"ประยุทธ์" เคาะแล้วคลายล็อก 6 กิจกรรมเริ่ม 3 พ.ค.ทั้ง "ตลาด-ร้านอาหาร-กิจการค้าปลีก/ส่ง-กีฬา-สวนสาธารณะ-ร้านตัดผม-ร้านตัดขนสัตว์" หมอทวีศิลป์ชี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญสุด หากปฏิบัติตามและดูแลตัวเองจนยอดผู้ติดเชื้อไม่ก้าวกระโดดกลับเหมือนเดิมคาด 2 เดือนเปิดได้ครบ 4 ระยะแน่ เตรียมคลอดรายละเอียดเป็นมาตรฐานกลางที่ทุกจังหวัดต้องยึดถือ ข่าวดี 4 วันติดผู้ติดเชื้อใหม่แค่ 7 ราย
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 เม.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.โพสต์ภาพประชุมร่วมกับหัวหน้าแต่ละศูนย์และที่ปรึกษาใน ศบค.ผ่านเฟซบุ๊กประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha พร้อมข้อความว่า วันนี้ได้ประชุมเพื่อสั่งการอนุมัติมาตรการผ่อนปรนต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ซึ่ง ศบค.จะแถลงรายละเอียดให้พี่น้องประชาชนทราบต่อไป
"ผมขอยืนยันว่าการออกมาตรการต่างๆ นั้นต้องผ่านการพิจารณาของทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยมีความปลอดภัยและสุขภาพของพี่น้องประชาชนเป็นหลัก และจะประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบเพื่อการออกมาตรการเพิ่มเติมในระยะต่อไป ผมขอให้ทุกท่านรับฟังข้อมูลที่ถูกต้องจากการแถลงการณ์ของ ศบค.ในแต่ละวัน เนื่องจากเป็นข้อมูลที่สรุปเป็นมติแล้ว และหลีกเลี่ยงการส่งต่อข้อมูลที่ยังไม่ได้รับการยืนยันจาก ศบค. เนื่องจากอาจเป็นข้อมูลที่ผิดพลาดและก่อให้เกิดความสับสนได้"
ทั้งนี้ ในช่วงเช้า พล.อ.ประยุทธ์ได้รับมอบหน้ากากอนามัย อุปกรณ์ทางการแพทย์จากภาคเอกชนทั้งไทยและจีน เพื่อร่วมกับรัฐบาลช่วยเหลือประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 3 คณะ ได้แก่ คณะผู้บริหารบริษัทมิตรผลและบ้านปู บริจาคหน้ากากอนามัยผ้ามัสลิน 200,000 ชิ้น, บริษัท คีนน์ จำกัด บริจาคผลิตภัณฑ์ คีนน์ เจิม คิลเลอร์ 100 ถัง และสภาธุรกิจไทย-จีน บริจาคหน้ากากอนามัย 470,500 ชิ้น
ด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.แถลงถึงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทยว่ามีผู้ป่วยต่ำสิบเป็นวันที่สี่ โดยมี 7 ราย ยอดผู้ป่วยสะสม 2,954 ราย หายป่วยสะสม 2,687 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ยังอยู่ที่ 54 ราย และขณะนี้มีผู้รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 213 ราย สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 7 รายมาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน จ.ภูเก็ต 3 ราย กระบี่ 1 ราย และอยู่ในสถานที่กักตัวของรัฐใน กทม.ซึ่งเดินทางมาจากมาเลเซีย 3 ราย ถือเป็นวันแรกที่ผู้ป่วยรายใหม่ไม่ได้มาจากการสัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ที่เป็นสาเหตุหลักของการติดเชื้อที่ผ่านมา และยืนยันว่าการตรวจเชื้อของเราในปัจจุบันมีการตรวจได้มากขึ้น เพราะมีการปรับเกณฑ์การตรวจให้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ในจังหวัดท่องเที่ยวอย่างกระบี่เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีการเปิดศูนย์ตรวจเชื้อแห่งแรกที่ทราบผลใน 24 ชั่วโมง ทำให้มั่นใจได้มากขึ้นว่าระบบสาธารณสุขของเราและการตรวจเชิงรุกไปได้ไกลทุกพื้นที่
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะ ผอ.ศบค.ยังได้ส่งสารเน้นย้ำว่า 1.การดำเนินการผ่อนปรนครั้งนี้ถือเป็นความรับผิดชอบของคนไทยทั้งประเทศที่ได้ตัดสินใจร่วมกันแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ไปด้วยกัน หากเราควบคุมสถานการณ์ทางสาธารณสุขในระยะแรกได้ก็จะผ่อนปรนในระยะต่อๆ ไปได้ 2.ขอให้ทุกคนร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละ ทำให้ประชาชนปลอดภัย บรรเทาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ ค่าใช้จ่าย ค่าครองชีพ และป้องกันการแพร่ระบาดไม่ให้เพิ่มมากขึ้น ให้ประเทศเดินหน้าได้ ถือเป็นงานที่ท้าทาย แต่ถ้าเราทุกคนร่วมมือกันด้วยความตั้งใจ มุ่งเน้นเรื่องการป้องกัน มีสำนึกในการรับผิดชอบต่อสังคม พึ่งพาเอื้อเผื่อแผ่แบ่งปันก็จะสำเร็จได้ 3.ผอ.ศบค.ขอบคุณทุกคนที่มาร่วมในคณะกรรมการพิจารณามาตรการผ่อนปรน ทั้งภาคธุรกิจ เอกชน ผู้ประกอบการ บุคลากรทางการแพทย์ ที่ร่วมกันให้ข้อเสนอและหามาตรการที่เหมาะสม ไม่ใช่คำสั่งหรือการตัดสินใจของนายกฯ เพียงคนเดียว จากนี้เป็นหน้าที่คนไทยทั้งประเทศที่จะต้องร่วมมือกัน มาตรการครั้งนี้ถึงจะสำเร็จได้
นพ.ทวีศิลป์ยังกล่าวต่อว่า มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดหลังจากนี้ยังมีมาตรการบางอย่างที่ต้องตรึงไว้ เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่จะใช้ถึงวันที่ 31 พ.ค. และจะมีมาตรการบางอย่างที่หย่อนลงมาบ้างเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ผู้ป่วยรายใหม่ที่เหลือหลักหน่วย แต่การผ่อนคลายล้วนแล้วมีผลต่อตัวเลขผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น หากผ่อนมากไปการติดเชื้อจะเหมือนกับประเทศข้างเคียงที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจนต้องกลับมาตรึงมาตรการ ดังนั้นแม้จะผ่อนแต่ก็ปรับได้ ทั้งนี้ มาตรการที่ยังตรึงไว้นอกจากการการขยายเวลาประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังมี 1.เรื่องมาตรการเคอร์ฟิว ห้ามออกนอกเคหสถานในเวลา 22.00-04.00 น. 2.การเข้า-ออกราชอาณาจักรทั้งทางบก น้ำ อากาศ 4.จำกัดการการบินเข้า-ออกระหว่างประเทศ โดยอนุญาตเฉพาะสายการบินที่เกี่ยวกับการขนส่งสินค้าและรับคนไทยกลับประเทศออกไปอีก 1 เดือน 5.งดหรือชะลอการข้ามจังหวัดโดยที่ไม่มีเหตุจำเป็น และ 6.ยึดแนวทางทำงานที่บ้านให้ได้ 50% และไม่ให้ประชาชนเข้าไปในสถานที่ที่มีคนจำนวนมากเป็นการชั่วคราว
คลายล็อก 6 กิจกรรม
นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า ส่วนมาตรการผ่อนปรนที่จะเกิดขึ้นนั้น จะมีการกำหนดมาตรฐานกลางของแต่ละกิจการที่จะให้ทุกพื้นที่ยึดถือปฏิบัติ และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกำหนดรายละเอียดแต่ละพื้นที่กันไป ซึ่งจะเข้มข้นกว่าได้ แต่น้อยกว่ามาตรฐานกลางไม่ได้ โดยแนวทางการดำเนินการจะคำนึงถึงปัจจัยด้านสาธารณสุขเป็นหลัก และนำปัจจัยด้านสังคมและเศรษฐกิจมาประกอบการพิจารณา โดยมาตรการผ่อนปรนต่างๆ จะยึดถือแนวทางปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ออกตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 1 ในข้อ 11 อาทิ การทำความสะอาดพื้นผิวของสถานที่ที่เกี่ยวข้องของการทำกิจกรรม การกำจัดขยะมูลฝอย การสวมหน้ากากอนามัยทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ การล้างมือ การเว้นระยะนั่งหรือยืน 1 เมตร ไม่ให้แออัด
ทั้งนี้ กลุ่มกิจกรรมแรกที่ได้รับความเห็นจาก ผอ.ศบค.และทีมงานมี 6 กลุ่มที่ผ่อนปรน ได้แก่ 1.ตลาด ตลาดสด ตลาดนัด ตลาดน้ำ ตลาดชุมชน ถนนคนเดิน แผงลอย 2.ร้านจำหน่ายอาหาร อาหารทั่วไป ร้านเครื่องดื่ม ขนมหวาน ไอศกรีม (นอกห้างสรรพสินค้า) ร้านอาหารริมทาง รถเข็น หาบเร่ 3.กิจการค้าปลีกส่ง ซูเปอร์มาเก็ต ร้านสะดวกซื้อบริเวณพื้นที่นั่ง ยืน รับประทาน รถเร่หรือรถวิ่งขายสินค้าอุปโภคบริโภค ร้านค้าปลีกขนาดย่อย ร้านค้าปลีกชุมชน ร้านค้าปลีกธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม 4.กีฬา สันทนาการ กิจกรรมในสวนสาธารณะ ได้แก่ เดิน รำไทเก๊ก สนามกีฬากลางแจ้งที่เป็นการออกกำลังกายโดยไม่ได้เล่นเป็นทีมและไม่ได้มีการแข่งขัน เทนนิส ยิงปืน ยิงธนู จักรยาน กอล์ฟ และสนามซ้อม 5.ร้านตัดผม เสริมสวย เฉพาะตัด สระ ไดร์ 6.อื่นๆ ได้แก่ ร้านตัดขนสัตว์ ร้านรับเลี้ยงรับฝากสัตว์ สำหรับกิจกรรมใดที่ผู้ประกอบการปรับตัวได้ก็ให้เริ่มวันที่ 3 พ.ค.ได้เลย
"เราจะใช้ช่วงเวลา 14 วันหลังจากนี้คอยติดตามประเมินผลอยู่ตลอดเวลา ถ้ามีตัวเลขคงที่ไปเรื่อยๆ แสดงว่าประชาชนให้ความร่วมมือดี รู้วิธีจัดการตัวเอง จัดกิจการ กิจกรรมได้ดี เราก็จะได้เลื่อนไปในกิจกรรมอื่นๆ ได้มากกว่านี้ แต่ถ้าใน 14 วันนี้ตัวผู้เลขผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นสองหลักสามหลัก ท่านก็ต้องยอมรับว่าเราต้องถอยหลังกลับมาตรึงกิจการ กิจกรรม ซึ่งต้องถูกทบทวนใหม่หมด เราจะพยายามเดินไปด้วยกัน ทุกคนต้องมีส่วนร่วมหมด ตามหลักการเราต้องร่วมมือให้ได้มากกว่า 90% ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ 7 รายวันนี้เกิดจากการทำงานร่วมกันอย่างดีที่เชื่อว่า 100% ช่วงเวลานี้มีความสำคัญยิ่ง หลายประเทศเพลี่ยงพล้ำนิดเดียวจนกลับมาระบาดเหมือนเดิม แต่ครั้งนี้เราไม่ต้องการความเสี่ยงแม้แต่น้อย เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญที่สุด ขอให้พวกเราประสบความสำเร็จเหมือน 1 เดือนที่ผ่านมา" นพ.ทวีศิลป์กล่าว
เมื่อถามว่า กรมสุขภาพจิตจะแก้ปัญหาการฆ่าตัวตายจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างไร นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ข้อมูลเรื่องการฆ่าตัวตายกระทรวงสาธารณสุขนำชุดข้อมูลมาพูดคุยกันหลายครั้ง เทียบเคียงกรณีศึกษาจากข่าว บทความวิชาการ เราย้อนดูข้อมูลของกรมสุขภาพจิต ยอมรับว่าปีนี้น่าห่วง เพราะเป็นวิกฤติทั่วโลก และปัญหาการป่วยทางจิตก็เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก แนวโน้มการพยากรณ์ก็เหมือนการรายงานการติดโรค เป็นพื้นฐานวิทยาศาสตร์ไม่ผิดไปจากความคาดหมาย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขต้องทำควบคู่ไปกับการดูแลโรคติดต่อ ลดจำนวนการสูญเสียจากการฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ สัญญาณที่มีมาก่อนเป็นเรื่องที่บุคลากรสาธารณสุขต้องเข้าไปดู รวมถึงภาคเศรษฐกิจต่างๆ การแก้ปัญหาที่ตรงกับเหตุเป็นสิ่งที่สามารถลดเรื่องนี้ได้ ที่สำคัญคือมาตรการส่วนบุคคลผู้ที่มีผลกระทบจากสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะมีลักษณะสัญญาณแสดงออก ญาติและคนใกล้ชิดต้องร้องขอมายังกรมสุขภาพจิต เพื่อที่เราจะช่วยกันแก้ไข อย่างไรก็ตามเราเคยเจอวิกฤติปี 40 ขณะนั้นมีตัวเลขคนฆ่าตัวตาย 8.3% ต่อจำนวนประชากร แต่ครั้งนี้ยังไม่ถึงขนาดนั้น เราทำให้ลดลงได้ด้วยการร่วมมือทุกภาคส่วน
เปิดครบ 4 ระยะใน 2 เดือน
เมื่อถามว่า การประเมินระยะผ่อนปรน 14 วันต้องใช้เวลานานเท่าไร นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ตามระยะเวลาที่นายกฯ ระบุ 4 ระยะคือขยับทีละ 25% 4 ครั้งก็จะครบ 100% แต่ระยะเวลาจะเท่าไรก็ให้เวลาไว้ 14 วันตามระยะเวลาของโรค ที่จะดูได้ว่ามีการเพิ่มหรือลดในการติดเชื้อหรือไม่ ถ้าเป็นไปตามขั้นตอนจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ซึ่งโรคจะหายใน 2 เดือนหรือไม่ ไม่ได้เกิดจากข้อมูลในประเทศอย่างเดียว แต่ต้องเอาตัวเลขจากประเทศต่างๆ รอบบ้านยังมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ก็อาจเป็นตัวแปรหนึ่งในการเข้ามาประเมินด้วย ส่วนกรณีที่มีการส่งต่อข้อมูลการพยากรณ์โลกของนักวิชาการสิงคโปร์ที่มีการใช้สถิติมาร้อยเรียงกัน แล้วระบุว่าประเทศไทยจะหมดเชื้อ 100% ในวันที่ 11 มิ.ย.63 เป็นข่าวดี แต่นั่นเป็นการใช้ข้อมูลทางสถิติในอดีตมาอธิบายเรื่องอนาคต แต่ถ้าวันนี้เราร่วมมือกันดีกว่านั้น เราอาจเร็วกว่านั้นก็ได้ หรือหากวันนี้เราหย่อนกันมาก และพรุ่งนี้พบผู้ติดเชื้อเป็นสองหลัก สิ่งที่พูดวันนี้จะกลายเป็นศูนย์ ไม่มีอะไรร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ยังมีหวังที่เกิดจากความร่วมมือของประชาชนทุกคน
เมื่อถามว่า สุราขายได้หรือไม่ นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ข้อกำหนดและมาตรการต่างๆ ที่ออกมาขอให้ยืดเวลาออกไป ฉะนั้นสิ่งที่ปลัดมหาดไทยให้ความหมายคือยังไม่ให้ขาย มีมาตรการอย่างไรก็ต้องดำเนินการต่อไปยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ณ ตอนนี้ยังไม่มีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ดังนั้นเรื่องการขายสุราจึงยังไม่เกิดขึ้นตอนนี้
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวชี้แจงมาตรการผ่อนปรนในประเด็นให้จำหน่ายสุราว่า สุราเป็นปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่ความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดในการชุมนุมของคนต่างๆ ดังนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าฯ กทม.จึงออกมาตรการและกำหนดการปฏิบัติจนถึงวันที่ 30 เม.ย.ที่ไม่ให้จำหน่ายสุรา ทั้งนี้ ศบค.ได้ออกข้อสั่งการเป็นข้อกำหนดว่า การสั่งการใดที่ดำเนินการจนถึง 30 เม.ย.นั้นให้มีผลต่อไปจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ในส่วนนี้กระทรวงมหาดไทยจะดำเนินการตามข้อสั่งการที่ออกมานี้
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ได้หารือถึงภาพรวมการเปิดดำเนินกิจการของภาคธุรกิจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และวิเคราะห์กันอย่างละเอียดถึงความเสี่ยงภายหลังการเปิดกิจการ ซึ่งแบ่งเป็น 4 ระดับ ระดับที่ 1 คือ กิจกรรม กิจการที่มีความเสี่ยงน้อย จะเปิดบริการได้วันที่ 3 พ.ค.63 ระดับที่ 2 และ 3 ต้องมาดูว่าถ้าการเปิดกิจการในระยะแรก 14 วันไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ หรือการเพิ่มขึ้นน้อยลง ก็สามารถเปิดกิจการ กิจกรรมระดับที่ 2 และ 3 ได้ ซึ่งการเปิดต้องมีความเข้มข้นมากขึ้น เพราะเป็นกิจการในระบบปิดในห้างสรรพสินค้า สำหรับระดับที่ 4 กิจกรรม กิจการที่มีความเสี่ยงมาก เช่น การจัดคอนเสิร์ต สนามมวย สนามกีฬาต่างๆ ต้องเปิดเป็นอันดับสุดท้าย
'สุกี้-ชาบู' กินคนละหม้อ
"เมื่อครบ 14 วันจะประเมินผลการผ่อนปรนสถานการณ์ ถ้าผู้ติดเชื้อเพิ่มอย่างไม่มีนัยสำคัญหรือน้อยก็มั่นใจได้ว่าจะดำเนินการในระยะที่ 2 และ 3 เพราะคำตอบของระยะต่อไปอยู่ที่ระยะที่ 1 ว่าจะขยับไประยะที่ 2 ได้หรือไม่ ดังนั้นห้างสรรพสินค้า ร้านค้าต่างๆ ต้องมีความพร้อมเตรียมตัว หากสามารถเข้าสู่การเปิดกิจการในระยะที่ 2 และ 3" นายทศพรกล่าว
นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หาบเร่ แผงลอย ประเภทขายอาหาร และเสื้อผ้าเปิดได้หมด แต่ต้องตั้งร้านห่างกัน 1 เมตร คนซื้อและคนขายต้องใส่หน้ากากอนามัย มีเจลล้างมือได้ยิ่งดี สำหรับร้านอาหารทั่วไปที่มีขนาดไม่เกิน 2 คูหา ต้องจัดโต๊ะให้ห่างกันพอสมควร ขณะที่ร้านอาหารขนาดใหญ่ยังไม่อนุญาตให้เปิด ส่วนร้านติดแอร์หากเป็นไปได้ต้องมีที่ดูดอากาศออก โดยหลังจากนี้จะมีคู่มือออกมาเป็นคู่มือกลางให้ร้านอาหารใช้เป็นคู่มือในการปฏิบัติ ส่วนร้านอาหารในห้างสรรพสินค้ายังเปิดไม่ได้
"ร้านสุกี้ ชาบู เปิดได้ถ้าไม่เกิน 2 คูหา แต่ต้องนั่งกิน 1 หม้อ 1 คน ถ้ามาเป็นครอบครัวต้องกินคนละหม้อ นั่งแยกกัน สำหรับร้านค้าอาหารขนาดเล็กๆ ไม่มีเครื่องวัดอุณหภูมิ เจ้าของร้านอาจต้องใช้วิธีถามผู้มาใช้บริการว่ามีไข้ไหม" นายกลินทร์กล่าวและว่า ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ผ่านมาเปิดได้อยู่แล้ว แต่ไม่มีการกำหนดมาตรฐานกลาง ดังนั้นตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค.63 เป็นต้นไป จะต้องดำเนินการตามมาตรฐานกลาง คือผู้ใช้บริการและเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการต้องใส่หน้ากาก ส่วนการจ่ายเงินต้องห่างกัน 1 เมตร เป็นต้น
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผอ.โรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สระว่ายน้ำแม้เป็นกิจกรรมออกกำลังกายเหมือนกัน แต่ยังไม่มีการเปิดในช่วงนี้ เนื่องจากการว่ายน้ำจะทำให้น้ำมูกและน้ำลายของคนที่ใช้บริการปนเบื้อนในสระว่ายน้ำ แต่อาจเปิดให้บริการในระยะถัดไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |