๗ อาจารย์เพี้ยน"ภาคอวตาร"


เพิ่มเพื่อน    

        ผมเห็นด้วยกับมติ ครม.ที่ให้ "วันนักขัตฤกษ์" เป็นวัน "หยุดราชการ" ตามเดิม

                คือ ในเดือนพฤษภา. มี ๔ วัน นอกเหนือจากวันหยุด "เสาร์-อาทิตย์"

                -วันแรงงาน วันที่ ๑ พ.ค.

            -วันฉัตรมงคล วันที่ ๔ พ.ค.

            -วันวิสาขบูชา วันที่ ๖ พ.ค.

            -วันพืชมงคล วันที่ ๑๑ พ.ค.

            ไม่ต้องกลัวคนจะถือโอกาส "หยุดยาว" ต่อเนื่องแล้วไปรวมกันอยู่ตามต่างจังหวัดหรอก

            คนไทยยุค New Normal เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เชื่อฟังมาตรการรัฐบาล "เพื่อชาติ" อยู่แล้ว

            และอีกอย่าง ด้วยคำว่า "อยู่บ้าน-หยุดเชื้อ-เพื่อชาติ" แต่ละหน่วยงาน ไม่ว่ารัฐ-เอกชนให้ work from home อยู่แล้ว ดังนั้น จะให้เป็นวันหยุดหรือไม่เป็นวันหยุด ค่ามันเท่ากัน!

            ที่บอกว่า ไม่ให้เป็นวันหยุด จะไปหยุดชดเชยให้ ๔ วันในวันหลัง นั่นแหละตัวร้ายละ

            ตอนสงกรานต์ รัฐบาลก็ "ติดหนี้วันหยุด" คนทำงานไว้แล้วตั้ง ๔-๕ วัน แล้วนี่อีก ๔ วัน ยังไม่รู้ในเดือนต่อๆ ไปจะมีอีกมั้ย ทบไป-ทบมา........

            "ติดหนี้วันหยุด" ร่วมครึ่งค่อนเดือน ในปีหนึ่ง ๓๖๕ วัน ทำงานกันไม่ถึง ๒๐๐ วันมั้ง ถ้ารวม "โกงเวลางาน" ไปด้วย ปีหนึ่ง ทำงานกันจริงๆ ไม่ถึง ๑๐๐ วัน

            แล้วถ้าตอนไหน เขามาขอ "ตกเบิกวันหยุด" ที่ทดไว้ หยุดใหม่-หยุดเก่า ไม่เหมายาวเป็นขบวนรถไฟไปหรือนั่น?

            คนไทยน่ะ "ศรีธนญชัย" เป็นเชื้ออยู่ในสายเลือดกันทั้งนั้น โควิดยังมีวัคซีนแก้ แต่เชื้อศรีธนญชัย ไม่มีทาง

            ๒-๓ วันก่อน .....

            ผมคุยเรื่อง "อภินิหาร ๗ อาจารย์เพี้ยน" ประเด็นพาดพิงถึงท่านผู้อำนวยการ สกสว. (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม)

            เมื่อวาน (๒๘ เม.ย.๖๓) ท่านกรุณาส่งหนังสือชี้แจง ดังนี้

วันที่ 27 เมษายน 2563

            เรื่อง ชี้แจงข้อเท็จจริงจากกรณีบทความลงในไทยโพสต์ เรื่อง “อภินิหาร ๗ อาจารย์เพี้ยน”

            เรียน คุณเปลว สีเงิน ที่นับถือ

            ตามที่คุณเปลว สีเงิน ได้เขียนบทความลงในไทยโพสต์เรื่อง “อภินิหาร ๗ อาจารย์เพี้ยน” ฉบับวันที่ 27 เมษายน 2563 นั้น

            มีประเด็นข้อคำถามที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

            ในเรื่อง มาตรฐาน สกสว. ในการให้งบสนับสนุนการวิจัยโครงการ  "คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กําลังเปลี่ยนแปลง”

            เนื่องจากมีการแถลงผลการรวบรวมข้อมูลผู้เสียชีวิตและคนที่ฆ่าตัวตายฯ ของคณะนักวิจัย ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ใคร่ขอชี้แจง เพื่อความเข้าใจในข้อเท็จจริง 3 ประเด็น คือ

            1.นักวิจัยคณะดังกล่าว เป็นคณะนักวิจัยในโครงการ “คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กําลังเปลี่ยนแปลง :การสังเคราะห์ภาพรวม”(Dynamics of Urban Poor in the Changing Urban Society)

            ซึ่งรับทุนสนับสนุนการวิจัยไว้เมื่อปี พ.ศ.2562 และยังดำเนินการวิจัยอยู่ จึงยังไม่มีรายงานฉบับสมบูรณ์ของการวิจัยดังกล่าว

            แต่คณะนักวิจัยได้มีข้อค้นพบระหว่างการวิจัยที่คณะนักวิจัยเห็นว่ามีความสำคัญ จึงจัดการแถลงข่าวดังที่ปรากฏ แต่มิใช่ขั้นตอนที่ สกสว.กําหนดให้ดำเนินการ

            2.หลักปฏิบัติซึ่งใช้กับทุกโครงการวิจัย และเป็นข้อความที่กําหนดอยู่ในสัญญารับทุนวิจัยด้วย คือ ความเห็นที่เผยแพร่นั้น เป็นของผู้วิจัย สกสว.ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอไป

            ทั้งนี้ เพราะสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว. เดิม ซึ่งเปลี่ยนมาเป็น สกสว.โดยผลของกฎหมาย) ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยในทุกสาขาวิชาการอย่างกว้างขวาง

            ให้ความสำคัญกับเสรีภาพในทางวิชาการของนักวิจัย และการเผยแพร่เพื่อให้ข้อมูลหรือเพิ่มการตระหนักรู้ของสังคม ย่อมเป็นสิ่งที่สามารถกระทําได้

            อย่างไรก็ตาม การเผยแพร่นั้น นักวิจัยย่อมต้องรับคำวิพากษ์วิจารณ์ ตลอดถึงการตรวจสอบจากวงวิชาการและสังคมด้วย

            3.การพิจารณาให้ทุนแต่ละโครงการ ทาง สกสว.มีขั้นตอนการพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิ ดังนั้น จึงเป็นการยืนยันถึงมาตรฐานทางวิชาการ

            โครงการ “คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กําลังเปลี่ยนแปลง” ในขณะที่รับทุน ในปี 2562 ก็ได้ผ่านกระบวนการนี้เช่นเดียวกัน

            หากแต่ในส่วนของผลสำรวจข้อมูลผู้เสียชีวิตและคนที่ฆ่าตัวตายจากโควิด-19 นักวิจัยได้ดำเนินการเพิ่มเติมเองโดย สกสว.ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง และโครงการไม่ได้ใช้ทุนจาก สกสว.แต่อย่างใด

            ในฐานะที่คุณเปลว สีเงิน เป็นสื่อมวลชนอาวุโส และได้รับความเชื่อถือในวงกว้าง ตลอดจนเป็นตัวแทนในการตรวจสอบของสังคม ทาง สกสว.หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสังคมจะได้รับทราบข้อเท็จจริง และ สกสว.ยินดีให้ข้อมูลเพิ่มเติม

            ทั้งนี้ สกสว.ขอยืนยันว่า ในฐานะผู้ส่งเสริมระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ สกสว.คำนึงถึงประโยชน์ของสังคมและประชาชน มีความมุ่งมั่นและมีเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศ

จึงเรียนมาเพื่อทราบ

ขอแสดงความนับถือ

(ศาสตราจารย์ นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ)

                                                ผู้อำนวยการ

            ครับ ขอบคุณท่าน ผอ.สกสว.

            ด้วยเคารพในเกียรติท่าน จากคำชี้แจงนั้น ทำให้ผมหมดข้อสงสัย จึงไม่ขอรบกวนข้อมูลเพิ่มเติม

            ชัดเจนว่า โครงการ “คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กําลังเปลี่ยนแปลง" ได้รับทุนจาก สกสว.จริง

            "หากแต่ในส่วนของผลสำรวจข้อมูลผู้เสียชีวิตและคนที่ฆ่าตัวตายจากโควิด-19 นักวิจัยได้ดำเนินการเพิ่มเติมเองโดย สกสว.ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง และโครงการไม่ได้ใช้ทุนจาก สกสว.แต่อย่างใด"

            และผมก็เข้าใจกระบวนการทำงานตามที่ท่านชี้แจง

            "การพิจารณาให้ทุนแต่ละโครงการ ทาง สกสว.มีขั้นตอนการพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิ"

            ก็อยากให้ท่านผู้อ่านได้ทราบตามนี้ .......

            และเพื่อเป็นการยืนยันถึงมาตรฐานทางวิชาการของคณะผู้ทรงคุณวุฒิของ สกสว.

            ผมขอนำรายชื่อ "คณะกรรมการอำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม" มาประกาศเป็นเกียรติให้ทราบ ดังรายนามต่อไปนี้

            ๑.ศาสตราจารย์ ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง ประธานกรรมการ

            ๒.ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม   กรรมการ

            ๓.ผู้อำนวยการสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กรรมการ

            ๔.นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ กรรมการ

            ๕.ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน   กรรมการ

            ๖.ศาสตราจารย์ ดร.สมชาย วงศ์วิเศษ กรรมการ

            ๗.ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ กรรมการ

            ๘.ศาสตราจารย์ ดร.อัญญา ขันธวิทย์ กรรมการ

            ๙.รองศาสตราจารย์ ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ กรรมการ

            ๑๐.รองศาสตราจารย์ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร กรรมการ

            ๑๑.ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)กรรมการและเลขานุการ

            อืมมมมม....

            หลายท่าน เป็นที่ "คุ้นชื่อ-คุ้นหน้า-ค้นประวัติ" กันอยู่ในด้านวิชาการ, ด้านสังคมและการเมือง

            รวมทั้งด้านการ "ให้ทุน, ขอทุน" โครงการต่างๆ!

            อย่างเช่น......

            "ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ"

            ในวงสังคมเคลื่อนไหวการเมือง มีใครบ้างที่ไม่ซาบซึ้งใน "มาตรฐานทางวิชาการ" ของศาสตราจารย์นายนี้ 

            เลือกตั้งมีนา.๖๒ .....

            พรรคอนาคตใหม่ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับที่ ๓ แต่จับขั้วกับอีก ๖ พรรคที่มีเพื่อไทยเป็นแกนจัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ

            ก็มี "๖๙ นักวิชาการ" เข้าชื่อออกแถลงการณ์ เล่นบทผู้พิทักษ์ประชาธิปไตยธนาธร อนาคตใหม่เป็นรัฐบาลเท่านั้นจึงจะเป็นประชาธิปไตย

            ๕ เม.ย.๖๒ เว็บประชาไทย นำ "แถลงการณ์ ๖๙ นักวิชาการ" เผยแพร่ ปรากฏว่า ในจำนวน ๖๙ นักวิชาการนั้น

            ๗ คน คือ "๗ อาจารย์เพี้ยน" ที่รับทุนวิจัยโครงการจาก สกสว.

            และอีก ๑ ในกลุ่มก้อน ๖๙ นั้น ก็คือ หนึ่งในคณะกรรมการ สกสว.ผู้ร่วมพิจารณาให้ทุนโครงการ ๗ อาจารย์เพี้ยน

            คือ "ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ"

            ครับ........

            เรื่องบางเรื่อง มันก็มีคำตอบอยู่ในตัวมันเองนะ. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"