การเดินทางกับข้อมูลความรู้เกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวเป็นของคู่กันเสมอ เคยไป แต่ไม่รู้ว่าสำคัญอย่างไร ก็มองไม่เห็นคุณค่าที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังสิ่งที่ตามองเห็น ด้วยเหตุนี้ นักเดินทางมืออาชีพมักเตรียมข้อมูลก่อนเดินทางอย่างเพียบพร้อม เพื่อว่าการเดินทางในแต่ละครั้งจะได้เป็นการสัมผัสและเก็บเกี่ยวความประทับใจกันกลับมาแบบเต็มอิ่ม
ล่าสุด เรามีเทคโนโลยีหลายชนิดที่สนับสนุนให้คนสามารถเข้าชมสถานที่สำคัญของโลก อย่างเช่นพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ทำให้ผู้ชมไม่เพียงแต่อ่านผ่านตัวอักษรเท่านั้น แต่ยังได้เห็นภาพเสมือนจริงราวกับเดินเข้าไปชมด้วยตัวเอง ที่สำคัญ สามารถย้อนกลับมาดูซ้ำได้รอบแล้วรอบเล่าอย่างไม่จำกัดเวลา และเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
ล่าสุด ในส่วนของแหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทย กองสารสนเทศการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ก็เปิดประสบการณ์ท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ นำเทคโนโลยีเสมือนจริงมาผนวกกับการเดินทางท่องเที่ยว (Virtual Tours) พาชมสถานที่ท่องเที่ยว 10 แห่งใน 9 จังหวัดทั่วประเทศ ผ่านทางเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียของ ททท. ให้เลือกชม เลือกเที่ยวกันอย่างเต็มอิ่มทีเดียว
นายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านดิจิทัล วิจัย และพัฒนา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลกและของไทย ทำให้ประชาชนต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด คือ อยู่บ้านเพื่อหยุดเชื้อ ไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวตามปกติได้
ททท.จึงได้นำเทคโนโลยี ทัวร์เสมือนจริง (Virtual Tours) ที่สามารถนำเสนอประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยว โดยพานักท่องเที่ยวสัมผัสบรรยากาศและกลิ่นอายประสบการณ์เสมือนจริงที่ได้เข้าไปเดินท่องเที่ยวอยู่ในสถานที่ท่องเที่ยวนั้นๆ ด้วย Virtual Tours to 10 places in 9 provinces นำเสนอแหล่งท่องเที่ยว 10 แห่งใน 9 จังหวัดทั่วประเทศไทย
ประกอบด้วย ภาคเหนือ ได้แก่ วัดศรีชุม จ.สุโขทัย เป็นศาสนโบราณสถานแห่งหนึ่งในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือนอกกำแพงเมืองเดิม ในตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย วัดแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ใหญ่ซึ่งมีนามว่า "พระอจนะ" องค์พระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ในมณฑป ซึ่งปัจจุบันยอดพระมณฑปได้พังทลายหมดแล้ว เหลือแต่เพียงผนังกำแพงโดยรอบ ไม่มีหลังคาปกคลุม เป็นพระพุทธรูปกลางแจ้งจนถึงทุกวันนี้
คุ้มเจ้าหลวง จ.แพร่ สร้างจากฝีมือช่างชาวจีนและช่างพื้นบ้าน ด้วยสถาปัตยกรรมไทยผสมยุโรป เป็นทรงขนมปังขิงที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 5 สร้างด้วยอิฐถือปูนทั้ง 2 ชั้น ไม่มีการฝังเสาเข็มแต่ใช้ไม้ซุงท่อนเป็นไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ประดู่ ไม้แก่น ไม้แดง เป็นต้น และใช้ไม้เนื้อแข็งเป็นเสาเพื่อทำฐานรองรับหลังคา ด้านตัวหลังคามุงด้วยไม้ที่เรียกว่า “ไม้แป้นเกล็ด” ส่วนหลังคามีลักษณะเป็นแบบทรงปั้นหยา มีมุขสี่เหลี่ยมยื่นออกมาไม่มีหน้าจั่ว ตัวอาคารโอ่โถง มีประตูหน้าต่างทั้งหมด 72 บาน มีความงดงามด้วยลวดลายฉลุไม้อยู่ด้านบนปั้นลมและชายคาน้ำ ส่วนรอบตัวอาคารประดับด้วยลวดลายไม้แกะฉลุ โดยแต่ละชั้นจะมีการจัดแสดงที่แตกต่างกันไป
วัดนันตาราม จ.พะเยา วัดนันตารามเป็นวัดประจำชุมชนชาวไทยใหญ่ นักท่องเที่ยวสามารถชมวิหารวัดและพระพุทธรูป รวมศิลปะต่างๆ ภายในวิหาร โดยมีมัคคุเทศก์อาสาพาชม เป็นแหล่งเรียนรู้และปฏิบัติธรรม เป็นวัดที่มีศิลปะแบบพม่า ตัววิหารสร้างด้วยไม้สักทั้งหลังตกแต่งลวดลายฉลุไม้อย่างสวยงามตามส่วนประกอบต่างๆ เช่น หน้าต่าง หน้าบัน ระเบียง เป็นต้น ภายในวัดมีพิพิธภัณฑ์ธนบัตรเก่า เครื่องใช้โบราณ ผ้าลายโบราณ ภาพวาดโบราณเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการเทศน์มหาชาติแต่ละตอน
ไปต่อกันที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ปราสาทสด๊กก๊อกธม จ.สระแก้ว เป็นโบราณสถานที่ใหญ่และสำคัญของจังหวัดสระแก้ว และเป็นโบราณสถานขอมที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกแห่งนี้ ตั้งอยู่ที่บ้านหนองเสม็ด ตำบลโคกสูง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 14 เพื่อใช้ประดิษฐานรูปเคารพและใช้ประกอบพิธีกรรมตามคติความเชื่อ ในลัทธิศาสนาฮินดู คำว่าสด๊กก๊อกธม หมายถึง “เมืองที่มีต้นกกขึ้นรกในหนองน้ำใหญ่” ซึ่งปัจจุบันยังพอมองเห็น หนองน้ำใหญ่ในอดีตอยู่ใกล้ๆ ปราสาทนั่นเอง
ปราสาทหินพิมาย จ.นครราชสีมา เป็นศาสนสถานในพุทธศาสนานิกายมหายานที่มีความสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย มีอายุราว 1,000 ปีมาแล้ว เมืองพิมายมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 565 เมตร ยาว 1,030 เมตร มีกำแพงและคูน้ำล้อมรอบ มีแม่น้ำมูลไหลผ่านทางทิศเหนือและทิศตะวันออก ทางทิศใต้มีลำน้ำเค็ม ทิศตะวันตกมีลำน้ำจักราชไหลขึ้นไปบรรจบกับลำน้ำมูล และเมืองที่มีมาตั้งแต่ในสมัยอาณาจักรเขมรโบราณ ที่มีการพัฒนาของชุมชนและสังคมตามลำดับ
ภาคตะวันออก ได้แก่ อ่าวคุ้งกระเบน จ.จันทบุรี ตั้งอยู่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีหน้าที่ศึกษาค้นคว้าและวิจัย เพื่อใช้เป็นแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมต่อสภาพพื้นที่ชายฝั่งจังหวัดจันทบุรี เป็นโครงการหนึ่งที่ศูนย์ทำขึ้นเพื่อให้ประชาชนที่สนใจเข้ามาศึกษาสภาพธรรมชาติ เกิดความเข้าใจระบบนิเวศในป่าชายเลนและรู้จักใช้ทรัพยากรเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือ สะพานเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบน ตั้งอยู่ตรงข้ามศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ใช้เวลาเพียง 30-45 นาที บนเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ระยะทาง 1,600 เมตร มีจุดสื่อความหมายธรรมชาติอยู่ตามบริเวณจุดต่างๆ เป็นแหล่งอาหารธรรมชาติ ตลอดจนแหล่งสมุนไพรสำหรับชุมชนที่อาศัยอยู่โดยรอบอีกด้วย
ย้อนมาที่ภาคกลาง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ และพระนารายณ์ราชนิเวศน์ จ.ลพบุรี เป็นพระราชวังที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2209 บนพื้นที่ 41 ไร่ ณ เมืองลพบุรี เพื่อใช้เป็นที่ประทับ ล่าสัตว์ ออกว่าราชการ และต้อนรับแขกเมือง ปัจจุบันได้จัดแสดงหลักฐานโบราณวัตถุตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่พบจากแหล่งโบราณคดีลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นลำดับเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน จัดแสดงเรื่องชีวิตไทยภาคกลาง วิถีการดำรงชีวิต ที่อยู่อาศัย เครื่องมือ เครื่องใช้ประกอบอาชีพประมง การเกษตร ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านของคนไทยในภาคกลาง โดยเฉพาะจังหวัดลพบุรี โดยจัดเป็นนิทรรศการตามอาคารต่างๆ ในบริเวณพระนารายราชนิเวศน์
วัดบางกุ้ง จ.สมุทรสงคราม ซึ่งเป็นที่ตั้งของโบสถ์ปรกโพธิ์ ที่ดำรงอยู่ด้วยการค้ำยันแห่งรากไม้อันแข็งแรง ชาวไทยนิยมเดินทางมานมัสการหลวงพ่อพุทธนิลมณี หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อดำ” พระพุทธรูปเก่าแก่สมัยอยุธยา ที่ประดิษฐานอยู่ในโบสถ์ มีความเชื่อกันว่าหากมาสักการบูชา บารมีของท่านจะช่วยปกปักรักษาคุ้มครองให้ผู้ที่มากราบไหว้ร่มเย็นเหมือนอยู่ใต้ร่มโพธิ์ร่มไทร แคล้วคลาด ปราศจากอันตราย และมีชัยต่ออุปสรรคทั้งปวง
ไปกันที่ภาคใต้ ได้แก่ วังเจ้าเมืองพัทลุง จ.พัทลุง ในอดีตวังแห่งนี้เคยใช้เป็นสถานที่ว่าราชการและเป็นที่พักอาศัยของเจ้าเมืองพัทลุง มีความสวยงามโดดเด่น ปัจจุบันถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัด วังเจ้าเมืองพัทลุง เป็นที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า "วังเก่า-วังใหม่" เนื่องจากประกอบด้วย "วังเก่า" และ "วังใหม่" ตั้งอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกัน
บ้านท่านขุน จ.นครศรีธรรมราช หรือบ้านท่านขุนรัฐวุฒิวิจารณ์ เรือนปั้นหยายกพื้น หลังคาสูง สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2445 โดยนายเขียน มาลยานนท์ ซึ่งได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็น "ขุนรัฐวุฒิวิจารณ์" นายอำเภอเมืองกลาย ภายหลังได้ยกที่ดินและบ้านหลังนี้ให้แก่นายโกวิท ตรีสัตยพันธุ์ (หลาน) เมื่อปี พ.ศ.2482 ซึ่งต่อมาได้ใช้บ้านและที่ดินเปิดเป็นโรงเรียนรัฐวุฒิวิทยา และเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนนครวิทยา และได้ปิดตัวลงเมื่อปี พ.ศ.2529 และต่อมา ปี พ.ศ.2426 นายสำราญ ตรีสัตยพันธุ์ ซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งของตระกูลตรีสัตยพันธุ์ ได้ซื้อบ้านและที่ดินแปลงนี้มาดำเนินการบูรณะปรับปรุง ซ่อมแซม เพื่ออนุรักษ์ไว้เป็นบ้านโบราณของจังหวัด พร้อมกับเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้มาชมความงามของเรือนไทยโบราณหลังนี้ และเพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาสำหรับผู้ที่มีความสนใจอย่างแท้จริง
วัดมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช เดิมเรียกว่า วัดพระบรมธาตุ โบราณสถานสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นศูนย์รวมจิตใจชาวเมืองนครศรีธรรมราช ตลอดจนพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ภายในมีพระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งตั้งอยู่ภายในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ประกาศจดทะเบียนวัดพระมหาธาตุเป็นโบราณสถาน นับเป็นปูชนียสถานที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้
พระบรมธาตุเจดีย์ ยังมีความน่าอัศจรรย์อีกอย่างหนึ่งจนผู้คนต่างพากันเรียกว่า “พระธาตุไร้เงา” เนื่องจากองค์พระธาตุจะไม่มีเงาทอดลงพื้นไม่ว่าแสงอาทิตย์จะส่องกระทบไปทางไหน ซึ่งยังไม่มีใครสามารถหาคำตอบได้ว่าเป็นเพราะอะไร ทำให้พระบรมธาตุเจดีย์เป็นหนึ่งในอันซีนไทยแลนด์สัญลักษณ์ของจังหวัดนครศรีธรรมราชที่รู้จักกันแพร่หลาย
ปิดท้ายบ้านหนังตะลุง จ.นครศรีธรรมราช เป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายตัวหนังตะลุงและหนังใหญ่ อีกทั้งยังมีการแสดงในลักษณะสาธิตในบริเวณบ้านหนังตะลุง นอกจากนี้ยังได้แบ่งพื้นที่เพื่อจัดเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน และพิพิธภัณฑ์หนังตะลุงนานาชาติ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ควรอนุรักษ์ไว้
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชม Virtual Tours to 10 places in 9 provinces ผ่านทาง https://www.tourismthailand.org/Articles/virtual-tours-thailand และติดต่อสอบถามเพิ่มเติมผ่านทาง Facebook : Amazing Thailand และ Twitter @ThailandFanClub และ @go2Thailand
สรณะ รายงาน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |