'บิ๊กป้อม-สมคิด'สาวไส้ให้กากิน ลามยุบพปชร.บี้ภาพส.ว.ทับซ้อน


เพิ่มเพื่อน    

     ปมปล่อยข่าวการแย่งชิงอำนาจ เขย่าบัลลังก์คณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ผูกโยงเชื่อมการปรับ ครม. หลังทำงานมาครบ 1 ปีในช่วงเดือน มิ.ย.2562 ท่ามกลางสถานการณ์ที่คนไทยกำลังต่อสู้กับวิกฤติเชื้อโรคร้ายโควิด-19 ทั้งในแง่ของสุขภาพ เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ 

            การชิงอำนาจครั้งนี้ถูกเปิดโปงความเคลื่อนไหวว่ามีผู้ที่ต้องการเป็นรัฐมนตรี โดยอาศัยบารมีทางการเมืองของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานยุทธศาสตร์ พปชร. ยึดอำนาจฝ่ายของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐนตรี ผ่านเด็กในคาถา 3 กุมาร คือ นายอุตตม สาวนายน รมว.คลังและหัวหน้าพรรค และ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน ในฐานะเลขาธิการพรรค และ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  

            โดยอ้างว่าไม่ดูแล ส.ส.และเลือกปฏิบัติเฉพาะพวกพ้องเท่านั้น

            ต่างจาก “บิ๊กป้อม” ที่ต้องจ่ายท่อน้ำเลี้ยงตั้งแต่ช่วงเลือกตั้งหลายพันล้าน กระทั่งเลี้ยงกล้วยดูแล ส.ส.กว่าร้อยคน ในแต่ละเดือนมาร่วมปีนับรวมหลายร้อยล้าน 

            ดังนั้น “พล.อ.ประวิตร” จะขอรวบอำนาจและขอปรับโครงสร้าง พปชร.ให้สอดคล้องกับบริบทการเมืองที่แท้จริง โดยมี ส.ส.เป็นนั่งร้านสำคัญของรัฐบาลจะไม่ได้เชียวหรือ

            แต่เนื่องจากฝ่าย “จอมยุทธ์สมคิด” ที่ถูกมองว่าเป็น “ตาอยู่” ไม่ยอมสูญเสียอำนาจ จึงตลบหลังนำแผนมาเปิดโปงขบวนการจนเกิดแรงกระเพื่อมขึ้นสนั่นหวั่นไหว กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ต้องออกมาสยบศึกเป่านกหวีดให้พักรบกันชั่วคราว

                "ไม่ต้องต่อรอง ไม่ต้องเจรจา ผมเป็นนายกฯ ผมทำคนเดียว"  

            แม้เบื้องต้นดูเหมือนฝ่ายนายสมคิดจะรักษาอำนาจต่อไปได้ แถมยังฝากแผลฉกรรจ์ทิ้งไว้ “บิ๊กป้อม” เป็นหัวหน้าพรรคควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และบริวารที่อยากเป็นรัฐมนตรี ถูกแก้ผ้าประจานความรู้ความสามารถต่อสาธารณะ จนเกิดกระแสสังคมตีกลับออกมาร้องยี้และอุทานขอชีวิตกันยาวๆ เพราะเทียบชั้นไม่ได้กับเหล่า 3 ยอดกุมารทองในสายสายจอมยุทธ์สมคิดแบบทิ้งห่างคนละเบอร์ คนละเกรด     

            แต่การเมืองเป็นเรื่องมือ ส.ส. ใครกุมเสียงข้างมากเป็นฝ่ายชนะ ไม่สนใจภาพลักษณ์ และเป็นที่รับรู้กันภายใน พปชร.ว่า “ลุงป้อม” คือเส้นเลือดใหญ่ทำหน้าที่หัวจ่ายหลัก อำนาจบารมีไม่ต่างจาก “นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร เป็นเจ้าของพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน มาถึงยุคพรรคเพื่อไทย ส.ส.พปชร.หลายคนเรียก

                “นายป้อม” มิใช่ “มนุษย์ลุง”  

            ดังนั้น ทุกสำนักจึงฟันธง เมื่อสถานการณ์โควิดสงบ และบรรยากาศการเมืองกลับมาเป็นปกติ แรงเขย่าและปรับเปลี่ยนโครงสร้างใน พปชร.จะกลับมาเคลื่อนไหวรุนแรงขึ้น เพื่อหวังผลต่อเก้าอี้ ครม. เช่นกระแสข่าวที่นายณัฐฏพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ที่มีกระแสจะอัพไซส์ไปนั่ง รมว.พลังงาน ได้ลาออกจากคณะกรรมการบริหาร พปชร. แสดงอาการไม่ยอมแพ้ แม้ “นายป้อม” จะออกมาเล่นบทลับลวงพราง สยบข่าวไม่ปรับหัวหน้าและเลขาธิการพรรคสายสมคิดออกไปก็ตาม จึงเป็นเรื่องที่คอการเมืองจะต้องติดตามกันต่อไป  

            แต่สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแน่แท้คือ การออกมาสาวไส้กันเองแบบแตกยับครั้งนี้ โดยไม่สนวิกฤติโรคระบาด กลับเขี่ยลูกไปเข้าทางพรรคฝ่ายค้าน โดย นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ ยืนเรื่องยุบพรรค พปชร.ผ่าน กกต.ทันที หลังพบการให้สัมภาษณ์และเคลื่อนไหวของ “เสธ.อ้น” พล.อ.กนิษฐ์ ชาญปรีชญา สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) คนใกล้ชิดลุงป้อม อยู่เบื้องหลังการเดินเกมให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ขึ้นเป็นหัวหน้า พปชร.แทนนายอุตตม  

            สุ่มเสี่ยงฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 28 และมาตรา 29 หรือไม่ หากศาลรัฐธรรมนูญมีหลักฐานว่า พปชร.ยินยอมให้คนนอกที่มิใช่สมาชิกควบคุม ครอบงำ และชี้นำ ในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองขาดอิสระ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมนั้น ก็จะตัดสินให้ยุบพรรค

            ไม่เพียงแต่ พปชร. เรื่องที่ยังลามไปตอกย้ำความสั่นคลอนแก่สถาบันวุฒิสภาจากการสรรหา 250 คน ให้เป็นที่พูดถึงและย้อนระลึกไปกาลครั้งหนึ่งที่มีประธานคณะกรรมสรรหา ส.ว. ที่ชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรองหัวหน้า คสช. เป็นประธาน ว่าได้ทำหน้าที่ชอบธรรมด้วยจริยธรรมทางการเมืองและหลักกฎหมายหรือไม่ เพราะบัดนี้บทบาทของ “เสธ.อ้น” ที่ตัวเองแต่งตั้งเข้ามาส่อเค้าตอบแทน “บิ๊กป้อม” ใช่หรือไม่ 

            ไม่นับ ส.ว.คนอื่นๆ ที่ยังช่วยเหลือในทางลับ หรือเป็นกระบอกเสียงให้ฝ่ายรัฐบาล อาจสุ่มเสี่ยงฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 113 ระบุว่า วุฒิสภาไม่ฝักใฝ่อยู่ในอาญัติของพรรคการเมืองใดๆ และมาตรา 114 ระบุว่า วุฒิสภาเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่ผูกมัดแห่งอาญัติมอบหมายหรือความครอบงำใดๆ ... โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์   

            ท่ามกลางกับคำถามของประชาชนก่อนหน้าในยุคโควิดที่ถามว่า มีวุฒิสภาสรรหา 250 คนไว้ทำไม เพราะกินเงินภาษีจากประชาชนรวมๆ แล้วเดือนละไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท โดยไม่เห็นผลงาน แตกต่างจาก ส.ส.ที่ควักเงินช่วยเหลือชาวบ้านทั่วประเทศอย่างเต็มกำลัง 

            แม้จะมีความพยายามของประธานวุฒิสภา เพราะทนเสียงวิจารณ์ไม่ไหว ด้วยการเสนอหักดิบเงินเดือน 5 หมื่นบาท ก็ยังเสียงแตกเกิดปัญหาไม่เห็นด้วย จนสุดท้ายเปลี่ยนมาเป็นของความร่วมมือและรวบรวมเงินได้ 10 ล้านบาทมาช่วยเหลือประเทศ

            ล่าสุดเรื่องยังเข้าทาง 11 ภาคีนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ ได้ร่วมกันจัดแคมเปญ “ถอดถอน ส.ว. 250 ท่าน” ที่ถูกเลือกมาจากคณะรัฐประหาร ผ่านเว็บไซต์ change.org โดยเชิญชวนให้ประชาชนร่วมลงชื่อถอดถอน เพราะเห็นว่าตลอดการทำงานมีหน้าที่เดียวคือโหวตนายกฯ  

            แม้การเคลื่อนไหวของนักศึกษาเหล่านี้จะยอมรับว่าเป็นจุดเริ่มต้นการเรียกร้องประชาธิปไตยคืนสู่ประเทศไทยเท่านั้น

            แต่ก็ถือว่าเป็นการส่งสัญญาณไปถึง กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่กำลังพิจารณากันอยู่ว่า สุดท้ายแล้ว ส.ว.สรรหา 250 คน ยังมีความจำเป็นต่อประชาชนหรือไม่ หลังยุคโควิด-19.

  เสือดำคลองเตย

 

 

 

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"