อย่าลืมดูแลธุรกิจรายย่อย


เพิ่มเพื่อน    

 

          เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า รัฐบาลเตรียมจะคลายล็อกให้ธุรกิจบางประเภทกลับมาประกอบธุรกิจได้อีกครั้ง ซึ่งต้องยอมรับว่ามาตรการปิดเมือง หรือล็อกดาวน์ จำกัดกิจกรรม ไม่ใช่แผนที่จะสามารถจัดการได้อย่างระยะยาว เพราะมันกระทบหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาทางเศรษฐกิจและปากท้อง

                ดังจะเห็นว่า ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา มีข่าวการฆ่าตัวตายจากพิษเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น และการล็อกดาวน์แม้ว่าจะเป็นวิธีที่คุมการระบาดได้ดีที่สุด แต่มันก็มีดาบสองคมเช่นกัน   เพราะมันไปสร้างปัญหาเศรษฐกิจตามมา และหากมีการล็อกดาวน์ไปมากกว่านี้ ก็คงจะได้เห็นบรรดาธุรกิจเอสเอ็มอีระดับฐานรากล้มครืนไปอีกเยอะเลยทีเดียว

                ต้องไม่ลืมว่า ในปัจจุบันคนไทยมีการออมในครัวเรือนที่น้อยมาก โดยข้อมูลจากที่สำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า คนส่วนใหญ่ไม่น่าจะมีเงินออมใช้ได้เกิน 1 เดือน หรือจากข้อมูลจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ก็ระบุว่า คนไทย 20% มีเงินออมไม่เกิน 1 เดือน 45% ไม่เกิน 3 เดือน และ 34% มีเงินออมถึง 6 เดือน ดังนั้นหากต้องตกงานจากวิกฤติที่ไม่คาดฝัน อย่างการระบาดของไวรัสโควิด-19 เมื่อพิจารณาจากคนไทย 38 ล้านคนที่มีงานทำ จะมีอยู่ 8 ล้านคนที่มีความเสี่ยงสูงเพราะไม่สามารถประคองชีวิตได้เกิน 1 เดือน

                ดังนั้น การปิดงาน 1 เดือนที่ผ่านมา ก็นับได้ว่าส่งผลกระทบแบบเต็มๆ ไปยังกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อย ยังไม่นับรวมที่ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนของไทยปีที่แล้วสูงถึง 80% ของ GDP ซึ่งเป็นระดับที่สูงอันดับต้นๆ ของเอเชีย นั้นก็หมายความว่านอกจากไม่มีเงินออม ยังมีภาระหนี้สินมารุงรังอีก

                งานนี้ถือว่ายากลำบากทีเดียว เพราะตอนนี้มีเอสเอ็มอีจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะกลุ่มร้านอาหาร สถานบริการ และ การท่องเที่ยว ซึ่งจะต้องพึ่งเม็ดเงินจากการเปิดกิจการ ก็มีแววที่จะล้มสูงมาก เนื่องจากมีผู้ประกอบการจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ซอฟต์โลนดอกเบี้ยต่ำได้ เนื่องจากหลายธุรกิจไม่ได้มีทรัพย์สิน เป็นที่ดิน มีเพียงสัญญาเช่า สำหรับการดำเนินกิจการ ซึ่งก็ติดเงื่อนไขในการขอสินเชื่อธนาคาร ที่ไม่มีหลักประกันเพียงพอมาขอกู้ยืมเงิน ซึ่งเชื่อว่าจะมีผู้ประกอบการจำนวนมากที่เจอปัญหานี้

                แถมสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ก็ยังไม่ได้คลี่คลาย ทั่วโลกยังมีการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อรายวัน ซึ่งต้องยอมรับว่า แม้จะเปิดให้บริการแล้ว ก็ยังไม่มีอะไรการันตีว่า ธุรกิจจะกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ เพราะตัวประชาชนเองก็ย่อมระมัดระวังตัวในการไปในจุดเสี่ยงอยู่แล้ว

                ต้องไม่ลืมว่า ธุรกิจเหล่านี้ถือเป็นกลุ่มที่มีการจ้างงานจำนวนมาก และเป็นการจ้างงานกลุ่มคนฐานราก ที่ไม่ได้เป็นแรงงานฝีมือ ดังนั้นถ้ากลุ่มธุรกิจเหล่านี้ปิดตัวลง จะส่งผลกระทบต่อปัญหาการว่างงานจำนวนมาก

                ดังนั้น นอกจากการคลายล็อก ด้วยการจัดระเบียบการให้บริการ และการทำความสะอาดแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การต่อลมหายใจให้กับธุรกิจด้วย เพราะเชื่อแน่ว่าจะมีผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบและตกหล่นการได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มสถานบริการที่เป็นสัญญาเช่า ซึ่งไม่มีหลักประกัน ภาครัฐจะต้องดูแนวทางกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ด้วย จะทำอย่างไรให้เข้าถึง เงินเข้ามาเติมสภาพคล่องหล่อเลี้ยงธุรกิจ ให้ผ่านช่วงเวลานี้ไปให้ได้

                สุดท้ายนี้ก็คงจะต้องรอการตัดสินใจสุดท้ายของรัฐอีกครั้งว่า หลังจากเสร็จสิ้นการล็อกดาวน์ในวันที่ 30 เมษายนนี้แล้ว จะอนุญาตให้เปิดกิจการของธุรกิจไหนบ้าง และมีมาตรการในการควบคุม อย่างไรให้เปิดให้บริการได้ แต่ขณะเดียวกันผู้มาใช้บริการก็มีความปลอดภัยด้วย

            ซึ่งแน่นอนตอนนี้รัฐบาลคงมีโมเดลผลการศึกษาหลายๆ อย่างมาใช้ในการตัดสินใจแล้ว ก็หวังว่าการปลดล็อกแบบมีการบริหารจัดการ จะช่วยให้ไทยเราไม่ต้องไปติดบ่วงวิกฤติเศรษฐกิจครั้งต่อไป. 

 

ลลิตเทพ  ทรัพย์เมือง


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"