บทเรียนจากหวัดระบาดใหญ่ Spanish Flu ปี 1918


เพิ่มเพื่อน    

 

        เมื่อไม่มีใครสามารถทำนายได้ว่า Covid-19 จะจบลงเมื่อไหร่ และจะต้องมีคนเสียชีวิตอีกกี่คน ผู้คนก็ย่อมย้อนกลับไปถามหา “บทเรียน” จากการระบาดของหวัด Spanish Flu ปี 1981 ซึ่งเกิดเมื่อ 102 ปีมาแล้ว

                การรวบรวมและวิเคราะห์สถิติสมัยนั้นไม่ละเอียดลออเหมือนทุกวันนี้ แต่เมื่อเกิดขึ้นช่วงใกล้ๆ กับสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็มีปัจจัยสลับซับซ้อนมากมายหลายประการอยู่

                ในกรณีของ “หวัดสเปน” นั้นมีทั้งหมด 3 คลื่นด้วยกัน

                ดังนั้นบทเรียนที่หนึ่งคือ การระบาดของโรคเช่นนี้จะไม่ได้มีเพียงคลื่นเดียว

                หากไม่มีมาตรการที่มีประสิทธิภาพก็สามารถมีคลื่นที่ 2-3-4 ได้

                นี่เป็นที่มาของคำเตือนของคณะแพทย์ไทยครั้งแล้งครั้งเล่าให้ระวังการ “หวนกลับ” ของโควิด-19 หากไม่ระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง

                จีนกำลังเผชิญกับการเกิดของคลื่นลูกที่สอง ในจังหวัดทางตะวันออกเฉียงเหนือที่สงสัยว่ามาจากเพื่อนบ้านรัสเซีย และจากคนจีนที่กลับจากนิวยอร์ก มาแพร่ต่อให้คนจีนที่เมืองฮาร์บิน ของมณฑลเฮยหลงเจียง

                ญี่ปุ่นก็เผชิญกับ “คลื่นที่สอง” ที่ฮอกไกโดทางเหนือติดกับรัสเซียเช่นกัน

                จากที่เดิมสั่งปิดเมืองหลวงโตเกียวและอีก 6 เมือง กลายมาเป็นต้องล็อกดาวน์ทั้งประเทศเมื่อเชื้อตัวนี้กลับมาแพร่กระจายอีกครั้งหนึ่ง

                สิงคโปร์เจอ “คลื่นที่สอง” ในรูปของคนงานต่างด้าวตามหอพักที่ในตอนแรกไม่ได้อยู่ในเป้าของการเฝ้าระวัง

                บทเรียนที่สองจาก 1918 คือผู้เชี่ยวชาญตอนนั้นไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันเป็นไวรัส

                รู้แต่เพียงว่าโรคนี้ติดต่อจากคนสื่อคนผ่านละอองฝอยจากทางลมหายใจ เช่น ไอและจาม

                นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ในขณะนั้นไม่มีไมโครสโคปทันสมัยพอที่จะศึกษาวิจัยไวรัส

                ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีการตรวจหาคนติดเชื้ออย่างที่ทำกันวันนี้

                หวัดสเปนขณะนั้นติดได้ง่ายกว่าและรุนแรงกว่าโควิดวันนี้ และสามารถคร่าชีวิตคนได้ง่ายกว่า     

                ที่ต่างกันอีกเรื่องหนึ่งคือ โควิดพุ่งเป้าไปที่คนอายุมาก ขณะที่หวัดสเปนฆ่าคนอายุน้อยมากกว่า

                บทเรียนที่สามคือ การระบาดของหวัดทั้งสองประเภทมีความเหมือนกันตรงที่ไม่มีวัคซีน และไม่มียารักษา

                ที่น่ากลัวเหมือนกันทั้งเมื่อปี 1918 และ 2020 คือหากไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ ระบบสาธารณสุขจะเอาไม่อยู่

                นั่นแปลว่าเตียงคนไข้, บุคลากรทางการแพทย์, อุปกรณ์และงบประมาณจะไม่เพียงพอที่จะต้านการกระจายพิษร้ายของหวัดนี้ได้หากไม่จัดการตั้งแต่ต้น

                บทเรียนที่สี่ที่เหมือนกันมากๆ คือ

                มาตรการที่มีผลที่สุดในการยับยั้งการแพร่ของโรคทั้งครั้งนั้นและครั้งนี้คือ “การรักษาระยะห่าง” ระหว่างคน

                หรือที่เรารู้จักมักคุ้นตั้งแต่เกิดโควิดว่า social distancing หรือ physical distancing

                สมัยนั้นฝรั่งเรียกว่า “crowding control” หรือการควบคุมการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก

                หรือที่ผมเรียก “การป้องกันไทยมุง”

                ที่มาเลเซียเรียกว่า Movement Control Order (MCO) หรือ “คำสั่งควบคุมการเคลื่อนไหว” ของประชาชน

                ผู้เชี่ยวชาญที่ทำการวิจัยเรื่องนี้บอกว่า หลักฐานทุกอย่างพิสูจน์แล้วว่าวิธีการป้องกันการแพร่เชื้อที่ได้ผลที่สุดคือ การแยกคนที่อยู่ในข่ายเสี่ยงออกจากกันและกันให้มากที่สุด

                เขาเรียกมันเป็นวิธีป้องกันและรักษาที่ไม่ใช้ยา (Non-Pharmaceutical Intervention หรือ NPI) อย่างได้ผลที่สุด

                คนที่ศึกษารายละเอียดของการระบาดปี 1918 ยืนยันว่านั่นคือบทเรียนที่ล้ำค่าที่สุดของประสบการณ์การสู้กับการระบาดของโรคทางเดินหายใจและปอด

                ที่ไม่ต่างกันคือ ความตึงเครียดระหว่าง “ความจริงแห่งชีวภาพ” และ “ความจริงแห่งเศรษฐกิจ”

                พูดง่ายๆ คือความขัดแย้งระหว่างคนที่ต้องการจะจัดการไวรัสให้อยู่หมัดเสียก่อนจึงจะพิจารณาด้านปากท้องของประชาชน

                แต่อีกด้านหนึ่งคือ ความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่ถูกโรคระบาดกระทบอย่างแรง ไม่ต้องการให้ความเคร่งครัดของมาตรการต่างๆ มาทำให้เกิดความเจ็บปวดทางด้านเศรษฐกิจ

                สัจธรรมที่ค้นพบในการทำสงครามกับไวรัสตัวนี้คือ

                ความจริงแห่งโรคนั้นเปลี่ยนไม่ได้

                แต่พฤติกรรมทางสังคมของมนุษย์ปรับได้

                ความกลัว, ความตระหนก, ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจและผลประโยชน์ของกลุ่มล้วนเป็นปัจจัยที่มีส่วนในกระบวนการทำสงครามกับโรคระบาด

                คนจำนวนมากกระโดดขึ้นรถไฟขบวนการทำสงครามช้าไป และกระโดดลงเร็วเกินไป

                นั่นคือสาเหตุที่คนเสียชีวิตเป็นจำนวนมากก่อนที่จะสามารถเข้าสู่โหมดของการทำศึกอย่างจริงจัง

                อะไรที่เกิดเมื่อ 102 ปีก่อนก็กำลังเกิดขึ้นในปีนี้เช่นกัน

                บ่อยครั้งมนุษย์อาจจะอ่านประวัติศาสตร์เล่มเดียวกัน แต่สรุปบทเรียนต่างกันได้เช่นกัน!. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"