"บิ๊กตู่" ดอดเยี่ยมสถานที่กักตัวคนกลับจาก ตปท.-รอรับ 207 คนไทยจากออสเตรเลีย สั่ง จนท.ดูแลช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ข่าวดี ศบค.พบติดเชื้อเพิ่ม 15 ราย ไม่มีเสียชีวิต รักษาตัวเหลือเพียง 277 ราย ข่าวร้ายต้องติดเชื้อเป็นศูนย์ทั้งโลกจึงมั่นใจได้ วอนปรับตัวเข้าวิถีชีวิตใหม่ถึงต้นปีหน้าจนกว่าจะได้วัคซีน สธ.ห่วงยอดป่วยลดทำคนไทยสบายใจเกินไป พบวัยรุ่น 4% ไม่สวมหน้ากากแม้ไอจาม หวั่นแพร่เชื้อโรคได้ตลอดเวลา ลุ้นจุฬาฯ วิจัยวัคซีนสำเร็จสัปดาห์หน้าก่อนทดลองในคน "อนุทิน" โยนปลดล็อกอยู่ที่ ศบค.จะพิจารณา
เมื่อช่วงบ่ายวันอาทิตย์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะประธานศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ตรวจเยี่ยมสถานที่กักตัวที่รัฐจัดให้เพื่อตรวจดูความเรียบร้อยของระบบกักกันโรคโควิด-19 ที่โรงแรม Ramada รัชดาฯ
โดย พล.อ.ประยุทธ์ได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่และเจ้าของสถานที่ โดยมีรายงานว่าผู้พักที่โรงแรมดังกล่าวส่วนหนึ่งเดินทางมาจากเกาหลีใต้ ซึ่งมีการกักตัวก่อนเดินทางเข้ามา 21 วัน เมื่อมาถึงก็ไม่มีปัญหาด้านสุขภาพเพราะผ่านการคัดกรองมาแล้ว และทุกคนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ขณะที่นายกฯ กล่าวขอบคุณทั้งเจ้าหน้าที่และเจ้าของสถานที่ ที่ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการดูแลผู้ที่เข้ามาพำนักกักกันตัวที่นี่ หากมีปัญหาขอให้แจ้งพร้อมที่จะแก้ปัญหาให้ทันที พร้อมกับระบุด้วยว่า การคัดกรองจากต้นทางถ้าทำได้จริงน่าจะดีกว่า
จากนั้นนายกฯ เดินทางไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อรอรับคนไทยที่เดินทางกลับจากออสเตรเลียจำนวน 207 คน ประกอบด้วยนักเรียน นักศึกษา คนงาน นักท่องเที่ยวที่ตกค้างอยู่ ซึ่งเดินทางถึงไทยเวลา 16.20 น. พร้อมตรวจเยี่ยมการทำงานของเจ้าหน้าที่ การคัดกรอง ระบบตรวจคนเข้าเมือง โดยที่ผ่านมานายกฯ ได้สั่งให้กระชับเวลาการตรวจเข้าเมืองและการคัดกรองเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทางกลับ ซึ่งฝ่ายที่ดูแลและร่วมปฏิบัติการ เช่น สาธารณสุข, การท่าอากาศยานฯ, สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกลาโหม ได้รับไปดำเนินการว่าจะสามารถดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน ไม่เกิน 1 ชั่วโมง
ทั้งนี้ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ประกาศห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราวจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 ยกเว้นอากาศยานบางประเภท ซึ่งหนึ่งในข้อยกเว้นได้แก่ เครื่องบินเช่าเหมาลำที่นำคนไทยกลับประเทศ (Repatriation) และปฏิบัติตามมาตรการ Fit to Fly อย่างเข้มงวด โดยผู้ที่เดินทางกลับมาทั้งหมดนี้จะผ่านการตรวจคัดกรอง หากพบว่ามีไข้จะนำส่งโรงพยาบาลทันที หากปกติไม่มีไข้จะต้องเข้าสู่ระบบกักกันโรค หรือ State Quarantine ทุกคนเป็นเวลา 14 วัน
ในโอกาสนี้นายกฯ ได้รอรับคนไทยที่เดินทางกลับมาถึง พร้อมทั้งสอบถามเกี่ยวกับการเดินทางและสุขภาพระหว่างรอขั้นตอนการคัดกรอง และแจ้งว่าหากขาดเหลือมีปัญหาใดให้แจ้งเจ้าหน้าที่ได้ทันที ทุกคนพร้อมดูแลและช่วยเหลืออย่างเต็มที่
รักษาตัวเหลือเพียง 277 ราย
ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.แถลงว่า สถานการณ์ในประเทศไทยมีผู้ป่วยรายใหม่ 15 ราย แบ่งเป็นผู้มีประวัติใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ 4 ราย ไปในสถานที่ชุมชน แออัด ตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า สถานที่ท่องเที่ยวใน กทม. 3 ราย อาชีพเสี่ยงใน จ.นครปฐม 1 ราย ค้นหาเชิงรุกในชุมชน จ.ยะลา 2 ราย เดินทางกลับมาจากต่างประเทศและอยู่ในสถานที่กักตัวของรัฐ 5 ราย ในจำนวนนี้กลับมาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 4 ราย และเนเธอร์แลนด์ 1 ราย ยอดผู้ป่วยสะสม 2,922 ราย หายป่วยสะสม 2,594 ราย ถือเป็นวันแรกที่ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างรักษาตัวต่ำกว่า 300 ราย เหลือเพียง 277 ราย โดยไม่มีรายงานเสียชีวิตเพิ่มเติม ทำให้รายงานยอดผู้เสียชีวิตยังอยู่ที่ 51 ราย แม้ตัวเลขสรุปรายสัปดาห์จะค่อยๆ ลดลงมาตามลำดับเป็นเลขสองหลักจนเป็นที่น่าพอใจ แต่เราจะพยายามค้นหาเชิงรุกให้เจอในพื้นที่ที่มีการระบาดก่อนหน้านี้
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สถานการณ์ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อ 2,920,738 เสียชีวิต 203,355 ราย สถานการณ์ทั่วโลกถือว่ายังไม่น่าไว้วางใจ การบินหรือการติดต่อระหว่างประเทศปิดเกือบหมดทั่วโลก มีผู้เดือดร้อนเพราะไวรัสตัวนี้ทั่วโลก อย่างรอบบ้านเราสิงคโปร์ที่มีประสบการณ์คล้ายเราที่สถานการณ์เคยดีมาก่อน แต่มีการติดเชื้อจากกลุ่มแรงงานต่างด้าว และเขาพื้นที่เล็กทำให้การกระจายตัวเร็วขึ้น ซึ่งเราได้บทเรียนตรงนี้มาจึงเกิดการค้นหาเชิงรุกในกลุ่มแรงงานต่างด้าว ส่วนคนไทยที่จะเดินทางกลับจากต่างประเทศในวันที่ 26 เม.ย. มาจากออสเตรเลีย 207 คน วันที่ 27 เม.ย. ญี่ปุ่น 35 คน นิวซีแลนด์ 168 คน และเนเธอร์แลนด์ 25 คน ซึ่งเป็นการต่อเครื่องบินของคนไทยที่อยู่ในยุโรป
โฆษก ศคบ.กล่าวว่า สำหรับผลการปฏิบัติงานด้านความมั่นคงในช่วงเคอร์ฟิวคืนวันที่ 25 เม.ย.ต่อเนื่องเช้าวันที่ 26 เม.ย. มีผู้ฝ่าฝืนชุมนุม มั่วสุม 87 ราย เพิ่มขึ้นจากคืนก่อน 47 ราย โดยเป็นการดื่มสุรา เล่นพนัน และเสพยาเสพติด ออกนอกเคหสถานลดลงจากคืนก่อน 568 ราย จังหวัดที่มีการกระทำผิดมากที่สุด ได้แก่ ปทุมธานี รองลงมาคือ ระยอง, กรุงเทพฯ, ภูเก็ต, สมุทรปราการ, สงขลา, ชลบุรี, กระบี่, นครราชสีมา, นครปฐม และเชียงใหม่ และมี 18 จังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้กระทำผิดเลย ทั้งนี้ กลุ่มอายุที่กระทำผิดชุมนุมมั่วสุมอยู่ในช่วง 11-40 ปี เป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง แต่ช่วงอายุ 51-60 ปี เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่าสาเหตุมาจากการเล่นพนัน จึงฝากถึงพ่อบ้านให้เตือนไปยังแม่บ้าน เพราะถ้าติดเชื้อจะกระทบทั้งครอบครัว
ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังจากพบแรงงานต่างด้าวในศูนย์กักคนเข้าเมืองที่ อ.สะเดา จ.สงขลา ติดเชื้อจำนวนมาก รัฐบาลจะดูแลอย่างไร รวมถึงพื้นที่ที่แรงงานต่างด้าวรวมตัวกันมากที่ จ.สมุทรสาคร นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า หน้าที่หลักของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะใช้วิธีค้นหาเชิงรุก จะมีทีมระบาดวิทยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เข้าไปตรวจ และกรมอนามัยเข้าไปดูเรื่องความเป็นอยู่และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มีสุขอนามัยที่ดี ไม่เป็นแหล่งรังโรค เป็นเรื่องที่ สธ.คิดขึ้นมาทั้งระบบ แต่ที่สำคัญประชาชน แรงงานต่างด้าว และผู้ประกอบการต้องให้ความร่วมมือ ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ต้องเป็นผู้สังเกตอาการของตัวเอง หากมีอาการเหล่านี้ให้รีบแจ้ง เพราะคนที่เฝ้าระวังดีที่สุดคือคนในพื้นที่
ต้องปรับตัวถึงต้นปีหน้า
เมื่อถามว่า บางฝ่ายมองว่าชีวิตวิถีใหม่ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบเรื่องการทำมาหากินที่ยากขึ้น หากดีขึ้นมีโอกาสจะกลับไปใช้วิถีชีวิตแบบเดิมได้หรือไม่ นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า เข้าใจว่าท่านอยากกลับไปใช้วิถีชีวิตปกติ แต่ที่เรายังกลับไปปกติไม่ได้ อยากให้เข้าใจเรื่องสภาวการณ์การเกิดโรคนี้ เพราะเป็นโรคอุบัติใหม่ เพิ่งเกิดมา 3-4 เดือน เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ คนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อคือคนที่อยู่ในวัยทำงานและไม่มีอาการ เราไม่รู้ว่าใครติดเชื้อบ้าง เขายังเดินในสังคมตรงไหน ถ้าเรากลับไปใช้ชีวิตปกติเราจะมีโอกาสติดเชื้อจากคนเหล่านี้ได้มาก การแพร่ระบาดวันนี้แม้เราจะเจอหลักสิบ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราคุมมันได้ แม้จะเจอเป็นศูนย์ก็ต้องดูว่าต้องศูนย์นานเท่าไร และต้องศูนย์ทั้งโลกจึงจะมั่นใจได้ รอบบ้านเราตัวเลขยังทะยานขึ้นเกือบทุกประเทศ เชื้อในอากาศเต็มไปหมด ถ้าใช้วิถีเดิมเรามีโอกาสจะกลับมาระบาดใหม่ได้ ที่เราลงทุนไปในช่วงหลายเดือนก็แทบจะไม่ช่วยอะไร จะเป็นศูนย์ทันทีทันใด
"เวลาจะกลับไปสู่ภาวะปกติต้องใช้เวลานานพอสมควร การจะกลับมาได้คือ 1.ต้องมียารักษาให้หาย ไม่ใช่แค่ระงับยับยั้ง หรือต้าน หรือไม่ให้โรคกำเริบ ซึ่งไม่เพียงพอ และ 2.มีวัคซีน ซึ่งถ้ามีวัคซีนการแพร่ระบาดของโรคจะจบลงตรงนั้น เท่าที่ได้รับทราบข้อมูลล่าสุดคือต้นปีหน้า เราจึงต้องใช้เวลาระหว่างนี้ในการควบคุมโรคให้ได้ ปรับพฤติกรรมให้ได้ ช่วงแรกหลายประเทศก็ไม่ยอมปรับตัว แต่พอตัวเลขขึ้นเป็นหลักหมื่นหลักแสนก็ออกมาตรการคล้ายกับเรา แต่เราออกก่อนเราเลยมีตัวเลขไม่สูงเท่าเขา ถ้าออกช้าคงไม่ต่างกัน ดังนั้นถ้าเรายกเลิกเร็วก็จะกลับไปเหมือนต่างประเทศ การ์ดตกเมื่อไหร่สิ่งที่ลงทุนไปเป็นศูนย์ทันที"
นพ.ทวีศิลป์กล่าวด้วยว่า วันที่ 26 เม.ย.ถือว่าครบรอบ 1 เดือนของการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เชื่อว่าสิ่งที่ออกมาได้รับความร่วมมือจากประชาชน ชุดข้อมูลทำให้เข้าใจสถานการณ์ เราเผชิญสถานการณ์ร่วมกัน ไม่ใช่แค่รัฐ บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องรับผิดชอบ แต่เราทุกคนต้องร่วมมือ ซึ่งพิสูจน์มาแล้วในรอบ 1 เดือน เราทุกคนต้องประคองสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง การ์ดต้องไม่ตก เราปรับตัวเข้าสู่สภาวะการติดเชื้อได้อย่างดี จึงขอให้ทุกคนใช้เวลาตอนนี้ปรับตัวไปเรื่อยๆ ความสามารถของมนุษย์ทำให้เราคงอยู่ของเผ่าพันธุ์ได้หลายล้านปี สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นวิกฤติและหายนะ แต่เราจะปรับตัวได้ตลอดและก้าวผ่านวิกฤติไปได้ด้วยกัน
ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า วันนี้ข่าวดีคือมีผู้ป่วยรักษาหาย 47 ราย รวมรักษาหาย 2,594 หรือคิดเป็นร้อยละ 90 ส่วนผู้ป่วยรายใหม่ 15 ราย ซึ่งจะเห็นว่าขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงที่ประชาชนเริ่มผ่อนคลายจากการที่ผู้ป่วยลดลง มีการเดินทางมากขึ้น ดังนั้นสิ่งสำคัญที่เราต้องคำนึงคือการป้องกันโรค ที่น่าเป็นห่วงกรมควบคุมโรคได้ทำการสำรวจความเห็นประชาชนมา 5 ครั้ง ซึ่งครั้งล่าสุดทำเมื่อประมาณ 2-3 วันที่ผ่านมา โดยถามว่าถ้ามีอาการป่วย ไข้ ไอ จาม จะสวมหน้ากากอนามัยหรือไม่ พบว่ามี 4% ที่ตอบว่าจะไม่สวม ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น อาจจะเพราะความผ่อนคลายจากจำนวนผู้ป่วยลดลง และอาจจะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว เพราะส่วนใหญ่ถ้าวัยรุ่นติดเชื้ออาการจะไม่รุนแรง
ลุ้นจุฬาฯ พัฒนาวัคซีนสำเร็จ
"แต่ต้องย้ำให้เข้าใจกันว่า โรคระบบทางเดินหายใจนั้นสามารถกลับมาระบาดได้ตลอดเวลา ยิ่งตอนนี้คนเริ่มกลับมาทำงานแล้ว การเว้นระยะห่างระหว่างกันอาจจะทำได้ลำบากขึ้น เพราะฉะนั้นการสวมหน้ากากเป็นเรื่องที่สำคัญมากในการป้องกันโรค แม้ผลสำรวจจะเห็นว่าคนส่วนใหญ่จะสวมหน้าหน้ากาก แต่เรายังต้องการความร่วมมือจากทุกคน ถ้าเรายังไม่ตระหนัก จาก 4% ที่ไม่สวมหน้ากาก อาจจะขยายวงกว้างขึ้น" นพ.โสภณกล่าว
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย ดร.พิไลลักษณ์ อัคคไพบูลย์ โอกาดะ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชำนาญการพิเศษ แถลงความคืบหน้าผลการตรวจแล็บทั่วประเทศและการถอดรหัสพันธุกรรมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดย นพ.โอภาสกล่าวว่า ธรรมชาติของเชื้อไวรัสสามารถกลายพันธุ์ได้ตลอดเวลา แต่ช้ากว่าไข้หวัดใหญ่ จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่าไวรัสโคโรนา 2019 กลายพันธุ์น้อยมาก ยังไม่มีนัยสำคัญว่าการกลายพันธุ์ทำให้เชื้อรุนแรงขึ้นหรือติดง่ายขึ้น ขณะนี้เราเพิ่งนำเชื้อจากผู้ป่วยมาตรวจสอบและวิเคราะห์เพียง 20 ตัวอย่างและกำลังจะวิเคราะห์ให้ครบ 40 ตัวอย่าง โดยคณะผู้วิจัยทั้งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รพ.ศิริราชจะพยายามศึกษาติดตามถอดรหัสพันธุกรรมให้มากที่สุดเพื่อติดตามความรุนแรงต่อไป
"สำหรับความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้มีหลายมหาวิทยาลัยกำลังพัฒนา เช่น จุฬาฯ ได้มีการทดสอบในสัตว์ และได้ส่งตัวอย่างเลือดของสัตว์มาให้กรมวิทยาศาสตร์ฯ ตรวจวิเคราะห์ว่าเลือดดังกล่าวสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันขึ้นหรือไม่ คาดว่าจะทราบผลในสัปดาห์หน้า ซึ่งหากภูมิคุ้มกันขึ้นก็จะสามารถนำไปสู่กระบวนการทดสอบในคนต่อไป นอกจากนี้ในส่วนของ รพ.ศิริราชที่ได้ขอให้กรมวิทยาศาสตร์ฯ เพาะเชื้อเพิ่มนั้น ก็ได้รับตัวไปพัฒนาวัคซีนแล้ว อยู่ระหว่างการทดลองหากมีความคืบหน้าก็จะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง" นพ.โอภาสกล่าว
ดร.พิไลลักษณ์กล่าวว่า ไวรัสโควิด-19 คุณสมบัติการจับตัวกับมนุษย์มีความแตกต่างกับไวรัสโรคซาร์ส ทำให้การก่อโรคต่างกัน ในปัจจุบันมีการแบ่งสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็น 3 สายพันธุ์ คือ ไทป์ S, G และ V โดยประเทศไทยสายพันธุ์ที่พบหลักๆ คือ ไทป์ S แต่สายพันธุ์ S, G และ V มีความแตกต่างกันเพียง 1 ตำแหน่งเท่านั้น ซึ่งยังไม่แสดงผลว่ามีการก่อโรคที่แตกต่างกัน ดังนั้นการศึกษาต่อๆ ไปจากที่เราศึกษา 40 ราย จะถอดรหัสพันธุกรรมเพิ่มจนครบ 100 ราย เพื่อดูการกระจายตัวและดูสายพันธุ์ที่เปลี่ยนแปลงไปต่อ โดยอนาคตจะร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลและสภากาชาดไทย
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีการเตรียมปลดล็อกบ้านเมืองว่า เรื่องนี้หน่วยงานที่ออกนโยบายหลักคือรัฐบาล หรือ ศบค. ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเป็นเพียงหนึ่งขาที่จะนำเสนอมาตรการต่างๆ ให้นายกรัฐมนตรีได้พิจารณาร่วมกับข้อเสนอของขาอื่นๆ ด้วย ทั้งความมั่นคง เศรษฐกิจ และคมนาคม เป็นต้น กระทรวงสาธารณสุขเป็นหนึ่งในนั้นที่จะเสนอเรื่องการแพทย์ การพยาบาล และการเฝ้าระวังต่างๆ ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนที่จะต้องทำและต้องรายงานเสนอไปยังผู้กำหนดนโยบายต่อไป
เรือนจำปลอดโควิด
ส่วนกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติตัดงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ "บัตรทอง" นั้น นายอนุทินกล่าวย้ำว่าเรื่องนี้เรียบร้อยแล้ว เมื่อวานนี้ทำเนียบรัฐบาล โฆษกรัฐบาล ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณชี้แจงชัดเจนแล้วว่าไม่มีการแตะสิทธิ์ใดๆ ของประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องของการบริหารจัดการภายใน การบริหารบัญชี ประชาชนไม่ต้องกังวล ไม่มีสิทธิ์ใดๆ ของประชาชนแม้แต่นิดที่ถูกนำออกไป ขอให้เชื่อมั่นในระบบการสาธารณสุขของประเทศนี้ไม่มีใครไปแตะต้องอยู่แล้ว
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เปิดเผยความคืบหน้าการป้องกันเชื้อโควิด-19 ในเรือนจำว่า เวลานี้ในเรือนจำยังเป็นพื้นที่ปลอดเชื้อ เพราะที่ผ่านมาได้กำชับกรมราชทัณฑ์ รวมถึงให้มีแนวทางการป้องกันและการกักเชื้อให้ได้มาตรฐาน ใส่ใจผู้ต้องขัง เพราะหากเชื้อไวรัสหลุดเข้าเรือนจำจะส่งผลเสียอย่างมาก ตอนนี้ก็ทำได้ดี มีการคัดกรองนักโทษแรกรับต่อวันมากมาย แต่ก็ไม่มีเชื้อหลุดรอดเข้าไป ถือว่าทุกคนทำงานได้ดีไม่ประมาทละเลย และมาตรการนี้จะไม่ลดหย่อนลงจนกว่าจะมั่นใจได้ว่าเชื้อไวรัสโควิดหมดไปจากประเทศไทยจริงๆ ขณะนี้ตัวเลขสะสมผู้ติดเชื้อมีไม่ถึง 10 ราย โดยเรามีผู้ต้องขัง 380,000 คน สะท้อนความแข็งขันจึงไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง
พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม (กห.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 เม.ย. เวลา 09.00 น. พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม และ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม ได้ไปตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กห. และประชุมร่วมกับเหล่าทัพเพื่อติดตามการบริหารจัดการมาตรการกักตัวควบคุมโรคของรัฐ (State Quarantine) ที่ศาลาว่าการกลาโหม สรุปภาพรวมสัปดาห์หน้าระหว่าง 26-30 เม.ย.จะมีคนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศ ผ่านท่าอากาศยานนานาชาติจำนวน 1,071 คน จากออสเตรเลีย 207 คน ญี่ปุ่น 35 คน เนเธอร์แลนด์ 25 คน สเปน 42 คน อินเดีย 601 คน รวมทั้งนิวซีแลนด์ 168 คน ซึ่งมีเด็กกว่า 50 คน โดยทั้งหมดจะทยอยเดินทางเข้ามาผ่านกระบวนการคัดกรองและเข้าพักในสถานที่ที่กำหนดตามมาตรการควบคุมโรคแห่งรัฐ
พล.อ.ชัยชาญได้ย้ำให้ทุกเหล่าทัพประสานกับทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันทำหน้าที่ให้ดีที่สุดและเป็นที่เชื่อมั่นร่วมกัน ในการดำเนินการอย่างเข้มข้นตามมาตรการคัดกรองทั้งจากด่านชายแดนและท่าอากาศยานนานาชาติ ต่อเนื่องไปถึงมาตรการดูแลกักกันควบคุมโรคของรัฐทุกสถานที่ที่จัดตั้งขึ้นอย่างมีมาตรฐานต่อเนื่องกันไป
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ให้ประสานการดำเนินการกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ที่ทำการปกครองจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการให้ความช่วยเหลือคนเร่ร่อนไม่มีที่อยู่อาศัยและคนตกงานที่มาจากจังหวัดอื่น โดยให้จัดอาหารให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต พร้อมทั้งดำเนินการตามมาตรการคัดกรองโรค และหากพบว่าเป็นบุคคลต้องสงสัยว่าเป็นผู้ป่วยเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังให้ดำเนินการตามแนวทางของ สธ. รวมทั้งดำเนินการหาแนวทางช่วยเหลือคนตกงานกลับภูมิลำเนา โดยสำรวจข้อมูลและสำรวจปัญหาความต้องการของคนเร่ร่อนเพื่อนำไปสู่การแก้ไขต่อไป
พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคภูมิใจไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์วิกฤติซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ ในส่วนของพรรคภูมิใจไทยที่มีรัฐมนตรีเป็นทัพหน้าเพื่อดูแลทุกข์สุขประชาชนทั้ง 7 ด้าน ทั้งด้านสาธารณสุข คมนาคม การท่องเที่ยวและกีฬา เกษตร เศรษฐกิจการค้า การศึกษา และท้องถิ่น ภายใต้การกำชับของนายอนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย รัฐมนตรีทุกคนต่างทำหน้าที่ทั้งทางด้านนโยบายและการลงพื้นที่เพื่อดูแลช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างต่อเนื่อง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |