วิกฤติอาหารโลก 2020 และโควิด-19


เพิ่มเพื่อน    

 

  มีองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่งทำงานด้านอาหารการกิน สุขโภชนา รายงานวิกฤติอาหารโลกฉบับปี 2020 (Global Report on Food Crises (GRFC) 2020) เป็นผลงานร่วมขององค์กรระหว่างประเทศ 16 แห่ง ประสานข้อมูล ร่วมทำความเข้าใจ สร้างดัชนีที่สอดประสาน

            ความมั่นคงทางอาหาร (food security) หมายรวมทั้งด้านคุณภาพกับปริมาณ บุคคลต้องได้รับอาหารที่มีคุณภาพอย่างเพียงพอ เข้าถึงอาหารที่มีอยู่ตามต้องการ สามารถนำไปประกอบอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ

            ผู้ขาดความมั่นคงทางอาหารเรื้อรัง (Chronic food Insecurity) คือพวกที่ไม่สามารถได้รับอาหารมากพอ ขาดสารอาหารที่ต้องการต่อเนื่องเป็นเวลานาน

            ข้อมูลปี 2019 ประชากร 135 ล้านคนใน 50 ประเทศกำลังเผชิญปัญหาขั้นวิกฤติขึ้นไป (IPC/CH Phase 3 or above) หมายถึงกำลังอดอยากจนถึงอดตาย จำต้องได้รับความช่วยเหลือ คนอดอยากกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับ 2-3 ปีก่อน

            183 ล้านคนใน 47 ประเทศอยู่ในขั้น 2 (IPC/CH Phase 2) และเสี่ยงขยับเข้าสู่ขั้น 3 เป็นกลุ่มที่มีอาหารเพียงพอต่อการบริโภคขั้นต่ำสุด (เกือบไม่พอแล้ว) และไม่สามารถซื้ออาหารที่มีราคาแพง

            ตัวเลขเหล่านี้ต่ำกว่าจริงเพราะเป็นข้อมูลที่เก็บรวบรวมจากหน่วยงานรัฐ บางพื้นที่เข้าไม่ถึง ระบบข้อมูลไม่สมบูรณ์ ไม่ทันสมัย บางประเทศปราศจากข้อมูล ได้แก่ คองโก เกาหลีเหนือ เอริเทรีย (Eritrea) คีร์กีซสถาน เนปาล ฟิลิปปินส์และศรีลังกา

            สาเหตุของวิกฤติอาหาร :

                สาเหตุหลักมาจากความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง สงครามกลางเมือง สงครามระหว่างประเทศ เมื่อชาติไม่สงบ ประชาชนไม่สามารถประกอบกิจกรรมเศรษฐกิจตามปกติ บ้านเมืองเสียหาย คนตกงานขาดรายได้ การเกษตรถูกทำลาย ข้าวยากหมากแพง ในภูมิภาคตะวันออกกลางกับเอเชียมีผู้เผชิญวิกฤติอาหารถึง 77 ล้านคน กว่าครึ่งเป็นเพราะความขัดแย้งภายในประเทศอย่างรุนแรง สงครามกลางเมืองทำให้ 79 ล้านคนทั่วโลกต้องทิ้งบ้านเรือนอพยพย้ายถิ่น เป็นต้นเหตุของการขาดอาหาร หลายคนรับความช่วยเหลือในฐานะผู้อพยพลี้ภัย

            สภาวะภูมิอากาศแปรปรวน เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม ทำลายการเกษตร เส้นทางขนส่ง พื้นที่เกษตรได้ผลผลิตเพียงเล็กน้อย ภัยแล้งเสี่ยงก่อให้เกิดความวุ่นวายทางสังคมอีกด้วย ภูมิภาคที่เผชิญปัญหานี้มาตลอดคือ แถบจะงอยแอฟริกา (Horn of Africa) กับแอฟริกาใต้

            วิกฤติเศรษฐกิจฉับพลัน (Economic shocks) เช่น เงินเฟ้อพุ่ง ค่าเงินลดฮวบ คนตกงานพร้อมกันจำนวนมาก กระทบความมั่นคงอาหารของครัวเรือน วิกฤติเศรษฐกิจขั้นรุนแรงมักเกิดควบคู่กับความขัดแย้งภายในประเทศ สงครามกลางเมือง

            ปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เกิดวิกฤติอาหาร เช่น โรคระบาดในคน โรคพืชหรือสัตว์ แผ่นดินไหว สึนามิ

            บางประเทศเผชิญปัญหาพร้อมกันหลายอย่าง ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ ภาวะโลกร้อน ปัญหาแมลงศัตรูพืช ประเทศเช่นนี้วิกฤติจะสาหัสมาก เช่น เยเมน

            ผลกระทบจากโควิด-19 :

            ข้อมูลจาก GRFC 2020 ไม่เกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสโคโรนา โควิด-19 (Covid-19) โดยตรง (ต้องรอฉบับปีถัดไป) แต่ได้เสนอบทวิเคราะห์พอสังเขปว่า ปัญหาหนึ่งกระตุ้นให้เกิดอีกปัญหา เป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติและลากยาว ทำให้ประเทศถดถอยยาวนาน ต้องลงทุนอีกมากและนานกว่าจะฟื้นคืน โควิด-19 อาจเป็นอีกปัจจัยขยายวิกฤติอาหารโลกรุนแรงกว่าเดิม บางประเทศต้องตัดสินเลือกระหว่างจะอดตายหรือตายด้วยโรคระบาด ประเทศเหล่านี้ระบบสาธารณสุขมักขาดแคลนอยู่แล้ว ทั้งบุคลากร เครื่องมือ ยาและเวชภัณฑ์

            แม้เกษตรกรรมปี 2020 เป็นไปด้วยดี แต่โรคระบาดกระทบการขนส่ง อาจเป็นปัญหาต่อประเทศผู้นำเข้าอาหาร หากบางประเทศห้ามหรือควบคุมการส่งออกสินค้าอาหารจะยิ่งเป็นปัญหาแก่ประเทศผู้นำเข้า ปัญหานี้ทวีความรุนแรงในหมู่คนตกงาน มีรายได้น้อย คนที่ไม่ได้ทำงานเป็นหลักแหล่ง ยากจะหางานทำอีกครั้ง

            ในกรณีร้ายแรงสุดคือ โรคระบาดสร้างความปั่นป่วนทางสังคมการเมืองซึ่งมักจะเกิดร่วมกับปัจจัยอื่น เช่น คนว่างงานจำนวนมาก อาหารหายากหรือแพง ค่ายผู้อพยพเป็นอีกแหล่งที่มีความเสี่ยงสูง น่ากังวลว่ายอดเงินหรือสิ่งของบริจาคจะลดลง

            Frank Snowden นักประวัติศาสตร์การแพทย์อธิบายประวัติศาสตร์โรคระบาดเมื่อไม่นานนี้ อธิบายว่าโควิด-19 ไม่ใช่ของแปลกใหม่ ในรอบ 20 ปีนี้โลกประสบโรคระบาด SARs เชื้อไวรัสไข้หวัดนก ไข้หวัดหมูที่เล่นงานระบบทางเดินหายใจของมนุษย์เหมือนกัน และเป็นเชื้อโรคชนิดใหม่เหมือนกัน ยังไม่รวมไข้หวัดใหญ่ที่แพร่ระบาดเป็นประจำทุกปี คร่าชีวิตผู้คนนับหมื่นนับแสน จะเห็นว่าโรคระบาดที่โจมตีทางเดินหายใจแบบโควิด-19 ไม่ได้ไกลตัวมนุษย์เลย นี่ยังไม่รวมโรคระบาดจากเชื้อโรคอื่นๆ อีกหลายโรค

            ความรุนแรงของโควิด-19 ที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ความที่เป็นเชื้อชนิดใหม่ ทำให้นานาชาติต้องใช้มาตรการกักโรคอย่างเข้มข้น หวังจำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับที่ระบบสาธารณสุขรับไหว ป้องกันไม่ให้สังคมโกลาหลวุ่นวายซึ่งจะสร้างความเสียหายมหาศาล

            วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :

            ในขณะที่หลายมุมเมืองทั่วโลกเจริญรุ่งเรือง เต็มไปด้วยแสงสีเสียง มีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ สามารถสั่งซื้ออาหารได้จากทุกมุมโลก ในอีกหลายพื้นที่คนนับร้อยล้านกำลังอดอยาก

            ความอดอยากกระตุ้นให้อพยพออกนอกพื้นที่ หลายสิบล้านอพยพออกจากประเทศสู่ประเทศอื่นเพื่อหางานทำหรือเพียงเพื่อให้ได้รับความช่วยเหลือ เป็นผู้อพยพลี้ภัย เป็นโอกาสรอดของพวกเขาแม้เสี่ยงอันตราย ถูกกดขี่ละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ดีกว่านั่งรออดตายที่บ้าน

            ด้านประเทศแหล่งลี้ภัยต้องออกมาตรการสกัดกั้น บางประเทศประกาศนโยบายไม่รับมุสลิมเข้าประเทศ กีดกันไม่รับผู้ลี้ภัย วางระบบรับแรงงานต่างด้าวอย่างเข้มงวด เพราะไม่อาจรองรับคนนับล้านนับสิบล้าน ต้องการแรงงานที่มาช่วยเศรษฐกิจ ไม่ใช่มาเป็นภาระแก่ระบบเศรษฐกิจ

            เหล่านี้ควรเป็น “วาระโลก” ถกจนได้ข้อสรุประดับโลกว่าจะรับมือปัญหาเหล่านี้อย่าง วางหลักการ นโยบายภาพรวม นโยบายเจาะจงแต่ละประเทศเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด

            รายงานวิกฤติอาหารโลกฉบับล่าสุด (GRFC 2020) ให้ความเข้าใจว่าความอดอยากที่เกิดกับคนจำนวนมากพร้อมกันเป็นล้านคนสาเหตุหลักมาจากสงครามระหว่างประเทศ สงครามกลางเมือง สภาวะภูมิอาการแปรปรวนรุนแรง วิกฤติเศรษฐกิจฉับพลัน (Economic shocks)

            กรณีความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง ต่างชาติแทรกแซง สังคมต้องป้องกันไม่ให้ปัญหาบานปลายตั้งแต่ต้น มีตัวอย่างหลายประเทศที่ผ่านมาแล้วสิบปียี่สิบปีประเทศยังรบกันอยู่ กลายเป็นรัฐล้มเหลว เสียชีวิตนับแสน อพยพออกนอกประเทศนับล้าน

            ในประเด็นโควิด-19 จนถึงวันนี้นานาชาติยังควบคุมสถานการณ์ได้ โควิด-19 กระทบการขนส่งอยู่บ้างแต่ไม่ถึงขั้นขาดอาหาร ความจริงแล้วนานาชาติให้ความร่วมมือเป็นพิเศษหากเป็นการส่งยา เวชภัณฑ์ รวมทั้งอาหาร (กรณีนี้ต่างจากการห้ามคนเดินทางระหว่างประเทศ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการกักโรค)

            แต่การขาดอาหารระดับจุลภาคจะมาจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ หลายร้อยล้านคนตกงาน ปิดร้านปิดกิจการชั่วคราว ปัญหามองได้ 2 ระยะคือ ระยะสั้นภายใต้มาตรการกักโรคกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ต้องใช้เวลานานกว่า บางอุตสาหกรรมที่ถูก disrupt กลุ่มคนที่ตกงานด้วยเหตุนี้

            โดยสรุป โควิด-19 เพิ่มจำนวนคนขาดอาหาร ซ้ำเติมความอดอยากในกลุ่มเดิมที่อดอยากอยู่แล้ว ทั้งนี้ไม่ได้เป็นเพราะขาดผู้ผลิตอาหาร แต่เป็นเพราะคนซื้อน้อยลง (ขาดกำลังซื้อ)

            รายงานวิกฤติอาหารโลก (GRFC 2020) เรียกร้องให้นานาชาติตระหนักและเร่งให้ความช่วยเหลือ จำต้องช่วยไม่ให้คนอดอยากและช่วยคนอดอยากไม่ให้อดตาย ปัญหาไม่ตกอยู่กับประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น แต่จะเกิดกระแสคนนับล้านอพยพย้ายถิ่นดังที่เป็นอยู่.

-----------------

ภาพ : 135 ล้านคนที่กำลังอดอยากถึงขั้นอดตาย

ที่มา : https://www.wfp.org/publications/2020-global-report-food-crises

-----------------

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"