“เราเป็นจำเลยสังคมเรื่องหมอกควันมาช้านาน ต่อไปนี้เราจะทำให้ข้อกล่าวหานี้หายไป...”
นี่คือคำประกาศของคุณ “แอน” แกนนำชาวบ้านที่บ้านมูลทราย, ต.สะเมิงใต้, อ.สะเมิง, จ.เชียงใหม่ วันที่ผมไปตั้งวงสนทนาเมื่อเร็วๆ นี้
ผมตั้งใจไปฟังและสังเกตการณ์ด้วยตนเอง เพราะรายการ “ฟังเสียงประเทศไทย คำตอบอยู่ในหมู่บ้าน” ทาง ThaiPBS ต้องการจะให้ชาวบ้านในชนบทมีโอกาสได้พูดและนำเสนอปัญหาและทางออกของตนให้คนทั้งประเทศและผู้วางนโยบายได้ฟังให้ชัดเจน ไม่ต้องผ่านช่องทางอื่นใด
ชุมชนแห่งนี้กำลังพิสูจน์ว่าพลังของการรวมตัวกันเองอย่างจริงจัง พร้อมกับจับมือกับทางราชการและนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และแม่โจ้กำลังจะสร้างมิติใหม่แห่งการแก้ปัญหาระดับท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม
ผมมีโอกาสไปสัมผัสกับผู้นำชุมชนแห่งนี้ และที่ดอยช้างป่าแป๋ของจังหวัดลำพูน (ภาพล่าง) แล้วก็ยืนยันได้ว่าทั้งสองแห่งนี้เป็น “ชุมชนต้นแบบ” ในการป้องกันการเผาป่าได้อย่างเป็นระบบ
หากสามารถเชื่อมโยงชุมชนอื่นๆ ทางภาคเหนือให้มีการรวมตัวกันอย่างเป็นกิจจะลักษณะเช่นนี้ เราอาจจะเห็นการแก้ไขปัญหาการเผาป่าและมลพิษหมอกควันได้อย่างเป็นรูปธรรมจริงๆ
ที่บ้านทรายมูล มีการร่วมกันทำกิจกรรมจิตอาสาทำ “แนวกันไฟ” เพื่อป้องกันไฟป่าร่วมกัน
เมื่อชาวบ้านลุกขึ้นประกาศว่าจะไม่มีการเผาป่า และร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ป่าไม้ เจ้าหน้าที่ไฟป่าและผู้ใหญ่บ้าน เราก็เริ่มเห็นความหวังที่จะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
ชาวบ้านบอกผมว่าที่ผ่านมา จุดที่เกิดไฟป่ามักจะเกิดใกล้ที่ตั้งบ้านเรือนของชาวบ้าน บางจุดห่างกันเพียง 2-3 กิโลเมตร มีผลให้ชาวบ้านต้องเดิมพันด้วยชีวิต, ที่อยู่อาศัยและทรัพย์สินเงินทอง
ที่น่าสนใจคือ การที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้มาร่วมวิจัยเพื่อลบล้างความเชื่อเก่าๆ ที่เป็นมายาคติว่าช่วงฤดูแล้งต้องเผาป่าเพื่อให้เกิดดอกเห็ดเพิ่มขึ้น
“เราใช้หลักวิทยาศาสตร์พิสูจน์ให้ชาวบ้านเห็นว่า ความเชื่อว่าต้องเผาป่าเห็ดจึงจะขึ้นนั้นไม่เป็นความจริงเลย ตรงกันข้าม หากช่วยกันรักษาป่าและเราใช้วิธีการเพาะเห็ด จะมีเห็ดประเภทต่างๆ สมบูรณ์ขึ้น ชาวบ้านช่วยกันรักษาป่าด้วย ได้เก็บเห็ดขายตลอดทั้งปีด้วย...” ดร.สุมิตร อธิพรหม อาจารย์ผู้ดูแลโครงการนี้บอกผม อันเป็นที่มาของแนวคิดใหม่ว่า
“เห็ดป่าคืนถิ่น สร้างป่า สร้างรายได้ สลายฝุ่นควัน”
ไม่แต่เท่านั้น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็มาช่วยสร้างระบบเตือนภัยไฟป่าด้วยการสร้าง apps (ผ่านกล่องเล็กๆ ที่ใช้พลังแสงอาทิตย์) ตรวจจับควันและความร้อนแขวนไว้ตามจุดเสี่ยงต่างๆ เพื่อส่งสัญญาณไปยังชุมชนต่างๆ เมื่อเกิดไฟป่าขึ้น
ห่างไปเพียงวิ่งรถสองชั่วโมง ผมตั้งวงคุยกับผู้นำชุมชนปกาเกอะญอที่ “หมู่บ้านดอยช้างป่าแป๋” ของจังหวัดลำพูนที่ได้ริเริ่มโครงการ “เขื่อนกันไฟ” เช่นกัน
ป่าที่นี่มีสภาพสมบูรณ์กว่า 2 หมื่นไร่ เป็นป่าต้นน้ำของจังหวัดลำพูนและเชียงใหม่
ที่นี่มีแนวคิดสร้าง “แนวกันไฟ” ที่ทำหน้าที่เสมือน “เขื่อนธรรมชาติ” ที่สร้างจากความร่วมใจของชาวบ้านและอาสาสมัครจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
แนวกันไฟที่ว่านี้มีความกว้าง 5-10 เมตร ยาวเป็นระยะทางในป่าถึง 30 กิโลเมตร
ที่น่าสังเกตคือ ที่นี่ไม่มี “เขาหัวโล้น” เลย เพราะชาวบ้าน 270 คน จาก 70 ครัวเรือนที่มีประวัติความเป็นมากว่า 200 ปี และอยู่เหนือระดับน้ำทะเล 1,300 เมตร เพราะคนที่นี่ทำ “ไร่หมุนเวียน” (มิใช่ “ไร่เลื่อนลอย”) ตามธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน
อีกทั้งเยาวชนก็มีส่วนร่วมด้วยการเอาถังน้ำมันเก่ามาทำเป็น “ถังน้ำดับไฟ” ประจำหมู่บ้านในหลายๆ จุด
เยาวชนเหล่านี้เล่าเรื่องราวของตนเองผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์จนได้เงินบริจาคเป็นทุนเริ่มต้นของกิจกรรมนี้อย่างน่าทึ่ง
อีกทั้งบนดอยช้างป่าแป๋แห่งนี้มีการปลูกกาแฟธรรมชาติที่มีรสชาติเฉพาะตัวที่หาจากแหล่งอื่นไม่ได้ กลายเป็นพืชเศรษฐกิจเสริมรายได้ของชาวบ้านอีกทางหนึ่ง
ทั้งสองหมู่บ้าน “ต้นแบบ” มีปัญหาละม้ายกันตรงเรื่องสิทธิที่ดินทำกิน เพราะกฎหมายป่าสงวนและอุทยานแห่งชาติเกิดทีหลัง มาทับซ้อนที่อยู่อาศัยในป่าของชุมชนดั้งเดิม
ทุกวันนี้อาศัยข้อยกเว้นผ่อนปรนเฉพาะกาล กำลังรอให้มีการแก้ไขที่ยั่งยืนเพื่อให้ “คนอยู่กับป่า” ให้ได้อย่างถาวรต่อไป
(หมายเหตุ : ภาพถ่ายปลายปีที่ผ่านมา โควิด-19 ยังไม่ปรากฏตัว จึงยังไม่มีการใส่หน้ากากอนามัยในช่วงนั้น)
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |