ครม.ทุ่ม 2.4 แสนล้านเยียวยาเพิ่มเป็น 16 ล้านคน พร้อมแจก 5 พัน 3 เดือนเกษตรกร 10 ล้านราย คนพิการ 1 พันบาทอีก 2 ล้านคน "บิ๊กตู่" ลั่นเข้าใจถึงความลำบากของประชาชน ขอรออีกนิดเช็กไม่ให้ซ้ำซ้อน "อุตตม" เผยครบ 1 เดือนโครงการเราไม่ทิ้งกันจ่ายแล้ว 7.5 ล้านราย หลังตรวจเข้มพบผ่านเกณฑ์ 10.6 ล้านราย กปน.เพิ่มมาตรการฟรีค่าน้ำ 10 คิวแรก ลด 20% ตั้งแต่คิวที่ 11
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 28 เมษายน เวลา 13.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนว่า ขณะนี้รัฐบาลช่วยเหลือทุกกลุ่มไม่ว่าเกษตรกร ประกันสังคม ทั้งในระบบ นอกระบบ หรืออาชีพอิสระ จนยอดจากเดิม 3 ล้านคนเพิ่มมาเป็นหลายสิบล้านคนแล้ว จะเห็นได้ว่ารัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะดูแลประชาชนให้มากที่สุด รวมถึงคนพิการ แต่ทั้งนี้ต้องช่วยรัฐบาลด้วยในเรื่องของงบประมาณต่างๆ ที่เรามีอยู่
“วันนี้ผมทราบดีถึงความลำบากพี่น้องทุกคน ผมเคยเรียนไปแล้วว่า ท่านลำบาก ผมก็ลำบาก ผมเข้าใจดีถึงผู้มีรายได้น้อย ซึ่งรัฐบาลก็มีมาตรการหลายอย่างช่วยเหลือเยียวยา โดยครั้งแรกรัฐบาลประมาณการไว้เพียง 3 ล้านคน แต่วันนี้มีจำนวนมาก รวมแล้วประมาณ 16 ล้านคน และยังมีเกษตรกรอีก 10 ล้านครัวเรือน ซึ่งเกษตรกรบางส่วนอาจอยู่ในลักษณะหัวหน้าครอบครัว ที่เหลืออยู่ในส่วนของอาชีพอิสระ ซึ่งเขากำลังตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ไม่ให้ซ้ำซ้อนกันก็ขอให้เข้าใจด้วย และยังมีในส่วนของแรงงานในระบบประกันสังคมอีก 11 ล้านคน รวมถึงกลุ่มเปราะบางก็กำลังพิจารณาอยู่ ก็ต้องทยอยดำเนินการไปตามสัดส่วนงบประมาณที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งในเรื่องของเงินรายจ่ายประจำ งบกลางที่เหลืออยู่ รวมถึงในส่วนที่เป็นพระราชกำหนดการกู้เงิน ต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จเพื่อให้ทันเยียวยาประชาชน ดังนั้นขอให้รอสักนิด รอให้การดำเนินการครบขั้นตอนก่อน ซึ่งต้องมีคณะกรรมการดำเนินการอีกขั้นหนึ่ง แต่ยืนยันว่าผมจะดูแลให้ดีที่สุดในทุกภาคส่วน"
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า สำหรับงบประมาณที่เราเตรียมกู้ไว้ทั้งหมดมีแผนงานใช้จ่าย โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยขอให้แยกแยะออกจากกันว่าอะไรคือผลกระทบที่เกิดจากโควิด-19 อะไรคือมาตรการปกติ ซึ่งหน่วยงานของรัฐจำเป็นต้องดูแลพื้นฐานก็ต้องดูแลการใช้จ่ายดังกล่าว
ด้านนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.มีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาและชดเชยให้แก่ภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ของกระทรวงการคลัง 2 โครงการ ประกอบด้วย
1.ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ หรือผู้ได้รับผลกระทบอื่นๆ จากเดิมจำนวน 14 ล้าน เพิ่มเป็นไม่เกิน 16 ล้านราย วงเงินของโครงการไม่เกิน 240,000 ล้านบาท โดยใช้เงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 ไม่เกิน 170,000 ล้านบาท และเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 รวมจำนวนไม่เกิน 70,000 ล้านบาท โดยจ่ายเงินช่วยเหลือโดยตรงรายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค.63 - 30 มิ.ย.63
เยียวยาเกษตรกร 10 ล้านคน
และ 2.มาตรการเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยให้ช่วยเหลือเหมือนเราไม่ทิ้งกัน คือจ่ายเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน โดยกลุ่มเป้าหมายคือเกษตรกร 10 ล้านคน ตั้งแต่เดือน พ.ค.-ก.ค.63 ประกอบด้วยกลุ่มเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้วที่กรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมง จำนวน 8.4 ล้านคน ที่เป็นเกษตรกรที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบการขึ้นทะเบียน 1.57 ล้านราย รวมวงเงินของโครงการไม่เกิน 150,000 ล้านบาท
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ ขอเงินเยียวยาเพื่อช่วยเหลือผู้พิการในช่วงการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ให้แก่ผู้พิการที่มีบัตรผู้พิการ จำนวน 2 ล้านคน คนละ 1,000 บาท รวมทั้งยังเห็นชอบเพิ่มเบี้ยผู้พิการให้แก่ผู้ถือบัตรผู้พิการ ที่อายุไม่เกิน 18 ปี จำนวน 1.2 แสนคน จากเดือนละ 800 บาท เป็น 1,000 บาท เริ่มวันที่ 1 ต.ค.63 จากที่ ครม.เมื่อวันที่ 28 ม.ค.63 ได้มีมติเห็นชอบเพิ่มเบี้ยผู้พิการเป็น 1,000 บาท แก่ผู้ถือบัตรผู้พิการและมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 1 แสนบาทต่อปี) จำนวน 1 ล้านคน
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.อนุมัติยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีที่เรียกเก็บตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 ให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 และจำพวกที่ 3 ทุกขนาด เป็นเวลา 1 ปี สืบเนื่องมาจากมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบกิจการโรงงานซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 ให้อุตสาหกรรมยกเลิกค่าธรรมเนียมให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 คือ โรงงานที่มีเครื่องจักรไม่เกิน 50 แรงม้า และคนงานไม่เกิน 50 คน และเมื่อจะประกอบกิจการต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อน เช่น โรงงานเกี่ยวกับผลิตผลเกษตรกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง อาทิ การเพาะเชื้อเห็ด กล้วยไม้ หรือถั่วงอก และผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 คือ โรงงานที่จะต้องได้รับใบอนุญาตก่อนจึงจะดำเนินการได้ เช่น โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับสัตว์ ซึ่งมิใช่สัตว์น้ำอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง เช่น การฆ่าสัตว์ โรงงานทุกขนาด โดยให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับโรงงานทุกขนาดทั่วประเทศเป็นเวลา 1 ปี
ทั้งนี้ ได้ประมาณการการสูญเสียรายได้อยู่ที่ 231,120,600 บาท แต่ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจะเป็นการลดภาระและบรรเทาผลกระทบแก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน จากภาวะเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้พยุงสถานะของโรงงานและประกอบกิจการได้อย่างต่อเนื่อง เป็นผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีมูลค่ามากกว่ารายได้ที่รัฐจะต้องสูญเสียไป
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้ามาตรการเยียวยา 5,000 บาท หลังดำเนินการมาแล้วครบ 1 เดือนว่า ภายหลังการปิดรับลงทะเบียนเมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 28.8 ล้านราย โดยในจำนวนนี้เมื่อหักการลงทะเบียนซ้ำหลายครั้งออกจะเหลือผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 24 ล้านราย โดยพบว่าเป็นผู้ไม่ผ่านการยืนยันตัวตนจากฐานข้อมูลของกรมการปกครอง จำนวน 1.7 ล้านราย คงเหลือผู้ลงทะเบียนที่เข้าสู่ขั้นตอนการคัดกรองตามหลักเกณฑ์จำนวน 22.3 ล้านราย
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้ใช้ฐานข้อมูลและระบบการคัดกรองคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียน แล้วพบว่ามีผู้ที่ไม่ผ่านคุณสมบัติจะได้รับสิทธิ์ เนื่องจากมีสิทธิ์หรือเข้าข่ายจะได้รับสิทธิ์เยียวยาจากรัฐบาลผ่านทางกลไกอื่นอยู่แล้ว แบ่งเป็นหัวหน้าครัวเรือนเกษตรกรตามฐานข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกร 4.2 ล้านราย เป็นข้าราชการ ข้าราชการบำนาญ หรือผู้รับเบี้ยหวัด และผู้ประกันตนที่ได้รับสิทธิ์ชดเชยรายได้ในระบบประกันสังคม จำนวน 1.1 ล้านราย และมีผู้ขอยกเลิกการลงทะเบียน 9.5 แสนราย
จ่าย 5 พันแล้ว 7.5 ล้านราย
ดังนั้นจึงมีผู้ที่เข้าข่ายสามารถได้รับสิทธิ์การชดเชยรายได้ตามมาตรการเยียวยา 5,000 บาท ประมาณ 16 ล้านราย ซึ่งเป็นผู้ผ่านเกณฑ์แล้วจำนวน 10.6 ล้านราย และกระทรวงการคลังได้โอนเงินเยียวยาให้แก่ผู้ได้รับสิทธิ์ส่วนใหญ่จำนวน 7.5 ล้านรายอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 8-29 เม.ย. และในวันที่ 30 เม.ย.นี้จะมีการโอนเงินเยียวยาให้ผู้ได้รับสิทธิ์อีก 4.8 แสนราย
ส่วนที่เหลืออีก 2.6 ล้านรายจะเร่งโอนให้ภายในสัปดาห์แรกของเดือน พ.ค. กลุ่มนี้จะได้รับเงินเยียวยาของรอบเดือน เม.ย.ด้วยรวมเป็น 2 เดือน โดยขอให้ตรวจสอบสถานะล่าสุดได้ที่ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย. เวลา 06.00 น.เป็นต้นไป หากได้รับสิทธิ์จะพบข้อความว่า "ท่านได้รับสิทธิ์มาตรการเยียวยา 5,000 บาท กระทรวงการคลังจะดำเนินการโอนเงินให้ท่านโดยเร็วที่สุด"
“กลุ่มที่ขอข้อมูลการประกอบอาชีพเพิ่มเติมยังคงเหลือผู้ที่ไม่มาให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีก 1 ล้านราย โปรดมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประโยชน์ในการรับสิทธิ์จากมาตรการเยียวยาอย่างรวดเร็ว และสำหรับผู้ที่ขอทบทวนสิทธิ์จำนวน 3.5 ล้านราย ทีมผู้พิทักษ์สิทธิ์อยู่ระหว่างการลงพื้นที่เพื่อยืนยันตัวตนและตรวจสอบการประกอบอาชีพตามที่ได้ลงทะเบียนไว้ ซึ่งกระทรวงการคลังจะเร่งดำเนินการให้ทราบผลโดยเร็วต่อไป" นายอุตตมระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณหน้าประตู 4 กระทรวงการคลัง เมื่อเวลา 14.30 น. ยังมีประชาชนทยอยเดินทางมาเพื่อเรียกร้องขอรับสิทธิ์เงินเยียวยา 5,000 บาทอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการดูแลของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยกระทรวงการคลังอย่างเข้มงวด โดยไม่อนุญาตให้ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาภายในกระทรวงการคลังทุกกรณี
โดยในวันนี้มีนางวิไล จันทร์เพ็ง อายุ 54 ปี เดินทางมาจาก อ.สามโคก จ.ปทุมธานี เพื่อเรียกร้องสิทธิ์ เมื่อเข้าไปภายในกระทรวงไม่ได้จึงนอนหน้ากระทรวง พร้อมระบุว่าจะนอนรอนายอุตตมและนายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เพื่อขอคำชี้แจงว่าทำไมกระบวนการตรวจสอบผู้ได้รับสิทธิ์จึงมีความล่าช้า เนื่องจากได้ลงทะเบียนเพื่อรับเงินเยียวยาตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. แต่ได้รับแจ้งว่าไม่ได้สิทธิ์เนื่องจากเป็นผู้ประกอบการ จึงยื่นขอทบทวนสิทธิ์วันที่ 21 เม.ย. จนถึงวันที่ 28 เม.ย.ก็ยังไม่มีความคืบหน้า ทั้งที่ตัวเองได้รับผลกระทบโดยตรงเพราะขายเสื้อผ้าแต่ตลาดนัดถูกปิด จึงขอให้เมตตาเพราะต้องเลี้ยงครอบครัว แต่จะให้ฆ่าตัวตายก่อนได้เงินเยียวยาไม่ถูกต้อง ซึ่งนายอุตตมเป็นตัวการ นิ่งเฉย ฆ่าประชาชนได้อย่างเลือดเย็น ตนมี 1 สิทธิ์ 1 เสียง เวลาหาเสียงไหว้ปลกๆ เวลามาเรียกร้องมองเห็นบ้างไหม
วันเดียวกัน นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า จากการประชุมบอร์ด กปน.เมื่อวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้สนองนโยบายตามที่ให้ไว้ในเรื่องการบรรเทาความเดือดร้อนและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายประชาชนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยเพิ่มมาตรการช่วยเหลือ 4+1 ได้แก่ 1.ใช้น้ำฟรี 10 คิวแรก ทุกครัวเรือน 2.ลดค่าน้ำประปา 20% ตั้งแต่คิวที่ 11 3.ขยายระยะเวลาชำระค่าน้ำเป็น 6 เดือน สำหรับกิจการโรงแรมและที่พักอาศัย 4.ยกเว้นการตัดน้ำนาน 6 เดือน และเพิ่มอีก 1 มาตรการ คือ การคืนเงินประกันการใช้น้ำทุกราย ทั้งนี้จะเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนผู้ใช้น้ำประปาในเขตรับผิดชอบของ กปน. (กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ) โดยเพิ่มเติมจาก 4 มาตรการที่ กปน.ดำเนินการไปแล้ว
นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวว่า ระบบการคัดสรรสิทธิ์ในโครงการเราไม่ทิ้งกันโดยเอไอมีความผิดพลาดเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทำให้ถูกตัดสิทธิ์ตกไปทั้งที่เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 โดยตรง จึงเป็นเหตุให้มีประชาชนจำนวนมากฆ่าตัวตายเพราะผิดหวัง รวมทั้งมีการกินยาเบื่อหนูหมายจะฆ่าตัวตายประชดรัฐบาล ทั้งนี้รัฐบาลไม่ควรนิ่งเฉยให้ภาพลักษณ์ตกต่ำต่อไป ควรสั่งปลดผู้อำนวยการโครงการและ รมว.การคลัง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |