิบัติศาสนกิจละหมาดวันศุกร์ (ญุมอะห์) และแนวทางปฏิบัติ สำหรับการปฏิบัติศาสนกิจละหมาดวันศุกร์ (ญุมอะห์) ให้เว้นระยะห่างระหว่างแถวและในแถว 1.50-2 เมตร และให้ยืนตามจุดที่มัสยิดได้จัดทำเครื่องหมายไว้, ให้กระชับเวลาในการละหมาดวันศุกร์ (ญุมอะห์) นับตั้งแต่อะซาน คุตบะห์และละหมาดไม่เกิน 20 นาที ทั้งนี้ ยังคงให้งดการจัดกิจกรรมทางศาสนาและกิจกรรมอื่นที่มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มทุกประเภท จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติหรือจะมีการประกาศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |