การสั่งซื้ออาหารเดลิเวอรี่ช่วงกักตัวอยู่บ้าน ส่งผลปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้ม
ขยะพลาสติกจากบริการฟู้ดเดลิเวอรี่ที่เพิ่มขึ้น 15% จากปริมาณปกติ 5,500 ตันต่อวัน พุ่งเป็น 6,300 ตันต่อวัน ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 กำลังส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพราะขยะพลาสติกเพียงน้อยนิดเท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิล ที่เหลือถูกนำไปเผาก่อมลพิษทางอากาศ ส่วนใหญ่จะตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม และหลุดลอดเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศ มลพิษพลาสติกเหล่านี้ถือเป็นภัยคุกคามมนุษย์และสิ่งมีชีวิต หากไม่เร่งจัดการหรือลดปริมาณลง จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาขยะของบ้านเรา
เพราะจากข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา มีขยะพลาสติกเกิดขึ้นโดยเฉลี่ยปีละ 2 ล้านตัน มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์ประมาณ 0.5 ล้านตัน ส่วนที่เหลือ 1.5 ล้านตัน เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single Use Plastic) โดยไม่มีการนำกลับ ไปใช้ประโยชน์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างน่าเสียดาย
โครงการ“ส่งพลาสติกกลับบ้าน” เป็นอีกแนวทางรับมือวิกฤตขยะจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ร่วมกับเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (TRBN) เปิดตัวขึ้น เป้าหมายสำคัญเพื่อฝึกวินัยจากต้นทางในบ้าน แยกพลาสติกใช้ครั้งเดียว และขยะอันตราย ออกจากขยะทั่วไปๆ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงให้พนักงานเก็บขยะ และส่งขยะพลาสติกและวัสดุอื่นๆ เข้าสู่ระบบรีไซเคิล หรืออัพไซเคิล ลดปริมาณขยะ และทำให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นไปได้จริง
วราวุธ ศิลปอาชา รมว.กระทรวงทรัพย์ฯ กล่าว จากรายงานของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ล่าสุด พบว่า ขยะเพิ่มปริมาณขึ้น โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 15% จากการใช้บริการรับส่งอาหารที่มากขึ้นถึง 3 เท่า เนื่องจากคนส่วนใหญ่ทำงานจากที่บ้านและการหยุดโรงเรียน นอกจากนี้ ข้อมูลจากกรุงเทพมหานครยังระบุถึงขยะอาหารและขยะหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วเพิ่มขึ้นถึง 1,500 กิโลกรัมต่อวัน ปริมาณขยะเป็นเรื่องของวิกฤติซ้อนวิกฤติและต้องมีการเร่งรับมือ โดยการดำเนินการจัดการอย่างมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน ภาครัฐ และภาคเอกชน มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะแก้ไขปัญหานี้ ทส. อยากขอให้ประชาชนและผู้ประกอบการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกเท่าที่มีความจำเป็น ลดขยะพลาสติกและแยกขยะเพื่อนำกลับมารีไซเคิล ส่วนขยะอาหารและขยะหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว ขอประชาชนแยกขยะก่อนทิ้ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อให้กับพนักงานเก็บขยะและลดภาระบ่อฝังกลบ หากมีความจำเป็นต้องใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง อยากให้คัดแยกขยะเพื่อนำขยะกลับมารีไซเคิลเพื่อสร้างประโยชน์ใหม่อย่างมีคุณค่า
สำหรับโครงการ“ส่งพลาสติกกลับบ้าน” วราวุธ กล่าวว่า เกิดจากแนวคิดว่า ทุกครัวเรือน คือ ต้นทางที่สามารถมีส่วนรวมในการลดและจัดการกับปัญหาปริมาณขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือ single use plastic ที่เพิ่มขึ้นนี้ได้ง่ายๆ และทำได้ทันที ระยะแรกเป็นการรณรงค์ให้ครัวเรือนร่วมกันแยกขยะติดเชื้อและรีไซเคิลออกจากขยะทั่วไป ในระยะต่อไป ช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนที่จะถึง โครงการนี้จะดำเนินการโมเดลนำร่องระบบ “การเรียกคืนขยะพลาสติก”บนถนนสุขุมวิท เพื่อลดปริมาณขยะอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยใช้พื้นที่ดิสเคาน์สโตร์ ซูเปอร์มาร์เกต เช่น เทสโก้ โลตัส สาขาอ่อนนุช และกูร์เมต์ มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้าเอ็มควอเทียร์ ฯลฯ เป็นจุดรับขยะพลาสติกสะอาดและแห้งจากผู้บริโภค เพื่อเข้าสู่เครือข่ายผู้ให้บริการและขนส่งทรัพยากรไปยัง “Waste hub” และเข้าสู่ขั้นตอนการรีไซเคิล (recycle)ไปจนอัพไซเคิล (upcycle) หวังว่าโครงการจะสามารถขยายผลโมเดลการเรียกคืนขยะพลาสติกไปสู่ถนนอื่นๆ รวมถึงการมีพันธมิตรมากขึ้นในการดำเนินการในอนาคต
ขยะที่บ้านจัดการได้ง่ายๆ ชวนคัดแยกขยะช่วงวิกฤตโควิด
ด้าน พิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (TRBN) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในขณะนี้ ทำให้ปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มมากขึ้นจากธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ ทั้งกล่องพลาสติกใส่อาหารสำเร็จรูป ช้อนส้อมพลาสติก แก้วพลาสติก หลอดดูดที่ใช้เครื่องดื่ม และถุงพลาสติกใส่อาหาร ผลพวงจากที่ต้องกักตัวอยู่บ้าน สั่งซื้ออาหารมาทาน นอกจากนี้ พบว่า ปริมาณขยะเศษอาหารหรือขยะเปียกถูกทิ้งปะปนมากับขยะทั่วไปมีปริมาณเพิ่มขึ้น รวมถึงขยะติดเชื้อประเภทหน้ากากอนามัย ทำให้ช่วงโควิดขยะที่ควรถูกนำไปรีไซเคิล ไม่ได้รับการคัดแยก เพราะพนักงานเก็บขยะมีความเสี่ยงติดเชื้อโรค ทำให้ขยะปนเปื้อนทั้งหมดถูกนำไปทิ้งรวมกันที่หลุมฝังกลบ จึงมีแนวคิดทำโครงการ”ส่งพลาสติกกลับบ้าน” เพื่อรับมือโควิด ในช่วงนี้ที่หลายคนอยู่บ้าน ทำงานจากบ้าน อยากให้ยกระดับความสำคัญการจัดการขยะในครัวเรือน สิ่งนี้ทำได้ไม่ยาก
ผอ.TRBN กล่าวต่อว่า วิธีการจัดการขยะ แบ่งเป็นขยะรีไซเคิล จากกลุ่มบรรจุภัณฑ์ ภาชนะของฟู้ดเดลิเวอรี่ เราต้องกำจัดเศษอาหาร ล้างน้ำให้สะอาด ตาก และเช็ดให้แห้ง จากนั้นนำมาใส่ถุง ติดป้าย ถัดมาขยะทั่วไป พวกวัสดุปนเปื้อน เช่น กระดาษชำระ ถุงสกปรก กล่องสกปรก ถัดขยะติดเชื้อกลุ่มหน้ากากอนามัย ให้ตัด มัด ใส่ถุงและติดป้ายบ่งชี้ให้ชัดเจน ทำแบบนี้ยังช่วยปกป้องชีวิตคนเก็บขยะ ถ้าทุกบ้านคัดแยก ขยะรีไซเคิลจะไปโรงงานรีไซเคิล เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ นำกลับไปยังผู้บริโภค ขยะทั่วไปไปบ่อฝังกลบ ขยะอันตรายไปโรงงานเผาขยะติดเชื้อ
“ ช่วงวิกฤตโควิด ไม่เพียงส่งผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคม แต่กระทบสิ่งแวดล้อม อยากใช้โอกาสนี้มีผลต่อการเกิด New Normal หรือพฤติกรรมใหม่ ก็คือ รูปแบบการจัดการขยะในครัวเรือนและสังคมไทย ช่วยให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้นจริง มีการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง จนถึงปลายทาง รวมทั้งการสร้างเครือข่ายความร่วมมือภาครัฐ ภาคเอกชน ปัจจุบันนี้องค์ความรู้ในการจัดการขยะมีเพียงพอแล้ว ทั้งประเภทขยะ วิธีการคัดแยก ทุกคนต้องร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลง ผู้ประกอบการธุรกิจพลาสติกก็มีหน้าที่พัฒนาพลาสติกให้ดีขึ้น สามารถรีไซเคิลได้หลายครั้ง เทคโนโลยีรีไซเคิลก้าวไกล แต่ผู้บริโภคต้องร่วมมือส่งพลาสติกกลับบ้าน ส่วนโมเดลนำร่องระบบ “การเรียกคืนขยะพลาสติก”จะเริ่มบนถนนสุขุมวิท เพราะภาคเอกชนบนถนนเส้นนี้พร้อมมีส่วนร่วมสร้างการพัฒนา New Normal ที่นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนขึ้น เมื่อได้บทเรียน องค์ความรู้ ข้อมูลของผู้บริโภค กลุ่มซาเล้ง รวมถึงศูนย์รีไซเคิลแล้วจะขยายผลต่อ นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น “ พิมพรรณ กล่าวทิ้งท้าย