พรรคร่วมฝ่ายค้าน 6 พรรคการเมือง เพื่อไทย ก้าวไกล เสรีรวมไทย ประชาชาติ เพื่อชาติ พลังปวงชนไทย เปิดเกมรุก เดินหน้าล่ารายชื่อขอเปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญ ให้ได้ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ทั้งที่ตามวาระปกติ สภาฯ จะเปิดประชุมสมัยสามัญอยู่แล้วตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.เป็นต้นไป
เหตุผลของพรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทย อ้างว่ามีความจำเป็นจะต้องเปิดประชุมเพื่อจะได้ร่วมกันหารือ เสนอแนะ พ.ร.ก.กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท และ พ.ร.บ.ถ่ายโอนงบประมาณ ที่ฝ่ายค้านอ้างว่าได้รับเสียงสะท้อนมาจากประชาชน จึงอยากเตรียมคำถามไปถกกันในสภาฯ เพราะในวงเงินที่จะกู้มานั้น ตามเอกสารราชการที่เผยแพร่มีรายละเอียดเพียงใบแปะหน้า เม็ดเงินจะเอาไปใช้ในส่วนไหน อย่างไร ในรายละเอียดใดบ้าง จำนวนเท่าไหร่ และจะเกิดความคุ้มค่าหรือไม่ เพราะหากจะรอตามช่องทางปกติคงไม่ทันการณ์
อาทิ งบเงินกู้ ส่วนแรกในวงเงิน 1 ล้านล้านบาทแรกที่แยกย่อยมาเป็น 6 แสนล้าน จะเอามาเยียวยาประชาชนและนำไปใช้ด้านสาธารณสุข แม้ในงบส่วนนี้ไม่ถูกท้วงติง แต่เพื่อไทยติดใจงบอีก 4 แสนล้านบาทที่จะเอามาใช้ในโครงการสร้างความเข้มแข็งในชุมชน ที่ไม่มีการระบุในรายละเอียดชัดเจน ซึ่งดูเหมือนเป็นการ ‘ตีเช็คเปล่า’ ให้บางพรรคการเมืองนำไปใช้โดยอาจมีการเอื้อกันเฉพาะพวกพ้อง และไม่ชอบมาพากล
การขอเปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญของฝ่ายค้านมีด่านหินต้องเผชิญ เพราะตามเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญ การขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญได้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ต้องเข้าชื่อกัน 1 ใน 3 จากจำนวนสมาชิกทั้งสองสภาฯ ปัจจุบัน หากเข้าเงื่อนไขจะต้องมีผู้ลงนามถึง 246 คน แต่ขณะนี้พรรคร่วมฝ่ายค้านมีเสียงเพียง 213 เสียง เท่ากับว่ายังขาดเสียงสนับสนุนอีก 33 เสียง
นอกจากนี้ หลังจากแนวคิดขอเปิดประชุม แม้ฝ่ายค้านจะอ้างเหตุจำเป็นในการขอตรวจสอบเงินกู้ แต่ฝ่ายรัฐบาลแสดงความ ‘ไม่เห็นด้วย’ อย่างชัดเจน ผ่านนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) โดยให้เหตุผลว่า
“ข้อเสนอของพรรคร่วมฝ่ายค้านนั้น ขณะนี้ยังไม่เห็นว่ามีเรื่องอะไรที่เป็นวาระเร่งด่วนที่จะต้องเปิดประชุมสมัยวิสามัญ เพราะรัฐบาลก็กำลังเร่งแก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 อย่างเต็มที่อยู่แล้ว จึงขอให้เป็นกำลังใจในการทำงานของรัฐบาลดีกว่า”
หากฝ่ายค้านจะขอเปิดประชุมให้ได้ ต้องไหว้วาน ส.ส.ซีกรัฐบาล เมื่อตรวจดูความพร้อมจากพรรครัฐบาลแล้ว ที่พอจะเป็นมิตรพูดคุยกันได้ อาจได้เสียงมาเป็นกอบเป็นกำ คือสมาชิกจากพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย แต่ทว่า เมื่อดูลึกลงไปในรายละเอียด ทั้งสองพรรคมีแกนนำพรรคเข้าไปเป็นรัฐมนตรีในกระทรวงสำคัญๆ ที่เกี่ยวกับการ ใช้งบประมาณเพื่อที่จะนำมาสู้กับสงครามโควิด การนำเงินไปช่วยเหลือประชาชนแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น
ประกอบกับท่าทีสมาชิกในพรรคร่วมรัฐบาลออกไปในทิศทางสงวนท่าที ค่อนข้างโน้มเอียงไปในทางไม่เห็นด้วยต่อการเปิดประชุมวิสามัญเสียมากกว่าด้วยซ้ำ ยังไม่ต้องพูดถึงมาตรการควบคุม ป้องกัน หากมีการเปิดประชุมสภาฯ จริงๆ ในช่วงไวรัสโควิด-19 แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดน้อยลง แต่ก็ยังไว้วางใจไม่ได้เสียทีเดียว ชีวิตผู้แทนฯ ที่แม้ตอนนี้สภาฯ ไม่เปิด แต่ยังคลุกคลีทำงานกับประชาชนในพื้นที่อย่างใกล้ชิด
รวมไปถึ คณะทำงาน คณะผู้ติดตาม หากเร่งเร้าให้เปิดประชุมสภาฯ โดยเร็ววัน ในขณะที่มาตรการควบคุม ป้องกัน ทางสภาฯ แม้จะมีบุคลากรทางการแพทย์มาสแกนตรวจวัดไข้ก่อนประชุม ทำความสะอาดห้องประชุมก็ตาม แต่ในภาวะที่ทุกคนเฝ้าระวังก็ไม่อาจนิ่งนอนใจได้
หากจะไปขอพึ่งเสียง ส.ว.คงเป็นเรื่องยาก เพราะที่ผ่านมาถือเป็นคู่ปรับ เป็นไม้เบื่อไม้เมาที่ฝ่ายค้านโจมตี ส.ว.แต่งตั้งชุดนี้มาจากมรดกการสืบทอดอำนาจ และวิพากษ์วิจารณ์การทำงานอย่างดุเดือดมาโดยตลอด
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ระบุว่า “การล่ารายชื่อ ส.ส.เพื่อเปิดประชุมวิสามัญนั้น เราไม่ท้อถอย จะรวบรวมรายชื่อให้ได้ พรรคร่วมฝ่ายค้านมี 213 คน ขณะที่ ส.ส.ท่านอื่นๆ ที่สนใจสามารถส่งรายชื่อให้ประธานสภาฯ ได้โดยตรง เพราะไม่มีการแจ้งแหล่งที่มา รวมทั้ง ส.ว.ด้วย ซึ่งขณะนี้มี ส.ว.บางส่วนก็สนใจจะลงชื่อร่วมกับเรา”
นายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) และ ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐบาลจะกู้เงินครั้งมโหฬารมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ เป็นการกู้แบบเร่งด่วน ไม่มีแผนงาน แถมตั้งระบบบริหารแบบพิเศษที่ไม่เคยมีในประวัติศาสตร์ คือใช้คณะบุคคลเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้นเองมาบริหาร เป็นการเปิดช่องให้มีการทุจริตโดยง่าย และยังมีประเด็นล่อแหลมที่อาจทำให้ฐานะการเงินประเทศต้องพัง เพราะไปเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุนใหญ่ ซึ่งเราเคยมีบทเรียนมาแล้วในอดีต วันนี้รัฐบาลออก พ.ร.ก.ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าไปซื้อตราสารหนี้เอกชน คืออีกเรื่องใหญ่ที่คนในชาติยังกังวลและเห็นต่างกัน
ฝ่ายค้านมีเสียงในกระเป๋า 213 เสียง จะให้เข้าเงื่อนไขเปิดประชุมได้ต้องมี 246 เสียง จึงต้องขอเสียงสนับสนุนเพิ่มอีกอย่างน้อย 33 เสียง ถือเป็นงานช้างของฝ่ายค้านอย่างยิ่ง การไปยื่นหนังสือขอให้มีการเปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญถึงนายกรัฐมนตรี โดยมี สุภรณ์ อัตถาวงศ์ เป็นตัวแทนออกมารับรอบนั้น คนกันเองยังส่ายหน้า เสียเหลี่ยมการเมืองที่เอาคนออกมาด่าพรรคตัวเองให้มารับหนังสือ
การรวบรวมเสียงจากเดิมที่จะทำให้แล้วเสร็จตั้งแต่สุดสัปดาห์นี้แล้วก็ทอดเวลาออกไป สะท้อนให้เห็นถึงความไม่ปกติของฝ่ายค้าน ท่ามกลางเสียงเล็ดลอดออกมา แม้แต่ฝ่ายค้านบางคนยังไม่เห็นด้วย ยังไม่นับรวมงูเห่าบางคนที่พร้อมจะดื้อแพ่งไม่ร่วมลงชื่อ
การขอเสียงเพิ่ม 33 เสียง ที่มองว่ายากแล้ว การรักษาเสียงเดิม 213 เสียงให้ลงชื่อครบทุกคน ไม่แตกแถว นาทีนี้ ‘การขอเสียงเพิ่ม’ กับ ‘รักษาเสียงเดิม’ ไม่รู้ว่าอย่างไหนเป็นโจทย์ที่แก้ไม่ตกของฝ่ายค้าน ในภารกิจรวบรวมเสียงขอเปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญ…ให้ได้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |