โฆษก ศบค. เผยสารจาก 'บิ๊กตู่' มาตรการผ่อนปรนครั้งนี้ถือเป็นความรับผิดชอบของคนไทยทั้งประเทศ


เพิ่มเพื่อน    

30 เม.ย.63 - ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า สถานการณ์ประเทศไทย มีผู้ป่วยต่ำสิบเป็นวันที่สี่ โดยมี 7 ราย ยอดผู้ป่วยสะสม 2,954 ราย หายป่วยสะสม 2,684 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ยังอยู่ที่ 54 ราย และขณะนี้มีผู้รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 213 ราย สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 7 รายมาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน จ.ภูเก็ต 3 ราย กระบี่ 1 ราย และอยู่ในสถานที่กักตัวของรัฐใน กทม.ซึ่งเดินทางมาจากมาเลเซีย 1 ราย ถือเป็นวันแรกที่ผู้ป่วยรายใหม่ไม่ได้มาจากของการสัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ที่เป็นสาเหตุหลักของการติดเชื้อที่ผ่านมา และขอยืนยันว่าการตรวจเชื้อของเราในปัจจุบันมีการตรวจได้มากขึ้น เพราะมีการปรับเกณฑ์เกิดการตรวจให้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ในจังหวัดท่องเที่ยวอย่าง จ.กระบี่ เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีการเปิดศูนย์ตรวจเชื้อแห่งแรก ทราบผลใน 24 ชั่วโมง ทำให้มั่นใจได้มากขึ้นว่า ระบบสาธารณสุขของเราและการตรวจเชิงรุกไปได้ไกลทุกพื้นที่ ส่วนสถานการณ์ทั่วโลก มีผู้ป่วยสะสม 3,220,225 เสียชีวิต 228,223 ราย

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สารจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. ได้เน้นย้ำว่า การดำเนินการผ่อนปรนครั้งนี้ถือเป็นความรับผิดชอบของคนไทยทั้งประเทศที่ได้ตัดสินใจร่วมกันแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ไปด้วยกัน ทั้งแพร่ระบาดและผลกระทบทางเศรษฐกิจ หากเราควบคุมสถานการณ์ทางสาธารณสุขในระยะแรกได้ ก็จะมีการดำเนินการผ่อนปรนในระยะต่อๆไปได้ 2.ขอให้ทุกคนร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละ ทำให้ประชาชนปลอดภัย บรรเทาความเดือนร้อนทางเศรษฐกิจ ค่าใช้จ่าย ค่าครองชีพ และป้องกันการแพร่ระบาดไม่ให้เพิ่มมากขึ้น ให้ประเทศเดินหน้าได้ หากควบคุมได้ไม่ดีทุกอย่างจะแย่ลง ถือเป็นงานที่ท้าทาย แต่ถ้าเราทุกคน ผู้ประกอบการ ผู้รับบริการ ร่วมมือกันด้วยความตั้งใจมุ่งเน้นเรื่องการป้องกัน มีสำนึกในการรับผิดชอบต่อสังคม พึ่งพาเอื้อเผื่อแผ่แบ่งปันก็จะสำเร็จได้ 3.ผอ.ศบค.ขอบคุณทุกคนที่มาร่วมในคณะกรรมการพิจารณามาตรการผ่อนปรน ทั้งภาคธุรกิจ เอกชน ผู้ประกอบการ บุคลากรทางการแพทย์ ที่ร่วมกันให้ข้อเสนอและหามาตรการที่เหมาะสม ไม่ใช่คำสั่งหรือการตัดสินใจของนายกฯเพียงคนเดียว จากนี้เป็นหน้าที่คนไทยทั้งประเทศที่จะต้องร่วมมือกัน มาตรการครั้งนี้ถึงจะสำเร็จได้

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดหลังจากนี้ว่า ยังมีมาตรการบางอย่างที่ต้องตรึงไว้ เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่จะประกาศต่อไปถึงวันที่ 31 พ.ค. และจะมีมาตรการบางอย่างที่หย่อนลงมาบ้างเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ผู้ป่วยรายใหม่ที่เหลือหลักหน่วย แต่การผ่อนคลายล้วนแล้วมีผลต่อตัวเลขการผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น เพราะการผ่อนคลายเกี่ยวข้องกับคนที่เป็นพาหะของโรค หากผ่อนมากไปการติดเชื้อจะเหมือนกับประเทศข้างเคียงที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจนต้องกลับมาตึงมาตรการ ดังนั้น แม้จะผ่อนแต่ก็ปรับได้

ทั้งนี้ มาตรการที่ยังตรึงไว้นอกจากการการขยายเวลาประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังมี 1.เรื่องมาตรการเคอร์ฟิว ห้ามออกนอกเคหสถานในเวลา 22.00-04.00 น. 2.การเข้า-ออกราชอาณาจักรทั้งทางบก น้ำ อากาศ 4.จำกัดการการบินเข้า-ออกระหว่างประเทศ โดยอนุญาตเฉพาะสายการบินที่เกี่ยวกับการขนส่งสินค้าและรับคนไทยกลับประเทศออกไปอีก 1 เดือน 5.งดหรือชะลอการข้ามจังหวัดโดยที่ไม่มีเหตุจำเป็น และ 6.ยึดแนวทางทำงานที่บ้านให้ได้ร้อยละ 50 และไม่ให้ประชาชนเข้าไปในสถานที่ที่มีคนจำนวนมากเป็นการชั่วคราว

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ส่วนมาตรการผ่อนปรนที่จะเกิดขึ้นนั้น จะมีการกำหนดมาตรฐานกลางของแต่ละกิจการ กิจกรรมที่จะให้ทุกพื้นที่ยึดถือปฏิบัติ และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกำหนดรายละเอียดแต่ละพื้นที่กันไป ซึ่งจะเข้มข้นกว่าได้ แต่จะน้อยกว่ามาตรฐานกลางไม่ได้ โดยแนวทางการดำเนินการจะคำนึงถึงปัจจัยด้านสาธารณสุขเป็นหลัก และนำปัจจัยด้านสังคม และเศรษฐกิจมาประกอบการพิจารณา เพราะการติดต่อของโรคหน่วยงานด้านสาธารณสุขจะรู้ดีที่สุด

อย่างไรก็ตาม มาตรการผ่อนปรนต่างๆ จะยึดถือแนวทางปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ออกตามมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 1 ในข้อ  11 อาทิ การทำความสะอาดพื้นผิวของสถานที่ที่เกี่ยวข้องของการทำกิจกรรม การกำจัดขยะมูลฝอย การสวมหน้ากากอนามัยทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ การล้างมือ การเว้นระยะนั่งหรือยืน 1 เมตร ไม่ให้แออัด

ทั้งนี้ กลุ่มกิจกรรมแรกที่ได้รับความเห็นจาก ผอ.ศบค.และทีมงานมี 6 กลุ่ม ได้แก่ 1.ตลาด ตลาดสด ตลาดนัด ตลาดน้ำ ตลาดชุมชน ถนนคนเดิน แผงลอย 2.ร้านจำหน่ายอาหาร อาหารทั่วไป ร้านเครื่องดื่ม ขนมหวาน ไอศกรีม (นอกห้างสรรพสินค้า) ร้านอาหารริมทาง รถเข็น หาบเร่ 3.กิจการค้าปลีกส่ง ซุปเปอร์มาเก็ต ร้านสะดวกซื้อบริเวณพื้นที่นั่ง ยืน รับประทาน รถเร่หรือรถวิ่งขายสินค้าอุปโภคบริโภค ร้านค้าปลีกขนาดย่อย ร้านค้าปลีกชุมชน ร้านค้าปลีกธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม 4.กีฬา สันทนาการ กิจกรรมในสวนสาธารณะ ได้แก่ เดิน รำไทเก็ก สนามกีฬากลางแจ้งที่เป็นการออกกำลังกายโดยไม่ได้เล่นเป็นทีมและไม่ได้มีการแข่งขัน เทนนิส ยิงปืน นิงธนู จักรยาน กอล์ฟ และสนามซ้อม 5.ร้านตัดผม เสริมสวย เฉพาะตัด สระ ไดร์ 6.อื่นๆ ได้แก่ ร้านตัดขนสัตว์ ร้านรับเลี้ยงรับฝากสัตว์ สำหรับกิจกรรมใดที่ผู้ประกอบการปรับตัวได้ก็ให้เริ่มวันที่ 3 พ.ค.ได้เลย

“เราจะใช้ช่วงเวลา 14 วันหลังจากนี้ คอยติดตาม ประเมินผลอยู่ตลอดเวลา ถ้ามีตัวเลขคงที่ไปเรื่อยๆ แสดงว่าประชาชนให้ความร่วมมือดี รู้วิธีจัดการตัวเอง จัดกิจการ กิจกรรมได้ดี เราก็จะได้เลื่อนไปในกิจกรรมอื่นๆ ได้มากกว่านี้ แต่ถ้าใน 14 วันนี้ ตัวผู้เลขผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นสองหลัก สามหลัก ท่านก็ต้องยอมรับว่าเราจะต้องถอยหลงกลับมาตึงกิจการ กิจกรรม ซึ่งต้องถูกทบทวนใหม่หมด เราจะพยายามเดินไปด้วยกัน ทุกคนต้องมีส่วนร่วมหมด ตามหลักการเราต้องร่วมมือให้ได้มากกว่า 90% ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ 7 รายวันนี้เกิดจาการทำงานร่วมกันอย่างดีที่เชื่อว่า 100% ช่วงเวลานี้มีความสำคัญยิ่ง หลายประเทศเพลี่ยงพล้ำนิดเดียวจนกลับมาระบาดเหมือนเดิม แต่ครั้งนี้เราไม่ต้องการความเสี่ยงแม้แต่น้อย เป็นช่วงหัวเลี้ยงหัวต่อที่สำคัญที่สุดของเรา ขอให้พวกเราประสบความสำเร็จเหมือน 1 เดือนที่ผ่านมา:”นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

เมื่อถามว่า การประเมินระยะผ่อนปรน 14 วันต้องใช้เวลานานเท่าไร นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ตามระยะเวลาที่นายกฯ ระบุ 4 ระยะคือขยับทีละ 25 เปอร์เซ็นต์ 4 ครั้งก็จะครบ 100 เปอร์เซ็นต์แต่ระยะเวลาจะเท่าไรก็ให้เวลาไว้  14 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาของโรค ที่จะดูได้ว่ามีการเพิ่มหรือลดในการติดเชื้อหรือไม่ ถ้าเป็นไปตามขั้นตอนจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ซึ่งโรคจะหายใน 2 เดือนหรือไม่ได้เกิดจากข้อมูลในประเทศอย่างเดียว แต่ต้องเอาตัวเลขจากประเทศต่างๆรอบบ้านยังมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากก็อาจจะเป็นตัวแปรหนึ่งในการเข้ามาประเมินด้วย สิ่งต่างๆเหล่านี้ไม่ใช่เป็นคำตอบที่ชัดเจน ส่วนกรณีที่มีการส่งต่อ ข้อมูลการพยากรณ์โลกของนักวิชาการสิงคโปร์ที่มีการใช้สถิติมาร้อยเรียงกันแล้วระบุว่า ประเทศไทยจะหมดเชื้อ 100 เปอร์เซ็นต์อยู่ที่วันที่ 11 มิ.ย.63 ซึ่งเป็นข่าวดี แต่นั่นเป็นการใช้มูลทางสถิติในอดีตมาอธิบายเรื่องอนาคต แต่ถ้าวันนี้เราร่วมมือกันดีกว่านั้น เราอาจจะเร็วกว่านั้นก็ได้ หรือหากวันนี้เราหย่อนกันมาก และพรุ่งนี้พบผู้ติดเชื้อเป็นสองหลัก สิ่งที่พูดวันนี้จะกลายเป็นศูนย์ ไม่มีอะไรร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ยังมีหวังที่เกิดจาดความร่วมมือของประชาชนทุกคน

เมื่อถามว่า สุราขายได้หรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ข้อกำหนดและมาตรการต่างๆที่ออกมาขอให้ยืดระยะเวลาออกไป ฉะนั้นสิ่งที่ปลัดมหาดไทยให้ความหมายคือยังไม่ให้ขาย มีมาตรการอย่างไรก็ต้องดำเนินการต่อไปยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ณ ตอนนี้ยังไม่มีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ดังนั้นเรื่องการขายสุราจึงยังไม่เกิดขึ้นตอนนี้


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"