สู้กันอีกยาว สมรภูมิโควิด-19 ต่อเวลา พรก.ฉุกเฉิน-เคอร์ฟิว “บิ๊กตู่-ศบค.” จะเลือกทางไหน?


เพิ่มเพื่อน    

 

     สู้กันอีกยาว สมรภูมิโควิด-19  ต่อเวลา พรก.ฉุกเฉิน-เคอร์ฟิว “บิ๊กตู่-ศบค.” จะเลือกทางไหน?

                ในสมรภูมิการสู้รบกับไวรัสโควิด-19 ที่ดูแล้วยังคงเป็นสงครามยืดเยื้อ คนไทยทั้งชาติยังต้องร่วมแรงร่วมใจกันยอมอดทนต่อสภาวะยากลำบากในการดำเนินชีวิต-การทำงาน-การหาเลี้ยงชีพไปอีกสักระยะ

 สิ่งที่มองเห็นต่อสงครามยืดเยื้อในครั้งนี้ สำหรับประเทศไทย มองไปข้างหน้ากับการตั้งด่านสกัดการแพร่เชื้อโควิดในประเทศไทย แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยจะเริ่มลดต่ำลงเรื่อยๆ เหลืออยู่ระดับหลักสิบมาร่วม 3 สัปดาห์ โดยเฉพาะรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็อยู่ที่ระดับค่าเฉลี่ยสิบกว่าคนต่อวัน

กระนั้นในอีกด้านหนึ่ง ตัวเลขดังกล่าวก็ไปเพิ่มน้ำหนักให้ประชาชนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะเจ้าของกิจการ-นักธุรกิจ-ผู้ประกอบการ ธุรกิจรายใหญ่-รายเล็ก จนถึงระดับรากหญ้า ที่ต่างประสานเสียงให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้ใช้อำนาจเต็มตาม พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน คลายล็อก-ผ่อนปรน การบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่จะครบกำหนดวันพฤหัสบดีที่ 30 เม.ย.นี้ เพื่อให้สถานประกอบการ-ภาคธุรกิจหลายอย่างที่โดน lockdown สามารถกลับมา Re-start ได้อีกครั้ง หลังโดนล็อกดาวน์มาตั้งแต่กลางๆ เดือนมีนาคม ตั้งแต่ยังไม่มีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่มาจากคำสั่งปิดของผู้บริหารในพื้นที่ เช่น กรุงเทพมหานคร ที่ lockdown ตั้งแต่ 22 มีนาคม จากนั้นจึงมีคำสั่งใหญ่จาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยเฉพาะการประกาศใช้ เคอร์ฟิว เพื่อคุมการแพร่ระบาดของโควิดของพลเอกประยุทธ์ เมื่อ 3 เม.ย.  

ทำให้หากนับถึง 30 เม.ย. เท่ากับธุรกิจหลายแห่งโดน lockdown แช่แข็งมาร่วมเดือนกว่า จนประชาชนหลายล้านคน ทั้งผู้ประกอบการ-เจ้าของธุรกิจ-แรงงานทั้งในระบบและนอกระบบร่วม 35 ล้านคน ต่างได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน จนเกิดเสียงรำพันไปทั่วจากประชาชนหลายกลุ่มทำนอง

“ประชาชนกำลังจะอดตาย ไม่ใช่เพราะติดเชื้อโควิดตาย”

                ด้วยเหตุนี้ การตัดสินใจของพลเอกประยุทธ์ นายกฯ ในฐานะผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และในฐานะประธานศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ที่จะนำเรื่องเข้าหารือกลางที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อังคารที่ 28 เม.ย.นี้ จึงอยู่ในการจับจ้องของทุกฝ่าย ว่าสุดท้ายนายกฯ บิ๊กตู่จะตัดสินใจอย่างไร ซึ่งแนวทางก็มีแค่ไม่กี่รูปแบบเท่านั้น

เช่น การคงไว้ซึ่งยาแรง ด้วยการต่ออายุการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อไปอีกหนึ่งเดือนถึง 31 พ.ค. โดยคงมาตรการเข้มข้นไว้ทุกอย่าง แต่ในบางพื้นที่ บางจังหวัด ที่ไม่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อหรือมีบ้างแต่น้อย และรักษาหายได้ ก็อาจให้มีการคลายล็อกแบบเต็มรูปแบบ แต่มีการกำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดคงไว้ซึ่งความเข้มข้นในการดูแลการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดแบบเข้มข้นตามมาตรการ social distancing หรือจะใช้วิธีผ่อนคลาย-คลายล็อกในสูตรเดียวกันทั่วประเทศ แม้แต่ในจังหวัดที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงอยู่ อย่างกรุงเทพมหานคร-นนทบุรี เพื่อให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจทั้งระดับมหภาคและรากหญ้ากลับมาเดินเครื่องได้บ้าง ประชาชนจะได้มีงานทำ มีรายได้ เพราะเงินช่วยเหลือเดือนละ 5 พันบาท ไม่เพียงพอในการดำเนินชีวิตอยู่แล้วในความเป็นจริง อีกทั้งยังมีประชาชนอีกหลายล้านคนที่ไม่ได้รับสิทธิ์ดังกล่าว เพียงแต่การคลายล็อกดังกล่าวก็ยังคงไว้ซึ่งมาตรการอย่าง เคอร์ฟิว ช่วง 22.00-04.00 น. ต่อไปอีกสักระยะ รวมถึงสถานที่เสี่ยง เช่น สนามมวย-การใช้สวนสาธารณะ-ฟิตเนส หรือการแข่งขันกีฬาหรือกิจกรรมต่างๆ ที่จะมีคนเข้าไปรวมกลุ่มกันมาก ก็ยังคงห้ามต่อไป

ผลการตัดสินใจว่าจะออกมาแบบไหน สุดท้ายแม้จะมีการนำเรื่องเข้าหารือในที่ประชุม ครม.อังคารนี้ แต่ในความเป็นจริงก็รู้กันว่า มันเป็นการตัดสินใจของพลเอกประยุทธ์ล้วนๆ ภายใต้การรับฟังข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงสาธารณสุข-มหาดไทย-คมนาคม มาประกอบการตัดสินใจ

อันเชื่อว่า จริงๆ แล้วพลเอกประยุทธ์มีชุดการตัดสินใจมานานแล้วว่าจะทำอย่างไร เพียงแต่รอให้มีการไปหารือร่วมกันในระดับรัฐบาลกลางที่ประชุม ครม. 28 เม.ย.นี้เท่านั้น

                มองได้ว่า พลเอกประยุทธ์ย่อมรู้ถึงความยากลำบากของประชาชน และผู้ประกอบการ เจ้าของกิจการ และแรงงานในธุรกิจแต่ละภาคส่วน ที่ต้องแบกรับภาระต่างๆ ไว้มากมาย โดยเฉพาะธุรกิจที่สายป่านไม่ยาว เงินหน้าตักมีไม่มาก แม้จะมีการปรับตัวตามสภาพการณ์ เช่น ร้านขายอาหาร ที่ขายอาหารในร้านไม่ได้ ต้องปรับรูปแบบไปขายแบบ delivery แต่ในความเป็นจริง ส่วนใหญ่ก็บอกว่าก็แค่พอให้ร้านยังพออยู่ได้ ไม่ต้องเลิกกิจการ เลิกจ้างพนักงาน ยังไงก็ต้องการให้กลับมาขายในร้านได้ตามปกติ

เช่นเดียวกับ ธุรกิจภาคกลางคืน แม้หลายคนจะเห็นว่า เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่จำเป็น สร้างความฟุ่มเฟือย และธุรกิจกลางคืน อย่างผับ-บาร์-ร้านอาหารที่ขายกลางคืน เป็นสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ก็เป็นธุรกิจที่มีแรงงาน-คนเกี่ยวข้องในห่วงโซ่ sector ธุรกิจกลางคืน จำนวนไม่น้อย ระดับหลายล้านคนเช่นกัน

ดังนั้นทุกการตัดสินใจของพลเอกประยุทธ์ ไม่ว่าจะออกทางไหน ล้วนทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย เพียงแต่กลุ่มไหนจะแบกรับภาระ-ความยากลำบากได้อึดกว่ากัน

อีกทั้งต้องไม่ลืมว่า ถึงต่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ กลับมา Re-start ได้อีกครั้งหลัง 30 เม.ย. ก็ใช่ว่าสถานประกอบการทุกแห่งจะกลับมาได้แบบเดิม เพราะต่อให้กลับมาเปิดทำการได้ ก็ยังต้องเจอกับสภาพเศรษฐกิจซบเซาต่อไปอีกระยะ แม้ต่อให้ที่ผ่านมาจะมีหลายมาตรการออกมาช่วยเหลือผู้ประกอบการ เช่น การพักชำระหนี้สถาบันการเงิน

แต่โดยภาพรวม การใช้จ่ายต่างๆ ของประชาชน-ผู้บริโภค ก็จะไม่เหมือนเดิม เพราะจะมีความระมัดระวังในการใช้เงินมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจก็จะอยู่ในสภาพตรึงตัวไปอีกนานพอสมควร

จากสภาพการณ์-ข้อมูลทั้งหมด จึงเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากไม่น้อยของพลเอกประยุทธ์ ที่จะรักษาสมดุลในการต่อสู้กับสงครามไวรัสโควิดครั้งนี้อย่างไร เพราะแม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อ-การรักษาผู้ป่วยให้หายจะดีขึ้นเรื่อยๆ แต่เสียงเตือนจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะ บุคลากรทางการแพทย์ ที่ทั้งทำงานช่วยรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขในการรับมือกับโควิด และบุคลากรทางการแพทย์ ที่ทำงานในโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อรักษาผู้ติดเชื้อ ก็ส่งเสียงกระตุกมายัง ศปค.และพลเอกประยุทธ์อยู่เนืองๆ ที่สรุปความได้ว่าเสียงสะท้อนจากบุคลากรทางการแพทย์ต่างบอกว่า “สงครามครั้งนี้ยังไม่สิ้นสุด ยังต้องรบกันอีกยาว อย่าเพิ่งชะล่าใจ เปิดเมือง เพราะหากตัดสินใจพลาด แล้วตัวเลขผู้ติดเชื้อกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีก ทั้งหมดที่ต่อสู้กันมาร่วม 2 เดือนจะเสียเปล่า”

ท่าทีล่าสุดของ พลเอกประยุทธ์ ต่อการตัดสินใจเรื่องนี้ พบว่าเมื่อ 24 เม.ย. นายกรัฐมนตรีย้ำไว้ตอนหนึ่ง

“วันนี้เราทราบดีว่าสถานการณ์โรคโควิด-19 ของประเทศไทยมีแนวโน้มการระบาดลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เราต้องไม่ประมาท สิ่งสำคัญที่เป็นห่วงประชาชน คือเรื่องของอาชีพและรายได้ การประกอบการทางธุรกิจ แม้กระทั่งในเรื่องการใช้ชีวิตในสังคมต่างๆ แต่สิ่งที่เป็นห่วงมากที่สุดคือเรื่องสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็นตัวชี้วัดว่าอะไรที่เราทำได้หรือทำไม่ได้ในระยะเวลาต่อไปนี้”

แต่ที่น่าสนใจและน่าจะทำให้พอเห็นทิศทางได้ ก็คือท่าทีของ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ที่ช่วงนี้รับบทบาทเป็น Center กลางในการประสานข้อมูล-ความเห็น-เสียงสะท้อน ระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศกับฝ่ายการเมืองในรัฐบาล ทัศนะของเขาจึงไม่ธรรมดาแน่นอน

โดยหมอทวีศิลป์บอกไว้ ตอนหนึ่งระหว่างการแถลงข่าวรายวันเมื่อวันศุกร์ที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยได้ยกตัวอย่างประเทศต่างๆ ที่มีการใช้มาตรการเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ในการป้องกันการแพร่เชื้อโควิด เช่น อินโดนีเซีย-ยูเครน-มาเลเซีย-เยอรมนี ที่ต่างก็มีการขยายเวลาการล็อกดาวน์ออกไป แม้แต่ในประเทศยักษ์ใหญ่ของยุโรปอย่างเยอรมันยังต้องออกกฎให้ประชาชนใส่หน้ากากหากใช้บริการขนส่งสาธารณะหรือออกนอกเคหสถาน ส่วนภาคธุรกิจแม้จะกลับมาให้บริการ ก็จำกัดให้เฉพาะร้านค้าที่มีพื้นที่ไม่เกิน 800 ตารางเมตร

นพ.ทวีศิลป์ ย้ำว่า ไม่อยากให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 2 ระลอกที่ 3 ระลอกที่ 4 เลย เพราะทรัพยากรเรามีจำกัด เงินเราไม่พอ ถ้าเกิดการติดเชื้อแล้วต้องรักษากันเป็นจำนวนมากในโรงพยาบาลอีก เราไม่อยากให้เกิดขึ้นเลย เราจะเกิดคลื่นภูเขาลูกที่ 2 ลูกที่ 3 ตามมาไม่ได้อีกแล้ว เพราะจะเกิดการสูญเสีย การเจ็บไข้ได้ป่วยและเสียชีวิต และการเสียเรื่องของงบประมาณลงไป

เคยคำนวณกันว่า หากมีผู้ป่วย 1 ราย เราต้องเสียเงิน 1 ล้านบาท ตอนนี้เรามีคนป่วยไปแล้ว 2 พันกว่าราย นั่นหมายความว่า 2 พัน เกือบ 3 พันล้านบาทต้องเสียไปแล้ว เงินพวกเราทั้งนั้น และถ้ามีผู้ป่วยเป็นหลักหมื่น หลักแสน จะต้องใช้งบประมาณอีกเท่าไหร่ ตอนนี้เรามีผู้ติดเชื้อไม่มาก แต่ยังมีผลกระทบทางเศรษฐกิจอยู่ เราต้องชั่งน้ำหนักว่ามันจะต้องเสียไปอีกแค่ไหน แต่เรื่องของเงินทองจะคิดมากก็ไม่ดี ถ้าจะต้องเสียบ้างก็ต้องเสีย แต่บางคนบอกไม่ได้ เราเสียเงินดีกว่าเสียชีวิต เราไม่มีสิทธิ์ให้ใครอยู่ใครไป เพราะฉะนั้นต้องคิดหน้าคิดหลังอย่างรอบคอบ นพ.ทวีศิลป์แสดงท่าทีแบบชัดๆ เอาไว้

ผลการตัดสินใจของพลเอกประยุทธ์จะออกมาแบบไหน เห็นได้ชัดว่า เป็นเดิมพันการตัดสินใจที่สูงยิ่งของนายกฯ บิ๊กตู่ที่จะพลาดไม่ได้.  

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"