มหาดไทยสั่งผู้ว่าราชการทุกจังหวัดออกข้อกำหนดรับการคลายล็อกอย่างเคร่งครัด พร้อมประมวลผลการปฏิบัติงานในพื้นที่ พร้อมทั้งปัญหาอุปสรรค ข้อจำกัด รายงาน ศบค.มท. เลขาฯ สมช.ย้ำคลินิกเสริมความงามยังเปิดไม่ได้ ส่วนมาตรการขายเหล้า ให้ซื้อกลับไปก๊งที่บ้านเท่านั้น ห้ามมั่วสุมเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นเลิกขาย
ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และประสานกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รับทราบ ถือปฏิบัติ และออกคำสั่งต่างๆ ตามข้อกำหนดฯ และคำสั่งฯ ทั้ง 3 ฉบับ โดยเคร่งครัด และให้สร้างการรับรู้มาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดแก่ผู้ประกอบการ พนักงาน ผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ ประชาชน และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องทุกระดับ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามคำสั่ง ศบค. ที่ 2/2563 เรื่อง แนวปฏิบัติตามข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
ทั้งนี้ ในกรณีหากผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาและมีความเห็นจะดำเนินการอื่นใด ตามข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 5) ข้อ 2 (7) ให้รายงาน ศบค.มท. ก่อนดำเนินการ เพื่อรายงาน ศบค.พิจารณา ตลอดจนเป็นการสร้างการรับรู้แก่ประชาชนและเป็นแนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และให้จังหวัดประมวลผลการปฏิบัติงานในพื้นที่ พร้อมทั้งปัญหาอุปสรรค ข้อจำกัด และความต้องการรับการสนับสนุน และรายงานให้ ศบค.มท. ทราบด้วย
นายฉัตรชัยแถลงถึงกรณีประชาชนใช้ช่วงวันหยุดเดือน พ.ค. แห่เดินทางกลับต่างจังหวัดว่า ทุกจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงท้องถิ่น จะยึดกรอบข้อกำหนดส่วนกลาง คำสั่งต่างๆ ของ ศบค.เป็นหลัก ยังไม่มีการปฏิบัติอะไรที่ต่างจากข้อกำหนด ส่วนความหนักเบาในการดำเนินการตามข้อกำหนดนั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่ อาจมีรายละเอียดแตกต่างกันบ้าง ทำอยู่ 2 เรื่อง รักษาประโยชน์สาธารณะดูแลพี่น้องประชาชน และข้อห่วงใยของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลในเรื่องการดูแลการดำรงชีวิต กระทรวงมหาดไทยได้สำรวจปัญหา ข้อจำกัด ความต้องการ ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน โดยมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้ดำเนินการ
นายฉัตรชัยกล่าวต่อไปว่า ประชาชนเดินทางได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร จะมีการกักกันตรวจสอบหรือไม่ ข้อกำหนดยังให้งดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตจังหวัดเป็นสาระหลัก ส่วนบุคคลที่มีเหตุผลความจำเป็น ต้องอธิบายเหตุผลพร้อมหลักฐานประกอบตามแต่กรณีของการเดินทางนั้นๆ ทุกคนต้องผ่านการตรวจคัดกรองของจุดตรวจต่างๆ ทั่วประเทศ ขณะเดียวกันเป้าหมายในพื้นที่ภูมิลำเนาที่จะไปเป็นสาระหลัก สิ่งที่ต้องเจอคือการตรวจคัดกรอง จะโดนกักตัว 14 วันหรือไม่ขึ้นอยู่กับเหตุผล ดูเป็นกรณีไป คนที่ผ่าน State Quarantine แล้ว จะมีใบรับรอง ให้ท่านแสดงหลักฐานนี้ ยืนยันว่าไม่มีกักตัว
คนจากภูเก็ตเป็นกลุ่มเสี่ยง
ส่วนกลุ่มที่มาจากพื้นที่เสี่ยง เช่น จ.ภูเก็ต ถ้าเดินทางต้องมีหลักฐานโดนกักตัว 30 วัน จากวันปิดจังหวัด กลุ่มนี้โดนกักตัวมาแล้ว เมื่อเดินทางไปที่ใดก็จะมีใบรับรอง และผู้ว่าฯ ภูเก็ตต้องแจ้งปลายทางให้ทราบ ขอให้อย่ากังวล ท่านอยู่ในขอบข่ายใดก็แสดงข้อมูล เห็นใจคนทำงานจุดตรวจสกัด และสั่งการให้ดูแล ให้พูดจาด้วยความละมุนละม่อม
สำหรับข้อกำหนดและคำสั่งเมื่อวันที่ 1 พ.ค. จำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วย 1) ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 5) เพื่อให้การบังคับใช้มาตรการต่างๆ ยังคงดำรงอยู่ต่อไป เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไปสู่พื้นที่อื่น และป้องกันมิให้โรคกลับมาแพร่ระบาดใหม่ในพื้นที่ซึ่งเคยควบคุมได้
2) ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 6) โดยผ่อนคลายการบังคับใช้บางมาตรการในการป้องกันและการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามลำดับขั้นตอนการควบคุมโอกาสเสี่ยงของบุคคล สถานที่ และประเภทกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงตามหลักเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกและตามผลการประเมินสถานการณ์ของฝ่ายสาธารณสุข
และ 3) คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 2/2563 เรื่องแนวปฏิบัติตามข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินและพนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมหลัก และมาตรการเสริมในการป้องกันโรคโดยเคร่งครัด
พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า การเคลื่อนย้ายคนข้ามจังหวัด ยังเป็นมาตรการที่เรากำหนดและไม่สนับสนุนโดยวิธีการใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งนายกฯ ในฐานะ ผอ.ศบค. ได้หารือในการประชุม ครม.ที่ผ่านมา เนื่องจากเดือน พ.ค. ตั้งแต่วันที่ 1-11 พ.ค. มีวันหยุดหลายวัน จึงมีมติ ครม.ไม่อนุญาตให้ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจลา
เลขาฯ สมช.ยังกล่าวถึงมาตรการคลายล็อกดาวน์ 6 กิจกรรม ว่าทั้งหมดต้องมีมาตรการกำกับ อย่างน้อยที่สุดต้องรักษาระยะห่าง ตรวจวัดอุณหภูมิ ทำความสะอาดพื้นผิวสถานประกอบการ มีเจลล้างมือ โดยมาตรการที่เข้มข้นขึ้นสามารถออกได้โดยท้องถิ่นหรือผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าฯ กทม. ส่วนร้านเสริมสวย แต่งผม ตัดผม อนุญาตตัด สระ ซอย แต่ไม่อนุญาตเสริมสวย เหตุผลคืออย่าใช้เวลานานในสถานบริการเหล่านี้ เพราะยิ่งอยู่นานยิ่งมีโอกาสรับเชื้อมากยิ่งขึ้น ผู้รับบริการและผู้ให้บริการต้องใส่หน้ากาก
สำหรับการออกกำลังกายกลางแจ้ง สิ่งจำเป็นคือต้องดูแลสุขภาพ ให้ร่างกายต้องแข็งแรง ให้เล่นในที่โล่งแจ้ง เหตุที่ไม่อนุญาตแบดมินตัน เพราะอาจเล่นในสถานที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวกก็ห้าม ขณะที่การรำไทเก๊กทำได้ แต่ผู้ร่วมกิจกรรมจำนวนพอสมควร รักษาระยะห่าง ใส่หน้ากาก เป็นไปได้วัดอุณหภูมิ จำกัดเวลา
คลินิกเสริมความงามยังปิดต่อ
“ในระยะต่อไป หากเรามีการประเมินว่าสถานการณ์เหล่านี้ดีขึ้น ได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนมากยิ่งขึ้น สถิติผู้ฝ่าฝืนเคอร์ฟิวมีน้อยลง หรือมีสิ่งบ่งชี้ได้ว่าสถานการณ์จะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ตัวเลขผู้ป่วยมีน้อยลงอย่างต่อเนื่อง ก็จะพิจารณาเปิดการผ่อนปรนระยะที่ 2 ระยะที่ 3 ระยะที่ 4 จนครบต่อไป ซึ่งแต่ละระยะตามนโยบายของท่านนายกฯ ก็คือมีการประเมิน เปิดอย่างระมัดระวัง ทั้งหมดนี้อยู่บนพื้นฐานของมาตรการทางสาธารณสุขเป็นหลัก แล้วก็เรื่องความสะดวกสบาย เรื่องเศรษฐกิจก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องพิจารณา แต่ก็แค่เป็นเรื่องประกอบ มาตรการที่เราทำทั้งหมดเพื่อสาธารณสุข เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนเป็นหลัก” เลขาธิการ สมช.กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อกำหนดให้สถานพยาบาลสามารถเปิดทำการได้วันที่ 3 พ.ค. ในส่วนคลินิกเสริมความงามสามารถเปิดได้หรือไม่ พล.อ.สมศักดิ์ตอบว่า สถานพยาบาลเป็นผลต่อชีวิตประจำวัน เรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตโดยปกติสุขไม่อนุญาต กิจกรรมใดๆ วิธีคิดง่ายๆ คือถ้าใช้เวลานานมีความเสี่ยงติดโรค ทั้งจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการ กรณีนี้จะประเมินอีกครั้ง สมควรอยู่ในระยะ 2-3 ต่อไปหรือไม่ ในขั้นต้นตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค.เป็นต้นไป สถาบันเสริมความงามยังคงห้ามอยู่ต่อไป
ถามถึงกรอบเวลาการเข้าไปใช้บริการในพื้นที่ต่างๆ ไม่ควรอยู่เกินเวลาเท่าไหร่ถึงมีความปลอดภัย ลดความเสี่ยง พล.อ.สมศักดิ์ กล่าวว่า เรากำหนดมาตรการผ่อนปรนและกำกับกิจการมีการหารือกัน 3 ฝ่าย ฝ่ายความมั่นคง สภาพัฒน์ และหมอ เป็นการเห็นชอบพร้อมกันทั้ง 3 ฝ่าย จะมีการหารือกันเป็นระยะต่อไป ปัจจัยความร่วมมือของพี่น้องประชาชนเอื้อประโยชน์ต่อสาธารณสุขและกระตุ้นเศรษฐกิจพื้นฐานมากน้อยขนาดไหน
เมื่อถามถึงมาตรการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะมั่นใจได้อย่างไรว่าซื้อเหล้ากลับไปจะไม่มั่วสุมกันในเคหสถาน เลขาฯ สมช. ชี้แจงว่า ขายได้ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค.เป็นต้นไป แต่ยังคงเป็นอำนาจผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ หากเห็นว่าในพื้นที่ของตนมีการละเมิด แพร่เชื้อเนื่องจากการขายสุรา สามารถสั่งปิดในภายหลังได้ วัตถุประสงค์ให้ซื้อกลับบ้านได้ แต่อย่ามั่วสุม จะผิดข้อกำหนดในลักษณะอื่นอีก
ขณะที่ นพ.ธีรยุทธ รุ่งนิรันดร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักในขณะที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นอกจากจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อปอดอักเสบแล้ว ยังเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการทำร้ายตนเองหรือการฆ่าตัวตายด้วย
“จากการศึกษาผลกระทบด้านเศรษฐกิจ พบว่าอันตรายจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มักจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ โดยจะพบการดื่มเหล้าดื่มเบียร์เพื่อเป็นการคลายเครียดเพิ่มขึ้น และมีการดื่มอย่างหนักมากขึ้น ซึ่งอาจจะนำไปสู่การเสียชีวิตจากการใช้แอลกอฮอล์เกินขนาดโดยตรง และเพิ่มความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายในภาวะมึนเมาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ดื่มที่เป็นเพศชาย” นพ.ธีรยุทธกล่าว
ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร (กทม.) แถลงผลการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ ว่าคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม.มีมติผ่อนปรนให้มีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค.นี้ ตามแนวทาง ศบค. นอกจากนี้ยังเห็นชอบ 8 มาตรการเดิมตามที่ได้มีมติไปแล้ว และเพิ่มอีก 2 มาตรการ
ให้ตรวจสอบกันเอง
“คร่าวๆ คือร้านอาหารและเครื่องดื่ม หาบเร่ แผงลอย ถ้าร้านไหนมีพื้นที่ 200 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องมีมาตรการคัดกรอง ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน ให้เฉพาะซื้อกลับบ้านเท่านั้น ตลาดนัด ตลาดสด ตลาดน้ำ ต้องมีมาตรการคัดกรอง จำกัดพื้นที่ร้านตัดผม ต้องมีมาตรการป้องกัน ส่วนคลินิก สถานพยาบาล โรงพยาบาล (ยกเว้นคลินิกเสริมความงาม คลินิกลดน้ำหนัก) ให้รอทำตามคำแนะนำกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สนามกีฬา ต้องเป็นแบบกีฬากลางแจ้ง เช่น วิ่ง เทนนิส ฯลฯ ส่วนฟิตเนสยังไม่เปิด สนามกอล์ฟ/สนามฝึกซ้อม ต้องมีมาตรการป้องกัน โดยทั้งหมดต้องเว้นระยะห่าง”
โฆษก กทม.กล่าวว่า ที่เพิ่มเติมคือซูเปอร์มาร์เก็ตที่เปิดอยู่แล้ว แต่จะเพิ่มจำกัดจำนวนคนเข้า ร้านขายปลีก ร้านชุมชน ต้องมีมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อด้วย อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกีฬาในร่มที่ปรับลดนั้น กทม.ยังไม่มีการอนุญาตให้เปิดกีฬาในร่ม แต่ให้เพิ่มเติมกีฬากลางแจ้งคือเทนนิส ยิงปืน ขี่ม้า และส่วนของสวนสาธารณะ เปิดให้ออกกำลังกาย พักผ่อนได้ ต้องมีระยะห่าง และห้ามจำหน่ายสินค้า
ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า แม้จะมีแนวคิดการผ่อนปรนมาตรการต่างๆลง แต่อยากเตือนว่าไม่ได้แปลว่า พอเราถอย กลับมาอยู่การแพร่ระบาดอยู่ในวงจำกัด หรือมีผู้ป่วยจำนวนน้อยๆ เราจะไม่มีโอกาสกลับไปอยู่ในการแพร่ระบาดระดับวิกฤติ เว้นแต่จะไม่มีการระมัดระวัง การเปิดกิจกรรมต่างๆ จะต้องดำเนินการอย่างปลอดภัย ทั้งนี้กลุ่มผู้ติดเชื้อที่ตรวจจับได้ยากที่สุดคือผู้ป่วยที่ป่วยแล้วแต่เขาไม่เดินมาหาหมอ ซึ่งเขาอาจจะคิดว่าไม่มีการติดเชื้ออยู่บ้านแบบ สบายๆ โดยคนกลุ่มนี้จะทำให้มีการแพร่ระบาดต่อไป เนื่องจากโรคนี้มีอาการน้อย นึกว่าตัวเองเป็นไข้หวัดธรรมดาก็เลยไม่รับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งตัวอย่างของจังหวัดภูเก็ตพบว่า ได้มีการตรวจหาผู้ป่วยเชิงรุก 671 คน พบผู้ติดเชื้อ 23 คน ใน จ.กระบี่ มีการตรวจเชื้อจำนวน 447 คน พบคนติดเชื้อ 4 คน แปลว่ายังมีผู้ติดเชื้อหลงเหลืออยู่ในชุมชนจำนวนหนึ่ง
ดังนั้น การหาผู้ป่วยให้ครบแล้วเปิดประเทศจึงเป็นเรื่องที่ยากมาก ทั้งนี้ การที่ทยอยเปิดกิจการต่างๆ ไม่ได้แปลว่าไม่มีคนไข้แล้ว เพราะฉะนั้นการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก ยังเป็นมาตรการที่สำคัญและยังจำเป็น ที่จะต้องดำเนินการในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม การเปิดกิจการจะต้องไม่ทำให้ประเทศมีความเสี่ยงมากขึ้น จะต้องระมัดระวังอย่างสูง และเพื่อไม่ให้ประเทศไทยจะต้องปิดเมืองกันอีกครั้งหนึ่ง
ถ้าไม่เข้มข้นไวรัสจะกลับมา
"ถ้าเราไม่ปรับมาตรการให้เข้มข้น เวลาเปิดกิจการ ไวรัสก็อาจจะกลับมาได้ โดยมาตรการสาธารณสุขจะต้องเข้มข้น การรักษาระยะห่างทางสังคมจะต้องมีความเข้มข้นเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เพราะฉะนั้นการผ่อนปรนมาตรการทางสังคมภาคบังคับ จะต้องไม่เพิ่มความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโรค และถ้าผ่อนปรนแล้วไม่ทำมาตรการใดๆ ความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อจะเพิ่มขึ้น โดยเมื่อมีการเปิดกิจการ และผู้คนทยอยเดินออกจากบ้านยังทำงานตามปกติ ทุกครั้งที่ออกจากบ้านเราก็จะเพิ่มความเสี่ยง โดยความเสี่ยงติดเชื้อจะแปรผันกับความสามารถของแต่ละคนในการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคลกับการดูแลสุขอนามัย" นพ.ธนรักษ์กล่าว
ด้านนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการเปิดกิจการทุกฝ่ายต้องมีการร่วมตรวจสอบซึ่งกันและกัน เช่นพบว่ากิจการร้านอาหารบางร้านมีประชาชนเข้าไปใช้บริการอัดแน่น และไม่มีการป้องกันของทางร้าน ผู้ใช้บริการก็สามารถดำเนินการตรวจสอบ เพื่อให้กิจการดำเนินการปรับปรุง ซึ่งถ้าไม่เชื่อฟังก็จะมีการดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย
"ย้ำว่าในเรื่องของการเปิดเมืองอย่างปลอดภัยจำเป็นต้องใช้เครื่องมือที่สำคัญ ทั้งนี้ อาจจะมีการจัดเรตติ้งสุขอนามัยของกิจการต่างๆ โดยภาครัฐเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผูัที่เดินทางมาจากต่างประเทศ เพื่อทำให้เห็นว่าประเทศไทยจะพลิกฟื้นกลับมาสู่ประเทศที่มีความสะอาด อาหารปลอดภัย เป็นประเทศที่น่าท่องเที่ยว เพื่อให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกจะต้องเดินทางมาประเทศไทยโดยจะเกิดขึ้นในอนาคต หลังจากที่ระวังแผนเปิดเมืองปลอดภัย" รมช.สาธารณสุขกล่าว
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยได้มีการจัดทำแนวมาตรฐานของสถานประกอบการ รวมถึงสถานที่สาธารณะมากกว่า 50 รูปแบบ โดยมาตรการหลักที่ได้มีการประกาศมาแล้วที่จะต้องดำเนินการ ไม่ว่าผู้ให้บริการจะต้องใส่หน้ากากอนามัย ในขณะที่ให้บริการ อีกทั้งต้องมีสุขภาพอนามัยส่วนบุคคลที่ดี แล้วจะต้องมีความชัดเจนในการทำความสะอาด แล้วจะต้องให้ผู้รับบริการใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลายกเว้นช่วงขณะที่รับประทานอาหาร สำคัญคือการเว้นระยะห่างทางสังคมในร้าน ในส่วนของพื้นที่กิจกรรมการกีฬา ขอไม่ให้มีการรับประทานอาหารในจุดของพื้นที่ที่จะบริการ
ทั้งนี้ ในส่วนของการในร้านตัดผมและร้านเสริมสวย การจัดระยะห่างการให้บริการเพื่อให้จะสามารถกำหนดได้ว่าควรรับลูกค้าประมาณเท่าไหร่ในพื้นที่ของร้านโดยไม่มีการนั่งรอ อีกทั้งจัดระบบการนัดหมาย ทั้งนี้ จะต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้บริการทุกครั้ง ที่ให้บริการแต่ละคนเสร็จ โดยสามารถประเมินความสะอาดของกิจการได้ในแอปพลิเคชัน Thaistopcovid
พญ.พรรณพิมลยังกล่าวถึงตลาดหลายแห่งยังไม่มีการเว้นระยะห่างทางสังคมของแผงขายสินค้าว่า พื้นฐานการดูแลของแต่ละตลาดคือการรักษาความสะอาด ทั้งนี้ อาจจะมีการผ่อนปรนในส่วนของตลาดนัด จึงเป็นความสำคัญอย่างยิ่งในการจัดแผงค้า ด้วยการจัดแผงค้าจะเป็นตัวกำหนด ระยะห่าง ง่ายกว่าการคอยกับผู้คนที่จะเข้าไปภายในตลาด ซึ่งตลาดจะต้องกลับไปดูว่าแผงค้ามีระยะห่างที่พอเหมาะหรือไม่ เพราะจะทำให้จำนวนคนที่เข้าไปในพื้นที่สามารถบริหารจัดการไม่ให้มีความแอดอัดได้ แต่ถ้าหากบางกิจการดำเนินการนำมาซึ่งความสุ่มเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโรค ภาครัฐจะต้องมีการกำกับให้หยุดบางกิจการที่ทำให้เกิดความเสี่ยงเหล่านี้ขึ้น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |