เบิกฤกษ์ปี 2018 แนะเคล็ดลับ พ่อแม่ยุคใหม่สอนอะไรลูกได้บ้าง


เพิ่มเพื่อน    


เมื่อเทศกาลปีใหม่เวียนมาถึง ถือเป็นสัญญาณเริ่มต้นใหม่ของใครหลายๆคน ในการเปิดรับกับสิ่งต่าง ๆ ที่จะเข้ามาในชีวิต บางคนถือโอกาสบอกลาสิ่งไม่ดีในปีเก่า และบางคนใช้ปีใหม่นี้ในการเปลี่ยนแปลงนิสัยและพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่างของตัวเอง หรือการเริ่มต้นทำในสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่เคยทำ  แต่สำหรับคนเป็นพ่อแม่ในช่วงเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลอง ควรจะถือโอกาสนี้มามอบของขวัญสุด ล้ำค่าให้กับลูกหลานด้วยการสอนลูกให้เป็นคนดี รับปีใหม่ 2018 เพื่อทบทวนบทบาทของพ่อแม่ และลูกๆ ไปด้วยกัน ส่วนจะสอนอะไรเจ้าตัวเล็กของเราได้บ้าง มาลองดูคำแนะนำจากคุณหมอกันเลย

นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรม การแพทย์ ได้พูดถึงการสอนลูกเรื่องการให้โดยใช้โอกาสเทศกาลไว้ว่า “การมอบของขวัญในเทศกาลปีใหม่ เรียกได้ว่าเป็นของคู่กัน แต่กระนั้นเด็กๆ มักเป็นฝ่ายได้รับตลอดเวลา จนเด็กๆ ทั้งหลายอาจลืมตระหนักว่านอกจากการรอคอยที่จะได้รับของขวัญนั้น พวกเขาก็สามารถที่จะเป็นผู้ให้ได้เช่นกัน พ่อแม่ผู้ปกครองอาจใช้โอกาสนี้ สอนให้ลูกรู้ถึงคุณค่าที่แท้จริงของ “การให้,แบ่งปัน” ที่ความตั้งใจจริง มีความสำคัญมากกว่ามูลค่าของสิ่งของ” นพ.สมเกียรติ เผย

โดยการแบ่งปันที่แท้จริง หมายถึงการรู้จักเห็นอกเห็นใจ และมองสถานการณ์อย่างเอาใจเขามา ใส่ใจเรา ซึ่งเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบมักจะทำได้ยากมาก เพราะสมองเขายังไม่สามารถพัฒนาไปถึงขั้นนั้น แต่ระหว่างนั้น พวกเขาแบ่งปันเพราะแม่สั่ง เพราะแม่ให้เงื่อนไขกับเขาเพื่อให้เขาแบ่งปัน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องไม่คาดหวังให้เด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ขวบหรือ 2 ขวบครึ่งจะยอมแชร์ของง่ายๆ ทั้งนี้ผู้ปกครองอยากสอนให้ลูกรู้จักให้ รู้จักแบ่งปัน ก็ต้องทำให้ลูกดูด้วย ถ้าแม่แบ่ง ลูกก็แบ่ง เช่น เวลาที่มีใครมาขอแบ่งอะไร แม่ก็ชี้ให้ดู ว่านี้ไง แม่แบ่งหนังสือทำอาหารของแม่ให้เพื่อนแม่ยืมด้วยนะ ต้องทำให้ลูกเห็น และแบ่งอะไรให้ลูกบ้าง เช่น เอานี่ไหมลูก ,มานั่งด้วยกันแม่เหลือที่ไว้ให้หนูด้วย เป็นต้น  

เด็กจะให้ก็ต่อเมื่อเขาเคยเป็นผู้ถูกให้มากก่อน มักจะสังเกตได้ว่า เด็กที่ได้รับความรักและใช้เวลาร่วมกับพ่อแม่เยอะๆ ในช่วง 2 ขวบแรก จะกลายเป็นเด็กที่รู้จักแบ่งปันในภายหลัง ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ เพราะเด็กที่เคยเห็นการให้และได้รับการให้อย่างมีเมตตา มักจะซึมซับและทำตามอย่างที่เขาเคยได้รับความเมตตามา และเหตุผลที่สอง คือ เด็กที่อยู่กับพ่อแม่ตลอดมักจะเป็นเด็กที่มีความรู้สึกมั่นคง มักจะต้องการสิ่งของน้อยกว่า เพื่อที่จะทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองมีค่า หรือปลอดภัย

  ด้าน ผ.ศ.พญ.ปราณี เมืองน้อย จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ มหาราชินี กล่าวเพิ่มเติมถึง เทคนิคง่ายๆ ไว้เป็นแนวทางให้ผู้ปกครองนำมาปรับใช้อย่างลองให้เด็กๆ ช่วยกันคิดว่าจะทำอะไรสักอย่างโดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงมูลค่าของสิ่งของก็ได้ ตัวอย่างเช่น ให้ลูกหลานช่วยคุณตารดน้ำต้นไม้ทุกเย็นเป็นเวลา 1 สัปดาห์ หรือ ประดิษฐ์สมุดโน้ตทำมือเล่มเล็กให้คุณย่าไว้ใช้ จดรายการเวลาไปตลาด ซึ่งกิจกรรมง่ายๆ เหล่านี้ ไม่เพียงสอนให้ลูกรู้จักการเป็นผู้ให้และเข้าใจความหมายของการให้อย่างแท้จริง แต่ยังฝึกกระบวนการคิดวิเคราะห์ของเด็กๆ ด้วย

“ชวนลูกรักทบทวนตัวเอง” ในสังคมยุค 4G ที่อะไรๆ ก็รวดเร็วไปหมด บ่อยครั้งเราก็อาจหลงลืมที่จะหยุดคิดพิจารณาสิ่งที่ตัวเองได้ทำลงไปในแต่ละวัน เมื่อสิ้นปีมาถึงก็น่าจะเป็นโอกาสอันดี ที่จะลองชวนเด็กๆ มาทบทวนเหตุการณ์ในปีที่ผ่านมา ซึ่งคุณหมอจากโรงพยาบาลเด็กแนะนำว่า สำหรับเด็กโตที่เขียนหนังสือได้แล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจทำแบบสอบถามสนุกๆ มีคำถามให้ลูกได้ฝึกคิด เช่น เหตุการณ์ที่ลูกมีความสุขที่สุด และเหตุการณ์ที่ลูกเศร้าที่สุดในปีที่ผ่านมาคืออะไร ในปีใหม่ที่จะมาถึงลูกอยากพัฒนาตนเองเรื่องใดบ้าง เมื่อได้คำตอบแล้ว ลองนั่งคุยกับลูก เล่าเรื่องราวในปีที่ผ่านมาของคุณบ้าง ก็อาจทำให้เข้าใจกันมากขึ้น สำหรับเด็กเล็กที่ยังเขียนหนังสือไม่ได้ อาจใช้วิธีพูดคุยด้วยคำถามง่ายๆ แทน วิธีนี้ทุกคนจะได้มีเวลาหยุดนิ่งๆ ทบทวนตัวเอง อีกทั้งยังฝึกทักษะการคิดและพัฒนาการสื่อสารของลูกคุณด้วย

“ตั้งเป้าหมายทำให้สำเร็จ” ช่วงสิ้นปี หลายคนมักจะตั้งเป้าหมายต่างๆ ที่จะทำในปีใหม่ที่มาถึง หรือเรียกว่า New Year Resolutions ซึ่งการจะทำให้ได้ตามเป้าหมายตลอดทั้งปีที่จะมาถึงนั้นอาจไม่ใช่เรื่องง่าย เด็กๆ จำเป็นต้องมีความมุ่งมั่นและมีความสามารถในการควบคุมตนเองพอสมควร โดยพ่อแม่ควรช่วยลูกในการตั้งเป้าหมายวันปีใหม่ที่ทำได้จริงและเหมาะสมกับวัยของลูก ขณะเดียวกันคุณพ่อคุณแม่ ควรให้ความสำคัญเรื่องการปลูกฝัง EF หรือ Executive Function ซึ่งเป็นทักษะชีวิตที่สำคัญมากในโลก ยุคใหม่ แต่ก่อนเราอาจมุ่งเน้นที่ IQ EQ แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไปทักษะชีวิตของเด็กยุคนี้จึงต้องเปลี่ยนตาม

ในช่วงปีใหม่นี้จึงเป็นโอกาสดีที่พ่อแม่จะหันมาให้ความสำคัญกับ EF ซึ่งเป็นทักษะความสามารถระดับสูงของสมองในการควบคุมความคิด อารมณ์ และการกระทำ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนด ซึ่งการจะปลูกฝัง EF นั้นจำเป็นต้องทำตั้งแต่แรกเกิดอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เริ่มจากการที่ลูกมีความสัมพันธ์ที่ดีกับแม่ หรือผู้เลี้ยงดูคนใดคนหนึ่งอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความมั่นคงทางอารมณ์ เมื่อลูกโตขึ้นควรฝึกให้ลูกช่วยเหลือตัวเองได้ตามวัย ตามด้วยการรับผิดชอบงานบ้านที่เหมาะสม ทำให้เด็กมีทักษะในการจดจ่อ ในงาน รู้จักการวางแผน มีความคิดพลิกแพลงแก้ปัญหาตามสถานการณ์ได้ ความสำเร็จจากเป้าหมายเล็กๆ ในแต่ละวัน ถือเป็นการฝึก EF ให้เด็กๆ ได้เป็นอย่างดี เพราะเด็กจะได้เรียนรู้ที่จะควบคุมตนเองให้ทำงานให้สำเร็จ เมื่อทำได้ก็จะเกิดความภูมิใจในตนเอง สุดท้ายเด็กๆ จะสามารถตั้งเป้าหมายระยะยาว อย่าง New Year Resolutions แล้วทำให้สำเร็จได้ในที่สุด

นอกจากนี้ สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มทำ คือ “สอนให้ลูกเข้าใจความแตกต่างของสิ่งที่จำเป็นกับสิ่งที่อยากได้” โดยอาจนั่งลงถามความคิดเห็นลูกว่าคำสองคำนี้ลูกเข้าใจว่าอย่างไร อะไรคือสิ่งที่จำเป็น และอะไรคือสิ่งที่อยากได้ โดยการสอนลูกในเรื่องดังกล่าวควรทำตั้งแต่เนิ่นๆ เช่น เมื่อลูกโตเข้าสู่วัยเรียนหรือมีอายุ 7 ปีขึ้นก็ไปสามารถเข้าใจเหตุผลได้มากขึ้น อีกทั้งการชมเชยลูกเมื่อสามารถอดกลั้นต่อสิ่งที่อยากได้ เป็นวิธีการที่จะทำให้ลูกเกิดความภาคภูมิใจ และมีความมุ่งมั่นที่จะทำต่อไป                              

อีกทั้งควรเปลี่ยนจากการให้รางวัลลูกด้วยสิ่งของ มาเป็นการให้เวลากับลูกมากขึ้น ซึ่งในช่วงปีใหม่นี้คุณพ่อคุณแม่อาจถือโอกาสเปลี่ยนจากซื้อของให้ลูก เป็นการใช้เวลากับลูกโดยอาจพากันไปเที่ยวทั้งครอบครัว ซึ่งจะทำให้เด็กๆ เข้าใจว่า สิ่งที่มีค่าและทำให้มีความสุขในชีวิตนั้นไม่ใช่สิ่งที่ซื้อหาด้วยเงิน แต่เป็นการใช้เวลาร่วมกันอย่างมีความสุขในครอบครัวต่างหาก และเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการให้เวลากับลูก ฟังลูกให้มาก เพราะจะช่วยให้พ่อแม่เข้าใจความคิดของลูกมากขึ้น และเปิดโอกาสให้คุณได้สอดแทรกแง่คิด และการใช้ชีวิตอย่างเหมาะสมให้กับลูกได้ สิ่งสำคัญคือคุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกด้วย เพราะการเรียนรู้ของเด็กๆ มากกว่าครึ่งมาจากการเลียนแบบผู้ใหญ่ใกล้ตัวนั่นเอง

ขณะเดียวกัน ควรสอนให้ลูก “นึกถึงคนที่ด้อยโอกาสกว่า” พ่อแม่ ผู้ปกครองก็ควรฝึกให้ลูกได้คิดถึงคนที่ด้อยโอกาสกว่าด้วย บอกลูกว่าในขณะที่เรามีความสุข ฉลองปีใหม่ แต่ก็มีเด็กจำนวนไม่น้อย ที่เขาขาดโอกาสเหล่านี้ อาจจะชวนลูกไปทำทานที่บ้านเด็กกำพร้า เด็กพิการ หรือบ้านคนชรา ฯลฯ เพื่อให้เขาได้เรียนรู้เรื่องการแบ่งปัน การคิดถึงและเข้าอกเข้าใจเพื่อนมนุษย์ ให้เขาเห็นว่าเขายังโชคดีกว่าคนอื่นอีกมากมาย เพื่อที่เขาจะได้เห็นคุณค่าในตัวเอง และอยากที่จะแบ่งปันให้กับผู้อื่นด้วย รวมทั้งใช้โอกาสช่วง ปีใหม่นี้สอนให้ลูก “เรียนรู้สิ่งรอบตัว” สอนให้ลูกรู้จักเทศกาลปีใหม่ที่มีความแตกต่างกันของเชื้อชาติต่างๆ ด้วย มีเทศกาลปีใหม่สากล หรือเทศกาลปีใหม่ไทย เทศกาลปีใหม่ของชาวจีน เทศกาลปีใหม่ชาวญี่ปุ่นฯลฯ มีความแตกต่างกันอย่างไร ถือโอกาสพูดคุย และเรียนรู้ด้านประเพณีวัฒนธรรม ให้ลูกเกิดความสนใจเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว เป็นต้น

ในโอกาสขึ้นปีใหม่ 2018 ถือโอกาสเป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ร่วมกันในครอบครัว เพื่อเกิดความรักความเข้าใจ ความอบอุ่นในครอบครัวให้เพิ่มขึ้น….


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"