งบทหารทั่วโลกปี 62 สูงสุดรอบทศวรรษ สองชาติเอเชียติดท็อป 3


เพิ่มเพื่อน    

รายงานของซิปรีเมื่อวันจันทร์ระบุ งบใช้จ่ายทางทหารทั่วโลกเมื่อปี 2562 เพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 1 ทศวรรษ และเป็นครั้งแรกที่ 2 ประเทศเอเชียติดอยู่ใน 3 อันดับแรก รองจากสหรัฐในยุคของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เพิ่มงบด้านกลาโหมติดต่อกันเป็นปีที่ 2 แต่คาดพิษโควิด-19 จะกระทบต่อการจัดสรรงบทหารอีกหลายปี

    สำนักข่าวเอเอฟพีเปิดเผยว่า รายงานของสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม (ซิปรี) เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ที่ 27 เมษายน 2563 ระบุว่า งบประมาณใช้จ่ายทางทหารของประเทศต่างๆ ทั่วโลกเมื่อปี 2562 มีมูลค่ารวมกัน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 61.7 ล้านล้านบาท) และหากเปรียบเทียบกับงบใช้จ่ายของปี 2561 เท่ากับเป็นอัตราขยายตัว 3.6 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2553

    นาน เทียน นักวิจัยของซิปรี กล่าวกับเอเอฟพีว่า งบประมาณใช้จ่ายทางทหารมาถึงจุดสูงสุดแล้วนับแต่สิ้นสุดสงครามเย็น

    รายงานกล่าวว่า แรงผลักดันให้งบประมาณทางทหารทั่วโลกปีที่ผ่านมาเพิ่มสูงขึ้น คือบรรดาประเทศที่ใช้จ่ายงบด้านกลาโหมก้อนโต ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาเป็นหัวขบวน ปีที่แล้วสหรัฐใช้งบประมาณด้านกลาโหมมากถึง 7.32 แสนล้านดอลลาร์ (23.77 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้น 5.3% จากปีก่อนหน้านั้น หรือคิดเป็นสัดส่วนเท่ากับร้อยละ 38 ของงบใช้จ่ายทางทหารทั่วโลก

    ปี 2561 ยังเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันที่รัฐบาลสหรัฐเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหม หลักจากลดงบประมาณด้านนี้มานาน 7 ปี

    ขณะเดียวกัน เมื่อปีที่แล้วยังเป็นปีแรกที่ประเทศในทวีปเอเชีย 2 ประเทศติด 3 อันดับแรกของโลก ได้แก่ จีน และอินเดีย ซึ่งใช้งบทางทหารไปประมาณ 2.61 แสนล้านดอลลาร์ (8.47 ล้านล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้น 5.1% และ 7.11 หมื่นล้านดอลลาร์ (2.3 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้น 6.8% ตามลำดับ

    กรณีของจีนนั้น แม้การใช้จ่ายทางทหารช่วง 25 ปีที่ผ่านมาจะเกี่ยวโยงอย่างใกล้ชิดกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของจีน แต่การลงทุนทางทหารของจีนก็ยังสะท้อนถึงความทะเยอทะยานที่จะสร้าง "กองทัพระดับเวิลด์คลาส" ด้วยเช่นกัน

    เทียนกล่าวว่า จีนประกาศไว้อย่างเปิดเผยว่าพวกเขาต้องการแข่งขันกับสหรัฐในฐานะชาติมหาอำนาจทางทหาร

    ในทำนองเดียวกัน การผงาดขึ้นของจีนก็ช่วยอธิบายการใช้จ่ายทางทหารที่เพิ่มขึ้นของอินเดียได้ด้วยส่วนหนึ่ง

    ไซมอน วีเซอแมน นักวิจัยของซิปรี กล่าวไว้ในแถลงการณ์ว่า ความตึงเครียดระหว่างอินเดียกับปากีสถาน และกับจีน เป็นส่วนหนึ่งของแรงผลักดันหลักๆ ที่ทำให้อินเดียเพิ่มการใช้จ่ายทางทหารของประเทศ

    รายงานกล่าวว่า ค่าใช้จ่ายทางทหารของประเทศใน 5 อันดับแรกของโลก ซึ่งอีก 2 ประเทศคือ รัสเซีย และซาอุดีอาระเบีย คิดเป็นมูลค่ารวมกันมากกว่า 60% ของค่าใช้จ่ายทางทหารทั่วโลก

    ซิปรียังตั้งข้อสังเกตถึงการเพิ่มงบทางทหารอย่างมากมายของหลายประเทศ ซึ่งรวมถึงเยอรมนี ที่เพิ่มงบถึง 10% ในปีที่แล้ว เป็นมูลค่า 4.93 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งมากที่สุดในกลุ่มประเทศ 15 อันดับแรก โดยกรณีของเยอรมนีนั้นอาจเป็นผลจากการรับรู้มากขึ้นเรื่องภัยคุกคามจากรัสเซีย

    แม้ช่วงหลายปีมานี้การใช้จ่ายทางทหารจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่เทียนชี้ว่า แนวโน้มนี้อาจย้อนกลับเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งอาจทำให้โลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และรัฐบาลทั้งหลายจำต้องชั่งน้ำหนักระหว่างงบประมาณด้านกลาโหมกับภาคอื่นๆ เช่น ด้านสาธารณสุขและการศึกษา

    "มีความเป็นไปได้สูงว่าเรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายทางทหารอย่างแท้จริง" เทียนกล่าว

    อย่างไรก็ตาม เขาชี้ว่า หากดูจากข้อมูลที่ผ่านมา เช่นจากช่วงวิกฤติการเงินปี 2551 ที่ทำให้งบด้านกลาโหมของประเทศต่างๆ ลดลงในหลายปีถัดมา โดยเฉพาะในยุโรป ที่รัฐบาลต้องใช้มาตรการรัดเข็มขัด แต่การลดงบทางทหารแบบนี้อาจเกิดแค่ 1-3 ปี แล้วก็จะปรับขึ้นอีกในหลายปีต่อมา.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"