เคาะประตูบ้าน ที่พื้นที่ ต.เกาะแก้ว วัดอุณหภูมิ
ภาพของอสม.ชาวเชียงใหม่ ผู้หญิงรายหนึ่ง ต่อปากต่อคำ กับผู้ชายคนหนึ่ง ผู้เดินทางกลับจากกรุงเทพ และตั้งวงกินเหล้าในบ้าน ทั้งที่เพิ่งเดินทางมาจากกรุงเทพฯ ไม่สนใจเรื่องการกักตัว 14 วัน เพราะเดินทางมาจากต่างถิ่น ตามมาตรการรัฐ เรื่องการป้องกันแพร่ระบาดโรคไวรัสโควิด-19 แม้ฝ่ายชายจะออกอาการเมาแอ๋ ออกแววนักเลง แต่อสม.หญิง รายนั้น ก็หาได้เกรงกลัวไม่ ย้ำแล้วย้ำอีกให้ชายคนนั้น แยกตัวออกมาจากครอบครัว เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อให้กับผู้อื่น สร้างความประทับใจกับคนทั้งประเทศอย่างมาก
ก่อนเกิดการระบาดของโรคไวรัสโควิด -19 หลายคน ไม่รู้จักว่า "อสม.สาธารณสุขหมู่บ้าน" นั้นคือใคร แต่หลังจากที่การระบาดในประเทศเริ่มอยู่ในจุดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้่อชะลอตัวลง ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ตลอดจนข่าวสารที่เผยแพร่บทบาท ของอสม.ในพื้นที่ต่างๆ ว่าได้ทำหน้าที่"ด่านหน้า" ผ๔เสียสละ เพราะเผชิญกับความเสี่ยงในการติดเเชื้อโควิด เนื่องจาก ต้องทำหน้าที่เคาะประตูบ้าน ทุกหลังคาเรือนในพื้นที่ที่รับผิดชอบ ซึ่งได้ทำไปแล้วประมาณ 12 ล้านหลังคาเรือน ส่อดส่องว่ามีใครที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง หรือไม่ปฎิบัติตัวตามประกาศของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ในการป้องกันโรคควิด-19 หรือไม่
เดินหน้ามาตรการเคาะประตูบ้าน ต้านโควิด
ผลงานที่เด่นชัดคือ อสม . สามารถหากลุ่มคนเสี่ยงติดเชื้อ เข้าสู่ระบบการรักษาอีกกว่า 2,000 คน ถือว่าเป็นการทำงานช่วยคัดกรองกลุ่มเสี่ยงให้เข้ารักษาได้อย่างรวดเร็ว กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกหรือคนไทยเองก็ได้รู้จักบทบาทของ อสม. มากขึ้นด้วย ล่าสุดองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ออกปากชมเชย อสม.ไทยว่าเป็นฮีโร่เงียบ ที่ทำให้อัตราการติดเชื้อโควิดของไทยไม่พุ่งทะยาน และไทยกลายเป็นประเทศตัวอย่าง ประเทศอื่นๆ ในการควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อโควิด -19 ได้ค่อนข้างดี
อสม.สาธารณสุข มีที่มาอย่างไร ต้องย้อนไปตั้งแต่ปี 2520 ที่กระทรวงสาธารณสุข เริ่มให้ประชาชนที่เป็นจิตอาสา ไม่จำกัดเพศ วุฒิการศึกษา มาทำหน้าที่อาสาสมัครด้านสาธารณสุข แต่ผู้มาทำหน้าที่นี้ ต้องผ่านการอบรม หลักสูตรมาตรฐานอาสาสมัครสาธารณสุข ผู้มาเป็น อสม. จะต้องทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่และชาวบ้าน ทำหน้าที่ด้านสาธารณสุขไม่ว่าจะเป็นการกระจายข่าวสาร ให้ความรู้ ให้บริการ การจัดกิจกรรมที่ให้คนในชุมชนมีส่วนร่วม รวมไปถึงการวางแผน ป้องกัน แก้ปัญหา และดูแลสิทธิประโยชน์ต่างๆ ทุกๆวันที่ 20 มีนาคมของทุกปี ถูกำหนดให้เป็นวันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ เพื่อให้กำลังใจแก่ อสม.ที่ได้เสียสละทำงานเพื่อชุมชน
ผ่านมา 40ปี ปัจจุบันประเทศไทยมีอสม. กว่า 1,040,000 คน และมีอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร อีกกว่า 15,000 คน ซึ่งชาวบ้านในต่างจังหวัดคงคุ้นชินกับการได้รับความช่วยเหลือของ อสม.
อสม.เขตมีนบุรี ลงพื้นที่เยี่ยมชุมชน
เมื่อได้พูดคุยกับอสม. ที่ทำงานในช่วงสถานการณ์โควิด-19 บุญช่วย กินวารี อสม. เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ เปิดใจว่า ที่มาเป็นอสม. เพราะอยากใช้เวลาว่างที่เหลือจากการทำงานหลัก ที่ไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิสทุกวันให้เกิดประโยชน์ จึงได้เริ่มเข้ามาทำงานเป็น อสม. ในปี 2546 ผ่านการอบรมสูตรของอาสาสมัครสาธารณสุขต่างๆ ในเขตมีนบุรีเราต้องรับผิดชอบดูแล 30 หลังคาเรือน ซึ่งก็ได้นำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาช่วยแก้ปัญหาให้กับคนในชุมชนที่มีความเดือดร้อน ได้เข้าถึงสิทธิสาธารณสุขต่างๆให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น บางครั้งแม้จะต้องทำงานนอกพื้นที่รับผิดชอบเราก็ไม่เกี่ยง เงินเดือนที่ได้รับเดือนละ 1,000 บาท ก็เป็นค่าใช้จ่ายในการลงพื้นที่ ซื้อของใช้หรือขนม ไปเป็นของฝากชาวบ้าน เราก็มีความสุข
บรรยากาศ อสม.เขตมีนบุรีประชุม
บุญช่วย บอกอีกว่า ในสถานการณ์โควิด-19 ก็ต้องปรับเปลี่ยนการทำงาน อาจจะไม่ได้ลงพื้นที่อย่างในสถานการณ์ปกติ ก็ต้องมีการสื่อสารผ่านทางกลุ่มไลน์สำหรับอสม. และครอบครัวที่ดูแล เพื่อให้ความรู้ แนวทางการป้องกัน เพราะส่วนใหญ่มีผู้สูงอายุและคนพิการค่อนข้างเยอะ จึงต้องคอยซักถามอยู่บ่อยๆ เพื่อเป็นผลสรุปของแต่ละเดือน ซึ่งในตอนนี้พื้นที่ที่ดูแลยังไม่พบคนเข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง แต่ก็ไม่ได้ไว้ว่างใจ ก็มีการดำเนินงานมาตรการการคัดกรองผ่านการเคาะประตูบ้าน ที่อาจจะไม่สามารถทำได้ทุกหลังคาเรือน เพราะบางบ้านก็กลัว อสม. เพราะเราทำหน้าที่สัมผัสกับผู้คนเยอะ อาจจะทำให้เกิดความกังวล แต่บางบ้านก็พร้อมให้ความร่วมมือ ส่วนตัวแม้จะรู้สึกกลัวโรคโควิด-19 เหมือนกัน แต่ก็ยังคงต้องทำงานต่อไป เพราะ หมอ พยาบาล เองก็คงจะกลัวเหมือนกับเรา แต่เขาก็ยังทำหน้าที่รักษาผู้ป่วย หากเราสามารถช่วยแบ่งเบาภาระได้ก็จะทำได้อย่างเต็มที่
การเยี่ยมบ้านเช็คข้อมูลกับชุมชน ของอสม.มีนบุรี
วุฒิพงษ์ วงศ์อนันต์ ประธานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ เล่าว่า ที่ผ่านมาได้ติดตามแม่ที่เป็น อสม. ไปทำงานลงพื้นที่ ทำให้เห็นว่าเป็นงาน ที่สามารถช่วยเหลือชาวบ้านได้ จึงได้เริ่มเข้ามาทำงานเป็น อสม.ตั้งแต่ 2547 ซึ่งการทำงานนั้นจะขึ้นตรงกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ได้รับการอบรบด้านสาธารณสุขต่างๆ เพื่อนำไปให้ความรู้ไปให้ชาวบ้าน รวมไปถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ อาทิ แม่และเด็ก การตรวจวัดเบาหวาน ทำให้ชาวบ้านได้รับการดูแลด้านสาธารณสุขมากยิ่งขึ้น และยังเป็นการช่วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขด้วย โดยในพื้นที่ อ.พระประแดง มีทั้งหมด 15 ตำบล มีอสม.กว่า 1,400 คน ซึ่งก็ต้องแบ่งพื้นที่ในการดูแลให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านในตำบลนั้นๆ อย่าง ตนที่รับผิดชอบในพื้นที่ หมู่ 9 ต.บางหัวเสือ ที่มีอสม.จำนวน 20 คน ตนดูแลจำนวน 30 หลังคาเรือน ที่ต้องดูแลอย่างทั่วถึง
การทำงานอสม.บางหัวเสือ
เมื่อมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 วุฒิพงษ์ บอกว่า ถึงแม้ตนเองไม่ใช่หมอ แต่ก็ภูมิใจที่ได้แบ่งเบาภาระได้บ้าง เราก็ต้องมีการคัดเลือก อสม.ที่มีความพร้อมร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัวในการปฏิบัติหน้าที่ อย่างที่ทราบว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เสียชีวิตในพื้นที่อ.พระประแดง 1 ราย ในวันที่ 4 เมษายน โดยมีภูมิลำเนาอยู่ที่พระสมุทรเจดีย์ แต่เดินทางมาทำงานในโรงงานแห่งหนึ่งในต.บางหญ้าแพรก อ.พระประแดง สืบทราบคือได้รับเชื้อมาจากภรรยา ที่เดินทางไปทำงานที่พระราม 3 ซึ่งขณะนี้ทำการกำลังรักษา สาธารณสุขอำเภอ ทีมควบคุมโรคลงพื้นที่ดูแล ในวันที่ 5 เมษายน อสม.ปฏิบัติงานเข้มงวดมากขึ้น จากการคัดกรองเคาะประตูตามบ้าน โดยจะมีเจ้าหน้าสาธารณสุข 1 คน อสม. 5 คน ในการลงพื้นที่ แบ่งเป็นช่วงเวลา 08.00-10.00 น. และ 16.00-18.30 น. มีทั้งพนักงานโรงงานทั้งหมด(โรงงานปิดทำการแล้วช่วงโควิด-19) และผู้อาศัยอยู่ในอพาร์ทเม้นหรือในระแวกนั้น ซึ่งพบติดเชื้อโควิด-19 4 ราย มีความใกล้ชิดกับผู้เสียชีวิต นำเข้าสู่ระบบการรักษา ส่วนชาวบ้านในพื้นที่เราก็ให้ความรู้ การป้องกัน และการคัดกรองอย่างละเอียด
"การเป็น อสม.ก็ต้องป้องกันตัวเอง เพราะเสี่ยงได้รับเชื้อ จึงต้องสวมชุดอุปกรณ์ป้องกันตัว ในช่วงหน้ากากอนามัยขาดแคลนก็ต้องตัดเย็บหน้ากากผ้าใช้เอง พร้อมเก็บไว้แจกชาวบ้านด้วย คาดว่าจะมีการตรวจคัดกรองซ้ำอีกโดยจะเว้นระยะเวลา 14-15 วัน” วุฒิพงษ์ เล่า
อสม.ต.เกาะแก้ว คัดกรองโควิด-19 ตามบ้าน
อีกหนึ่ง อสม. นิภา ลูกเหล็ม เลขานุการ อสม. ประจำหมู่บ้าน ต.เกาะแก้ว อ.เมือง จ.ภูเก็ต เล่ามาเป็นอสม. ตั้งแต่ปี 2522 เต็มตัว สลับกับการทำงานรับจ้างทั่วไป โดยรับผิดชอบดูแลในพื้นที่หมู่ 5 ต.เกาะแก้ว ซึ่งมีอสม.ในพื้นที่ 20 คน ก็จะช่วยกันดูแลและช่วยเหลือชาวบ้านทั้งทางด้านสาธารณสุขและด้านคุณภาพชีวิตอื่นๆ ยิ่งในช่วงสถานการณ์โรคโควิด-19 ในพื้นที่ก็ได้มีการดำเนินการเฝ้าระวังมาตั้งแต่ 2 กุมภาพันธ์ พวกเราก็จะได้รับการอบรบเกี่ยวกับโรคโควิด-19 การป้องกัน วิธีการคัดกรอง รวมไปถึงการตัดเย็บหน้ากากผ้า หรือทำเจลแอลกอฮอล์ล้างมือเพื่อแจกให้กับชาวบ้าน
ทีมงานอสม.เกาะแก้ว
ในฐานะที่ภูเก็ต เป็นพื้นที่ ที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก นิภา เล่าว่า โชคดีที่ต.เกาะแก้วไม่ใช่สถานที่เที่ยวหลัก หรือมีสถานบันเทิง แต่ก็มีบ้านจัดสรร ที่ชาวต่างชาติอาศัยอยู่ ดังนั้นก็ต้องดูแลอย่างเข้มงวด เพราะมีผู้เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง 3 ราย ทางสาธารณสุขและ อสม.ก็ต้องลงไปสอบถามอาการและดูแลอย่างต่อเนื่อง และปิดตำบลเพื่อลดการแพร่ระบาด โดยคนในไม่ออก คนนอกไม่ให้เข้าตั้งแต่วันที่ 13-26 เมษายน 2563 พร้อมทั้งคัดกรองด้วยการเคาะประตูบ้านให้ครบทุกหลังคาเรือน ซึ่งชาวบ้านหรือวัยรุ่นก็ให้ความร่วมมือ ใส่หน้ากากผ้ากันอย่างจริงจัง ซึ่งในพื้นที่ตน ยังถือว่าไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวหลักหรือมีสถานบันเทิงอย่างต.ป่าตองที่มีการระบาดหนัก เจ้าหน้าที่ทุกคนตรงนั้น ทำงานกันอย่างหนักเพื่อให้ทุกคนปลอดภัย ดังนั้นต่อให้รู้สึกเศร้าขนาดไหน แต่ก็ต้องเป็นกำลังใจให้กัน ทำหน้าที่ของตัวให้ดีที่สุด และผ่านวิกฤติโรคโควิด-19 นี้ไปด้วยกัน
ในส่วนของการดูแลและช่วยเหลืออสม. ทางด้านสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า อสม. ที่ทำหน้าที่คัดกรองโรค ติดตามผู้ที่อยู่ในการเฝ้าระวังโรคโควิด 19 และกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่กรณีที่เกิดความเสียหายขึ้น ก็มีนโยบายในการดูแล ตามที่หน่วยบริการได้มีหนังสือมอบหมาย อสม.ในการปฏิบัติหน้าที่กรณีโควิด-19 โดยจะดำเนินการตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การรับเงิน การจ่ายเงิน การรักษาเงินและรายการของค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจำเป็นต่อการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขและค่าใช้จ่ายอื่น พ.ศ.2559 ในหมวด 5 ค่าใช้จ่ายเพื่อเป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |