ชีวิตประชาชน หลังรัฐบาลคลายล็อกมาตรการ


เพิ่มเพื่อน    

 

          แม้วันที่ 30 เม.ย. จะเป็นวันสุดท้ายของการใช้ พ.ร.ก.การบริหารงานในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ครม.ได้ต่ออายุ พ.ร.ก.ดังกล่าวไปอีก 1 เดือน เพื่อหวังลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงให้ต่ำที่สุด โดยหากนำข้อมูลของสถานการณ์โควิด-19 ของประเทศไทยจนถึงปัจจุบันมาวิเคราะห์ ก็คงจะกล่าวได้ว่าเริ่มดีขึ้นพอสมควร ถึงแม้สถานการณ์จะดีขึ้นแล้ว แต่ท่ามกลางการระบาดอย่างหนักในอีกหลายประเทศทั่วโลก หลายคนเกิดคำถามว่า หลังจากที่เริ่มผ่อนคลายมาตรการต่างๆ จะเป็นอย่างไร ทุกอย่างจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมหรือไม่

                สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้ ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดในขณะนี้ก็คือ พฤติกรรมคนไทยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน สำหรับหลายคนที่ต้องออกจากบ้าน ไม่ว่าจะเพื่อทำงาน จับจ่ายใช้สอย หรือทำธุรกรรมต่างๆ แทบทุกคนใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา หลายคนพ่นสเปรย์แอลกอฮอล์ที่มือทุกครั้ง ไม่ว่าจะสัมผัสอะไรก็ตามหลายคนล้างมือให้มากครั้งเท่าที่จะทำได้ ตามสถานที่ต่างๆ ทั้งร้านสะดวกซื้อ ธนาคาร อาคารสำนักงาน ฯลฯ มีเจลแอลกอฮอล์วางให้บริการ และมีบริการวัดอุณหภูมิก่อนเข้าใช้สถานที่ทุกครั้ง พฤติกรรมเหล่านี้แม้จะดูมากเกินไป แต่หากมองในอีกมุมหนึ่ง กลับกลายเป็นเกราะคุ้มกันชั้นดี ที่ช่วยลดการระบาดของโรคให้น้อยลง และมีแนวโน้มว่าพฤติกรรมเหล่านี้จะยังคงอยู่ไปอีกสักพัก แม้จะเข้าสู่การผ่อนปรนแล้วก็ตาม

                แน่นอนว่าทางฝ่ายภาครัฐเองก็มีความกังวลไม่น้อย การผ่อนปรนอย่างสมบูรณ์ทุกอย่าง จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย หนทางที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด ก็คือการค่อยๆ เปิดบางกิจการที่มีความเสี่ยงต่ำจากน้อยไปหามาก ในขณะที่หลายกิจการยังคงปิดอยู่ แต่ก็มีบางส่วนที่อาจจะมีการผ่อนปรนให้เปิดได้คือ ร้านอาหาร ร้านตัดผม ร้านเสริมสวย สถานที่เหล่านี้มีแนวโน้มที่จะได้เปิดก่อน โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะมีการประเมินทุก 2 สัปดาห์

                แต่ถึงแม้จะเปิดได้ก็ต้องมีมาตรการชัดเจนในการเพิ่มระยะห่างระหว่างบุคคล ร้านอาหาร ถึงแม้จะเปิดให้นั่งกินในร้านได้ แต่จะมีระยะห่างระหว่างโต๊ะมากขึ้น ส่วนร้านอาหารแบบบุฟเฟต์ อาจยังไม่มีการเปิดให้บริการอย่างสมบูรณ์ หรืออาจเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการเป็นอาหารจานเดียวชั่วคราว เช่นเดียวกับร้านตัดผม ร้านเสริมสวย จะมีระยะห่างระหว่างที่นั่งลูกค้ามากขึ้น อาจเป็นไปได้ว่า ทั้งช่างตัดผมและลูกค้า จะสวมหน้ากากกันตลอดเวลา สถานที่ออกกำลังกายทั้งกลางแจ้งและในร่ม หากเปิดบริการ จำเป็นที่จะต้องมีระยะห่างระหว่างอุปกรณ์การเล่นมากขึ้น คลาสกิจกรรมออกกำลังกายต่างๆ น่าจะมีแนวโน้มว่าจะยังถูกยกเลิกอย่างไม่มีกำหนด แต่ทั้งนี้ทุกกิจกรรมที่มีการผ่อนปรนสิ่งสำคัญที่แพทย์ต่างแนะนำคือ เมื่อถึงเวลาแล้วจะต้องเปิดหน้าต่างให้อากาศได้ถ่ายเทตลอดเวลา เพื่อให้เชื้อไม่ฟุ้งอยู่ในห้องแอร์ตลอดเวลา

                ในส่วนกิจการที่มีการรวมกลุ่มของผู้คนเป็นจำนวนมาก เป็นระยะเวลานานหลายชั่วโมง เช่น โรงภาพยนตร์ สนามแข่งขันกีฬาทุกชนิด ทั้งสนามมวย สนามแข่งรถ สถานบันเทิง และกิจกรรมที่มีการรวมผู้คนทุกชนิด ทั้งงานอีเวนต์ คอนเสิร์ต งานสัมมนา และการจัดงานรื่นเริงต่างๆ ทั้งงานแต่งงาน งานฉลอง งานประชุมของบริษัท กิจการเหล่านี้จะยังไม่เปิดให้บริการทันทีในช่วง พ.ค. อาจต้องรอดูสถานการณ์เพิ่มเติมจนกว่าจะไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม เพราะสถานที่ดังกล่าวจัดว่าเป็นสถานที่ที่พบการแพร่ระบาดของโรคในช่วงแรกๆ ทั้งสนามมวยและสถานบันเทิง

                อีกจุดเสี่ยงหนึ่งคือขนส่งมวลชนสาธารณะ รถไฟฟ้า รถเมล์ เรือโดยสาร รถตู้ จำเป็นที่จะต้องมีการเว้นระยะระหว่างผู้โดยสาร นั่นหมายความว่า ขนส่งมวลชนเหล่านี้จะไม่สามารถบรรจุผู้คนได้เท่าเดิม และด้วยเหตุนี้ ผู้ประกอบการเอกชน โดยเฉพาะวินรถตู้หลายรายอาจเลือกที่จะยังไม่เปิดบริการ เนื่องจากไม่คุ้มกับต้นทุน เมื่อระบบขนส่งมวลชนรองรับเส้นทางได้น้อยลง ออฟฟิศเอกชนหลายแห่งจะยังไม่มีพนักงานกลับมาทำงานทั้งหมด พนักงานบางส่วนยังคงทำงานที่บ้าน หรืออาจมีการผลัดเปลี่ยนเดินทางเข้าออฟฟิศเป็นครั้งคราว

                ทั้งนี้ กิจการที่น่าเป็นห่วงคือ กิจการที่รองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น โรงแรม บริษัททัวร์ และร้านค้าที่มีลูกค้าหลักเป็นชาวต่างชาติ หลายประเทศทั่วโลกยังคงมีการระบาดอย่างหนัก การเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างสมบูรณ์ ก็เท่ากับเปิดประตูต้อนรับเชื้อเข้ามาอีกครั้ง จึงคาดว่ายังคงดำเนินปิดไม่ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา อย่างน้อยก็จนกว่าสถานการณ์ทั่วโลกจะคลี่คลายมากขึ้น แม้จะมีกระแสข่าวว่านักท่องเที่ยวจีนเตรียมพร้อมจะเข้ามาเที่ยวอีกครั้ง 

                แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ ประเทศเพื่อนบ้านที่มีแรงงานทำงานในประเทศไทยจำนวนมาก เช่น เมียนมา ลาว และกัมพูชา

                ขณะนี้ประเทศเหล่านี้เริ่มมีการระบาดของโควิด-19 แล้วการกลับเข้ามาของแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะในภาคบริการ จำเป็นจะต้องมีการคัดกรองอย่างรัดกุม หรือมีมาตรการในการกักตัวแรงงาน โดยขนาดนี้พบว่ามีผู้ติดเชื้อที่เป็นแรงงานต่าวด้าวในสถานกักแรงงานต่างด้าวที่ จ.สงขลา  เป็นจำนวนมาก

                ดังนั้น ต้องใช้เวลาสักพักใหญ่กว่าที่จะสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ตราบใดที่ทั่วโลกยังคงมีการระบาดอย่างหนัก โดยขณะนี้มีผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกทะลุ 3 ล้านคนแล้ว แค่ใช้เวลา 1 ปี กว่าจะกลับมาเหมือนปกติคงเป็นไปไม่ได้เลย สำหรับคนส่วนใหญ่ การปฏิบัติแนวทางเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัด ทั้งการใส่หน้ากาก และล้างมือบ่อยครั้ง จึงเป็นพฤติกรรมสำคัญที่ยังคงต้องปฏิบัติต่อไปเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อจนกว่าการพัฒนาวัคซีนได้สำเร็จ

                ทั้งนี้ สิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือหลังจากที่มีการผ่อนปรน คือแล้วจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นหรือไม่ ประชาชนจะมีการผ่อนปรนมาตรการป้องกันหรือไม่ จึงไม่อยากให้ประเทศไทยเป็นเหมือนสิงคโปร์หรือญี่ปุ่นที่มีผู้ป่วยน้อยลง จึงมีการผ่อนปรน มาตรการต่อมาพบว่ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด จากการที่ประชาชนไม่ดูแลตัวเองมากพอ.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"