การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกกลุ่มอาชีพ หลังจากรัฐบาลได้ออกมาตรการเข้มข้นเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลก็ได้ออกมาตรการในการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนในทุกกลุ่มควบคู่กันไปด้วย ทั้งมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย จากการลดค่าน้ำ ค่าไฟฟ้าต่างๆ จนถึงมาตรการจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท (3 เดือน) เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้ขยายการให้ความช่วยเหลือครอบคลุมประชาชน 16 ล้านคน วงเงินรวม 2.4 แสนล้านบาท โดยกระทรวงการคลังกำลังเร่งจ่ายเงินให้ผู้ที่ผ่านเกณฑ์แล้ว 11 ล้านคน
สำหรับ “กลุ่มเกษตรกร” เป็นอีกกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อน และรัฐบาลพยายามหาแนวทางในการให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2563 ได้เห็นชอบมาตรการเยียวยาเกษตรกรครัวเรือนละ 5,000 บาท (3 เดือน) ตั้งแต่เดือน พ.ค.-ก.ค.2563 เป็นเงิน 15,000 บาท รวม 10 ล้านครัวเรือน วงเงินรวม 1.5 แสนล้านบาท โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สำหรับเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายของโครงการได้แก่ เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ และกรมประมง จำนวน 8.43 ล้านราย และเกษตรกรที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลการขึ้นทะเบียน ไม่เกิน 1.57 ล้านราย
โดยรัฐบาลยืนยันว่า มาตรการจ่ายเงินช่วยเหลือให้เกษตรกรดังกล่าวจะยึดข้อมูลเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และฐานข้อมูลจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนและการปรับปรุงการขึ้นทะเบียนเกษตรกรรายเดิม แปลงเดิม รวมถึงเกษตรกรรายใหม่ด้วย
“เฉลิมชัย ศรีอ่อน” รมว.เกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า หน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะส่งรายชื่อให้กระทรวงการคลัง โดย รมว.การคลังยืนยันว่าเงินเยียวยาเกษตรกรจะใช้เงินกู้ตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาท โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรได้ในช่วงกลางเดือน พ.ค.2563
“รายชื่อที่ส่งไปจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้น ทางกระทรวงการคลังจะนำไปตรวจสอบไม่ให้ซ้ำซ้อนกับผู้ได้สิทธิ์ตามมาตรการจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท (3 เดือน) สำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com โดยยืนยันว่าจะทำทะเบียนเกษตรกรแบบครอบคลุมที่สุด เพื่อให้ได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึง และจะเร่งทุกหน่วยงานให้ดำเนินการโดยเร็ว ไม่ล่าช้า โดยได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าต้องจัดทำข้อมูลให้ถูกต้อง ไม่ซ้ำซ้อน และหากใครมีข้อเสนอใดที่เป็นประโยชน์ให้เสนอมาได้ เพื่อเกษตรกรที่เดือดร้อนจะได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึงด้วย”
เปิดหลักเกณฑ์-เงื่อนไขการขึ้นทะเบียน/ปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร
ผู้ขอขึ้นทะเบียนเกษตรกรจะต้องเป็นครัวเรือนเกษตรกรที่ประกอบอาชีพการเกษตรเป็นอาชีพหลัก หรืออาชีพรองก็ได้ โดยครัวเรือนเกษตรกร 1 ครัวเรือนจะต้องมีตัวแทนมาขอขึ้นทะเบียนได้เพียง 1 คนเท่านั้น ในการพิจารณาว่าครัวเรือนใดขอขึ้นทะเบียนซ้ำซ้อนหรือไม่ เจ้าหน้าที่จะต้องชี้แจงรายละเอียดให้เกษตรกรผู้ขอขึ้นทะเบียนรับทราบตามนิยามที่กำหนด โดยเกษตรกรผู้ขอขึ้นทะเบียนต้องบรรลุนิติภาวะ และมีสัญชาติไทย กรณีที่เป็นนิติบุคคล จะต้องมีการมอบหมายผู้แทนมาขึ้นทะเบียน
สำหรับสถานที่ขึ้นทะเบียน/ปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรนั้น ในส่วนเกษตรกรรายเดิม แปลงเดิม สามารถแจ้งปรับปรุงได้ที่ สำนักงานเกษตรกรอำเภอทุกแห่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีความพร้อมและร่วมเป็นหน่วยสนับสนุนเกษตรกรที่มีพื้นที่การเกษตรอยู่ หรืออาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) ส่วนกรณีใช้โทรศัพท์มือถือ เกษตรกรสามารถแจ้งขึ้นทะเบียนเกษตรผ่าน DOAE Farmbook Application ได้ด้วยตัวเอง
ส่วนเกษตรกรรายเดิม แต่แปลงใหม่ หรือเกษตรกรรายใหม่ ให้ยื่นเอกสารที่สำนักงานเกษตรอำเภอที่ตั้งแปลงที่ทำกิจกรรมการเกษตรอยู่ หากมีแปลงที่ทำกิจกรรมการเกษตรหลายพื้นที่ หลายอำเภอ ให้ยื่นที่สำนักงานเกษตรอำเภอที่ตั้งแปลงหลัก (อำเภอที่มีจำนวนแปลงมากที่สุด) ส่วนกรณีใช้คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตขึ้นทะเบียนเกษตรกร เจ้าหน้าที่สามารถรับขึ้นทะเบียนเกษตรกรรายใหม่ในพื้นที่ พร้อมวาดผังแปลงไปพร้อมกันในคราวเดียวได้ (เฉพาะพื้นที่ที่มีอินเทอร์เน็ต)
โดยเอกสารที่ใช้ประกอบการขึ้นทะเบียน/ปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร สำหรับเกษตรกรรายเดิม แปลงเดิมนั้น ให้ใช้บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง ส่วนเกษตรกรรายใหม่ หรือรายเดิม เพิ่มแปลงใหม่ ให้ใช้บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง พร้อมหลักฐานแสดงสิทธิการถือครองที่ดินตัวจริง หรือสำเนาที่มีการรับรองสำเนาจากผู้ครอบครอง โดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสามารถเรียกหลักฐานอื่นๆ เพิ่มเติมได้ตามความจำเป็น และเหมาะสมด้วย ซึ่งการขึ้นทะเบียน/ปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร สามารถดำเนินการได้ทั้งในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์และไม่มีเอกสารสิทธิ์ และสามารถดำเนินการได้ทุกลักษณะการถือครองที่ดิน ได้แก่ ของครัวเรือน เช่า อื่นๆ เช่น ทำฟรี ที่สาธารณประโยชน์ เป็นต้น
ทั้งนี้ ครัวเรือนเกษตรกรสามารถมอบอํานาจให้สมาชิกในครัวเรือนที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนเกษตรกรเดียวกัน เป็นผู้ขอปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรแทนได้ แต่หากเป็นเกษตรกรที่ต้องการขอขึ้นทะเบียนใหม่ต้องแจ้งขึ้นทะเบียนเกษตรกรด้วยตนเอง ขณะที่นิติบุคคลสามารถมอบอํานาจให้ผู้แทนขึ้นทะเบียน/ปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรได้
สำหรับ เกษตรกรที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนนั้นให้เร่งดำเนินการภายในวันที่ 15 พ.ค.นี้ ตามหลักเกณฑ์ของกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อให้อยู่ในข่ายที่ได้รับความช่วยเหลือจากผลกระทบโควิด-19 ส่วนเกษตรกรรายใหม่นั้น ให้กรอกแบบฟอร์มการขึ้นทะเบียนเกษตร พร้อมกรอกข้อมูล รวบรวมแบบฟอร์มไว้ที่กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อจัดส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรบันทึกเข้าระบบในขั้นตอนถัดไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |