วันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา ครบ 6 เดือนหลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศระงับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ต่อสินค้าไทย มูลค่าประมาณ 4 หมื่นล้านบาท
ความพยายามเจรจาขอผ่อนผันหรือลดรายการตัดลดไม่เป็นผล แม้รองนายกฯ และรัฐมนตรีพาณิชย์ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ จะลงนามในจดหมายขอให้เจรจากันในนาทีสุดท้าย
คำตอบสุดท้ายจากวอชิงตันสัปดาห์ที่ผ่านมาคือ "ทุกอย่างเป็นไปตามกำหนดการเดิม"
เหตุผลคือไทยยังไม่ได้แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งที่เขากล่าวหาว่าเป็นการ "กดขี่แรงงานในภาคอุตสาหกรรมอาหารทะเล" เพียงพอ
อีกทั้งไทยยังไม่ยอมให้แรงงานต่างด้าวตั้งสหภาพแรงงานตามที่วอชิงตันต้องการ
ผมถามคุณกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา ว่าเขาตอบกลับมาอย่างไร
ถาม: วันนี้เป็นเส้นตาย เขาตอบว่าอย่างไรครับ
ตอบ: ก็ไม่ได้มีการตอบครับ เพราะเขาถือว่าที่เขาประกาศเมื่อ 6 เดือนที่แล้วก็เดิมตามนั้นเลย ก็ implement เลยครับ
ถาม: แปลว่าเขาไม่ยอมตามที่เราขอไปใช่ไหม
ตอบ: ตั้งแต่ที่เขาประกาศตัด GSP เรา เราก็มีการติดต่อ USTR (ตัวแทนการค้าสหรัฐฯ) พยายามพูดคุยเจรจา เริ่มด้วยประชุมทาง VDO conference มีผมเป็นหัวหน้าทีม และมีท่านอธิบดีกรมสวัสดิการแรงงาน เพราะท่านรับผิดชอบประเด็นแรงงานที่ท่านรับผิดชอบอยู่ด้วย
เราก็บอกเขาว่าเราได้ทำอะไรไปบ้าง เขาบอกว่ากระบวนการมันจบแล้ว นั่นคือวันที่ 6 ธันวา เราก็บอกให้เขาให้โอกาสเราหน่อย เขาก็ถามทางกระทรวงแรงงานไปว่ามีอะไรคืบหน้าเรื่องกฎหมายหรือไม่ ส่วนของเราอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งแน่นอนคงไม่สามารถพิจารณารายละเอียดของ พ.ร.บ.เสร็จภายใน 6 เดือน ไม่มีทางเลย
เขาก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นก็คงไม่มีอะไรที่ต้องคุยกันอีกแล้ว
เราอธิบายว่าเรามี internal process (กระบวนการภายใน) ของเราในแต่ละเรื่อง
ถาม: แต่เราก็ไม่ลดละความพยายามใช่ไหม
ตอบ: พอเวลาผ่านไปเราก็ให้ "ทีมไทยแลนด์" ของเราที่วอชิงตัน ดี.ซี. ให้เข้าไปพูดคุย แต่เขาก็ไม่เปิดโอกาสให้เราพูดคุย
ถาม: ก็มีเรื่องโควิดพอดีไม่ใช่หรือครับ
ตอบ: ใช่ครับ พอมีเรื่องโควิด ผมก็นำเรียนท่านรองนายกฯ จุรินทร์ ว่าน่าใช้โอกาสนี้ลองอีกที ท่านก็กรุณาเซ็นหนังสือไปถึงทาง USTR เลย บอกเขาว่าเราเจอโควิด เขาก็เจอโควิด เราก็น่าจะฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน ขอโอกาสผ่อนปรนเรื่อง GSP ไปหน่อยได้ไหม เราก็แอบหวังเล็กๆ
ขณะเดียวกันเราก็ไปล็อบบี้ผู้นำเข้าของสหรัฐฯ ประมาณ 17 สมาคม ซึ่งเป็นลูกค้านำเข้าสินค้าเรา พวกเขาก็ทำหนังสือไปที่ USTR เช่นกัน
พูดง่ายๆ คือเราพยายามทุกวิถีทางครับ
แต่เขาก็ตอบหนังสือมาเมื่อปลายอาทิตย์ที่แล้ว ว่าคงต้องเดินตามที่ประธานาธิบดีของเขาประกาศเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว...ว่าตราบใดที่เรายังไม่มีความคืบหน้าทางด้านแรงงาน
ขณะเดียวกันในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา เราก็สื่อสารกับผู้ส่งออกของเราตลอดเวลาครับ
เรียนตรงๆ ว่าผู้ส่งออกของเราก็รู้ว่าต้องปรับตัวอยู่แล้ว
ขณะเดียวกันกระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าต่างประเทศที่ดูเรื่อง GSP และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศก็มีการคุยกับสภาหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยดูแลคนที่ได้รับผลกระทบ มีการสัมมนาเพื่อเตรียมตัวและหาตลาดใหม่ เราทำ questionnaires ไปถึงสมาชิกโดยเฉพาะ SMEs มีคนตอบเราประมาณ 50 รายที่บอกว่าได้รับผลกระทบ เราก็ถามว่าเขาต้องการอะไร เราจะได้ตอบโจทย์ของเขา อยากไปตลาดไหนเราก็เชื่อมให้คุยกับทูตพาณิชย์ของเรา
ในช่วงโควิดกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศก็มีการช่วยเหลือต่างๆ รวมถึงทำ Online Matching และรูปแบบใหม่ๆ ในการเปิดตลาดใหม่ด้วย ดูแลใกล้ชิดครับ
(รายการสินค้าไทยที่ถูกระงับ GSP ครั้งนี้มีอาหารทะเล, ผัก, ผลไม้, เมล็ดพันธุ์, น้ำเชื่อมและน้ำตาล, ซอสถั่วเหลือง, น้ำผักและน้ำผลไม้ รวมถึงอุปกรณ์เครื่องครัว, ประตูหน้าต่าง, ไม้อัด, ไม้แปรรูป, ตะกร้าดอกไม้ประดิษฐ์, จานชาม, เครื่องประดับ, เหล็กแผ่น และสเตนเลส คิดเป็นมูลค่า 1.3 พันล้านเหรียญ หรือประมาณ 4 หมื่นล้านบาท)
จีเอสพี (GSP) หรือ Generalized System Preference คือ สิทธิทางภาษีที่ประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศมอบแก่ประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลาย ทำให้ไม่ต้องเสียภาษีสินค้านำเข้าบางรายการเมื่อส่งสินค้าไปขายในประเทศผู้ให้สิทธิ์ เพื่อให้ประเทศที่กำลังพัฒนาสามารถส่งออกสินค้าไปแข่งกับสินค้าจากประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือแข่งกับประเทศที่มีความสามารถในการผลิตสินค้าได้ราคาถูกและมีประสิทธิภาพ เช่น จีน เป็นต้น
สรุปว่าทุกภาคส่วนของไทยเราต้องปรับตัวกันครั้งใหญ่จริงๆ...ก่อนโควิดก็ว่าหนักแล้ว หลังโควิดถ้าไม่ลงมือปรับและเปลี่ยนกันจริงๆ ไม่รอดนะครับ!
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |