นักวิชาการนำเสนอทางออกสำหรับการเตรียมตัวมาตรการเปิดเมือง


เพิ่มเพื่อน    

 


01 เมษายน 2563 มูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล ซึ่งประกอบไปด้วยคณะนักวิชาการ 11 ท่าน ประกอบไปด้วย นายบัณฑิต นิจถาวร  , นางสิริลักษณา คอมันตร์   ,นายปรีดา เตียสุวรรณ์  ,นางอัจนา ไวความดี  , หม่อมหลวงทยา กิติยากร   ,นายพรายพล คุ้มทรัพย์   , นายสุธรรม ส่งศิริ   ,นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์   ,นายต่อตระกูล ยมนาค   ,นางสาวเอด้า จิรไพศาลกุล   ,นางพรรณี วรวุฒิจงสถิต  นำเสนอบทความวิชาการเกี่ยวกับมาตรการเปิดเมือง มีเนื้อหาดังนี้   

ระบบสำคัญที่ต้องมีก่อนเริ่มมาตรการเปิดเมือง

หลังหนึ่งเดือนของมาตรการควบคุมโรคไวรัสโควิด-19 (มาตรการล็อคดาวน์) แม้ในหลายพื้นที่ปัญหาจะอยู่ในระดับที่ควบคุมได้และสถานการณ์การแพร่ระบาดของผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ลดลงต่อเนื่อง อีกด้านแรงกดดันเรียกร้องให้ภาครัฐผ่อนปรนมาตรการการควบคุมไวรัสกำลังเพิ่มขึ้น เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไปมากกว่านี้และให้ภาคธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง 

จากที่ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนและยาในการรักษา ประกอบกับประชาชนในประเทศยังไม่มีภูมิคุ้มกันหมู่ที่มากพอ การเปิดให้ภาคธุรกิจกลับมาดำเนินการได้ใหม่จะยังไม่ปลอดภัยและมีความเสี่ยงที่การแพร่เชื้อจะเพิ่มขึ้นอีกระลอก คล้ายกับกรณีสิงคโปร์และญี่ปุ่นที่ทางการต้องขยายเวลาการล็อคดาวน์อีกครั้ง กระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจจึงอาจเหมือนเป็นวัฏจักรของการเปิดใหม่และการปิดล๊อคดาวน์ธุรกิจเป็นรอบ ๆ ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะลากยาวเหมือนตัว W ที่มีความผันผวนจนกว่าจะมีการพัฒนาวัคซีนหรือวิธีรักษาที่ชัดเจน ดังนั้นความท้าทายของการเปิดให้ภาคธุรกิจสามารถดำเนินการได้ใหม่คือ ทำให้กระบวนการเปิดเมืองสามารถควบคุมได้ คือควบคุมความเสี่ยงของการแพร่ระบาดให้อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถทำได้มากขึ้น

ในการนี้ เพื่อรับรองให้มาตรการเปิดเมืองสามารถควบคุมการแพร่ระบาดและนำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจ จำเป็นที่ทางการต้องให้ความสำคัญกับระบบสำคัญ 4 ระบบ เพื่อให้มาตรการเปิดเมืองประสบความสำเร็จ

1. ระบบการติดตามทดสอบและแยกผู้ติดเชื้อ

องค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้มาตรการเปิดเมืองประสบความสำเร็จ คือ ความสามารถในการติดตาม ทดสอบและแยกผู้ติดเชื้อ (Trace, Test and Isolation Capacity :TTI) ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้ที่มีสุขภาพดีสามารถกลับไปทำงานได้และแยกผู้ติดเชื้อเข้าสู่กระบวนการรักษาได้อย่างทันท่วงที ซึ่งหลังจากที่เปิดเมืองให้มีการทำธุรกิจได้ใหม่ ระบบ TTI จะต้องนำมาใช้อย่างเข้มข้นต่อเนื่อง เพื่อมีข้อมูลให้สามารถค้นหาผู้ที่มีโอกาสแพร่เชื้อและหยุดหรือชะลอการแพร่เชื้อด้วยการกักตัว (Isolation) อย่างมีประสิทธิผล ทั้งนี้เพื่อรักษาให้สภาพแวดล้อมในระบบเศรษฐกิจมีความเสี่ยงในระดับที่ต่ำ ที่จะช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถดำเนินการต่อไปได้ เพราะหากไม่มีระบบ TTI ที่ดีพอ การเปิดเมืองให้ทำกิจกรรมได้ใหม่ย่อมไม่อาจประสบผลสำเร็จ

ดังนั้นประเทศไทยจะต้องลงทุนกับระบบ TTI ซึ่งรวมถึงการจัดให้มีชุดทดสอบที่ผลิตขึ้นในประเทศมีผู้ที่ทำหน้าที่คอยติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ (tracers) จำนวนมาก พร้อมทั้งมีสถานที่สำหรับการแยกผู้ติดเชื้ออย่างเพียงพอ ในเรื่องนี้ประเทศไทยมีศักยภาพดีพอ ตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลรามาธิบดีได้ร่วมกับบริษัทเอกชนพัฒนาชุดทดสอบโดยใช้วิธี RT-PCR และ LAMP PCR ซึ่งการลงทุนและความร่วมมือในโครงการดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นเพราะจะช่วยให้ประเทศสามารถผลิตชุดทดสอบได้ในปริมาณมาก ส่งผลให้การตรวจสอบหาเชื้อมีราคาถูกและสามารถทำได้ทั่วประเทศ

นอกจากนี้ต้องระดมกำลังจากภาคประชาชนและชุมชน ให้ทำงานร่วมกับภาครัฐในการคอยติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ ตรวจหาการติดเชื้ออย่างรวดเร็ว ตลอดจนการแยกดูแลผู้มีความเสี่ยงสูงที่จะแพร่เชื้อ  ซึ่งในการตรวจหาการติดเชื้อ ควรพิจารณานำเทคโนโลยีมาช่วยในการตรวจหาการติดเชื้อ (tracing) เช่น แอพพลิเคชั่นชื่อ “หมอชนะ” บนมือถือ ซึ่งจะช่วยให้ข้อมูลได้ว่ามีบุคคลใดที่เข้าไปใกล้ชิดหรือสัมผัสผู้ติดเชื้อ ซึ่งผู้ที่ทำหน้าที่ติดตามและเฝ้าระวังอาจเป็นอาสาสมัครที่ได้รับการคัดเลือกและฝึกอบรมอย่างเหมาะสม ส่วนสถานที่ในการกักตัวผู้ต้องสงสัยสามารถพิจารณาใช้สถานที่กักตัวที่จังหวัดจัดตั้งขึ้นหรือโรงแรมที่มีอยู่ในพื้นที่ได้

2. ระบบการเตรียมความพร้อมระดับจังหวัด

การเตรียมความพร้อมมีความสำคัญเพื่อลดความเสี่ยงต่างๆที่อาจเกิดขึ้นหลังการเปิดเมือง ซึ่งการเตรียมความพร้อมระดับจังหวัดควรมีการดำเนินการใน 3 ด้าน
1)  จังหวัดมีระดับการแพร่ระบาดต่ำ
2)  มีขีดความสามารถในการให้บริการด้านสุขภาพ (Health Capacity)
3) มีแนวปฏิบัติในการรักษาระยะห่างทางสังคม (Health and Social Distancing (HSD) Guidelines) ที่ภาคธุรกิจและผู้ให้บริการสาธารณะต้องยึดถือปฏิบัติหลังจากเปิดเมืองให้ทำการใหม่
 
2.1 จังหวัดมีระดับการแพร่ระบาดต่ำ

จังหวัดที่เปิดเมืองควรมีความเสี่ยงของการแพร่ระบาดอยู่ในระดับต่ำสุดตามประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 2019 (COVID-19) หรือ ศบค. โดยต้องเป็นจังหวัดที่ไม่มีประวัติของผู้ติดเชื้อ COVID-19 หรือไม่มียอดการติดเชื้อรายใหม่ หรือไม่เป็นแหล่งกำเนิดของการติดเชื้อรายใหม่เป็นเวลาอย่างน้อย 14 วันติดต่อกัน มีอัตราการติดเชื้อที่จะแพร่ไปสู่ประชากรของจังหวัด (R-naught หรือ Rt) ต้องอยู่ที่ระดับ 1 หรือต่ำกว่า และควรได้ทำการทดสอบการติดเชื้อ (testing) แบบสุ่มตัวอย่าง ทั้งจากประชาชนทั่วไปและกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงและมีผลเป็นที่น่าพอใจ 

2.2 มีขีดความสามารถในการให้บริการด้านสุขภาพ (Health Capacity)

จังหวัดที่เปิดเมืองควรมีระบบและวิธีการทำงานที่สามารถติดตามและจัดการกับกลุ่มเสี่ยงสูงได้ทันการณ์ โดยสามารถตรวจหาการติดเชื่อใน “กลุ่มผู้สงสัย” ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูง พร้อมทั้งมีระบบการส่งตรวจหาเชื้อที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย มีกลไกในการสอดส่องหากลุ่มเสี่ยงอย่างจริงจังและทั่วถึงในทุกพื้นที่  มีความสามารถในการทดสอบ ระบุตัว และตรวจสอบผู้ป่วยที่เป็นพาหะได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีระบบดูแลป้องกันกลุ่มเปราะบางไม่ให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่นกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้พิการ รวมทั้งมีขีดความสามารถรองรับในการกักตัวผู้ต้องสงสัยที่มีความเสี่ยงสูงและผู้ต้องสงสัยที่มีความเสี่ยงต่ำ มีความสามารถในการรักษาผู้ป่วยระยะวิกฤต (ICU patients) พร้อมทั้งมีแพทย์เฉพาะทาง พยาบาล เครื่องมือแพทย์และเวชภัณฑ์ในการดูแลรักษาผู้ป่วย 

นอกจากนี้จังหวัดต้องมีความสามารถในการบริหารจัดการและมีระบบในการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด สามารถคาดการณ์ ระบุเป้าหมาย ทดสอบ ติดตาม วิเคราะห์ และแยกแยะรายละเอียดโดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง รวมทั้งสามารถรายงานกรณีที่มีความเป็นไปได้และรายงานสถานการณ์ทั่วทั้งจังหวัดได้แบบ real time ซึ่งต้องสะท้อนสถานการณ์ที่เป็นจริงและบอกความผิดปกติได้ล่วงหน้า เพื่อให้สามารถเข้าดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ทันทีและอยู่ภายในเวลาที่เหมาะสม ตลอดจนต้องมีความสามารถในการแยกผู้ต้องสงสัย ตรวจสอบ และควบคุมความเคลื่อนไหวของประชาชนที่เข้ามาในพื้นที่จังหวัดโดยการเดินทางและคมนาคมขนส่งทั้งภายในจังหวัดและข้ามจังหวัดเพื่อป้องกันการระบาดของโรคได้อย่างดี

2.3 แนวปฏิบัติในการรักษาระยะห่างทางสังคม (Health and Social Distancing (HSD) Guidelines)

ในขั้นต้นของการเปิด ภาคธุรกิจที่สามารถเปิดทำการได้ใหม่จะต้องถูกคัดเลือกและได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการได้เป็นระดับตามความเสี่ยง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าความเสี่ยงของการกลับมาแพร่ระบาดอยู่ในระดับต่ำและจำนวนของผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวันอยู่ในขีดความสามารถของระบบสุขภาพของจังหวัดในการบริหารจัดการได้ โดยไม่ส่งผลให้เกิดความเสียหาย 

โดยธุรกิจและหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่จะเปิดควรมีแนวปฏิบัติด้านการรักษาระยะห่างจากสังคม (HSD) ที่เหมาะกับธุรกิจหรือหน่วยงานของตนอย่างชัดเจนและได้รับการรับรองจากหน่วยงานด้านสาธารณสุข เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อ แนวปฏิบัติดังกล่าวต้องให้ความสำคัญกับการรักษาระยะห่างทางสังคม การส่งเสริมสุขลักษณะให้กับบุคคลและสาธารณะ การระบายอากาศ การกำจัดสารคัดหลั่ง การบังคับให้สวมถุงมือและหน้ากากอนามัย รวมทั้งการกำหนดจำนวนคนที่จะเข้าร่วมกิจกรรมแต่ละประเภทในแต่ละคราว

โดยเจ้าของธุรกิจหรือผู้ดำเนินการจะต้องปฏิบัติตามแนวทางด้านสุขภาพและความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด และต้องได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานสาธารณสุขก่อนดำเนินการ เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อในชุมชน สำหรับแนวปฏิบัติในการรักษาระยะห่างทางสังคม (HSD) สำหรับธุรกิจที่ไม่จำเป็นและอาจมีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาด แนวปฏิบัติในการรักษาระยะห่างทางสังคม (HSD) ต้องเข้มงวดมากกว่าธุรกิจที่มีความจำเป็นและเป็นความรับผิดชอบของเจ้าของธุรกิจหรือผู้ปฏิบัติงานที่ต้องทำให้มั่นใจว่าได้ปฏิบัติตามข้อกำหนด HSD อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนงานทั้งในและนอกสถานที่ทำการที่ต้องได้รับการรับรองและอนุมัติจากหน่วยงานสาธารณสุขก่อนที่จะเปิดทำการ ซึ่งรวมถึงสถานที่พักและสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานด้วย ทั้งนี้หากมีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามสามารถดำเนินการปิดได้ทันที

3. ระบบตรวจสอบ (audit) และกำกับดูแลการปฏิบัติตามแนวปฏิบัติในการรักษาระยะห่างทางสังคม (HSD)

ช่วงสัปดาห์แรกของการเปิดทำการใหม่ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นช่วงที่อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 รอบใหม่ได้ ซึ่งหมายความว่าในช่วงสัปดาห์แรกระบบการติดตาม ตรวจและแยกผู้ติดเชื้อ (TTI) จะต้องถูกนำมาใช้เพื่อตรวจหาช่องโหว่ ขณะเดียวกันระบบตรวจสอบและกำกับดูแล การปฏิบัติตามแนวปฏิบัติในการรักษาระยะห่างทางสังคม (HSD) ก็ต้องถูกนำมาใช้เช่นกัน เพราะกุญแจสู่ความสำเร็จในการเปิดเมืองให้ธุรกิจกลับมาทำการได้ใหม่คือทั้งสองระบบทำงานสอดคล้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ในรายละเอียดระบบการตรวจสอบ (audit) และกำกับดูแลการปฏิบัติตามแนวปฏิบัติในการรักษาระยะห่างทางสังคม (HSD) ควรทำมีสามระดับ 

หนึ่ง ระดับผู้ประกอบการในสถานที่ประกอบการที่ต้องสร้างความมั่นใจว่าได้มีการใช้แนวทาง HSD อย่างเต็มรูปแบบผ่านการตรวจสอบรายการแบบรายวัน มีการเก็บบันทึก รวมถึงข้อมูลจากกล้องวงจรปิดและรายงานการไม่ปฏิบัติตามต่อหน่วยงานด้านสาธารณสุขโดยทันที

สอง ระดับบริษัท บริษัทต้องรับผิดชอบต่อการปฏิบัติตามแนวปฏิบัติในการรักษาระยะห่างทางสังคม (HSD) ผ่านกลไกตรวจสอบภายในของบริษัท สำหรับธุรกิจที่ไม่มีการติดต่อกับลูกค้าโดยตรง เช่นโรงงานและธุรกิจออนไลน์ บริษัทสามารถตรวจสอบการปฏิบัติตาม HSD โดยหน่วยงานตรวจสอบภายในของบริษัท พร้อมรายงานผลการตรวจสอบต่อคณะกรรมการตรวจสอบ ทั้งนี้คณะกรรมการบริษัทจะเป็นผู้รับผิดชอบในการกำกับดูแลการปฏิบัติตาม HSD สำหรับธุรกิจที่มีการติดต่อกับลูกค้าโดยตรง เช่นห้างสรรพสินค้าและร้านอาหาร คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่รับผิดชอบในการกำกับดูแลการปฏิบัติตาม HSD โดยใช้กลไกการตรวจสอบภายในของบริษัท หรือตรวจสอบโดยกรรมการและผู้ตรวจสอบอิสระภายนอกสำหรับบริษัทขนาดเล็ก

สาม ระดับประชาชน สำหรับธุรกิจที่มีการติดต่อกับลูกค้า ควรเปิดให้ลูกค้าสามารถรายงานการไม่ปฏิบัติตาม HSD ต่อผู้มีอำนาจรับผิดชอบได้โดยตรงผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรับรองความปลอดภัยสาธารณะ

4.  ระบบการมีส่วนร่วมของประชาชน (Active Citizen)

ประชาชนสามารถมีบทบาทอย่างสำคัญที่จะทำให้มาตรการเปิดเมืองประสบความสำเร็จ ที่ผ่านมาความร่วมมือของประชาชนต่อมาตรการล็อกดาวน์เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตัวเลขการแพร่ระบาดในประเทศลดลงได้ต่อเนื่อง ในลักษณะเดียวกัน ความสำเร็จของมาตรการเปิดเมืองเพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถทำได้มากขึ้น ก็จะขึ้นอยู่กับบทบาทและความร่วมมือของภาคประชาชน ซึ่งสามารถทำได้ในสามทาง

หนึ่ง ในฐานะผู้บริโภค ภาคประชาชนสามารถช่วยสอดส่องดูแลการไม่ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติในการรักษาระยะห่างทางสังคม (HSD) ของกิจการร้านค้าต่างๆ และแจ้งการไม่ปฏิบัติดังกล่าวให้แก่หน่วยงานราชการที่รับผิดชอบทราบ บทบาทนี้สำคัญมากที่จะช่วยให้มาตรการ HSD ประสบความสำเร็จ นำมาสู่การลดการระบาดที่จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถผ่อนคลายได้มากขึ้น

สอง มีส่วนร่วมในกระบวนการป้องกันด้านสาธารณสุขในการติดตามสถานการณ์ เช่น เป็นอาสาสมัครในการตรวจหาการติดเชื้อ (tracers) เพื่อให้การตรวจหาเชื้อเป็นไปอย่างรวดเร็วและเหมาะสม รวมถึงการให้ความช่วยเหลือภาคทางการและชุมชนในสิ่งต่างๆที่ต้องดำเนินการเพื่อช่วยเหลือสังคม

สาม เป็นประชาชนที่ดีในช่วงการแพร่ระบาดหรือช่วงการระบาดยังไม่จบสิ้น โดยให้ความร่วมมือลดความเสี่ยงของการระบาด เช่น อยู่บ้าน ออกนอกบ้านเท่าที่จำเป็น สวมหน้ากากเมื่อออกนอกบ้าน ล้างมือบ่อยๆ และปฏิบัติตามแนวทาง HSD อย่างเคร่งครัดเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ เป็นต้น


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"