สแกน-เฝ้าระวังความเสี่ยง หลังเปิดเมือง-คลายล็อก
หลังมีการใช้มาตรการต่างๆ เพื่อสกัดกั้นการแพร่เชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย โดยเฉพาะการประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินผ่านการ lockdown สถานที่ต่างๆ รวมถึงการเคอร์ฟิวมาร่วมเดือนกว่า ในที่สุดรัฐบาลโดยการตัดสินใจของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีก็มีการ คลายล็อก-เปิดเมือง กิจการ-สถานประกอบการ-สถานที่บางประเภท โดยให้มีผลตั้งแต่ 3 พ.ค.เป็นต้นไป
ความเห็นต่อการเปิดเมือง-คลายล็อกดังกล่าวของรัฐบาลในมุมมอง-ข้อเสนอแนะ-คำเตือนจากบุคลากรในวงการแพทย์ พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา ได้ย้ำว่าประชาชนอย่าได้การ์ดตกในการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่เชื้อ เพราะหากเปิดเมืองแล้ว ตัวเลขการติดเชื้อกลับมาสูงขึ้นอีก ก็อาจต้องกลับมาล็อกดาวน์อีก อันเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น
เริ่มต้นการสัมภาษณ์ เราถามความเห็นต่อสถานการณ์ภาพรวม เรื่องการป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา และต่อจากนี้มองอย่างไรบ้างและมีข้อเสนออย่างไร พล.อ.ต.นพ.อิทธพร-เลขาธิการแพทยสภา ให้มุมมองว่า ความเห็นส่วนตัวของผม มองว่าการที่มีประเทศอื่นเจอปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก่อน ทำให้เราได้มีการถอดบทเรียน ทำให้ประเทศเราได้เรียนรู้แนวทางว่าโรคโควิดซึ่งอุบัติใหม่ แก้ไขปัญหาอย่างไร รักษาอย่างไร
ข้อดีของเราคือ ประเทศไทยมีความเหนียวแน่นในการจัดระบบเครือข่ายการรักษาพยาบาลสูง ระบบการแพทย์ของเราดีในระดับโลก บุคลากรทางการแพทย์ของเรา ทั้งหมอ-พยาบาล ทุ่มเทเสียสละ รักษาผู้ป่วยโดยไม่กลัวติดเชื้อ ไม่กลัวความตาย ทำให้ผลการรักษาผู้ติดเชื้อออกมาดีมาก
การรักษาโควิด-19 แบ่งออกเป็นสองมิติ มิติแรก คือรักษาเมื่อพบผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วย ซึ่งด้านการแพทย์ของเรา เวลานี้ไม่น่าเป็นห่วง เพราะมีทั้งกรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค และมหาวิทยาลัยต่างๆ มาช่วยกันดูแล อีกทั้งเรามีบทเรียนจากต่างประเทศ ทำให้ประเทศไทยดูแลรักษาคนไข้ที่นอนโรงพยาบาลจนถึงอยู่ในไอซียู หายเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เพราะเราเห็นข้อมูลจากต่างประเทศเยอะจึงเลือกใช้ยาประสิทธิภาพสูง และเริ่มให้รวดเร็วผลการรักษาจึงดีมาก และสาเหตุที่ประเทศไทยลดสถิติการติดเชื้อ การแพร่ระบาดของโควิดได้ดีมาก เพราะประชาชนของเราร่วมมือระมัดระวัง ป้องกันตนอย่างดี ตลอดจนนโยบายภาครัฐที่มีการ social distancing คือมีการปิดเมืองอย่างรวดเร็ว ทำให้กระบวนการติดต่อการแพร่เชื้อลดลงอย่างรวดเร็วตามไปด้วย เพราะเรายกการ์ดสูงได้เร็ว จนตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศไทย ณ วันนี้ที่อยู่ระดับต่ำกว่าสิบคน ซึ่งเป็นผลของ 14 วันที่แล้วที่การติดเชื้อลดลง วันนี้โรคจึงปรากฏน้อย แต่ไม่ได้หมายความว่าวันนี้น้อยแล้วอีก 14 วันข้างหน้าจะน้อยด้วย เพราะถ้าวันนี้มีการพลิกผันพฤติกรรม เช่น หากประชาชนเริ่มไม่ใส่หน้ากากอนามัย เริ่มคุยกันมากขึ้น เริ่มอยู่ในที่สาธารณะมากขึ้น หรือการ์ดตกเมื่อใด อีก 14 วันข้างหน้าจะกลับมาระบาดได้ทันที เห็นได้จากบางประเทศที่พอเริ่มกลับมาคลายล็อกเปิดเมือง ก็พบว่าการติดเชื้อกลับมาลุกลาม
เมื่อเรามีคนไข้น้อยลงจนเริ่มมีแนวคิดจะผ่อนปรนเพื่อเปิดเมือง สิ่งที่อยากให้เข้าใจในกลุ่มแพทย์ คือยังไงแพทย์ส่วนใหญ่ก็คงกังวล เพราะการเปิดเมืองอาจทำให้เกิดการติดต่อแพร่เชื้อ เกิดการลุกลามของโรค เพราะโรคโควิด-19 เกิดการกระจายง่าย เมื่อมนุษย์เริ่มเคลื่อนไปติดต่อกัน เป็นเหตุที่จะทำให้มีคนป่วยจำนวนสูงกว่าตอนช่วงปิดเมือง ผลที่ตามมาก็ทำให้ต้องใช้เตียงในโรงพยาบาลมากขึ้น อาจมีคนป่วยมีอาการหนักมากขึ้น ซึ่งทางการแพทย์ได้มีการเตรียมการไว้แล้ว เช่น มีการขยายเตียงในโรงพยาบาลใหญ่ตติยภูมิ และสร้างโรงพยาบาลสนามรองรับไว้ เพราะในที่สุดแล้วการเปิดเมืองต้องดำเนินต่อไป
มิติที่สอง คือด้านสังคม และชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนสำคัญไม่แพ้กัน ที่น่ากังวลคือ ประชาชนวันนี้อยู่ในสถานการณ์ปิดเมือง ทำให้สภาวะเศรษฐกิจแย่ลง คนตกงาน รายได้หายไป ที่เป็นปัญหาที่ต้องพิจารณาว่าจะช่วยอะไรเขาได้บ้างและเร่งดำเนินการพร้อมกันในปัจจุบัน
หากดูจากแนวทางในหลายประเทศ อาทิเช่น จีน เนเธอร์แลนด์ ทางภาครัฐจะเข้าไปช่วยเหลือแบบคู่ขนานกับทางการแพทย์ สองมิติเดินไปด้วยกัน แต่ของเราพบว่า ทางการแพทย์เดินไว บุกไปก่อนล่วงหน้าแล้ว แต่มิติที่สองที่กำลังขับเคลื่อนตามมา แต่ก็ยังไม่เร็วพอคือ กระบวนการช่วยเหลือ เช่น การจัดสรรงบฉุกเฉิน และมาตรการต่างๆ ช่วยประชาชนแต่ละอาชีพ ในระดับพื้นที่ซึ่งยังไม่ทันใจประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จากที่เคยมีงานทำ มีรายได้ มีความสุขในครอบครัว และใช้ชีวิตโดยเสรี แล้วเปลี่ยนไป ทำให้เกิดการกดดันให้รัฐบาลให้เร่งผ่อนปรน
จุดนี้ภาครัฐต้องสื่อให้ประชาชนเข้าใจว่าที่จริงแล้ว หลังจากนี้จะเกิด new normal ทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิม เพราะตอนนี้ทุกคนยังไปคิดกันว่าเมื่อทุกอย่างกลับคืนสู่แบบเดิมแล้ว ชีวิตจะเหมือนเดิม ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วไม่มีทางเหมือนเดิมแน่นอน
ตัวอย่างในหลายประเทศ พอเปิดเมืองแล้ว ที่เคยคิดว่าร้านอาหารจะกลับมาขายได้เยอะเหมือนเดิม ก็ไม่ใช่แล้ว เพราะประชาชนก็ไม่อยากไปนั่งกินแบบเดิม หรือโรงแรม ที่เคยจัดประชุม สัมมนาอะไรต่างๆ พอเปิดแล้วจะคิดว่าจะมีคนกลับมาจัดประชุมกันหลายงาน ก็จะไม่ใช่แล้ว เพราะช่วงปิดเมืองได้มีการไปสร้างพฤติกรรมใหม่ให้คนในสังคม ที่มีผลต่อเนื่องแน่นอน เช่น การสั่งซื้อของกิน ของใช้ทางออนไลน์ผ่านมือถือ แค่กดคลิก พฤติกรรมใหม่เหล่านี้ต้องถูกนำไปประมวลกับพฤติกรรมเดิม เพื่อสร้างโจทย์ใหม่ที่แตกต่างจากตอนก่อนปิดเมือง เปรียบเหมือนกับตอนที่เราเคยใช้กล้องฟิลม์ ตอนยังเปิดเมือง แล้วพอปิดเมืองใช้กล้องดิจิตอลไอทีกัน โดยคิดไปว่าเปิดเมืองแล้วจะกลับมาใช้กล้องฟิลม์แบบเดิมๆ จริงๆ แล้วไม่ใช่ สิ่งที่คาดจะไม่เป็นจริง
โจทย์ดังกล่าวข้างต้น ต้องมีการสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ไม่ใช่ให้ประชาชนไปเข้าใจว่าพอเปิดร้านกลับมาแล้วจะขายได้เท่าเดิม โดยไม่ต้องปรับตัว ซึ่งไม่ใช่แล้ว หรือกลุ่มคนขับแท็กซี่ ที่อาจคิดว่าหลังจากเปิดเมืองแล้ว จะมีรายได้เท่าเดิม หรือห้างสรรพสินค้าที่คิดว่าได้กลับมาเปิดอีกครั้งจะครึกครื้นเท่าเดิม ทุกอย่างมันไม่ใช่อีกแล้ว
สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงไป ต้องมีการใส่เข้าไปในระบบ แล้วไปคิดกันว่าส่วนที่หายไป เช่น รายได้ ลูกค้า ทางภาครัฐจะเข้าไปช่วยอย่างไร ถ้าภาครัฐไม่ได้มีการวางแผนล่วงหน้าว่าหลังจากนี้ อะไรบ้างที่จะกระทบในทางบวกและทางลบ ก็จะเกิดสภาพที่พอเปิดเมืองแล้วมีปัญหา จะแก้ไขไม่ทันและแก้ปัญหาหนึ่งก็จะไปเจออีกปัญหาหนึ่งตามมา
ทุกวันนี้เหมือนกับทุกคนกำลังมองเห็นแสงไฟที่ปลายอุโมงค์ คิดว่าออกจากถ้ำแล้วจะไปเจอทุกอย่างเหมือนเดิม ซึ่งต้องสื่อสารว่ามันไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว แต่คำถามคือ อะไรที่ไม่เหมือนเดิม ต้องมีคนมา predict ให้เขาเข้าใจเพื่อให้มีการเตรียมพร้อม เพราะหากเขาไม่เตรียมพร้อมกับสิ่งใหม่หลังจากนี้ พอเขาเจอปัญหา ทุกคนก็จะบ่นกับระบบของรัฐ แต่หากมีการบอกไว้ก่อนล่วงหน้า เท่ากับคือการป้องกันล่วงหน้าว่าจะเจออะไร เพราะหากบอกทีหลังคือการแก้ตัวโดยแก้ปัญหาไม่ได้ กระบวนการสื่อสารกับสิ่งที่จะเกิดในสังคมมีความสำคัญมากและต้องสื่อสารแบบหลาย level กับคนหลายสถานะ ทั้งระดับผู้ใช้แรงงาน ระดับกลาง และระดับผู้บริหาร ที่จะมีโหมดการรับรู้แตกต่างกัน
หากไม่สามารถสื่อสารเจาะจงให้ถึงตัวกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ให้ครบได้ อาจทำให้เมื่อมีการเปิดเมืองแล้ว มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนและเกิดความโกลาหลได้ ข้อมูลการสื่อสารควรต้องเน้นเรื่องการเตรียมตัวหลังจากนี้ เช่น คนขับแท็กซี่ คนงาน ยาม แม่ค้าขายของในตลาด จนท.บริษัท เมื่อเปิดเมืองแล้ว เขาควรทำอะไร ไม่ใช่คิดแค่ว่าเปิดเมืองแล้วจะกลับมาขายของแบบเดิม ได้เงินเท่าเดิม ซึ่งไม่ใช่ เพราะอย่างการเปิดห้างสรรพสินค้า ไม่ใช่คิดแค่ว่า เปิดแล้วมีคนมาซื้อของ มีคนขายของ เพราะในห้างก็ยังมียาม แม่บ้าน ช่าง คนทำความสะอาด คนเหล่านี้มีแรงงานต่างด้าวกี่คน มาจากประเทศไหน จะให้มีการตรวจหาโควิดก่อนหรือไม่ แล้วแรงงานเหล่านี้พักอาศัยอย่างไร นอนในที่พักเดียวกันหมดแบบแรงงานต่างด้าวที่สิงคโปร์หรือไม่ เมื่อห้างเปิดแล้ว นอกจากดูหน้าห้างและลูกค้า เรายังต้องดูหลังห้างด้วย ว่ากระบวนการก่อนเปิดห้างมีอะไรบ้างที่มีความเสี่ยง
สิ่งเหล่านี้ต้องมีการเตรียมพร้อม เพื่อจะดักไว้ไม่ให้ในอนาคตเกิดโรคระบาดได้ เพื่อให้ทุกฝ่ายมีการเตรียมตัวก่อนเปิดเมือง
-การที่รัฐบาลเห็นชอบให้มีการขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือนถึง 31 พ.ค. รวมถึงมาตรการต่างๆ เช่น การใช้เคอร์ฟิว จะทำให้บุคลากรทางการแพทย์มั่นใจได้ไหมว่าหากเกิดอะไรขึ้น เขาจะรับมือได้?
เรื่องนี้ทำให้ระบบวงการแพทย์ที่มีหน้าที่เป็นผู้ซ่อมสุขภาพ น่าจะรู้สึกอุ่นใจได้มากขึ้นว่าเขามีโอกาสจะช่วยป้องกันชีวิตคนได้มากขึ้น แต่ในทางกลับกัน คนที่ตกงาน ไม่มีจะกิน คนที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ คนที่ประสบภาวะยากลำบาก อาจจะไม่รู้สึกดี เพราะฉะนั้นการตัดสินใจเรื่องนี้ต้องสมดุลไปพร้อมกับมาตรการที่จะเข้าไปดูแลคนเหล่านั้นมาว่าจะช่วยเขาอย่างไร การต่ออายุการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจึงควรต้องทำพร้อมบอกด้วยว่า ภาครัฐจะเข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างไร และคาดการณ์ว่าคนที่เดือดร้อนจะต้องทนลำบากอีกนานเท่าใด แล้ว next step จะให้เขาทำอะไรต่อไป
สรุปว่าการที่มีการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็เป็นเรื่องที่ดีในทางการรักษาชีวิตคนป่วย แต่ควรต้องดำเนินการต่อเนื่องว่ากลุ่มประชาชนที่ไม่ป่วย แต่ได้รับผลกระทบจากการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไป 1 เดือน ภาครัฐจะมีมาตรการเข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้อย่างไร โดยต้องมีความชัดเจนรวดเร็ว แม้แพทย์ต้องการรักษาชีวิตคนก็จริง แต่ยิ่งต่ออายุการบังคับใช้ออกไปยาวเท่าไร ทำให้คนเกิดความรู้สึกไม่สู้ดีต่อวงการแพทย์เท่านั้น แนวทางลดปัญหาประชาชนที่กำลังลำบากให้ดำเนินชีวิตต่อได้ จึงมีความจำเป็นมาก เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการไปพร้อมกัน
ในความเห็นผม คนทุกกลุ่มต้องได้รับการช่วยเหลือไปพร้อมกัน คือช่วยทั้งรักษาพยาบาลคนป่วย และคนที่มีชีวิตอยู่ก็ต้องช่วยให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย ต้องทำไปพร้อมกันแบบให้สมดุล ความสมดุลเป็นความท้าทายของรัฐบาล ในการที่รัฐบาลจะผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้ รัฐบาลต้องดูแลทั้งคนป่วยและคนดี ที่เป็นระดับล่างและระดับกลางที่ไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้จากผลกระทบของวิกฤติ
เฝ้าระวังความเสี่ยง หลังเปิดเมือง
พล.อ.ต.นพ.อิทธพร-เลขาธิการแพทยสภา กล่าวต่อไปว่า หลังจากเริ่มมีการคลายล็อก-เปิดเมืองให้กิจการบางอย่างกลับมาเปิดได้ เรื่องที่น่าห่วงคือเรื่องสมดุลการดูแลประชาชน ในส่วนเรื่องการเจ็บป่วย ตอนนี้ค่อนข้างมั่นใจกันได้แล้วว่าพอคุมได้
การเปิดเมือง เราก็คิดว่าอาจทำให้การเจ็บป่วยเพิ่มขึ้น แต่จะเปิดเมืองมากหรือน้อย เร็วหรือช้า แล้วประชาชนจะอยู่รอดได้หรือไม่ อันนี้เป็นปัจจัยสำคัญ เพราะวันนี้คนที่อยู่รอดไม่ได้จะมีปัญหา สังเกตจากกลุ่มคนที่ไปรอรับแจกอาหารฟรี เป็นดัชนีที่บอกได้ว่าคนลำบากจริงๆ เพราะโดยทั่วไป คนก็ไม่ไปเข้าคิวยืนรอรับแจกอาหาร หากยังเกิดภาพเช่นนี้และยังมีคนจำนวนมาก สะท้อนว่ามันต้องมีอะไรที่ยังไม่สมดุล ก็ต้องไปแก้ปัญหาตรงจุดดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
เปิดเมืองที่เรากลัวกันคือ จะทำให้เกิดการแพร่เชื้อระบาดกันเยอะ ก็ต้องใช้ระบบมอนิเตอร์ ติดตามอาการ ดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งรัฐบาลก็กำลังทำอยู่ ก็น่าจะแก้ไขได้ แต่ต้องมีการเตือนและให้ความรู้กับสถานประกอบการ โดยต้องเป็นความรู้เชิงปฏิบัติการ ต้องทำให้เป็นรูปธรรมจึงอยากให้มองภาพในเชิงบวกเมื่อมีการเปิดเมือง เพราะทุกคนต้องพร้อมมาเผชิญปัญหาด้วยกัน และควรมาร่วมมือกันมีความคิดเห็นต่างๆ ร่วมกัน
อย่างผมมองว่า เมื่อมีการเปิดเมือง อุปสรรคที่เกิดขึ้นเช่น ร้านหมูกระทะ เมื่อเปิดเมืองแล้ว เขาจะกลับมาขายหมูกระทะอย่างไร จะเป็นกระทะแบบไหน กระทะใครกระทะมัน หรือกระทะแบบเดิม เพราะร้านหมูกระทะเป็นศูนย์รวมของการที่คนไปนั่งพบ กินอาหารด้วยกัน หากมีใครติดเชื้อก็แพร่เชื้อติดกันทั้งวง เช่นเดียวกับวงเหล้า อะไรที่เป็นปัญหา เป็นจุดตาย ภาครัฐต้องมาร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไร จะทำให้ผู้ประกอบการรอดได้อย่างไร
... การให้เปิดร้าน ไม่ใช่ว่าบอกว่าเปิดแล้ว ทุกคนกลับมาเปิดใหม่ได้ แต่ต้องดูด้วยว่าเปิดแล้ว เปิดอย่างไร และหากเขาเปิดไม่ได้ เปิดแล้วมีปัญหา ภาครัฐ จะเข้าไปช่วยเหลืออย่างไร อย่างร้านหมูกระทะ อนาคตก็อาจมีกระทะแยก กระทะเดี่ยว ซื้อไปใส่กระทะตนเองที่บ้าน สร้างรูปแบบการขายแบบใหม่ ภาครัฐก็อาจต้องหาทีมไปช่วยคิด เพื่อให้ผู้ประกอบการต่างๆ อยู่รอดได้ โดยอาจต้องมีกองทุนจากธนาคารให้กู้ เพื่อให้เจ้าของร้านหมูกระทะไปปรับปรุงการขายใหม่เพื่อให้ร้านมีความปลอดภัยและธุรกิจไม่ล่ม ขายต่อได้
พล.อ.ต.นพ.อิทธพร กล่าวต่อไปว่า เมื่อเปิดเมืองใหม่ สถานที่ทำงานต่างๆ เริ่มมีคนกลับไปทำงาน เช่น ให้ห้างสรรพสินค้ากลับมาเปิดครบแบบเดิมได้แล้ว คำถามคือ อย่างกรุงเทพมหานคร มีกี่ห้าง เมื่อเปิดแล้วจะมีคนที่ต้องเข้าไปทำงานในห้าง ไปขายของ เขาต้องเดินทางออกจากบ้านตอนเช้าเพื่อไปเข้าห้างรอทำงาน เช่น ทุกห้างสรรพสินค้ากลับมาเปิดใหม่กี่แห่ง โดยทุกห้างรวมกันแล้วมีคนจะกลับมาทำงานในห้างนั้น เป็นหลักหมื่น กี่หมื่นคน คนเหล่านี้เดินทางไปทำงานในห้างด้วยรถไฟฟ้า แล้วระบบรถไฟฟ้าจะรองรับการป้องกันการแพร่เชื้อได้หรือไม่ เพราะคนอาจจะมีโอกาสติดในรถไฟฟ้าเยอะจากลักษณะการเดินทาง เพราะหากมีคนติดเชื้อแล้วขึ้นรถไฟฟ้าไป คนในรถไฟฟ้าสายนั้นก็เสี่ยงติดไปด้วยหมด
ถ้าเปิดเมือง ระบบรถไฟฟ้าก็ต้องมา เริ่มเตรียมได้แล้วหลังจากเริ่มจะกลับมาเปิดเมือง เพราะตอนนี้รถไฟฟ้ายังโล่ง ยังให้คนนั่งห่างๆ กันได้ กรณีหากจะเปิดห้างที่มีรถไฟฟ้าผ่าน แต่ละสายก็วิ่งไปสถานีหน้าห้างใดๆ บ้าง หากให้เปิด จะให้ห้างเปิดอย่างไร จะให้มีการเหลื่อมเวลาการเปิดได้หรือไม่ เพื่อให้คนที่จะเข้ามาทำงานในห้างทั้งหมดในกรุงเทพมหานคร ได้เดินทางคนละเวลากัน ลดความคับคั่ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
ในบางประเทศ เวลาคนของเขาขึ้นรถไฟฟ้า เขาต้องยิงสแกนหมดให้รู้ว่าใครเป็นใคร ขึ้นตู้ไหน หากพบมีการติดเชื้อ ก็จะมีการไปติดตามคนที่โดยสารตู้ดังกล่าวทั้งหมดมาตรวจเช็กทั้งหมด แต่ของเราคนที่ต้องขึ้นรถไฟฟ้าที่ผ่านมาแน่นขนัด ถึงกับพูดว่าหายใจรดต้นคอกันเต็มขบวน ใครจะรับผิดชอบ หากมีการติดเชื้อ ตู้นั้นก็ต้องเป็นภาระของกรมควบคุมโรคไปสืบค้น และจบที่คนป่วยในโรงพยาบาล
ถามว่าหลังจากนี้แพทย์จะมีภาระเพิ่มขึ้นหรือไม่ คำตอบคือ ขึ้นอยู่กับมาตรการของรัฐในเชิงที่จะทำให้เกิดความเสี่ยงจากการเปิดเมือง ที่จะเป็นเรื่องของการ Transportation เป็นหลัก เพราะอย่างเรื่อง social distancing ในห้างสรรพสินค้า กรมอนามัยทำไม่มีปัญหา แต่การ social distancing ในระบบ Transportation ยังไม่ถูกพูดถึงในสังคม รวมถึงกรณีการกลับมาทำงานของแรงงานที่โยกย้ายกลับภูมิลำเนาที่จะกลับเมืองหลังจากผ่อนปรน และแรงงานต่างด้าวที่จะกลับเข้าพื้นที่ทำงานและต้องอยู่ร่วมกันกับคนกลุ่มอื่นๆ ในที่แออัดหรือไม่ ตัวอย่างแรงงานที่จะกลับจากต่างจังหวัด เขาจะกลับมา นั่งรถทัวร์มาหลายชั่วโมง จะติดเชื้อกลับเข้ามาหรือไม่ ทุกอย่างต้องมาคิดโจทย์ด้วยว่า สิ่งที่คิดไว้หลังเปิดเมืองอะไรทำได้หรือไม่ได้ เพราะติดข้อจำกัด
หากภาครัฐมีมาตรการเหล่านี้สื่อไปง่ายๆ ก็จะประวิงไม่ให้งานของทีมแพทย์เพิ่มมากขึ้น วันนี้เรามองแต่คนกรุงเทพฯ อยากไปเดินห้าง ออกไปกินข้าวนอกบ้าน แต่รู้ไหมว่าการเดินห้าง ในห้างจะมีคนกลุ่มต่างๆ ทำงานอยู่จำนวนมาก ทั้งพนักงานสโตร์ แม่บ้าน ยาม ที่ต้องคิดเผื่อ
คำว่าเปิดเมือง แค่คำคำเดียว แต่ฝังไปด้วยกลไกต่างๆ เป็นร้อยๆ กลไก สำคัญก็คือ ภาครัฐจะดักได้ทันหรือไม่ และแต่ละกลไกอาจฝังระเบิดทำให้เกิดการระบาดได้ ดังนั้น ต้องถูกติดตามเฝ้าดูหลังเปิดเมือง
เลขาธิการแพทยสภา กล่าวย้ำว่า โดยส่วนตัวผมเห็นว่าพื้นที่ไหนคลายล็อกได้ก็ควรทำ ซึ่งการคลายล็อก ไม่มีใครบอกว่าถูกหรือผิด เพียงแต่เมื่อคลายล็อกแล้วต้องมีการติดตาม ตั้งคนคอยมอนิเตอร์ตลอดเวลาว่าคลายล็อกแล้วเกิดอะไรขึ้น และพื้นที่ใดคลายล็อกต้องมีการให้ความรู้กับคนในพื้นที่
“ไม่ใช่ว่าคลายล็อกแล้ว ถอดกุญแจ แล้วจบ แต่ต้องคลายล็อกแบบมีคนติดตามสถานการณ์ที่พร้อมจะกลับมาล็อกเมื่อเกิดวิกฤติ การคลายล็อกต้องคลายแบบห่วงๆ ไม่ใช่คลายล็อกแบบทอดทิ้ง”
.... คือห่วงว่าประชาชนจะมีปัญหาหรือไม่ และติดตามว่าในพื้นที่ดังกล่าวมีคนเกเรที่จะทำให้เกิดปัญหาหรือไม่ ถ้ามีปัญหา ก็กลับไปล็อกใหม่ โดยต้องบอกให้ชัดเจนว่าเมื่อใดจะกลับมาล็อกใหม่ และเมื่อใดจะคลายต่อไปเรื่อยๆ เพราะเรารู้ว่า เมื่อคลายล็อกแล้ว ต้องมีบางพื้นที่แน่นอนที่จะมีการติดเชื้อเพิ่มเติม และต้องกลับไปล็อก เพราะหากบอกไว้ก่อน หากเกิดอะไรขึ้น คนจะไม่ตกใจ เช่น บอกว่าหากคลายล็อกแล้ว เกิดพื้นที่ใดมีคนติดเชื้อเพิ่มขึ้น 3-5 คน ก็อาจกลับมาใช้มาตรการเดิมสักพักแล้วค่อยปล่อยใหม่
หากทำแบบนี้ ก็จะทำให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมกระตือรือร้นเข้ามาช่วยกันดูแล เพราะไม่มีใครที่อยากให้เกิดการล็อกซ้ำ มาตรการนี้จะทำให้คนในสังคมช่วยกันดูแล ซึ่งหากไม่มีมาตรการใดๆ เลยในเชิงรูปธรรม เช่น คลายล็อกแล้วก็ไปแค่แนะนำว่า ร้านอาหาร ร้านตัดผม ต้องรักษาระยะห่างอะไรต่างๆ เป็นการมอบภาระให้ผู้ประกอบการทั้งหมด โดยไม่มอบหน้าที่ให้กับประชาชน มันจะไม่สำเร็จ เพราะความสำเร็จอยู่ที่ ประชาชน ไม่ใช่อยู่ที่ร้าน ประชาชนต้องมีจิตสำนึกในการแก้ปัญหา ไม่ใช่ว่าหากพบมีการติดเชื้อ แล้วเพียงไปโทษร้านต่างๆ แต่ต้องให้ประชาชนที่เข้าไปใช้ทราบว่าเป็นเพราะเขาไม่เคารพกฎ
คนสำคัญ หรือ “ฮีโร่” คนต่อไปหลังจากเริ่มเปิดเมือง คือ ประชาชนทุกคน ไม่ใช่หมอ ไม่ใช่รัฐบาล แต่ต้องให้ฮีโร่ตัวจริงคือประชาชนเข้าใจบทบาทตรงนี้ โดยฮีโร่ตัวจริง ต้องไปจัดการดูแลคนที่อยู่นอกแถว เช่น หากมีเด็กแว้น ไม่ทำตามกฎหมาย ชาวบ้านในพื้นที่ต้องช่วยกันกดดันให้เลิกทำ เพราะคนที่จะจัดระเบียบสังคมต่อจากนี้ได้ดีที่สุดคือประชาชน ไม่ใช่ตำรวจ ทุกคนต้องช่วยกัน เพราะถ้าสังคมเข้มแข็ง โรคโควิด-19 จะหายไป ทุกคนต้องช่วยกัน
- ถ้าคนไทยเริ่มการ์ดตก หลังมีการคลายล็อก พฤติกรรมเริ่มกลับไปเหมือนเดิมก่อนหน้านี้ ไม่รักษาระยะห่างต่างๆ จะเป็นอย่างไร?
วันนี้ชัยชนะที่เราครองแชมป์มาตลอด ในยกแรก จะชนะในยกต่อไปหรือไม่ ขึ้นอยู่กับประชาชนทุกคนต้องร่วมใจกัน ไม่ใช่อยู่แค่ที่หมอ พยาบาลแล้ว เพราะเลยระยะ ของการที่หมอ พยาบาล เป็นฮีโร่มาแล้ว มาพร้อมภาครัฐ ตอนนี้ฮีโร่คนต่อไปที่ต้องครองถ้วยร่วมกัน คือประชาชน ไม่ใช่หมอและพยาบาลแล้ว ถ้าประชาชนช่วยกันป้องกัน อย่าการ์ดตก ป้องกันระยะห่างได้ ช่วยกันดูแลกันเองได้ แล้วภาครัฐเองเป็นโค้ช คิดเผื่อไว้ว่าเมื่อมีการเปิดเมืองหลังจากนี้จะเกิดอะไรขึ้น แล้วไปช่วยกันป้องกัน โดยภาครัฐต้องออกมาตรการและคำแนะนำเพื่อมาคุ้มกัน และบอกกับประชาชน สังคมถึงจะรอด รัฐต้องมีการออกมาเตือน หลังจากเปิดเมืองในแต่ละจุด เพราะการเปิดเมืองเป็นเรื่องของภาครัฐ การดูแลตัวเองเป็นเรื่องของประชาชน การเปิดเมืองไม่เกี่ยวกับหมอ แพทย์ทำหน้าที่ด้านการรักษาและคอยเตือน ถือว่าหมอทำหน้าที่ในยกแรกโดยสมบูรณ์แล้ว
“ยกต่อไปคือ ฉากรัฐเปิดเมือง รัฐต้องทำการให้ความรู้ และทำขั้นตอนปฏิบัติ และติดตามอย่างกระชั้นชิดให้ได้มากที่สุด ส่วนประชาชนที่จะเป็น ฮีโร่ต่อจากนี้ได้จะต้อง Keep Distance ให้ได้มากที่สุดและปฏิบัติตามคำแนะนำของรัฐให้ได้ ส่วนหมอจะอยู่หลังฉาก คอยดูแลคนป่วยและเตรียมมาตรการป้องกันทางการแพทย์ทั้งชุดการตรวจ ยา และวัคซีนต่อไป ชัยชนะในยกสุดท้ายสำคัญที่สุดจะอยู่ที่พฤติกรรม “ประชาชน” คือเราทุกคนนั่นเอง” พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ-เลขาธิการแพทยสภา กล่าวย้ำตอนท้าย.
โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |