26 เม.ย. 2563 นายวิษณุ ดันนอก หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสามัคคีไทย ได้นำเสนอมุมมองผ่านเพจของพรรคสามัคคีไทย ว่า จากนี้ไปมหาวิทยาลัยทั้งรัฐบาลและเอกชนจำเป็นต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน ด้วยบริบททางสังคมที่เปลี่ยนไป ซึ่งเรื่องที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในช่วง Social Distancing คือรูปแบบการเรียนการสอนออนไลน์ แต่สำหรับประเทศไทยเมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศแล้ว ตนมองว่ายังไม่เป็นที่นิยมมากนัก แต่ก็ยังพอมีให้เห็นบ้าง เช่น มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นต้น และเนื่องจากมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ยังไม่มีการออกแบบหลักสูตรที่อยู่ในรูปแบบการเรียนทางไกลหรือการเรียนออนไลน์ จึงทำให้ช่วงหลายปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยไทยต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายสูง จากการที่เปิดหลักสูตรแต่มีคนเรียนน้อย หรือไม่มีคนมาเรียนเลย จนทำให้บางหลักสูตรหรือบางมหาวิทยาลัย ต้องปิดตัวลง และต้องปล่อยให้เป็นมหาวิทยาลัยร้างไป
สถาบันการศึกษาและมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างๆ ทั่วโลกจึงหันมาให้ความสนใจการรูปแบบการเรียนการสอนระยะไกล และเพิ่มหลักสูตรที่อยู่ในรูปแบบของการเรียนออนไลน์ (online learning) ที่มีต้นทุนต่ำมากขึ้น เพื่อรับพฤติกรรมในการเรียนที่เปลี่ยนไปของผู้คน ตัวอย่างของมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกที่ได้มีการดำเนินการและเปิดการเรียนการสอนมาก่อนหน้านี้ เช่น edX ศูนย์การเรียนรู้ออนไลน์ที่โด่งดังมากที่สุดในโลก จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2012 โดยมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และ MIT ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ที่ใครก็ได้สามารถเรียนรู้ได้อย่างอิสระ มีความแตกต่างจาก e-learning แบบเดิม ๆ และ สามารถเข้าถึงได้ง่ายสำหรับทุกคน มีหลักสูตรมากกว่า 300 หลักสูตร ซึ่งแบ่งเป็น 2 แบบ คือ แบบฟรี และเสียเงิน แต่ที่สำคัญมีใบรับรองสามารถยื่นสมัครทำงานได้ และที่ MIT เองมีระบบเก็บหน่วยกิตที่เรียกว่า “MicroMasters” ที่สามารถเรียนออนไลน์เพื่อเอาใบประกาศไปสมัครเรียนและเก็บหน่วยกิตให้ครบในสาขาวิชานั้นๆได้
นายวิษณุ กล่าวต่ออีกว่า ที่ผ่านมาแนวคิดการเรียนออนไลน์ อาจจะยังเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างใหม่สำหรับคนไทย แต่จากการระบาดของโควิด-19 และการเกิดสภาวะ “Social distancing” หรือที่เรียกกันว่าการเว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้คนมีการใช้ชีวิตเป็นส่วนตัวมากขึ้น และจะไม่ยอมเจอใครหากไม่มีความจำเป็นจริงๆ จากเหตุการณ์นี้เองจะส่งผลให้คนเลือกการศึกษาที่เป็นออนไลน์มากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการออกจากนอกบ้าน ยิ่งปัจจุบันในสภาวะที่ต้องเผชิญกับโรคระบาด ทั้งผู้เรียน และผู้สอน รวมถึงตัวมหาวิทยาลัยเอง ต่างได้เห็นแล้วว่าการศึกษาออนไลน์ตอบโจทย์กับชีวิตมากที่สุด
ดังนั้นคงไม่ผิดนัก หากจะพูดว่าการระบาดของโควิด-19 ได้กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นและโอกาสสำคัญในการจัดการเรียนการสอนระดับมหาวิทยาลัยแบบจริงจังในประเทศไทย เพราะแม้วันหนึ่งวิกฤตโควิด-19 จะต้องผ่านไป แต่ตนคิดว่าปัญหาการขาดทุนและไม่มีคนเรียนของมหาวิทยาลัยยังคงอยู่กับเราต่อไป เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว สิ่งที่รัฐบาลและมหาวิทยาลัยต้องทำ คือการเพิ่มจำนวนหลักสูตรการเรียนการสอนแบบออนไลน์หรือการเรียนแบบผสมผสาน หรืออาจจะทำงานไปและเรียนไปพร้อมกันได้ เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกในการเข้าถึงหลักสูตรของมหาวิทยาลัยและแก้ปัญหามหาวิทยาลัยไม่มีคนเรียน
นายวิษณุ กล่าวเสนอทิ้งท้ายว่า การเรียนออนไลน์นอกจากจะช่วยการแก้ปัญหามหาวิทยาลัยขาดทุนและไม่มีคนเรียนแล้ว ยังเป็นการช่วยมหาวิทยาลัยให้ตอบโจทย์แนวคิด “Life long learning” หรือที่เรียกว่าการศึกษาตลอดชีวิตที่ได้รับการพูดถึงอย่างมากในแวดวงการศึกษาปัจจุบัน ดังนั้นด้วยวิกฤตโควิด-19 ที่ช่วยสร้างความคุ้นเคยให้กับทั้งนักศึกษาและอาจารย์กับการเรียนการสอนแบบออนไลน์ รวมถึงเครื่องมือต่างๆ ไม่มากก็น้อย ตอนนี้จึงถึงเวลาแล้วที่มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวอย่างจริงจัง โดยรัฐบาลต้องเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดขึ้น รวมทั้งส่งเสริม พัฒนา ศึกษา และวิจัย เรื่องการออกแบบหลักสูตรเพื่อรองรับกับ “Life long learning” และการเรียนการสอนแบบออนไลน์ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ตลอดเวลา ซึ่งถ้าหากทำได้ การใช้ทรัพยากรทางการศึกษาก็จะมีต้นทุนที่ต่ำ ค่าใช้จ่ายลดลง และยังทำให้มีคนเรียนมากขึ้น เพราะทุกคนสามารถเรียนได้ตลอดชีวิต ศิษย์เก่ากลับมาเรียนได้ คนทั่วไปมาเรียนได้ คนทำงานมาเรียนได้ จะส่งผลทำให้มหาวิทยาลัยอยู่ได้ในอนาคต แต่ที่สำคัญคือต้องบริหารจัดการให้มีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพ โดยหลักสูตรต่างๆ ที่เกิดขึ้นต้องตอบโจทย์กับอาชีพ และความต้องการของตลาด สามารถนำไปใช้ได้จริง จับต้องได้ด้วย
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |