'จตุพร'ฟันธงพปชร.มาเร็วเคลมเร็ว!ถามกองเชียร์หน้ามืด เห็นตัวเลขฆ่าตัวตายยังทนอยู่กับรัฐบาลหรือเปล่า


เพิ่มเพื่อน    

28 เม.ย.63-นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวในรายการ PEACE TALK ถึงความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในขณะนี้

นายจตุพร ยกประวัติศาสตร์การเมืองตั้งแต่ปี 2498-2535 มาอธิบายการต่อรอง แย่งชิงผลประโยน์ทางการเมือง แล้วต้องมาถึงจุดจบของพรรคการเมืองฝ่ายอำนาจนั้นๆ สำหรับความขัดแย้งในพรรคพลังประชารัฐนั้น คงมีจุดจบไม่แตกต่างกัน

ทั้งนี้ ในประวัติศาสตร์ เป็นการบอกถึงการสืบทอดอำนาจทางการเมืองที่มีจุดจบไม่แตกต่างกัน เพียงต่างกันแค่เวลาเท่านั้น ในปี 2498 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขณะเป็นนายกรัฐมนตรี เขาตั้งพรรคเสรีมนังคศิลาขึ้นมา เพื่อลงเลือกตั้งเมื่อ 26 ก.พ. 2500 แล้วชนะได้ ส.ส. 85 ที่นั่ง จาก 160 ที่นั่ง แต่ถูกกล่าวหาว่า เป็นการเลือกตั้งสกปรก โดยใช้อำนาจรัฐมาสนับสนุนพรรคเสรีมนังคศิลา เกิดทุจริต ใช้เครือข่ายผู้มีอิทธิพลเวียนเทียนลงคะแนนเสียง กระทั่ง 2 มี.ค. 2500 นักศึกษาประชาชนเดินขบวนประท้วงการเลือกตั้งสกปรก

แล้วลุกลามไปถึงการยึดอำนาจเมื่อ 16 ก.ย. 2500 โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รองหัวหน้าพรรคเสรีมนังคศิลา ซึ่งเป็น ผบ.ทบ. แต่ไม่ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง และเสนอนายพจน์ สารสิน เป็นนายกฯ แล้วจัดเลือกตั้งอีกครั้งเมื่อ 15 ธ.ค. 2500 เพื่อให้พรรคการเมืองชิงชัยจำนวน ส.ส. 160 คนกัน

ผลเลือกตั้งปรากฎไม่มีพรรคการเมืองได้เสียงเกินครึ่งสภา พรรคเสรีมนังคศิลา ลงเลือกตั้งได้ 4 ที่นั่ง แต่ แต่พรรคสหภูมิของจอมพลสฤษดิ์ ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ได้ 44 ที่นั่ง นอกจากนี้พรรคประชาธิปัตย์ ฝ่ายค้านได้ 29 ที่นั่ง

หลังการเลือกตั้งประมาณสัปดาห์ เมื่อ 21 ธ.ค. 2500 ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ ทำให้จอมพลสฤษดิ์ ยุบพรรคสหภูมิ แล้วตั้งพรรคชาติสังคม มีจอมพลสฤษดิ์ เป็นหัวหน้าพรรคด้วยตัวเอง แล้วกวาดต้อน ส.ส.อิสระเข้าพรรค จึงสามารถตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ แต่ตั้งให้จอมพลถนอม กิตติขจร รองหัวหน้าพรรค เป็นนายกรัฐมนตรี

รัฐบาลของจอมพลถนอม บริหารประเทศลำบากยากเย็น นักการเมืองต่อรองขอประโยชน์ จอมพลสฤษดิ์ ยึดอำนาจอีกครั้งใน 20 ต.ค. 2501 และจอมพลสฤษดิ์ ขึ้นเป็นนายกฯเอง พร้อมยกเลิกพรรคการเมือง

หลังมีรัฐธรรมนูญใหม่ในปี 2511 จอมพลถนอม ตั้งพรรคสหประชาไทยเมื่อ 24 ต.ค. 2511 และเป็นหัวหน้าพรรคเอง ลงเลือกตั้งครั้งใหม่ในปี 2512 และพรรคสหประชาไทยชนะเลือกตั้งเสียงข้างมาก 75 จาก 219 ที่นั่ง จึงรวบรวมเสียงตั้งรัฐบาลผสมขึ้น ซึ่งจอมพลถนอมเป็นนายกรัฐมนตรีตามเดิม

การต่อรอง แย่งชิงประโยชน์ระหว่างพรรคร่วมทำให้รัฐบาลจอมพลถนอมบริหารประเทศด้วยความลำบากจึงตัดสินใจยึดอำนาจตัวเองเมื่อ 17 พ.ย. 2514 แล้วเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่เหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516

จากประวัติศาสตร์การเมืองที่กล่าวมานั้น ชี้ให้เห็นว่า การบริหารอำนาจต้องต่อรอง แลกกันด้วยผลประโยชน์ แล้วนำไปสู่การยึดอำนาจล้มพรรคการเมืองทั้งหมดรวมทั้งพรรคสหประชาไทยด้วย

เมื่อมาถึงการก่อตั้งพรรคการเมืองตัวแทนของฝ่ายอำนาจ ซึ่งเป็นพรรคที่สาม คือ พรรคสามัคคีธรรม แม้ไม่มีทหารมาสังกัดพรรค แต่ชนะเลือกตั้งปี 2535 ได้เสียงอันดับหนึ่ง 79 เสียงจาก 360 เสียง แต่สถานการณ์เกมการเมืองนำพาให้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ต้องหลุดปากเสียสัตย์เพื่อชาติ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วลามไปสู่เหตุการณ์ประชาชนประท้วงในเหตุการณ์พฤษทมิฬ 2535

นายจตุพร กล่าวว่า ตั้งแต่พรรคพลังประชารัฐเกิดขึ้นมาในการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 แม้เป็นพรรคการเมืองของฝ่ายอำนาจจัดตั้งขึ้น ซึ่งไม่แตกต่างจากพรรคการเมืองในอดีตที่กล่าวมานั้น แต่เมื่อผนึกกำลังกับ ส.ว. 250 เสียงสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี แล้วในที่สุด จึงเกิดการเคลื่อนไหวกดดันนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ให้พ้นจากหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ รวมทั้งการกดดันนี้จะนำไปสู่การปรับ ครม.ในอนาคตอีกด้วย

ดังนั้น พรรคการเมืองแบบพลังประชารัฐ จึงสะท้อนพฤติกรรมทางการเมืองแบบมาเร็วและเคลมเร็ว ด้วยการอ้างถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่เสียเอง ส่วน พล.อ. ประยุทธ์ ยังไม่มีความเห็นกับความขัดแย้งในพรรคครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม ในพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ใช่มีปัญหาเฉพาะพลังประชารัฐ แต่ประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทยไม่แตกต่างกัน ซึ่งมีความขัดแย้งภายในเกิดขึ้นเช่นกัน ดังนั้นบรรยากาศการเมืองในขณะนี้ จึงเป็นลักษณะคล้ายกับพรรคเสรีมนังคศิลา และสหประชาไทยครองอำนาจ เพราะการเมืองเป็นเรื่องอำนาจและผลประโยชน์

"นักการเมืองโดยธรรมชาติถูกสร้างให้เป็นมนุษย์พันธุ์พิเศษ คนไม่ได้เป็นนัการเมืองอาชีพจะไม่เข้าใจสัจธรรมของนักเลือกตั้ง ที่ไม่รู้จักพอ เพราะการต่อรองผลประโยชน์ทุกเวลาอยู่ในสายเลือดนักการเมือง"

นายจตุพร กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่ยึดอำนาจเมื่อปี 2557 เป็นต้นมา ได้ครอบครองอำนาจเบ็ดเสร็จทุกอย่าง แต่ขณะนี้ย่อมรู้ดีว่า กำลังจะเจออะไรจากนักการเมือง โดยตามมิติประวัติศาสตร์แล้ว คงจบลงด้วยการยึดอำนาจตัวเอง

แต่สภาพปัจจัยการเมืองและสังคมในขณะนี้แตกต่างจากปี 2557 อย่างมาก อีกทั้งวันนี้ ในยามที่นักการเมืองเกิดขัดแย้งต่อรองผลประโยชน์ท่ามกลางชาติมีปัญหานั้น ประชาชนจะได้ผลกระทบ

“ผมเคยย้ำว่า การประกาศฉุกเฉินในสถานการณ์โควิดนั้น เป็นการกำจัดสิทธิ์ประชาชน แม้ประชาชนให้ความร่วมมือ แต่ต้องได้รับความคุ้มครอง ดูแลจากรัฐบาล เมื่อไม่ให้เขาทำงาน รัฐบาลต้องเลี้ยงดูเขา อีกทั้งเงินนำมาเลี้ยงดูเขาก็คือเงินของเขา ไม่ใช่เงินของรัฐบาล”

นายจตุพร ยกตัวอย่างว่า ลองคิดดูคนไปหน้ากระทรวงคลัง แล้วซดยาเบื่อหนูฆ่าตัวตาย กลไกของ กระทรวงคลังยังต้องใเวลาถึง 3 วันจึงจะได้เงินช่วยเหลือ 5 พันบาท พร้อมกับรู้ทันที่ว่า เธอมีคุณสมบัติครบ แต่ถ้ามีความเป็นมนุษย์แล้ว ต้องออกมาขอโทษประชาชน แล้วรีบดำเนินการให้เธอไม่ใช่รอถึง 3 วัน ดังนั้น การบริหารจัดการโดยไม่คำนึงความรู้สึกประชาชนกันได้อย่างไง

นายจตุพร กล่าวว่า ในสถานการณ์โควิดนั้น ต้องปรบมือให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ต่อสู้มาจนมีผู้ติดเชื้อรายใหม่แค่ 7 คนเท่านั้น แต่คนมีความยากลำบากยังไม่เปลี่ยนแปลง

"ถามกองเชียร์ที่กำลังหน้ามืดอยู่ว่า ตัวเลขการฆ่าตัวตายขณะนี้ถ้าเกิดกับรัฐบาลอื่น คุณจะทนอยู่เหมือนกับรัฐบาลนี้หรือเปล่า บ้างคนหลับหูหลับตาโฆษณาชวนเชื่อเลย ว่า คนเดือดร้อนเป็นการเดือดร้อนทางการเมือง"

สิ่งสำคัญ ตนเคยเตือนแล้วว่า การแก้ไขความเดือดร้อนประชาชนต้องมองที่เบื้องหน้า อย่ามองเบื้องหลัง ถ้ามองที่เบื้องหลังคุณจะไม่คิดแก้ไขปัญหาของประชาชน แต่ถ้ามองเบื้องหน้าเห็นความเดือดร้อน แล้วแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชนจบ เบื้องหลังจะมีหรือไม่มีก็จบไปโดยปริยาย แต่ถ้าแก้ไขไม่ได้ แล้วบอกว่าเขามีเบื้องหลังนั้น เป็นคุณจะไปซดยาฆ่าตัวตายหรือไม่ ลองคิดดู

การแก้ปัญหาความเดือดร้อนต้องใจใหญ่ ทำพร้อมกันทั่วประเทศ แต่ขณะนี้เป็นเดือนยังมีเสียงบ่นซ้ำซากประชาชนไม่ได้รับเงินเยียวยา ซึ่งน่าจะได้ตั้งนานแล้วเพื่อประทังชีวิต ที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากการแก้ปัญหาไม่ได้เพราะใจไม่ใหญ่พอ

“อย่าให้ประชาชนหิว รัฐบาลใดปล่อยให้ประชาชนอดอยาก ความล่าช้าเยียวยาคือความไม่ยุติธรรม ถ้าประชาชนฆ่าตัวตายแล้วให้เงินจะเกิดประโยชน์อะไร วันนี้ผมไม่ต้องการให้จบด้วยความสูญเสีย แต่ต้องการให้จบลงด้วยความประชาชนได้รับการแก้ไขความอดอยากความหิวโหย ความทุกข์ยาก ซึ่งไม่ใช่การจบลงแบบประวัติศาสตร์การเมืองเชิงอำนาจเหมือนในอดีต”


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"