ปลัดคลังเดือด!แฉดรามาเยียวยา


เพิ่มเพื่อน    

  ปลัดคลังระเบิดความในใจ! แฉเละดรามาวืดเงินเยียวยา 5,000 บาท ชี้ “ปีนรั้ว-กรอกยา-ร้องไห้” หวังเงินบริจาค มีคนได้ไปร่วมแสน บางคนเตรียมกินยาเบื่อหนูมาจากบ้านในปริมาณที่พอดี จำได้พวกสั่งลุยเป็นคนของพรรคการเมือง แจงข้าราชการทำงานเต็มที่ไม่ได้หยุด แจงอีกกลาง พ.ค.ครบ 16 ล้านคน นายกฯ สั่ง “พม.” สำรวจข้อมูลช่วยเหลือกลุ่มตกหล่น เตรียมพร้อมแจกเงินช่วยเหลือ ชี้ศิลปิน ศิลปะ ลิเก ลำตัด นักกีฬา ได้ด้วย 

    เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 2/2563 โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี, นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม 
    นายกฯ กล่าวช่วงหนึ่งระหว่างการประชุมว่า อยากให้นำข้อมูลที่ได้จากหน่วยงานต่างๆ ไปจัดทำเป็นฐานข้อมูลในรูปแบบบิ๊กดาต้าที่ว่าด้วยหลายภาคส่วน ทั้งในส่วนของการดูแลเกษตรกร ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และให้แต่ละกระทรวงไปพิจารณาให้มีการจ้างงานในท้องถิ่น ส่วนในเรื่องของกฎหมายถ้าหากมีการแก้ไขก็ต้องทำให้เกิดความเป็นธรรมทั้งภาคธุรกิจและประชาชน ไม่ใช่แก้ไขแล้วทำให้ถูกมองว่าเพื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น 
    พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงงบประมาณ 4 แสนล้านบาท ที่ใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจระดับพื้นที่ในชุมชนทั่วประเทศ จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท โดยให้แต่ละหน่วยงานไปคิดโครงการเพื่อให้เม็ดเงินไหลเข้าสู่ชุมชนให้ได้มากที่สุด เพราะด้วยสถานการณ์ขณะนี้ เราต้องงดพึ่งพาต่างชาติ แต่ต้องมาพึ่งพาตัวเอง และขอให้ใช้เงินอย่างคุ้มค่าเพื่อประโยชน์สูงสุด โปร่งใส ไม่มีการทุจริต ต้องทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชนจริงๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนในระยะยาว 
    ในช่วงท้ายการประชุม นายกฯ ขอให้นำการประชุมไปสู่การแก้ไขปัญหาประชาชนโดยเร็วที่สุด ไม่อยากให้เป็นการหารือโดยภาพกว้างๆ แล้วไม่ได้แก้ไข อยากให้เป็นการประชุมที่ประชาชนได้ประโยชน์ มีแนวทางการแก้ไขปัญหาช่วยเหลือประชาชน จึงอยากให้ปรับปรุงการประชุมให้เป็นในรูปแบบของการทำงาน เหมือนกับว่าเป็นการคุยแก้ปัญหาประชาชนได้
    ที่กระทรวงการคลัง นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีที่มีการตั้งโต๊ะเยียวยาผู้ไม่ได้รับสิทธิ์ 5,000 บาท บริเวณประตู 4 กระทรวงการคลัง ว่าสื่อมวลชนตกเป็นเครื่องมือให้คนที่จะมาหาเงิน ผู้ที่มาเรียกร้องบางคนมีเงินอยู่แล้ว หลายคนกระทรวงการคลังตรวจสอบแล้วพบว่าได้เงินอยู่แล้ว แต่ก็มาร้องเรียนอีกเผื่อได้เพิ่มต่างหากอีก แม้แต่กรณีคนที่ปีนรั้วกระทรวงการคลังก็ได้สิทธิ์อยู่แล้ว เพียงแต่เขาอยากได้มากกว่านั้น
    “บางคนต้องการขอให้โฆษณา บริจาคให้เขา เพราะมีกรณีตัวอย่างเกิดขึ้น ก็เลยใช้นักข่าวเป็นเครื่องมือ ถ้าเขาเดือดร้อนเรายินดีอยู่แล้ว เพราะเป็นหน้าที่เรา หน้าที่ที่กระทรวงการคลังต้องดูแลจ่ายเงินเยียวยา เราก็ทำทุกอย่าง เจ้าหน้าที่เราดูแลทุกคน ผมว่า 2 เดือนครึ่งแล้วที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้หยุดเสาร์-อาทิตย์เลย เพราะเราพยายามจะเร่งดูแลการจ่ายเงิน”
เงินกู้มาต้องใช้หนี้
    เขากล่าวว่า เงินที่แจกรายละ 5,000 บาท ไม่ใช่เงินกระทรวงการคลัง เป็นเงินที่กู้มา เป็นเงินที่พวกเราต้องใช้หนี้ในอนาคต แต่คลังรู้ว่าเขาเดือดร้อนก็ต้องช่วย คนที่เดือดร้อนคลังพร้อมช่วยทุกคน แต่คนที่ดรามาบางคนน่าเป็นห่วง ไม่อยากให้สื่อมวลชนตกเป็นเครื่องมือคนที่มาดรามา แต่คนที่มาคลังที่น่าสงสาร เพราะยังไงก็ได้เงินอยู่แล้ว แต่ยังต้องเสียค่าใช้จ่ายมาอีก แต่ว่าถ้าอยากมาก็ให้มาไม่ว่ากัน
    ผู้สื่อข่าวสอบถามว่า การเปิดจุดรับเรื่องร้องเรียน เหมือนเป็นการเรียกแขกหรือไม่ นายประสงค์ระบุว่า ไม่อยากพูดอะไรมากกว่านั้น เพราะว่าเป็นข้าราชการประจำ ก็มีหน้าที่ทำตามคำสั่ง ทำตามนโยบาย โดยที่เมื่อมีนโยบายอะไรก็ต้องทำตาม
    ส่วนมาตรการดูแลผู้มาร้องเรียนที่หน้ากระทรวงจนทำให้เกิดสถานการณ์ไม่มีระยะห่างทางสังคมนั้น กระทรวงการคลังได้ให้ตำรวจมาดูแลสถานการณ์ โดยประเมินอยู่แล้วว่าต้องเกิดปัญหาพวกนี้ จึงพยายามที่จะไม่ให้มีปัญหาพวกนี้ แต่ในเมื่อคนคิดว่าเราไม่ดูแลจริงๆ มาแล้วเราก็ไม่ได้ทำอะไรไปมากกว่าการเปิดเว็บไซต์ให้ดู ให้เห็นว่าเขาอยู่ในสถานะไหน แต่ว่าสิ่งที่ห่วงคือไม่อยากให้นักข่าวไปเป็นเครื่องมือของคนดรามาหวังรายได้พิเศษ จึงเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง เป็นการเล่าความในใจให้ฟัง
    “เราพยายามแล้ว แต่ที่เหลือเขาต้องเข้าใจด้วย เราพยายามจริงๆ เราไปเดินบอกเป็นระยะ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) ก็พยายามพูด แต่พูดแล้วคนที่หนึ่งผ่านไป คนที่สองก็มาใหม่ คือต้องจัดได้ แต่คนไทยถ้าเกิดขัดใจแล้วจะเกิดอะไรขึ้นมาก็ไม่รู้ ถ้าคุยกับคนรู้เรื่องก็รู้เรื่อง แต่คุยกับคนที่มีเจตนาจะไม่รู้เรื่องก็จะไม่รู้เรื่อง แล้วคนที่มาตรงนี้ก็มีพวกพร้อมที่จะไม่รู้เรื่อง ตั้งใจจะไม่รู้เรื่องก็มี” 
    นายประสงค์กล่าวว่า แม้กระทั่งคนที่เห็นว่ามากินยาเบื่อหนูตาย อันนั้นเขาก็เตรียมมาจากบ้านแล้วว่าจะกิน และก็กินในปริมาณที่ตั้งใจพอดีๆ แต่ถามว่าคนที่กระทรวงการคลังจะรู้ไหมว่าเขาจะกินยา และวันก่อนหน้าก็มีป้าคนหนึ่งมา เดินแล้วเซจะล้ม ก็มี รปภ.ผู้หญิงประคองไว้ เขาก็กล่าวร้าย หาว่า รปภ.จะไปทำร้ายร่างกายเขา เขาจะแจ้งความ ก็วุ่นวาย อาละวาดอยู่ครึ่งวัน ทำให้ รปภ.ยิ่งกลัว กลัวว่าประชาชนไม่รู้ใครจะมาเล่นบทอะไร
    ปลัดกระทรวงการคลังบอกว่า ขอเล่าในฐานะที่อยู่ในกระทรวงการคลัง ก็เห็นข้อเท็จจริงด้วยกัน แม้กระทั่งวันที่ตนลงไปรับผู้มาร้องเรียน ตนก็จำหน้าได้ คนที่มาตะโกน พวกเราลุย หรือบางคนมาร้องไห้ ตนจำหน้าได้ว่าเป็นพวกการเมืองอีกพรรคหนึ่ง ตนจำหน้าได้เพราะเคยเห็นว่าหน้านี้ใช่ แล้วเราจะทำอะไร เราเป็นข้าราชการ เราก็ต้องอดทนที่จะพยายามชี้แจง และชี้แจงจบแล้วเราบอกว่าเรากลัวเรื่องโรคระบาดจริงๆ เพราะมันไม่ใช่สถานการณ์ปกติ ข้าราชการถ้าเราให้เขากรอกข้อมูลแล้วกลับไปก็จบ แต่บางคนไม่ยอมจบ โรคระบาดเป็นสิ่งที่เรากังวลมากๆ ตอนนี้เรื่องการรักษาระยะห่างทางสังคม เป็นเรื่องที่เซนซิทีฟมาก
ร้องไห้อย่างเดียวได้8หมื่น
    ทั้งนี้ เชื่อว่าประชาชนส่วนมากไม่เข้าใจ เช่น กรณีที่ไปเปิดบัญชีที่ธนาคารออมสิน คนเข้าใจว่าจะได้เงินเร็ว คนก็แห่ไปไม่มีคำว่ากลัวโควิด-19 เลย จนต้องประสานสั่งให้ปิดธนาคารออมสิน เพราะกลัวโรคระบาดเกิดขึ้น ไม่ใช่ว่าไม่อยากบริการ แต่ถ้าบริการแล้วจะเกิดอันตรายในการแพร่โรคระบาด เพราะคนมาเบียดเสียด ตะโกนไม่ใส่หน้ากากอนามัย อันตรายจริงๆ เพราะประเทศเราต้องอยู่ในสังคมที่ใส่หน้ากากอนามัยอีก 1 ปี ต้องปรับตัวเองให้เข้าใจกับโรคใหม่
    “สิ่งที่อยากฝากสื่อ คือเวลานำเสนออยากให้เสนอมุมที่ให้เกิดความผูกพัน ความเห็นใจกัน อย่าให้เกิดมุมความเกลียดชังขึ้นมา มันไม่ได้ดีกับประเทศเรา การพาดหัวข่าวก็อยากจะฝากด้วย อย่าเป็นเครื่องมือให้เขามาหากินจากความเห็นใจที่เรามี อย่างป้าที่ร้องไห้อย่างเดียวไม่ฟังอะไร ก็ได้ไป 7-8 หมื่นบาทจากที่ดาราให้มา ดูหน้าก็จำได้ อีกคนหนึ่งก็มาไม่คุยอะไรเลย ตะโกนโหวกเหวกอย่างเดียว ผมก็จำหน้าได้” 
    นายประสงค์กล่าวอีกว่า พนักงานธนาคารทุกแห่งตอนนี้ต้องออกไปทำงาน ลงพื้นที่ ผู้บริหารต้องไปด้วย ถ้าไม่ไปสหภาพจะเล่นงานว่าให้ลูกน้องลำบาก วันหยุดก็ต้องไป ผมเห็นใจ แม้กระทั่งข้าราชการ วันหยุดเสาร์อาทิตย์ก็ไม่ได้หยุด ผมก็เห็นใจเขา แต่ว่าผมบอกเขาว่าออกไปจะได้รับประโยชน์ สิ่งแรกที่จะได้คือ ได้เห็นเลยว่าคนที่ลำบากกว่าเรามีเยอะ และจะได้เห็นว่ามนุษย์เราบางคนไม่ได้ทุกข์เลย บางคนรวยมาก รวยกว่าคุณตั้งเยอะ แต่เห็นแก่ตัว และมาขอ 5,000 บาท คุณจะได้เห็นความต่างของจิตใจของคน และคุณจะเห็นใจคนในการช่วยคนที่ลำบากจะได้บุญ
    นอกจากนี้ ยังจะได้เห็นว่าคนที่ไม่ควรจะได้รับการช่วยเหลือ แต่กลับมาขอ ตรงนี้ถือเป็นสิ่งที่เราปกป้องเงินหลวงได้ ก็ถือว่าได้บุญเหมือนกัน ได้บุญ 2 ทาง และเข้าใจชีวิตมากขึ้น
    “ในฐานะข้าราชการรับเงินเดือนประจำ ถือว่าเราทำเพื่อแผ่นดิน ผมได้บอกเขาไป มีกรณีหนึ่งลูกน้องผมเล่าว่าไปนั่งกินข้าวเที่ยง และร้านข้าวติดแม่น้ำ ก็มองไปเจอบ้านหลังหนึ่งติดแม่น้ำ หลังใหญ่ สวยมาก พอดูรายละเอียดต่อไปว่าต้องไปลงพื้นที่ที่บ้านไหนต่อ ก็พบว่าต้องไปบ้านหลังใหญ่ติดแม่น้ำ ซึ่งขอ 5,000 บาท มีรถเก๋งจอดหรูอยู่ข้างใน บางคนเมื่อลงพื้นที่ไปพบนอกจากได้ 5,000 บาทแล้ว เจ้าหน้าที่ก็ยังคิดจะเอาของไปให้อีก เพราะชีวิตลำบากจริงๆ” นายประสงค์กล่าว
    ปลัดกระทรวงการคลังยังเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กลับไปพิจารณาภาพรวมการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง ที่นอกเหนือจากกลุ่มคนพิการและผู้สูงอายุ ซึ่งก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติความช่วยเหลือไปแล้ว เช่น กลุ่มชายขอบ กลุ่มที่ไม่มีหรือไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต กลุ่มคนล้มละลาย กลุ่มเครือข่ายวัฒนธรรม ได้แก่ ศิลปินเพลง ศิลปะ ลิเก ลำตัด รวมถึงบุคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ได้แก่ นักกีฬาอาชีพ นักมวย นักฟุตบอลอาชีพ ซึ่งในส่วนนี้ต้องประสานความร่วมมือกระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาด้วย
พม.แยกกลุ่มเยียวยา
    นอกจากนี้ พม.จะต้องกลับไปพิจารณางบประมาณที่จะใช้ดำเนินการใหม่ด้วย จากเดิมที่ตั้งงบมา 3.9 หมื่นล้านบาท เพื่อดูแลกลุ่มเปราะบาง 13 ล้านคน เพราะต้องดูแลกลุ่มตกหล่นอีกเพิ่มเติมอีกจำนวนมาก หลังจากนั้นต้องเสนอเรื่องให้คณะกรรมการกลั่นกรอง และเสนอให้ที่ประชุม ครม.พิจารณา เบื้องต้นคาดว่าน่าจะเริ่มจ่ายเงินช่วยเหลือให้กลุ่มดังกล่าวได้ภายในกลางเดือน พ.ค.2563 โดยจะดำเนินการจ่ายผ่านกรมบัญชีกลางเข้าบัญชีของแต่ละคนเลย ซึ่ง พม.จะส่งข้อมูลมาให้กรมบัญชีกลาง
    นายประสงค์กล่าวว่า แนวทางในการให้ความช่วยเหลือกลุ่มดังกล่าวนั้น พม.จะกลับไปพิจารณาว่าจะช่วยเหลือแค่ไหน อย่างไร เพราะความจำเป็นของแต่ละกลุ่มอาจจะไม่เหมือนกัน บางกลุ่มอาจได้รับเงินเยียวยาไม่ถึง 1.5 หมื่นบาท เพราะบางกลุ่มไม่จำเป็นขนาดนั้น ซึ่งตรงนี้ พม.จะมีการแยกกลุ่ม และจะมีเกณฑ์การพิจารณา
    “หัวใจสำคัญคือต้องพยายามดูแลช่วยเหลือไม่ให้ตกหล่น โดยเฉพาะคนเดือดร้อน เช่น นักมวยที่ตอนนี้ชกมวยไม่ได้ ก็ต้องไปดู ถ้าเขาเดือดร้อนก็ต้องช่วยเหลือไม่ให้ตกหล่น การช่วยเหลือต้องดูตามสถานการณ์ ถ้าเปิดทำธุรกิจได้ เปิดการค้าได้ เขามีอาชีพ เขาก็ไม่เดือดร้อน แต่มันคงไม่ดีเหมือนเดิม เช่น ร้านอาหาร จะไปรวมกลุ่มไม่ได้ ต้องนั่งโต๊ะละคน คนละมุมโต๊ะ ขอให้ประคองกันไปได้ เพราะช่วงนี้ต้องใช้คำว่าเศรษฐกิจพอเพียง ประคองไปให้ได้ พอให้เขาไปได้ ธุรกิจไปได้ แต่สาธารณสุขต้องเป็นตัวนำ สาธารณสุข ต้องดีก่อน เพราะเงิน 5,000 บาทที่ให้ไม่ได้ทำให้ใครรวย แค่ประคองให้เขาอยู่ได้เท่านั้น” นายประสงค์กล่าว
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 พ.ค.2563 บรรยากาศที่บริเวณประตู 4 กระทรวงการคลัง ที่ตั้งโต๊ะรับคำร้องเรียนผู้ที่ไม่ได้สิทธิ์ 5,000 บาท ผ่านการลงทะเบียน www.เราไม่ทิ้งกัน.com ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ภาพรวมตลอดวันเป็นไปด้วยความเรียบร้อย หลังนายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวง ได้แก่ กรมสรรพากร สรรพสามิต ศุลกากร บัญชีกลาง และกรมธนารักษ์ ส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยดูแลความเรียบร้อย อำนวยความสะดวกให้ประชาชน โดยตลอดทั้งวันมีการแจกบัตรคิวไปกว่า 1,500 คน
    ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้ทำงานเชิงรุกมากขึ้น เช่น จากเดิมต้องให้ผู้ร้องเรียน รับบัตรคิวและเดินไปหารือที่โต๊ะบริการ 5 จุด เปลี่ยนเป็นการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปพูดคุยเป็นรายคน ตั้งแต่อยู่ในแถว ทำให้ร่นระยะเวลาการตรวจสอบไปได้มาก รวมทั้งยังได้รับความร่วมมือจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เช่น ธนาคารกรุงไทย นำเต็นท์มาอำนวยความสะดวกพร้อมกางโต๊ะเพิ่มให้ประชาชนสำหรับกรอกข้อมูล ขณะที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ได้เตรียมน้ำดื่มกว่า 1,000 ขวดมาแจกจ่ายให้ประชาชนที่เดินทางมา  ด้านกรุงเทพมหานครได้ส่งรถสุขาเคลื่อนที่มาอำนวยความสะดวกในช่วงบ่าย และจิตอาสา “เค เยาวราช” นำบะหมี่กึ่งสำเร็จพร้อมใส่ไข่กว่า 500 ชุด มาแจกจ่ายให้กับประชาชน
ประชาชนแห่จองบัตรคิว
    ขณะที่ประชาชนเดินทางมาเพื่อร้องเรียนกรณีสิทธิ์รับเงินเยียวยาตั้งแต่เวลา 07.00 น. ทำให้หางแถวยาวไปจนถึงประตู 3 จากนั้นเวลา 08.30 น. เจ้าหน้าที่ได้เริ่มแจกบัตรคิวทั้งหมด 400 ใบ แต่ปรากฏว่าในช่วงเวลา 09.00 น. มีประชาชนเดินทางมาเพิ่มอีกกว่า 1,000 คน ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องแจกบัตรคิวเพิ่มเพื่อรับเรื่องจากประชาชนไว้
    นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังตรวจความเรียบร้อยว่า ผู้ที่มาร้องทุกข์วันนี้มีมากกว่า 1,000 คน แต่เนื่องจากเจ้าหน้าที่มีน้อย นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง จึงสั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยรับเรื่องร้องทุกข์ ทำให้มีเจ้าหน้าที่มาเพิ่มอีกประมาณ 80 คน ทั้งจากกรมธนารักษ์ กรมสรรพากร ฯลฯ 
    ทั้งนี้ ถึงแม้ว่ากระทรวงการคลังไม่อยากให้ประชาชนต้องเสียเวลามาที่กระทรวงการคลัง แต่เข้าใจว่าประชาชนได้รับความเดือดร้อนจริง มีปัญหาในการลงทะเบียน เมื่อประชาชนมา รมว.การคลังจึงสั่งการให้ดูแลเป็นอย่างดี แต่ถ้าเป็นไปได้ไม่อยากให้มาที่กระทรวง เพราะเป็นห่วงเรื่องของการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังจะเร่งจ่ายเงินเยียวยาให้กับประชาชนที่ผ่านเกณฑ์ให้แล้วเสร็จภายในต้นเดือน พ.ค. ขณะที่การเปิดรับเรื่องร้องทุกข์นั้น จะเปิดเฉพาะในวันและเวลาราชการเท่านั้น
    นายธนกรกล่าวอีกว่า สำหรับผู้ที่ได้เข้าข่ายได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท มี 16 ล้านคน ขณะนี้จ่ายเงินไปแล้ว 11 ล้านคน ดังนั้น เหลือกระบวนการทบทวนสิทธิ์ที่ส่งข้อมูลเพิ่มเติมเข้ามาอีกประมาณ 5 ล้านคน โดยโครงการนี้จะพยายามจ่ายเงินให้ผู้ที่ได้สิทธิ์ทั้งหมด หรือในวันที่ 8 พ.ค. จะต้องจบหมด หรือได้เงินในรอบแรกครบทั้งหมด ทั้งนี้ ได้หารือกับ รมว.การคลังว่า สำหรับประชาชนจำนวนหนึ่งที่ไม่อยู่ในข่ายได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท แต่ได้รับความเดือดร้อนนั้น จะแบ่งแยกปัญหาและส่งมอบให้กระทรวงต่างๆ ที่มีการช่วยเหลือประชาชนอยู่ในขณะนี้ต่อไป เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่ง รมว.การคลังได้หารือเรียบร้อยแล้ว
    นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. กล่าวว่า ในฐานะจิตแพทย์ ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย ตนมองว่าการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดในวิชาชีพ เพราะในฐานะแพทย์ ต้องช่วยทุกคนให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเจ็บป่วยทางกายหรือใจ เรื่องการป้องกันเป็นหน้าที่ของจิตแพทย์ที่จะหาทางช่วยเหลือ ตนอยู่กับเรื่องนี้มานานเข้าใจความรู้สึกของผู้สูญเสีย และอยากให้ทุกคนเห็นใจคนเหล่านี้ เพราะเขามีความบีบคั้น อย่าไปว่าเขาเรียกร้องความสนใจ แต่เขากำลังร้องขอความช่วยเหลือเราอยู่ ในฐานะโฆษก ศบค. จะรับฟังทุกเรื่องและนำไปสู่การแก้ไข ช่วยเหลือ และเยียวยา จะพยายามทุกวิถีทางเพื่อช่วยคนที่มีความทุกข์ด้านนี้ให้เข้าสู่กระบวนการเยียวยา โดยเราจะมีทีมทางด้านนี้ในทุกจังหวัดเข้าไปพูดคุยกับครอบครัวของผู้เสียชีวิต เพื่อจะเก็บข้อมูลเพื่อนำไปสู่การช่วยเหลือเยียวยา
    ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีสาว รปภ.วาดภาพนายกรัฐมนตรีแล้วโพสต์เฟซบุ๊กตัดพ้อรัฐบาลก่อนผูกคอตายในห้องเช่าเป็นการดิสเครดิตหรือการเมืองหรือไม่ ว่า “รู้ว่าเป็นเรื่องการเมืองก็ดีแล้ว”
    เมื่อถามว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มาเป็นเจ้าภาพงานศพดังกล่าว พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า “ก็เป็นเรื่องการเมืองไง ก็รู้อยู่แล้ว” ต่อข้อถามว่าเหตุใดจึงมองเป็นเรื่องการเมือง พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า “ก็รู้กันดีอยู่แล้ว”
    เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 21/2563 เรื่องแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพื่อให้การปฏิบัติงานของ ศบค.เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และสามารถลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม พร้อมทั้งตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ นายกฯ จึงแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาดังกล่าวเพื่อทำหน้าที่ให้ความเห็นทางวิชาการเสนอแนะแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากสถานการณ์ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมีองค์ประกอบ ดังนี้ 
    นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธาน, นายเทียนฉาย กีระนันทน์ รองประธาน ส่วนกรรมการมีนายแพทย์นิธิ มหานนท์, นายวุฒิสาร ตันไชย, นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์, นายวรากรณ์ สามโกเศศ, นายแพทย์เหรียญทอง แน่นหนา, นายบัณฑิต นิจถาวร, นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล, นายวีระ ธีระภัทรานนท์, นายสมชัย จิตสุชน ขณะที่นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ ส่วนรองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้ช่วยเลขานุการ ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป 
    นพ.จรัสเผยว่า ขณะนี้กำลังรอการติดต่อจากทำเนียบรัฐบาลก่อนว่าจะให้คณะที่ปรึกษาฯ เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ในวันใด เพื่อขอทราบถึงขอบเขตหน้าที่การทำงานว่าจะต้องทำเรื่องอะไรบ้าง แต่หากนายกรัฐมนตรีบอกว่าให้ทำงานเลย คณะที่ปรึกษาฯ ก็คงจะมีการหารือกันเพื่อนัดประชุมนัดแรกวางกรอบการทำงานทันที
    "เท่าที่ดูตอนนี้สถานการณ์และผลกระทบต่างๆ จากเรื่องโควิด จะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ถือว่าหนักหนามาก กรรมการเราก็ต้องมาคุยกันเพื่อวางกรอบว่าจะกำหนดกรอบการทำงานอย่างไรบ้าง แต่เท่าที่เห็นสถานการณ์ที่จะเกิดต่อจากนี้น่าเป็นห่วงมาก" ประธานคณะที่ปรึกษาด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของรัฐบาลกล่าว. 
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"