ดูสองรูปของบรรยากาศการประชุมสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษนี้เปรียบเทียบกัน รูปหนึ่งก่อน Covid-19 และรูปหลังคือการประชุม “กึ่งออนไลน์” เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองอังกฤษ 700 ปีที่ประชุมสภาแบบ "เสมือนจริง" คือผสมผสานระหว่างมาประชุมจริงกับออนไลน์พร้อมๆ กัน
ขณะที่ไทยเรากำลังถกเถียงกันอยู่ว่าจะเรียกประชุมวิสามัญของสภาผู้แทนฯ หรือไม่ อังกฤษก็ทำให้เห็นเป็นตัวอย่างว่าในภาวะไม่ปกติ กิจกรรมการเมืองก็ย่อมผิดปกติได้
เขาเรียกว่า Hybrid Parliament หรือประชุมสภาแบบผสมผสาน
ปกติ บรรยากาศการประชุมสภาอังกฤษจะนั่งเบียดเสียดกัน และตะโกนใส่กันอย่างดุเดือด
แต่พอเจอโควิดเข้า นักการเมืองยังต้องถอย ยอมให้ ส.ส. สวนใหญ่ร่วมประชุมจากบ้านผ่านระบบ Zoom
รักษาการนายกฯ Dominic Raab (รัฐมนตรีต่างประเทศ) และผู้นำฝ่ายค้าน Sir Keir Starmer มาประชุมเอง จะได้ฟาดฟันกันอย่างเห็นหน้าเห็นตา
กติกาที่เพิ่งกำหนดใหม่คือให้ ส.ส. 120 คนอยู่ที่บ้านต่อครั้งร่วมประชุมผ่านออนไลน์ อีก 50 คนมาประชุมจริง
ประธานสภามานั่งบรรลังก์จริง และชี้ให้พูดทั้งที่นั่งอยู่ห่างๆ กันในสภา และที่ปรากฏหน้าจากบ้าน
สูตรการประชุมสภาแบบ “เสมือนจริง” ของอังกฤษเพิ่งเริ่มครั้งแรกในสัปดาห์นี้ในช่วงตั้งกระทู้สดกับนายกฯ ประจำสัปดาห์ที่เรียก Prime Minister’s Question Time
เขาบอกว่าเป็นการปรับตัวเพื่อ “รักษาระบอบประชาธิปไตยภายใต้วิกฤติโควิด”
แต่จะใช้วิธีนี้เพื่อพิจารณาผ่านกฎหมายหรือไม่ต้องลงมติกันอีกครั้งหนึ่ง
นายกฯ บอริส จอห์นสัน ยังพักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน
ของไทยเราคงมีปัญหาว่าจะ “รักษาระยะห่าง” กันทางกายภาพอย่างไรหากมีการประชุมแบบเดิม
หรือ ส.ส.บางจังหวัดที่มีคำสั่งห้ามคนเข้าออกจังหวัดนั้นๆ จะมาร่วมประชุมได้อย่างไร
หากจะมาจริงๆ จะต้องถูก “กักตัว” 14 วันหรือไม่
และหากจะประชุม “กึ่งออนไลน์” จริง กฎหมายปัจจุบันจะยอมรับว่าถูกต้องตามกติกาหรือไม่
พอมีคำถามว่ากฎหมายรองรับการประชุมสภาออนไลน์หรือไม่ ก็มีพระราชกำหนดลงวันที่ 19 เมษายน 2563 นี่เองที่ระบุชัดเจนว่า “การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์” นั้นใช้ได้กับหลายกิจกรรม แต่ไม่ใช้กับการประชุมรัฐสภา!
เนื้อหาบางส่วนของ พ.ร.ก.ฉบับนี้บอกว่าอย่างนี้
“การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า การประชุมที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องมีการประชุมที่ได้กระทำผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยผู้ร่วมประชุมมิได้อยู่ในสถานที่เดียวกันและสามารถประชุมปรึกษาหารือและแสดงความคิดเห็นระหว่างกันได้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
“ผู้ร่วมประชุม” หมายความว่า ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ กรรมการ อนุกรรมการ เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือคณะบุคคลอื่นตามที่กฎหมายกำหนด และให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งต้องชี้แจงแสดงความคิดเห็นต่อคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือคณะบุคคลนั้นด้วย
มาตรา ๕ พระราชกาหนดนี้ไม่ใช้บังคับแก่
(๑) การประชุมของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา
(๒) การประชุมเพื่อจัดทำคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล
(๓) การประชุมเพื่อดำเนินการตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการ ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นของรัฐ
(๔) การประชุมอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๖ การประชุมตามที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องมีการประชุม นอกจากจะดำเนินการตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในกฎหมายแต่ละฉบับแล้ว ผู้ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมจะกำหนดให้จัดการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ และให้มีผลเช่นเดียวกับการประชุมตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย
ห้ามมิให้ประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในเรื่องตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๗ การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต้องเป็นไปตามมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๘ การส่งหนังสือเชิญประชุมและเอกสารประกอบการประชุม จะส่งโดยจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ในการนี้ ผู้มีหน้าที่จัดการประชุมต้องจัดเก็บสำเนาหนังสือเชิญประชุมและเอกสารประกอบการประชุมไว้เป็นหลักฐาน โดยจะจัดเก็บในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้
มาตรา ๙ ในการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ผู้มีหน้าที่จัดการประชุมต้อง
(๑) จัดให้ผู้ร่วมประชุมแสดงตนเพื่อร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก่อนร่วมการประชุม
(๒) จัดให้ผู้ร่วมประชุมสามารถลงคะแนนได้ ทั้งการลงคะแนนโดยเปิดเผยและการลงคะแนนลับ
(๓) จัดทำรายงานการประชุมเป็นหนังสือ
(๔) จัดให้มีการบันทึกเสียงหรือทั้งเสียงและภาพ แล้วแต่กรณีของผู้ร่วมประชุมทุกคนตลอดระยะเวลาที่มีการประชุมในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เว้นแต่เป็นการประชุมลับ
(๕) จัดเก็บข้อมูลจราจรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ร่วมประชุมทุกคนไว้เป็นหลักฐาน ข้อมูลตาม (๔) และ (๕) ให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของรายงานการประชุม
มาตรา ๑๐ ในการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หากมีกรณีที่ต้องจ่ายเบี้ยประชุมหรือค่าตอบแทนไม่ว่าจะเรียกว่าอย่างใดให้แก่ผู้ร่วมประชุม ให้จ่ายเบี้ยประชุมหรือค่าตอบแทนนั้นให้แก่ผู้ร่วมประชุมซึ่งได้แสดงตนเข้าร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วย
มาตรา ๑๑ ให้ถือว่าการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามพระราชกำหนดนี้เป็นการประชุมโดยชอบด้วยกฎหมาย และห้ามมิให้ปฏิเสธการรับฟังข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามพระราชกำหนดนี้เป็นพยานหลักฐานในกระบวนการพิจารณาตามกฎหมายทั้งในคดีแพ่ง คดีอาญา หรือคดีอื่นใดเพียงเพราะเหตุว่าเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
มาตรา ๑๒ ให้มาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ออกตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๗๔/๒๕๕๗ เรื่อง การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ลงวันที่ ๒๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗ ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ยังคงใช้บังคับต่อไปได้เพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชกำหนดนี้ จนกว่าจะมีมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ออกตามพระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ
มาตรา ๑๓ บรรดาการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ได้ดำเนินการไปแล้วตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๗๔/๒๕๕๗ เรื่อง การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ลงวันที่ ๒๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗ ให้ถือว่าเป็นการประชุมที่ชอบด้วยพระราชกำหนดนี้
มาตรา ๑๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมรักษาการตามพระราชกำหนดนี้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |