เยียวยา5พันวุ่นไม่เลิก!


เพิ่มเพื่อน    

 

“บิ๊กป้อม” สั่ง กกท.หาแผนเยียวยา “นักกีฬา-สมาคม” ส่วน 5 พันบาทยังวุ่นไม่เลิก สารพัดอาชีพแห่ร้องชวดเงิน คลังส่งเจ้าหน้าที่มารับเรื่องแต่ไม่แก้ไขให้เพราะกลัวแห่มาเต็มพื้นที่ “ธนกร” รุดแจงบอกขอให้ใจเย็นๆ ทุกคนที่มีสิทธิ์ได้เงินแน่
    เมื่อวันพุธที่ 29 เม.ย. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ครั้งที่ 5/2563 โดยภายหลังการประชุม พล.ต.พัชร์ชศักดิ์  ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบให้ กกท.เร่งพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การเยียวยานักกีฬา สมาคมกีฬา และบุคลากรทางกีฬาที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกและเลื่อนการแข่งขันกีฬา เพื่อความปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  ตามนโยบายของรัฐบาล
    "พล.อ.ประวิตรได้กำชับ กกท.ให้เร่งดำเนินการเยียวยานักกีฬาและเจ้าหน้าที่อย่างเร่งด่วนเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ พร้อมชื่นชมนักกีฬาที่มีความมุ่งมั่นในการฝึกซ้อมแม้อยู่ในการกักตัว และกล่าวขอบคุณนักกีฬาและเจ้าหน้าที่การกีฬาทุกคนที่พยายามช่วยกันรักษาชื่อเสียงของประเทศชาติด้านกีฬาอย่างต่อเนื่อง แม้อยู่ในภาวะวิกฤติขณะนี้ก็ตาม" พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ระบุ
    สำหรับความคืบหน้ามาตรการเยียวยา 5,000 บาทผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com โดยเฉพาะผู้ลงทะเบียนที่มีปัญหาและไม่ได้รับความสะดวกนั้น นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ขอให้เข้าไปตรวจสอบสถานะที่เว็บไซต์เราไม่ทิ้งกัน เพื่อจะได้ทราบสถานะว่าผ่านเกณฑ์และได้รับสิทธิ์หรือไม่ เนื่องจากขณะนี้ระบบได้นำข้อมูลผู้ที่ได้รับสิทธิ์จำนวน 10.6  ล้านคนเข้าในระบบเรียบร้อยแล้ว และจะอัพเดตจำนวนผู้ได้รับสิทธิ์เป็นระยะตามผลการคัดกรองกลุ่มทบทวนสิทธิ์ หรือกลุ่มขอข้อมูลเพิ่มเติมที่ผ่านเกณฑ์และได้รับสิทธิ์เพิ่มขึ้นทุกวัน
     “รายที่ได้รับสิทธิ์แต่มีปัญหาว่าเงินยังไม่เข้าบัญชีนั้น เป็นไปได้ว่าบัญชีถูกปิด ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากไม่มีการเคลื่อนไหวนานเกิน 1 ปี หรือบัญชีไม่ตรง ซึ่งเป็นได้ทั้งชื่อ นามสกุล เลขที่บัญชี หรือชื่อธนาคารไม่ตรงกับชื่อผู้ลงทะเบียน ซึ่งผู้ลงทะเบียนสามารถเข้ามาแก้ไขตรงปุ่มสีเหลือง เปลี่ยนแปลงข้อมูลการรับเงิน ระบบจะตรวจสอบว่าบัญชีถูกต้องแล้วหรือไม่ และพร้อมโอนเงินให้ในรอบถัดไป โดยกรณีนี้อยากแนะนำว่าให้ผู้ได้รับสิทธิ์ไปทำพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประชาชนจะหมดปัญหา และทำให้การโอนเงินสะดวก รวดเร็ว และถูกต้อง” นายลวรณกล่าว
    นายลวรณกล่าวต่อว่า ส่วนผู้ลงทะเบียนที่มีสถานะเป็นเกษตรกรและเป็นหัวหน้าครัวเรือนด้วยนั้น  ขอให้รับสิทธิ์เยียวยาผ่านมาตรการเยียวยาเกษตรกรครัวเรือนละ 15,000 บาท ส่วนสมาชิกในครัวเรือนที่ช่วยทำการเกษตรและประกอบอาชีพอิสระด้วย สามารถรับสิทธิ์ตามมาตรการเยียวยา 5,000 บาทได้  โดยหากรายใดเคยถูกตัดสิทธิ์เพราะว่าเป็นเกษตรกร สามารถขอให้ทบทวนสิทธิ์ได้ที่ปุ่มสีม่วงยื่นทบทวนสิทธิ์ ส่วนผู้ที่ยกเลิกการลงทะเบียนด้วยความเข้าใจผิด สามารถขอรับสิทธิ์คืนอีกครั้งได้โดยใช้ปุ่มสีม่วงเช่นกันตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 
    “ขณะนี้ยังมีผู้ลงทะเบียนในกลุ่มที่ได้รับเอสเอ็มเอสขอข้อมูลเพิ่มเติมอีก 9 แสนคนยังไม่ได้มาให้ข้อมูลเพิ่มเติม ขอความกรุณามาให้ข้อมูลโดยด่วนเพื่อประโยชน์ของผู้ลงทะเบียนในการได้รับเงินเยียวยาด้วยความรวดเร็ว”
    วันเดียวกัน ตั้งแต่เวลา 08.00 น.ที่บริเวณประตู 4 ของกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นประตูเดียวที่เปิดให้เข้าออกได้ พบว่ายังมีผู้ที่ไม่ได้รับเงิน 5,000 บาทเดินทางมาร้องเรียนอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปภายในบริเวณกระทรวง และจนถึงเวลา 10.00 น.เศษก็ยังไม่มีเจ้าหน้าที่มาให้คำปรึกษาแต่อย่างใด
    นางช่อ จันปาน อายุ 50 ปี จากหาดใหญ่ จ.สงขลา กล่าวว่า ตนขายหอมกระเทียมที่ตลาดมักกะสัน เป็นร้านปูกับพื้น ลงทะเบียนรับเงิน 5,000 บาทแต่ไม่ได้ ทั้งที่ยื่นทบทวนสิทธิ์แล้วก็ยังไม่ได้  ทำให้รู้สึกน้อยใจอย่างมาก เพราะแม่ค้าที่อยู่ในตลาดเดียวกันหลายคนไม่ได้ลำบากจริงแต่กลับได้รับเงินกันหมด เช่นแม่ค้าคนหนึ่งมีสามีทำงานอยู่การรถไฟฯ หรือแม่ค้าขายหมูมีสามีทำงานอยู่อู่ซ่อมรถไฟ  หรือแม่ขายผักอีกรายหนึ่งทั้งตัวเองและสามีใส่ทองกว่า 20 บาท มีรถขับอีก 2 คัน แต่ลงทะเบียนได้รับเงิน 5,000 บาททั้งสองคน
    "ป้ารู้สึกน้อยใจ ป้ามาเรียกร้องขอความยุติธรรม มันเหลือเกินจริงๆ เวลาเลือกตั้งยกมือไหว้เราตลอด แต่เวลาเดือดร้อนไม่เห็นใครเลย ป่านนี้ยังไม่มีใครออกมาเลย เจ้าหน้าที่พิทักษ์สิทธิ์อยู่ไหนหมด” นางช่อกล่าว
    น.ส.พานทิพย์ แสงแก้ว อายุ 38 ปี อาชีพขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ระบุว่า มีปัญหาตรวจสอบสถานะไม่ได้ ระบบลงทะเบียนแจ้งว่าระบบได้รับข้อมูลการลงทะเบียนของท่านเรียบร้อยแล้ว โปรดรอการแจ้งยืนยันผลทางไปรษณีย์ หลังตรวจสอบข้อมูลเสร็จสิ้น และเมื่อยื่นทบทวนสิทธิ์ไปก็ไม่ได้รับการตอบกลับมาเลย ตอนนี้เดือดร้อนมากมอเตอร์ไซค์จะถูกลีสซิงยึดแล้ว
พาเหรดร้องเรียน 5 พัน
    นายไมตรี กฤตยาวุฒิ อายุ 81 ปี อาชีพขายสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวว่า มีอาชีพขายสลากและมีใบอนุญาตขายถูกต้อง แต่ลงทะเบียนไม่เป็นจึงให้เพื่อนช่วยลงให้ ปรากฏว่าลงไม่ผ่าน ไม่มีชื่ออยู่ในระบบ ส่วนเพื่อนคนอื่นได้หมดทุกคน สลากที่รับมาขายไม่ได้เลย ตอนนี้ถ้าใครอยากซื้อก็จะขายทั้งเล่ม  100 ใบ มีอยู่ 3 เล่ม
    นายกิ้มจั้ว แซ่ตั้ง อายุ 76 ปี เผยว่า ขายของอยู่ตลาดปากเกร็ด ลงทะเบียนไม่เป็นเลยจ้างวินมอเตอร์ไซค์ลงทะเบียนให้ในราคา 1,000 บาท และระบบแจ้งขอข้อมูลเพิ่มเติมซึ่งก็ทำไม่เป็นอีก และยังไม่สามารถกดเข้าระบบได้ ยืนยันว่าได้รับความเดือดร้อน แต่รัฐบาลไม่ดูแล อาจมาผูกคอตายที่หน้ากระทรวงการคลัง
    นายทองสุข ผู้ขับแท็กซี่รายหนึ่ง ระบุว่า มาร้องเรียนเพราะเดือดร้อนอย่างมาก เนื่องจากลงทะเบียนไปแล้วเกิดความเข้าใจผิด ระบบขอข้อมูลเพิ่มเติม ก็เลยคิดว่าต้องไปยกเลิกก่อน แล้วคิดว่ากรอกข้อมูลเพิ่มเติมได้ สรุปตอนนี้ทำอะไรไม่ได้เลย ตอนนี้เดือดร้อนมาก ไม่มีรายได้ ค้างค่าเช่าบ้านค้างเจ้าของก็จะให้ออก เจ้าของอู่แท็กซี่ก็ไม่ให้รถมาขับแล้วเพราะไม่มีเงินจ่ายเขา
    รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังแจ้งว่า ก่อนหน้านี้นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ลงมาดูแลผู้เดินทางมาอย่างดี แต่วันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมากลับไม่มีเจ้าหน้าที่เลย จนเมื่อ 10.30 น.จึงมีเจ้าหน้าที่เดินทางมารับเรื่อง ถ่ายรูปบัตรประชาชน แต่ก็ทำอะไรไม่ได้มาก เนื่องจากปลัดกระทรวงการคลังมีคำสั่งไม่ให้เจ้าหน้าที่รับรายละเอียดหรือช่วยเหลือลงทะเบียน เพราะต้องการให้ผู้ขอสิทธิ์กลับไปทำเอง เพราะหากดำเนินการให้ก็จะเป็นตัวอย่างให้คนเดินทางมาตลอดเวลา 
     ขณะเดียวกันในเวลา 10.30 น.ที่ประตู 4 นายสมศักดิ์ ศรีเพ็ชร หรือเค เยาวราช ได้นำข้าวสารถุงละ 5 กิโลกรัม และไข่ไก่กว่า 100 ถาดมาแจกให้ผู้ที่เดินทางมาร้องเรียนที่กระทรวงการคลัง จนเกิดความวุ่นวายและเจ้าหน้าที่ต้องเข้าไปห้าม เพราะอาจขัดต่อมาตรการป้องกันโรคระบาดโควิด-19
      และในเวลา 13.00 น. ผู้เรียกร้องสิทธิ์รับเงินเยียวยา 5,000 บาทยังเดินทางมาอย่างต่อเนื่อง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลังจึงส่งเจ้าหน้าที่ 1 รายมายืนสอบถามข้อมูลผู้ไม่ได้รับสิทธิ์หลายสิบคนที่เข้าแถวอย่างสงบแบบรักษาระยะห่าง โดยเบื้องต้นเป็นการถามปัญหาการลงทะเบียนว่าติดขัดขั้นตอนไหน  มีอาชีพที่ควรได้รับสิทธิ์ถูกต้องหรือไม่ พร้อมกับเก็บข้อมูลบัตรประชาชนรวมถึงที่อยู่ และในบางรายที่มีปัญหาเข้าระบบไม่เป็น เจ้าหน้าที่ก็ได้ช่วยเข้าระบบให้ และแจ้งสถานะคำแนะนำให้ผู้ที่มาเรียกร้อง 
    ต่อมาเวลา 14.15 น. นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ลงมาที่ประตู 4 และได้ชี้แจงกับผู้ที่เดินทางมาว่า ยืนยันว่าทั้ง 16 ล้านคนที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ  กระทรวงการคลังจะดูแลทั้งหมด และคาดว่าในสัปดาห์หน้าจะจ่ายเงินได้ 12 ล้านคน ซึ่งนายอุตตมได้สั่งการให้ดูแลผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างเต็มที่ ตอนนี้กำลังเร่งดำเนินการจ่ายเงินอยู่ ขอให้พี่น้องประชาชนใจเย็นๆ 
      “กระทรวงการคลังเข้าใจว่าพี่น้องประชาชนต้องการสอบถาม ก็จะจัดเจ้าหน้าที่มาดูแลเพิ่ม ส่วนจะมีการเพิ่มโต๊ะรับเรื่องจัดสถานที่เหมาะสมไหม กำลังพิจารณาอยู่ ซึ่งน่าจะต้องเพิ่มเจ้าหน้าที่และอำนวยความสะดวกให้ดีกว่านี้” นายธนกรกล่าวและว่า ถ้าลงทะเบียนผ่านเกณฑ์ก็จะได้รับเงินแน่นอน  ส่วนคนที่อยู่ระหว่างการทบทวนขอข้อมูลเพิ่มเติม ก็ส่งทีมผู้พิทักษ์สิทธิ์ไปจำนวนมาก โดยพบว่าในต่างจังหวัดไม่มีปัญหาเลย เพราะผู้ลงทะเบียนได้เตรียมเอกสารพร้อม ตอนนี้ทีมผู้พิทักษ์สิทธิ์มีอยู่ราว 23,000 คน ที่ได้รับรายงานคือไม่มีปัญหาอะไรเลย
    นายธนกรกล่าวตอบคำถามที่ว่าจะมีคนมากินยาฆ่าตัวตายและนอนขวางประตูอีกหรือไม่ ว่าขอความร่วมมืออย่าทำเพราะไม่มีประโยชน์ เนื่องจากทุกคนได้รับความเดือดร้อนหมด รัฐบาลตั้งใจจริงที่จะช่วยดูแล และเจ้าหน้าที่ทุกคนก็พยายามทำงานอย่างหนัก การเยียวยาต่างๆ ไม่ได้จบแค่นี้ รัฐบาลจะเยียวยากลุ่มอื่นๆ ต่อไปอีก เข้าใจว่าบางครั้งประชาชนอาจจะสับสนกับการขอข้อมูลผ่านเว็บไซต์ ซึ่งรัฐบาลก็พยายามทำความเข้าใจมากที่สุด เช่นกรณีป้าที่มาทานยาก็ได้รับเงินไปแล้ว
     “วันนี้ได้มีการปรับการทำงาน รมว.การคลังขอเร่งให้ชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจว่า ขั้นตอนตรวจสิทธิ์แต่ละคนไปถึงไหนแล้ว ขอให้ทุกคนใจเย็นๆ อีกไม่นานทุกคนจะได้รับเงินหมด” นายธนกรกล่าว
พร้อมดูแลแรงงานไทยใน ตปท.
    ด้าน ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน กล่าวว่า ได้สั่งการและกำชับให้ทูตแรงงานทั้ง 11 แห่ง ได้แก่ สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน (ไทเปและเกาสง) สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอิสราเอล ซึ่งปัจจุบันมีแรงงานไทยที่ทำงานถูกกฎหมายอยู่ประมาณ  205,522 คน ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือคนงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 จากมาตรการของประเทศต่างๆ อย่างเต็มที่
    “แรงงานไทยคนใดที่ประสบปัญหาและต้องการขอความช่วยเหลือสามารถติดต่อกับสำนักงานแรงงานไทยในต่างประเทศ (สนร.) ได้ทั้ง 11 แห่ง หากญาติหรือครอบครัวของแรงงานที่อยู่ในไทยได้รับการประสานขอความช่วยเหลือ ขอให้แจ้งไปที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 5 หรือติดต่อสำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน โทรศัพท์ 0-2232-1242 หรือสำนักงานแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อจะได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือต่อไป” ม.ร.ว.จัตุมงคลกล่าว
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายอย่างรุนแรงเกี่ยวกับความสับสนซับซ้อนในระบบข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน ทั้งที่รัฐบาลในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ทุ่มงบประมาณในเรื่องการจัดระบบข้อมูลอย่างมาก ทำให้เมื่อวันที่ 23 เม.ย. นายปัญญาพล ศรีแสงแก้ว รองเลขาธิการ ครม. ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการ ครม. ได้ส่งหนังสือประทับตราด่วนที่สุดถึงรัฐมนตรี  9 กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรื่องจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ (บิ๊กดาตา) เพื่อใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยให้บูรณาการข้อมูลให้ครอบคลุมในทุกมิติและเป็นปัจจุบัน อย่างน้อยต้องมีข้อมูลพื้นฐานของประชาชนรายบุคคล ข้อมูลการประกอบอาชีพ ข้อมูลด้านสาธารณสุขและการรักษาพยาบาล  ข้อมูลการได้รับความช่วยเหลือเยียวยาสวัสดิการจากรัฐ ข้อมูลการชำระภาษีและข้อมูลด้านอื่นๆ ที่จำเป็น เพื่อให้สามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง และให้กระทรวงมหาดไทยรายงานความคืบหน้าให้นายกฯ ทราบโดยด่วน.


 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"