ปรับกลยุทธ์"ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม" ผุด"บก.ควบคุม"สกัดเฟกนิวส์โควิด-19


เพิ่มเพื่อน    

   จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทุกประเทศกำลังเผชิญ รวมถึงประเทศไทยที่ "รัฐบาล" ได้ระดมขุนพลจากทุกภาคส่วนมาร่วมทีมแก้ไขปัญหา ซึ่งนอกจากมาตรการต่างๆ ที่ออกมาเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว อีกด้านหนึ่งรัฐบาลยังต้องรับมือกับ "ข่าวปลอม" หรือ "Fake News" ที่มาพร้อมกับไวรัสโควิด-19 นี้ด้วยเช่นกัน

            โดยปัจจุบันรัฐบาลมี "ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม" (Anti Fake News Center) ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นศูนย์หลักในการดำเนินงาน ที่ทำงานร่วมกับศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.)

            ทั้งนี้ ในช่วงเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมยังคงทำงานเกาะติดสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อติดตามข่าวการแพร่ระบาดในประเทศไทยทุกช่องทาง โดยเฉพาะช่องทางโซเชียลมีเดียที่มีการเผยแพร่ ส่งต่อข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็ว เป็นช่องทางหลักในการสื่อสารของประชาชนในยุคปัจจุบัน และด้วยความที่การสื่อสารเป็นไปอย่างรวดเร็ว จนบางครั้งข่าวสารที่เผยแพร่ไปขาดการกลั่นกรองก่อนแชร์หรือส่งต่อ หรือบางครั้งอาจมีการสร้างข่าวปลอมขึ้นมาเพื่อสร้างสถานการณ์ต่างๆ ด้วยก็มี

            อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม พบข้อมูลในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ช่วงวันที่ 25 ม.ค.-17 เม.ย.63 รวมเวลา 83 วัน ภาพรวมการดำเนินการตรวจสอบ พบว่ามีจำนวนข้อความที่ต้องคัดกรองถึง 2,428,621 ข้อความ โดยข้อความที่เข้าหลักเกณฑ์ต้องดำเนินการ 2,870 ข้อความ มีการดำเนินการตรวจสอบแล้วทั้งหมด 821 เรื่อง เป็นข่าวที่เกี่ยวกับกระแสโควิด-19 จำนวน 244 เรื่อง โดยแบ่งเป็นข่าวปลอม 192 เรื่อง ข่าวจริง 24 เรื่อง และข่าวบิดเบือน 28 เรื่อง

            และล่าสุดยังมีการดำเนินคดีเกี่ยวกับการเสนอข่าวที่ไม่เป็นความจริง บิดเบือนข่าวสารในสถานการณ์ฉุกเฉินตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยได้ดำเนินคดี 4 มือโพสต์เฟซบุ๊กข่าวปลอมว่า "ไปรษณีย์เตือน! มีผู้ติดเชื้อ covid-19 จากจดหมายหรือพัสดุ" ซึ่งทางบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ได้แจ้งว่าเป็นข่าวปลอม ทั้ง 4 ราย และพบอีก 12 ราย ได้เตือนให้ระงับและสั่งให้แก้ไขข่าวดังกล่าว

            สำหรับการดำเนินงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมจะมีกระบวนการติดตามและการชี้แจงข้อมูลให้ประชาชนทราบ ทั้งนี้ สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย จึงได้มีการเพิ่มช่องทางลัดในการติดตามข่าวสาร และเช็กประเด็นสำคัญๆ เกี่ยวกับ “โควิด-19” เพื่อช่วยให้ประชาชนตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวที่เกี่ยวข้องได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยช่องทางสื่อสารหลักของศูนย์แบ่งออกเป็น 4 ช่องทางในการติดตามข้อมูลข่าวสารต่างๆ ได้แก่

            1.ช่องทางเว็บไซต์ คลิก : https://www.antifakenewscenter.com/ 2.ช่องทางบัญชีไลน์ทางการ คลิก : http://nav.cx/uyKYnsG หรือค้นหาโดยพิมพ์ @antifakenewscenter (ต้องมี @) ในช่องของการเพิ่มเพื่อน 3.ช่องทางเฟซบุ๊ก คลิก : https://www.facebook.com/AntiFakeNewsCenter หรือค้นหาโดยพิมพ์ Anti-Fake News Center Thailand ในช่อง Search ของช่องทางเฟซบุ๊ก และ 4. ช่องทางทวิตเตอร์ คลิก : https://twitter.com/AFNCThailand หรือค้นหาโดยพิมพ์ @AFNCThailand ในช่อง Search ของช่องทางทวิตเตอร์ โดยช่องทางเหล่านี้นอกจากเป็นช่องทางการติดตามข่าวสารแล้ว ยังสามารถแจ้งเบาะแสให้ตรวจสอบข้อมูลข่าวปลอมได้อีกด้วย

            ซึ่งเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของศูนย์ ซึ่งมีการรายงานปัญหาในการปฏิบัติงาน ในการตรวจสอบข่าวว่าเป็นความจริงหรือไม่ ซึ่งทางศูนย์ไม่สามารถดำเนินการเองได้ ต้องประสานหน่วยงานอื่นๆ ที่รับผิดชอบ และมีขั้นตอนทำให้ไม่สามารถรายงานได้ภายใน 2 ชั่วโมง จึงต้องปรับปรุงกระบวนการให้รวดเร็วขึ้น

            นอกจากนี้ ในเรื่องการติดตามของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งมีการดำเนินคดีอย่างเคร่งครัด ทั้งตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และพระราชกำหนด ซึ่งมีการประกาศใช้ในปัจจุบัน โดยก่อนที่ตำรวจจะดำเนินการให้ครบต้องให้ต้นสังกัดที่ได้รับความเสียหายส่งเจ้าหน้าที่มาร้องทุกข์กล่าวโทษให้ สตช. เพื่อรวบรวมข้อมูลในการดำเนินคดีได้ โดยในประเด็นดังกล่าวจะมีการนำไปหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็วๆ นี้ เพื่อพิจารณาดำเนินการให้รัฐมนตรีทุกกระทรวง กำชับกับทุกหน่วยงาน หากมีข่าวกรองในเรื่องโควิด-19 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมาร้องทุกข์กล่าวโทษภายใน 3 วัน เพื่อให้ครบองค์ประกอบในการดำเนินคดี

            ขณะเดียวกัน ในเรื่องภาพรวมของข่าวปลอมที่มีจำนวนมาก "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้มอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลฯ เร่งแก้ไขปัญหา จึงได้มีการเสนอให้ สตช.ตั้งกองบัญชาการในการดูแลเรื่องเกี่ยวกับไซเบอร์และภัยต่างๆ ที่เกิดจากคอมพิวเตอร์ ที่ไม่ใช่แค่ข่าวปลอมเพียงอย่างเดียว อาจเป็นเรื่องเกี่ยวกับไซเบอร์และการติดตาม เนื่องจากปัจจุบันปัญหาข่าวปลอมเกิดขึ้นทั่วทุกจังหวัด และผู้ที่กระทำผิดกระจายอยู่ในทั่วทุกอำเภอ ทุกจังหวัด การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือหน่วยงานของ สตช. อาจยังไม่ครอบคลุม หากมีกองบัญชาการกระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ จะทำให้รับเรื่องร้องทุกข์ได้โดยตรง

            อีกทั้งในเรื่องการติดตาม ตรวจสอบ ตรวจจับ สืบสวน ถ้ามีกองบัญชาการจะมีเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในแต่ละภูมิภาค ในแต่ละจังหวัดก็สามารถจะไปติดตามผู้ที่กระทำผิด ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศได้รวดเร็วและลงลึกมากยิ่งขึ้น และก็อาจจะเป็นการป้องปรามผู้ไม่ประสงค์ดีในการทำข่าวปลอมไปในระดับหนึ่ง

            โดยเรื่องดังกล่าว พล.อ.ประวิตร ได้มอบ สตช.เร่งดำเนินการจัดตั้ง "กองบัญชาการควบคุม" ดูแลข่าวปลอมทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน พร้อมย้ำให้มีการดำเนินคดีตามกฎหมายต่อผู้ที่กระทำความผิดกรณีข่าวปลอมอย่างจริงจัง เด็ดขาด เพื่อปกป้องประชาชน เยาวชน สังคม และประเทศชาติให้มีความปลอดภัย ไม่ตื่นตระหนก และเกิดความสงบสุขในบ้านเมืองช่วงวิกฤติโควิด-19 นี้

            อีกทั้งยังกำชับให้ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมเป็นหน่วยงานหลัก ที่เป็นที่พึ่งของประชาชนและสังคมในการควบคุม ตรวจสอบ และคัดกรองข้อมูลข่าวสารในโลกออนไลน์และสื่อต่างๆ อย่างได้ผล ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ข่าวปลอมหมดไปโดยเร็วที่สุด พร้อมให้กำลังใจการปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ต้องทำงานอย่างหนักตลอด 24 ชั่วโมง ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิค-19 นี้

            อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะได้เห็นหน้าตาของ "กองบัญชาการควบคุม" ที่จะผุดขึ้นมาสกัดข่าวปลอมเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ในทั่วทุกภูมิภาค. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"