สาวใหญ่เครียดไม่ได้รับเงินเยียวยา กินยาเบื่อหนูฆ่าตัวตายหน้ากระทรวงการคลัง ผอ.สศค.แจงอยู่ระหว่างโอนเงินเข้าบัญชี 29 เม.ย.นี้ ด้าน "อธิบดีกรมสุขภาพจิต" โต้งานวิจัยฆ่าตัวตายจากผลกระทบโควิด-19 ของกลุ่มนักวิชาการ ยังขาดข้อมูลปัจจัย เป็นเพียงการหยิบข่าวมาวิเคราะห์ ก่อให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน
เมื่อวันที่ 27 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 12.30 น. ที่ประตู 4 กระทรวงการคลัง มีผู้หญิงอายุประมาณ 59 ปีเดินทางมาร้องเรียน เนื่องจากไม่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาทผ่านการลงทะเบียนเว็บไซต์เราไม่ทิ้งกัน โดยไม่มีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการคลังมารับทราบเรื่องแต่อย่างใด
จากการสอบถามวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างประจำบริเวณประตู 4 ที่อยู่ในสถานที่เกิดเหตุการณ์เล่าว่า ผู้หญิงคนดังกล่าวน่าจะมีอายุประมาณ 40 ปี มาโวยวายอยู่บริเวณประตูกระทรวงการคลังตั้งแต่ช่วงเวลา 12.00 น. เพราะไม่พอใจที่ได้รับความเดือดร้อน ไม่มีรายได้ และบอกว่า "ไม่มีใครสนใจกูเลย"
จากนั้นก็ได้ล้วงกระเป๋าหยิบกระปุกยาเม็ดสีชมพูขึ้นมากรอกปากครั้งแรกแล้วดื่มน้ำตาม โดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยรีบเข้ามาดูอาการ เบื้องต้นยังมีสติอยู่ ก่อนที่หญิงคนดังกล่าวจะคว้ายาขึ้นมากินอีกครั้งก่อนหมดสติไป จากนั้นเวลาประมาณ 13.00 น. เจ้าหน้าที่กู้ชีพและรถพยาบาลจึงเดินทางมาถึงที่เกิดเหตุและรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสอบถามเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ยืนยันว่าหญิงคนดังกล่าวไม่ได้เข้ามากินยาภายในรั้วกระทรวงการคลัง โดยหลังจากกินยารอบแรกก็ไม่ทันได้มองและเห็นว่าอาการปกติดี จากนั้นมีการหยิบยาขึ้นมากินซ้ำจนช็อกและหมดสติไป สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นยาเบื่อหนู
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวถึงกรณีเกิดเหตุระทึกหญิงวัยกลางคนกินยาฆ่าตัวตายหน้ากระทรวงการคลังว่า จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าชื่อ น.ส.อัญกาญจน์ บู๊ประเสริฐ อายุ 59 ปี โดยเป็นผู้ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5,000 บาท และอยู่ในกลุ่มที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบันได้ผ่านการตรวจสอบไปแล้วและอยู่ระหว่างการรอโอนเงิน 5,000 บาทเข้าบัญชีในวันที่ 29 เม.ย.นี้
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังมีการปิดประตูทุกจุด โดยเปิดเฉพาะประตู 4 สำหรับเข้า และประตู 1 สำหรับออก โดยมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตรวจเข้มบุคคลเข้าออกทุกประตู ถ้าไม่เกี่ยวข้องห้ามเข้า หลังจากช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีกลุ่มผู้ไม่ได้รับสิทธิ์เดินทางมาที่กระทรวงการคลัง เรียกร้องขอรับเงินเยียวยาจนเกิดความโกลาหลไปทั่ว
ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีบทความที่มีการเผยแพร่เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2563 จัดทำโดยคณะผู้วิจัยโครงการวิจัยคนจนเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปในสังคมเมืองที่เปลี่ยนแปลง ในหัวข้อ "การรวบรวมข้อมูลผู้เสียชีวิตและคนที่ 'ฆ่าตัวตาย' จากไวรัสโควิด-19" พร้อมข้อเสนอแนะ ซึ่งมีลักษณะคล้ายการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์วิจัย
กรมสุขภาพจิตได้นำบทความวิจัยนี้มาประเมินอีกครั้ง โดยนักวิชาการที่เชี่ยวชาญการวิจัยด้านสุขภาพจิต และพบข้อสังเกตจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับระเบียบวิธีวิจัยและความถูกต้องของเนื้อหา ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดของประชาชนได้ จึงขอชี้แจงข้อสังเกตดังนี้
1.งานวิจัยนี้เป็นเพียงบทวิเคราะห์สื่อและการนำเสนอปัจจัยสาเหตุจากมุมมองของสื่อมวลชน ซึ่งไม่สามารถนำมาใช้เป็นตัวแทนหรือใช้เป็นข้อเท็จจริงที่สะท้อนปัญหาการฆ่าตัวตายในสังคมไทยได้ เนื่องจากโดยปกติแล้วงานวิจัยด้านสุขภาพจิตต้องใช้นักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในการเก็บข้อมูลปัจจัยด้านสุขภาพจิต
2.การนำเสนอและวิเคราะห์เลือกแสดงข้อมูลเพียงเดือนเมษายนเท่านั้น โดยขาดการเปรียบเทียบกับข้อมูลการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายของประชากรในเดือนก่อนหน้านี้ และการนำข้อมูลเปรียบเทียบกับการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 นั้น ก่อให้เกิดการตีความและความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
3.การอภิปรายผลการวิจัยโดยขาดการทบทวนวรรณกรรมหรืองานวิจัยสุขภาพจิตที่มีมาก่อนหน้านี้ รวมถึงไม่อยู่บนพื้นฐานทฤษฎีด้านสุขภาพจิต อาจสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอย่างมากให้ประชาชน
นพ.เกียรติภูมิกล่าวอีกว่า การกล่าวถึงความเชื่อมโยงระหว่างปัญหาการฆ่าตัวตายกับปัจจัยใดเพียงปัจจัยเดียวนั้นไม่สามารถทำได้ เพราะจากการวิเคราะห์ข้อมูลการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายสำเร็จ ปี 2561-2562 พบว่าปัญหาการฆ่าตัวตายนั้นมีความสลับซับซ้อน และเกิดจากกลุ่มปัจจัยที่มีการซ้อนทับกัน โดยปัญหาที่เป็นปัจจัยร่วมที่พบได้บ่อยที่สุดคือปัญหาความสัมพันธ์ รองลงมาเป็นการใช้สุรา โรคทางกาย โรคจิตเวช และปัญหาเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ในช่วงปี 2563 กรมสุขภาพจิตได้คาดการณ์ไว้ว่า ตัวเลขการฆ่าตัวตายในประเทศไทยอาจสูงมากขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยในทุกปีตามกลไกทางจิตวิทยาสังคมที่อยู่ในภาวะวิกฤติ และปัจจัยด้านเศรษฐกิจจะมีบทบาทมากขึ้นและอัตราส่วนที่สูงขึ้น แต่ทั้งนี้ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ไม่ใช่ปัจจัยเดี่ยว โดยกลุ่มปัญหาความสัมพันธ์ (เช่น การทะเลาะกับคนใกล้ชิด ความน้อยใจ ความหึงหวง) มักเป็นปัจจัยที่พบร่วมด้วยมากที่สุด
"อาจกล่าวได้ว่าหากบุคคลใดต้องเผชิญปัญหาส่วนตัวอย่างรุนแรง แต่มีทักษะการปรับตัว มีความยืดหยุ่น และมีคนที่เข้าใจอยู่รอบข้าง ก็จะเป็นปัจจัยช่วยลดความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายได้อย่างดี ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิตจะยังคงดำเนินการติดตามปัญหาเรื่องการฆ่าตัวตายในสังคมไทยอย่างใกล้ชิด ต่อเนื่อง และทำงานเชิงรุกประสานกับภาคประชาสังคม ในการจัดการปัญหาในทุกมิติที่อาจนำไปสู่การสูญเสียในสังคมไทยต่อไป" อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |