"วิษณุ" เลื่อนถกช่วยทีวีดิจิทัลไม่มีกำหนด อ้างหลายฝ่ายไม่ว่าง มึน "ไก่อู" ชงออก ม.44ปลดล็อกกรมกร๊วกหาโฆษณาได้ ทีดีอาร์ไอค้านอุ้มเอไอเอส-ทรู ห่วงรัฐสูญรายได้ 3 หมื่นล้าน ทำลายความเชื่อมั่นนักลงทุน
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 4 เมษายน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการนัดสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และผู้ที่เกี่ยวข้อง มาหารือเรื่องการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลร่วมกับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลว่า ทราบว่าฝ่ายต่างๆ ไม่สะดวก เลยต้องเลื่อนออกไป จะเลื่อนจนกว่าเขาจะแจ้งกลับมาว่าว่างเมื่อไหร่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้แจ้งกลับมา
"ขณะนี้ยังนัดกันไม่ได้ ผมแจ้งไปแล้วว่าไม่เป็นไร ถ้าวันนี้ไม่ว่างเป็นพรุ่งนี้เช้า แต่ถ้าพรุ่งนี้เช้าอีกฝ่ายหนึ่งว่างอีกฝ่ายไม่ว่างก็ไม่ได้ ต้องพร้อมหน้ากัน จากนี้จะมีการประสานเพื่อนัดมาพูดคุย" นายวิษณุระบุ
เมื่อถามว่า จะทันตามที่นายกรัฐมนตรีต้องการให้จบภายในเดือน เม.ย.หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ไม่ทราบ นายกฯ อาจจะต้องการแบบนั้นก็ได้ แต่ไม่เคยพูดกับตนแบบนั้น แต่ถึงอย่างไรต้องพิจารณาอย่างเร็วที่สุดอยู่แล้ว
นายวิษณุยังกล่าวถึงกรณี พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาการอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้มาตรา 44 เพื่อปลดล็อกให้กรมประชาสัมพันธ์สามารถหารายได้จากการโฆษณาได้ว่า ไม่ทราบ และทุกคนเวลาคิดจะคิดถึงมาตรา 44 ซึ่งมาตรา 44 มีทั้งผลบวกและลบ และไม่รู้ว่าติดล็อกอะไรถึงต้องปลดล็อก ส่วนที่บอกว่าเพราะงบประมาณไม่เพียงพอนั้น เขาก็อ้างอย่างนั้น และคงไม่ถึงกับหาโฆษณาได้ขนาดนั้น แต่อาจหาโฆษณาได้เพียงบางส่วน ซึ่งไม่รู้ว่าใครจะเป็นคนบอกว่าหาได้เท่าไรจึงจะเพียงพอแล้ว จึงให้กรมประชาสัมพันธ์ไปคุยกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) วางแผนปฏิบัติงานกันเอง
อย่างไรก็ตาม ทราบว่ากรมประชาสัมพันธ์มีความจำเป็น เพราะมีการขอมาในหลายรัฐบาล แต่เหตุผลแรกเริ่มที่ไม่ให้มีโฆษณา เพราะช่อง 11 เป็นสถานีของรัฐเพียงแห่งเดียวที่ตั้งขึ้นมาเพื่อทำความเข้าใจและให้ข้อมูลเรื่องต่างๆ ของรัฐบาล จึงถูกเบรกไม่ให้มีโฆษณามาตั้งแต่ยังไม่มี กสทช.ด้วยซ้ำ
ทางด้านนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) แสดงความเห็นกรณีที่รัฐบาลและ กสทช.จะออกมาตรการขยายเวลาการชำระค่างวดใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่ประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ทั้งบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัทลูกของเอไอเอส และบริษัท ทรูมูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด บริษัทในเครือทรู แบ่งจ่ายเป็นเวลา 5 ปี ว่ารัฐบาลปัจจุบันมีนโยบายในการสนับสนุนการช่วยเหลือเอกชน แต่ควรอยู่บนหลักการที่ทำให้เอกชนประกอบดำเนินธุรกิจและไม่กระทบกับความเชื่อมั่นนักลงทุน
ทั้งนี้ กสทช.ยังจับประเด็นเรื่องประโยชน์สาธารณะไม่ถูกต้อง ยังมีการนำเสนอข้อมูลและเหตุผลที่ไม่สมเหตุผลในการอุ้มผู้ประกอบการโทรคมนาคมทั้ง 2 ราย เพราะเอกชนทั้ง 2 รายมีผลประกอบการที่ดี มีกำไรในการดำเนินธุรกิจ ฐานะทางการเงินยังแข็งแกร่งไม่มีปัญหาอะไร ดังนั้นสิ่งที่ กสทช.ยื่นข้อเสนอให้ช่วยผู้ประกอบการ เป็นการยกประโยชน์ของรัฐและประชาชนไปให้กับเอกชน หากตีมูลค่าเท่ากับดอกเบี้ยที่ผ่อนชำระจาก 15% มาคิดที่ 1.5% ส่วนต่างตรงนี้หากคิดเป็นเงินประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ส่วนที่ กทสช.อ้างว่าหากให้เอกชนขยายเวลาชำระเงินจะทำให้มีผู้มาประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์มากขึ้นนั้น เป็นการมโน คิดไปเอง โดยไม่มีหลักฐานทางวิชาการสนับสนุน
"สิ่งที่นักลงทุนกลัวคือความไม่แน่นอนของนโยบายรัฐในเรื่องต่างๆ ดังนั้นหากรัฐบาลมีการออกกฎระเบียบอะไรแล้วมาเปลี่ยนภายหลัง ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ การขยายระยะเวลาการชำระเงินงวดที่ 4 ออกไป เป็นการเปลี่ยนเงื่อนไขในการประมูลใบอนุญาตที่ผู้เข้าประมูลทุกรายได้เคยเห็นชอบไว้แล้ว จะเป็นการทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุน และทำลายความเชื่อมั่นของประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยถูกมองว่าเป็นประเทศสารขัณฑ์" ประธานทีดีอาร์ไอระบุ
สำหรับมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลนั้น มีเหตุมีผลที่รัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือได้ เพราะส่วนหนึ่งเกิดจากความบกพร่องของหน่วยงานของรัฐที่กำกับดูแลแล้วไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขการประมูล.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |