ทั่วประเทศขานรับ เริ่มขยับเปิดเมือง ปชช.พร้อมค้าขาย


เพิ่มเพื่อน    

 สัญญาณดีทั่วประเทศ ภูเก็ตไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ หลายจังหวัดเริ่มขยับเตรียมพร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังปลดล็อก โรงพยาบาลรือเสาะกลับมาเปิดอีกครั้งหลัง "หมอ-พยาบาล" พ้นช่วงกักตัว 14 วัน ส่วนขอนแก่นเปิดสนามบิน 1 พ.ค.เป็นต้นไป
    สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในหลายจังหวัดเริ่มดีขึ้น ที่ภูเก็ต คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ตแจ้งข้อมูลว่า ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม - 28 เมษายน 2563 จังหวัดภูเก็ตมีผู้ติดเชื้อยืนยันโรคโควิด-19  แล้วจำนวน 214 ราย (ไม่พบรายใหม่)
    โดยผู้ติดเชื้อได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน 173 ราย (เพิ่มขึ้นจากเดิม 1 ราย) เสียชีวิต 2 ราย จำหน่าย  1 ราย (จำหน่ายเนื่องด้วยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์) กำลังรักษาพยาบาลอยู่ 38 ราย ในจำนวนนี้อาการรุนแรง 2 ราย ที่เหลืออาการอยู่ในเกณฑ์ที่ดี
         ที่ จ.สงขลา เริ่มมีท่าทีจากภาคเอกชนที่ต้องการให้ปลดล็อก ให้สามารถเปิดกิจการได้เพื่อให้ธุรกิจขับเคลื่อนและประชาชนมีงานทำ โดยหอการค้าจังหวัดสงขลาเตรียมชงเรื่องถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ผ่านไปยังส่วนกลางพิจารณา เนื่องจากมองว่าสงขลาจัดอยู่ในกลุ่มสองพบผู้ติดเชื้อในช่วง 14 วันน้อย และผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่ใช่คนในพื้นที่
    อย่างไรก็ตาม จ.สงขลายังคงมีมาตรการเข้มข้นในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ล่าสุด  นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้ออกมาตรการเพิ่มเติมในการกำหนดแนวปฏิบัติของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อถือปฏิบัติในการขออนุญาตออกนอกเขตพื้นที่จังหวัดสงขลา
     โดยห้ามมิให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐออกนอกเขตพื้นที่จังหวัดสงขลาก่อนได้รับอนุญาต  หากจำเป็นเร่งด่วนกรณีหัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ นายอำเภอ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา นายกเทศมนตรีนคร นายกเทศมนตรีเมือง ให้ขออนุญาตต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา
    กรณีข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างของส่วนราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้ขออนุญาตต่อหัวหน้าหน่วยงานต้นสังกัดเป็นลายลักษณ์ กรณีผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ให้ขออนุญาตต่อนายอำเภอในพื้นที่รับผิดชอบเป็นลายลักษณ์อักษร
    รวมถึงกรณีข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ขออนุญาตเดินทางออกนอกเขตจังหวัดไปยังจังหวัดกลุ่มเสี่ยง มีผู้ป่วยโควิด-19 ให้แยกสังเกตอาการในที่พักเป็นเวลา 14 วัน และให้ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วน โดยให้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวานนี้
    รายงานข่าวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อบุคลากรทางการแพทย์จำนวน 30 คน หลังจากได้สัมผัสกับผู้ป่วย 1 รายที่ปกปิดประวัติขณะเข้าทำการรักษาตัวที่โรงพยาบาลรือเสาะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ซึ่งนายแพทย์มาหะมะ เมาะมูลา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรือเสาะ ได้ทำหนังสือประกาศปิดโรงพยาบาลรือเสาะเพื่องดให้บริการแก่ประชาชนเมื่อวันที่ 25  เม.ย.ที่ผ่านมา พร้อมกักตัวดูอาการบุคลากรทางการแพทย์ 14 วันว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากผู้ป่วยที่เดินทางมาทำการรักษาหรือไม่ และผลการกักตัวเมื่อครบกำหนดพบว่าบุคลากรทางการแพทย์ทั้ง 30 คน ไม่มีอาการติดเชื้อแต่อย่างใดนั้น
    ล่าสุด นายแพทย์มาหะมะ เมาะมูลา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรือเสาะ ได้ประกาศเปิดโรงพยาบาลรือเสาะเพื่อให้บริการแก่ประชาชนเป็นวันแรกในวันนี้อีกครั้ง โดยพบว่าตั้งแต่ช่วงเช้ามีประชาชนที่ทราบข่าวได้ทยอยเดินทางมาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง
    ทั้งนี้ โรงพยาบาลรือเสาะได้ทำการฉีดล้างด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทุกมุมทุกจุดของแต่ละแผนก รวมไปถึงเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้มาใช้บริการ โดยบุคลากรทางการแพทย์และพนักงานแผนกต่างๆ ได้เพิ่มความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่มากยิ่งขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย ด้วยการคัดกรองประชาชนที่เดินทางมาใช้บริการทุกคน ด้วยการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายตั้งแต่ประตูทางเข้าโรงพยาบาล
    ที่ จ.นครศรีธรรมราช นายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมด้วยคณะแพทย์โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช ร่วมส่งนายรัฐพงศ์ นิยมเดชา อายุ 24 ปี ผู้ป่วยรายที่ 6  ของจังหวัดนครศรีธรรมราชที่หายจากโควิด-19 กลับบ้าน ที่ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช เพื่อสร้างความมั่นใจและสร้างขวัญกำลังใจแก่ประชาชนในชุมชน 
    สำหรับนายรัฐพงศ์ติดเชื้อโควิด-19 หลังเดินทางกลับจากเรียนหนังสือที่ประเทศปากีสถาน เมื่อมีอาการป่วยได้ไปตรวจเพื่อรักษาที่โรงพยาบาลหัวไทร จากนั้นได้ถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราชเมื่อวันที่ 30 มีนาคม อาการโดยรวมทั่วไปไม่มีโรคแทรกซ้อน จนกระทั่งตรวจครั้งล่าสุดไม่พบเชื้อโควิด-19 ในร่างกายแล้ว แพทย์จึงอนุญาตให้กลับบ้านได้ในวันนี้ รวมเวลาในการรักษา 1 เดือนเต็ม อย่างไรก็ตาม แม้จะหายป่วยแล้วแต่แพทย์ได้แนะนำให้พักผ่อนอยู่ที่บ้านต่ออีกสักระยะหนึ่ง 
    ปัจจุบันจังหวัดนครศรีธรรมราชยังคงมีผู้ป่วยรักษาอยู่ที่โรงพยาบาล 5 ราย สุขภาพโดยรวมแข็งแรง แม้ยังตรวจพบเชื้อในร่างกายแต่ก็ดีขึ้นตามลำดับ สำหรับจังหวัดนครศรีธรรมราชมีผู้ป่วยโควิด-19 สะสม  12 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 6 ราย เสียชีวิต 1 ราย และรักษาตัวที่โรงพยาบาล 5 ราย นอกจากนี้ จังหวัดนครศรีธรรมราชไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อเนื่องเป็นวันที่ 16 แล้ว
    ที่ จ.ขอนแก่น ว่าที่ ร.ต.อัธยา ลาภมาก ผู้อำนวยการท่าอากาศยาน จ.ขอนแก่น พร้อมด้วย น.ส.ธนิสรา สิงหกุล รองผู้อำนวยการท่าอากาศยาน จ.ขอนแก่น ตรวจสอบความพร้อมการกลับมาให้บริการของสายการบินพาณิชย์ และระบบการให้บริการของท่าอากาศยาน จ.ขอนแก่น ทั้งในส่วนของผู้โดยสารขาเข้าและผู้โดยสารขาออก ตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กรมท่าอากาศยานได้บังคับใช้มาตรการดังกล่าวอย่างเข้มงวดในทุกสนามบิน ภายหลังจากที่สายการบินพาณิชย์เตรียมกลับมาให้บริการอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.เป็นต้นไป
    ว่าที่ ร.ต.อัธยาเผยว่า บางสายการบินได้ออกข้อกำหนดไม่อนุญาตให้ถือสัมภาระขึ้นเครื่องบิน โดยจะอนุญาตให้ถือเพียงกระเป๋าส่วนตัวขนาดเล็กขึ้นเครื่องบินเท่านั้น ส่วนสัมภาระนั้นให้โหลดใต้เครื่องบินในอัตราคนละ 7 กก.โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งผู้โดยสารจะต้องตรวจสอบข้อมูลกับสายการบินอีกครั้ง  อีกทั้งหลังจากที่กำหนดเวลาในการทำการบินนั้น เมื่อผ่านการตรวจสอบบัตรที่นั่งโดยสารรอบสุดท้ายภายในอาคารพักผู้โดยสารชั้นใน ผู้โดยสารทุกคนจะถูกตรวจวัดอุณหภูมิซ้ำอีกครั้งก่อนขึ้นเครื่อง ซึ่งหากตรวจวัดไม่ผ่านสายการบินก็จะไม่อนุญาตให้ทำการบินในเที่ยวบินนั้นทันที
    ณ ห้องประชุมร่มฉัตร ชั้น 2 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการป้องกันโรคติดต่อฯ เพื่อหารือการผ่อนคลายการเดินทางเข้าออกจังหวัดนครพนม
    ในเบื้องต้น ผวจ.นครพนมเปิดเผยว่า ในหลักการยังคงมาตรการปิดสถานที่ต่างๆ ต่อไปอีก 15 วัน  ถึงวันที่ 15 พ.ค. เพื่อที่จะดูความชัดเจนในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล หรือ สบค. ส่วนการเดินทางเข้าจังหวัดทั้งทางอากาศและทางบกหลังวันที่ 1 พ.ค.นี้ไม่มีการขออนุญาต แต่ต้องหยุดลงให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ว่าไปที่ไหน ก่อนที่จะมานครพนมภายใน 14 วัน ท่านไปไหนมาบ้าง เพื่อที่จะได้รู้ว่าไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรือไม่ หลังให้ข้อมูล จังหวัดจะประมวลข้อมูลส่งไปยังอำเภอนั้นๆ และอำเภอจะส่งข้อมูลต่อให้กับพื้นที่ คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้เฝ้าติดตามต่อไป
    นายยุทธชัย พงศ์พณิช รองนายกเทศมนตรีเมืองบุรีรัมย์ พร้อมนายเทพชัย มาพิทักษ์ ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม และเจ้าหน้าที่กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองบุรีรัมย์ ออกตรวจเยี่ยมและให้คำแนะแก่ผู้ประกอบการร้านจำหน่ายอาหาร และเครื่องดื่มที่มิใช่แอลกอฮอล์หรือมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ในเขตเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงสถานประกอบการและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ให้สามารถจัดให้มีที่นั่งภายในร้านและบริเวณใดๆ ของร้าน 
    โดยต้องดำเนินการตามมาตรการทางสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ตามประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ เรื่องมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จังหวัดบุรีรัมย์ ตามแนวทาง BURIRAM HEALTHY MODEL ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม - 31 พฤษภาคม 2563 (ฉบับที่ 14) พร้อมทั้งยังได้มอบฉากกั้นระหว่างบุคคล ระหว่างที่นั่ง และ face shield ให้แก่ผู้ประกอบการร้านอาหารภายในเขตเทศบาลเมืองบุรีรัมย์
    นายยุทธชัยกล่าวว่า การออกตรวจเยี่ยมและให้คำแนะแก่ผู้ประกอบการร้านจำหน่ายอาหาร และเครื่องดื่มที่มิใช่แอลกอฮอล์หรือมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ในเขตเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ เพื่อให้ร้านจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่มที่มิใช่แอลกอฮอล์หรือมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ได้ปฏิบัติถูกต้องตามประกาศของคณะกรรมการโรคติดต่อ อาทิ ร้านค้าจะต้องจัดทำที่กั้นระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย มีจุดตรวจวัดอุณหภูมิ มีเจลแอลกอฮอล์ล้างมือบริการลูกค้า กำหนดจุดเว้นระยะห่าง มีช้อนกลางบริการ และอื่นๆ  ตามที่กำหนด ซึ่งเทศบาลจะได้ออกตรวจติดตามอย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นการป้องกัน และเกิดความปลอดภัยทั้งต่อผู้ขายและผู้ซื้อในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ขณะนี้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"