ชาวเล-กะเหรี่ยงปลื้มแลกข้าวปลาสำเร็จลุล่วงด้วยดี


เพิ่มเพื่อน    

 ชาวเล-กะเหรี่ยงสุดปลื้มแลกข้าวแลกปลาลุล่วงด้วยดี นำไปแบ่งปันทั่วอันดามัน เผยเป็นกิจกรรมช่วยกระชับความสัมพันธ์ในชุมชนให้ดีขึ้นมาก แนะรัฐสนับสนุนฐานการผลิต

    เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2563 รถบรรทุกข้าวจากชุมชนกะเหรี่ยงภาคเหนือ ซึ่งได้บรรทุกข้าวสารกว่า 7 ตันจาก จ.เชียงใหม่ และออกเดินทางตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน ได้มาถึงชุมชนชาวเลราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ตั้งแต่เวลา 08.00 น. เพื่อนำข้าวสารของชาวดอยแลกปลาของชาวเล โดยมีชาวเลกว่า 100 คนออกมาให้การต้อนรับและร่วมแบ่งปันข้าวสารครอบครัวละ 10 กิโลกรัม
    นายสนิท แซ่ชั่ว ชาวเลชุมชนราไวย์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้รวบรวมปลาตากแห้งไว้แล้ว คาดว่าจะได้ประมาณ 1,000 กิโลกรัม เพื่อส่งไปตอบแทนน้ำใจพี่น้องชาวเหนือ อย่างไรก็ตาม ข้าวสารที่ได้รับนี้ นอกจากแบ่งปันให้กับชาวบ้านในชุมชนราไวย์แล้ว จะนำไปมอบให้ชาวเลในพื้นที่อื่นๆ ด้วย เช่น เกาะหลีเป๊ะ เกาะอาดัง จ.สตูล เกาะพีพี เกาะจำ เกาะลันตา จ.กระบี่ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเกาะในจังหวัดพังงาและระนอง  ขณะเดียวกันชาวเลในหลายพื้นที่ก็กำลังออกหาปลาและทำปลาตากแห้งส่งมาร่วมแลกเปลี่ยนในครั้งนี้
    “ผมคิดว่าการนำข้าวมาแลกปลาครั้งนี้เป็นเรื่องสุดยอด มันเหมือนกับวิถีชีวิตดั้งเดิมของพวกเราสมัยก่อนที่พ่อแม่ปู่ย่านำปลาไปแลกข้าว ผัก ผลไม้ โดยไม่ต้องใช้เงินตรา ที่ผมดีใจมากคือความสัมพันธ์ของคนในชุมชนดีขึ้นมาก จากวันแรกที่มีเรือของผมออกไปหาปลามาแลกข้าวเพียงลำเดียว เพราะคนอื่นเขาไม่เชื่อว่าจะเอาปลาไปแลกข้าวได้อย่างไร แต่เมื่อเขาเห็นว่ามีช่องทางเป็นไปได้และเราเอาจริง เขาก็เลยเข้าร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ จนเรือทั้งหมด 43 ลำของชาวเลราไวย์ต่างออกไปหาปลามาแลกข้าวกันหมด ผมไม่เคยเห็นบรรยากาศเช่นนี้มาร่วม 30-40 ปีแล้ว” นายสนิทกล่าว
    นายสนิทกล่าวว่า ผลที่ได้รับอีกประการหนึ่งคือ การที่เราใช้พื้นที่หน้าหาดในการทำกิจกรรมทำและตากปลา เมื่อข้าราชการหลายหน่วยงานมาร่วมสังเกตการณ์ ทำให้เขาเห็นว่าพื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่ชุมชนใช้ร่วมกันจริงๆ เพราะก่อนหน้านี้เราเคยขอให้หน่วยงานราชการมารังวัดเพื่อกันให้เป็นที่ดินสาธารณะ แต่ไม่มีหน่วยงานใดกล้ามายืนยัน ดังนั้นการที่เขาได้มาเห็นข้อเท็จจริง ทำให้เราหวังว่าการกันพื้นที่นี้ให้เป็นสาธารณะจะง่ายขึ้น
    “ผมเสียดายที่ชาวเลหมู่เกาะสุรินทร์ไม่สามารถหาปลามาร่วมกับพวกเราได้ เพราะถูกห้าม ทั้งๆ ที่ชีวิตของพวกเขาอยู่ติดกับทะเลเหมือนพวกเรา เขาต้องการหาปลามาแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้พี่น้องทั่วประเทศได้มีอาหารการกิน”นายสนิทกล่าว
    ด้าน นายสุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ ศิลปินชาวปกาเกอะญอ และนักวิชาการศูนย์การจัดการภูมิวัฒนธรรม วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ข้าวไปถึงพี่น้องชาวเลแล้ว ถือว่าเป็นการส่งต่อความอร่อยให้พี่น้องทั่วทะเลอันดามัน สิ่งที่อยากชี้ให้เห็นคือ การที่พวกเราเข้าถึงทรัพยากรในพื้นที่ได้ ก็สามารถนำมาแบ่งปันจากประชาชนสู่ประชาชนได้ นอกจากพวกเรามีทรัพยากรฐานการผลิตแล้ว เรายังมีทักษะทางวัฒนธรรมในการสร้างอาหารที่เพียงพอในการแลกเปลี่ยนกันได้
    “เราไม่รู้ว่าอนาคตเป็นอย่างไร หากคนบนดอยไม่สามารถปลูกข้าวในที่ดินของตัวเอง ไม่สามารถทำไร่หมุนเวียนของเราได้ เช่นเดียวกับพี่น้องชาวเล หากไม่มีสิทธิจับปลาในทะเลที่พวกเขาอยู่มาเนิ่นนานได้ ถ้าเป็นเช่นนั้นต่อไปเราก็ไม่สามารถแลกเปลี่ยนกันได้ ดังนั้นจะต้องทำอย่างไรที่จะสนับสนุนให้มีการผลิตเช่นนี้ มันไม่ใช่ความมั่นคงทางอาหารเฉพาะพวกเราอย่างเดียว แต่เป็นความมั่นคงของการเผื่อแผ่ไปถึงพี่น้องของเราด้วย” นายสุวิชานกล่าว.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"