ซูเปอร์โพลเผยผลสำรวจประชาชนพอใจ "รัฐบาล-บิ๊กตู่" ทุ่มเทแก้ปัญหาโควิด-19 ได้ดีเยี่ยมเมื่อเทียบกับประเทศอื่น โดนใจมาตรการลดค่าใช้จ่าย แต่ "ธนาธร" ไม่พอใจ ถล่มแหลก "คุณประยุทธ์" เอาแต่รักษาอำนาจ เอาชนะทางการเมือง ประเทศไม่กลับสู่ประชาธิปไตย ลั่นถ้าได้เป็นรัฐบาลแก้ปัญหาไวรัสระบาดได้ดีกว่ารัฐบาลนี้แน่
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง อะไรโดนใจประชาชน ช่วงโควิด-19 กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินการเก็บข้อมูลแบบผสมผสาน (Mixed Method) ทั้งการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ การลงพื้นที่ และการเก็บข้อมูลในโลกโซเชียล ทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,358 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 20-24 เมษายน พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา
เมื่อถามถึงการทุ่มเททำงานของรัฐบาลแก้ปัญหาโควิด-19 เปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.3 ระบุรัฐบาลทุ่มเททำงานค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 32.7 ระบุค่อนข้างน้อยถึงไม่ทุ่มเทเลย
ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึงการทำงานของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เปรียบเทียบกับผู้นำประเทศอื่นๆ ในการรับรู้ของประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.3 ระบุนายกรัฐมนตรีของไทย ทำงานได้ดี ดีมาก ดีเยี่ยม ในขณะที่ร้อยละ 36.7 ระบุไม่ค่อยดี ดีน้อย ไม่ดีเลย
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงอะไรโดนใจประชาชน แก้ปัญหาได้ดี ช่วงวิกฤติโควิด-19 พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.8 ระบุการดูแล รักษา ฟื้นฟู ผู้ติดเชื้อของแพทย์ พยาบาล และ อสม. ในขณะที่ร้อยละ 48.7 ระบุการสนับสนุนการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข และร้อยละ 8.5 ระบุการทำงานช่วยเหลือประชาชนของหน่วยกู้ภัย
ที่น่าพิจารณาคือ อะไรโดนใจประชาชนช่วงวิกฤติโควิด-19 ด้านเศรษฐกิจ ลดภาระค่าใช้จ่าย หลังมาตรการอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 53.8 ระบุการลดค่าไฟฟ้า ลดราคาน้ำมันของกระทรวงพลังงาน ในขณะที่ร้อยละ 44.6 ระบุ การแจกเงินของกระทรวงการคลัง และร้อยละ 37.8 ระบุการลดค่าไฟฟ้า น้ำประปา ของกระทรวงมหาดไทย ตามลำดับ
ผอ.ซูเปอร์โพลกล่าวว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่าหลังรัฐบาลออกมาตรการอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาตินั้น ประชาชนส่วนใหญ่รับรู้การทำงานของรัฐบาล นำโดยนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ ที่ประชาชนระบุว่าทำงานได้ดี ดีมาก ดีเยี่ยม กระจายกันไปเมื่อเปรียบเทียบกับบรรดาผู้นำประเทศอื่นๆ ในการรับรู้ของประชาชน และมาตรการช่วยเหลือประชาชนของกระทรวงต่างๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม ที่เห็นได้ชัดเจนจับต้องได้เข้าถึงประชาชนได้อย่างทั่วถึง ได้แก่ การลดค่าไฟฟ้าระลอกล่าสุดที่ครอบคลุมและทั่วถึงโดนใจประชาชนส่วนใหญ่ครอบคลุม 22 ล้านครัวเรือนของประเทศ และมาตรการแจกเงินของกระทรวงการคลังที่อาจจะมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ แต่ผลสำรวจพบว่าจำนวนมากได้รับประโยชน์ช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นน่าจะมาจาก การสื่อสารและการบริหารจัดการในระบบฐานข้อมูล หรือ Big Data ของรัฐบาล
"ลุงตู่"เสียใจ"บุญส่ง"ตายในหน้าที่
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ "ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha @prayutofficial" ระบุว่า ผมขอแสดงความอาลัยต่อการจากไปของคุณบุญส่ง มะนาวหวาน อสม.วัย 72 ปี ของ อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุขณะที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ ขับจักรยานยนต์นำหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือไปแจกจ่ายให้แก่ชาวบ้าน เมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา
การเสียชีวิตในครั้งนี้ของคุณตาบุญส่ง ถือว่าเป็นการเสียชีวิตในหน้าที่ ในขณะที่ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ทางภาครัฐจะมีการดูแลครอบครัวอย่างดีที่สุด
คุณตาบุญส่ง เป็นหนึ่งใน อสม.นับล้านคนในประเทศของเรา ที่อาสาเสียสละแรงกายแรงใจเพื่อช่วยประเทศชาติ และเป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้สถานการณ์โควิด-19 ของเรานั้นเป็นไปในแนวโน้มที่ดี ผมขอแสดงความอาลัยต่อคุณตาบุญส่งอีกครั้ง และขอขอบคุณ อสม.ทุกท่านที่มีส่วนช่วยประเทศชาติฝ่าวิกฤติโควิด-19 ในครั้งนี้ครับ"
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเผยว่า นายกฯ ให้ความสำคัญกับบุคลากรทางการแพทย์ และการดูแลสุขภาพประชาชน จึงมอบให้กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงบประมาณหารือกัน เพื่อหาเงินมารองรับไม่ให้กระทบทั้งสองส่วน ทั้งการบรรจุบุคลาการทางการแพทย์ และการดูแลประชาชนที่ถือสิทธิ์บัตรทอง ยืนยันผู้ถือสิทธิประโยชน์ของบัตรทองไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ทั้งสิ้น ขอให้มั่นใจยังมีสิทธิ์รักษาตามเดิมทั้งหมด ส่วนการบรรจุบุคลากรทางการแพทย์กว่า 40,000 ตำแหน่ง มีแหล่งงบประมาณรองรับไว้แล้ว ซึ่งนายกฯ ได้สั่งการว่าการดำเนินการใดๆ ก็ตาม ต้องไม่กระทบกับประชาชนผู้ถือสิทธิ์บัตรทอง
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขอย้ำตรงนี้ในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีดูแลกระทรวงสาธารณสุขและเป็นประธานบอร์ด สปสช. ขอให้มั่นใจว่าไม่มีใครกล้าตัดสิทธิประโยชน์ของประชาชนที่พึงได้รับในด้านการรักษาพยาบาลออกไปแน่นอน และการให้บริการจะต้องดีขึ้นด้วย ส่วนเรื่องงบนั้น เป็นเรื่องของการบริหารจัดการ ซึ่งตนได้มอบให้ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ไปหารือกับสำนักงบประมาณแล้ว ว่าถ้าจะตัดงบ จะตัดอย่างไร บนพื้นที่ฐานที่ว่าประชาชน ต้องได้รับการบริการอย่างดีที่สุด ไม่ขาดตกบกพร่องไปจากเดิม ทั้งนี้ ในส่วนของ สธ.เองก็มีการตัดงบไป แต่เป็นงบของการจัดซื้อครุภัณฑ์และงบก่อสร้างที่ยังไม่เซ็นสัญญา
“ในส่วนของการบรรจุข้าราชการใหม่ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่คนทำงาน เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ และเราก็มีงบตรงส่วนนี้อยู่แล้ว จะไม่ตัดเอางบด้านการดูแลรักษาประชาชนไปให้เป็นเงินเดือนแน่นอน สิ่งที่จะเน้นย้ำคือ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ประชาชนต้องได้รับสิทธิบัตรทอง เพื่อดูแลรักษาพยาบาลเหมือนเดิม และดีขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต จะไม่มีใครมาตัดสิทธิ์ที่ประชาชนพึงได้รับ” นายอนุทินกล่าว
ด้าน นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงถึงการจัดสรรงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) โดย นพ.สุขุมกล่าวถึงกระแสข่าวว่าจะมีการตัดงบกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าว่า งบประมาณในส่วนนี้จำนวน 2,400 ล้านบาท ไม่ได้ถูกตัดตามที่มีกระแสข่าวแต่อย่างใด และยืนยันไม่กระทบการดูแลประชาชน อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์โควิด-19 งบประมาณอาจจะไม่เพียงพอ ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบกลาง 3,000 ล้านบาท ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพิ่มเติม ซึ่งสามารถใช้ในการตรวจผู้ป่วย ทำห้องความดันลบ ซื้อเครื่องมือต่างๆ
"ยืนยันการดูแลประชาชนไม่มีเปลี่ยนแปลง มีแต่จะดีขึ้น ขอให้มั่นใจ เพราะงบสำหรับบัตรทองมีการวางไว้ตั้งแต่ต้นปี และนายกฯ ก็ยังให้มาสนับสนุนเพิ่มเติมในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ส่วนการบรรจุบุคลากรทางการแพทย์กว่า 40,000 ตำแหน่งตามมติ ครม.เมื่อ 15 เม.ย.นั้น แต่ละปีกระทรวงสาธารณสุขมีรายได้จากงบประมาณและนอกงบประมาณ ซึ่งตอนต้นปีมีการกำหนดเงินเดือนจากแหล่งที่มาต่างๆ ซึ่งคนที่ได้รับการบรรจุมีการเตรียมงบประมาณบำรุงอยู่แล้ว สามารถดำเนินการได้" นพ.สุขุมกล่าว
ส่งผู้พิทักษ์สิทธิ์ลงพื้นที่
นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงมาตรการจ่ายเงินเยียวยา 5000 บาทว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังได้ส่งผู้พิทักษ์สิทธิ์ลงพื้นที่ตรวจสอบประชาชนที่ยื่นทบทวนสิทธิ์ทั่วประเทศ ซึ่งได้รับรายงานจากผู้ปฏิบัติงานว่า การลงพื้นที่ตรวจสอบการทบทวนสิทธิ์แต่ละจังหวัดเรียบร้อยดี พี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ที่ยื่นทบทวนสิทธิ์ได้เตรียมเอกสารหลักฐานไว้พร้อม ทำให้การตรวจสอบรวดเร็ว เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยล่าสุดมีประชาชนยื่นขอทบทวนสิทธิ์มาแล้วจำนวนเกือบ 3 ล้านคน จากผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์คัดกรองจำนวน 10.6 ล้านคน
เขากล่าวอีกว่า ต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานที่มาทำหน้าที่ผู้พิทักษ์สิทธิ์ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในภาวะวิกฤติโควิด-19 ซึ่งจากรายงาน เจ้าหน้าที่พิทักษ์สิทธิ์กับผู้ขอทบทวนสิทธิ์ต่างปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เว้นระยะห่างทางสังคม ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า จะเร่งเยียวยาประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน โดยทุกอย่างจะเสร็จเรียบร้อยประมาณต้นเดือนพฤษภาคมนี้ นอกจากนั้น นายอุตตมยังสั่งการให้ผู้บริหารธนาคารของรัฐลงพื้นที่ติดตามการทบทวนสิทธิ์อีกด้วย
นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงาน พรรคร่วมรัฐบาล หรือ วิปรัฐบาล เปิดเผยถึงกรณีที่ฝ่ายค้านเสนอให้มีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญเพื่อรับทราบ พ.ร.ก.กู้เงิน ว่าในความเห็นส่วนตัวมองว่าไม่ควรที่จะมีการประชุมสภาในขณะนี้เพราะหลายฝ่ายกำลังร่วมมือกันเพื่อกำจัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้หมดไป ซึ่งถือว่าใกล้ประสบความสำเร็จแล้ว หากมีการเปิดประชุมสภาแล้วมีคนมารวมตัวกันทำให้เชื้อไวรัสแพร่ระบาดขึ้นมาอีกแล้วจะทำอย่างไร ทั้งนี้ ทางวิปรัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งเฉยกับข้อเสนอของฝ่ายค้าน
ทั้งนี้ ในวันจันทร์ที่ 27 เม.ย.นี้ จะมีการหารือร่วมกับแกนนำวิปรัฐบาลของแต่ละพรรคเพื่อหาข้อสรุปในเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง
"ธนาธร"ลั่นเก่งกว่า"บิ๊กตู่"
นายวิรัชยังกล่าวถึงกรณีฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะมีการต่ออายุพระราชกำหนด หรือ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นว่า เรื่องดังกล่าวเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐบาล ซึ่งมองว่า ขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงเรื่อยๆ จนเหลือเพียงหลักสิบต้นๆ หากเราสามารถพยุงไว้เช่นนี้ได้ จำนวนผู้ติดเชื้อก็จะลดลง หากมีการเปิดให้ใช้ชีวิตตามปกติ ก็อาจจะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นสูง อย่างก้าวกระโดดแบบบางประเทศ เช่น สิงคโปร์ ซึ่งขณะนี้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันละมากกว่า 1,500 คน ดังนั้น หากมีการเปิดประชุมสภาแล้วทำให้ประเทศไทยเป็นอย่างนั้นบ้างจะทำอย่างไร
ขณะที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กว่า การเมือง ชีวิตความเป็นอยู่ กับคุณภาพชีวิตของประชาชน เป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้ มันเป็นเรื่องเดียวกัน ถ้าเรากลับมาทำให้การเมืองเป็นปกติไม่ได้ การผลักดันความเป็นอยู่ของประชาชนให้มีชีวิตที่ดีขึ้นก็เป็นไปไม่ได้ เพราะผู้มีอำนาจปัจจุบันใช้เวลาของพวกเขา ใช้เงินภาษีจากประชาชน ใช้อำนาจที่มีเพียงเพื่อทำลายหรือจัดการ เอาชนะกันทางการเมือง เพื่อรักษาอำนาจ เพื่อที่จะได้บริหารประเทศนี้ต่อ นี่คือปัญหาหลักเลย คุณคิดว่าคุณประวิตร คุณประยุทธ์ คุณวิษณุ เอาเวลากี่เปอร์เซ็นต์ไปบริหารประเทศ แล้วเอาเวลากี่เปอร์เซ็นต์ไปนั่งคิดว่าจะรักษาอำนาจเพื่อที่จะได้บริหารต่อไปยังไง
"อำนาจเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าคุณมีอำนาจ ทุกชั่วโมงที่คุณไม่ได้ใช้อำนาจนั้นเพื่อการตัดสินใจคือทุกชั่วโมงที่สูญเสียโอกาสไป นี่คือความสำคัญของอำนาจ ถ้าคุณมีอำนาจเมื่อไหร่ คุณคือคนตัดสินใจ คนอื่นไม่มีอำนาจสั่งหรือตัดสินใจใช้อำนาจ ใช้งบประมาณ ก่อนนี้อนุมัติโครงการนี้ไม่ได้ คุณเป็นคนเดียวที่ถืออำนาจ ถืองบประมาณไว้ แต่คุณไม่ใช้อำนาจเพื่อตัดสินใจในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ ประเทศก็ไม่เดินหน้า และนี่คือปัญหาของประเทศไทย สมาธิและพลังในการที่จะพัฒนาประเทศให้ดีขึ้นกว่านี้มันไม่มี คิดแต่ว่าจะเอาชนะ จะจัดการกันทางการเมือง นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราต้องทำให้ประเทศไทยกลับไปสู่สภาวะปกติ กลับไปสู่ประชาธิปไตย เหมือนอย่างที่ประเทศเจริญแล้วเป็นกัน"
"รับมือได้ดีกว่า ผนงรจตกม แน่ๆ ถ้าคุณประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีได้ ผมเชื่อว่าผมเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดีกว่าคุณประยุทธ์ได้แน่ๆ" นายธนาธรตอบคำถามที่่่ว่าถ้าได้เป็นรัฐบาลสามารถแก้ปัญหาโควิด-19 ได้ดีกว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |