โยนกกพ.อุ้มค่าไฟฟ้าเอกชนยาวถึงสิ้นปี


เพิ่มเพื่อน    

 

"สมคิด" นั่งหัวโต๊ะถกพลังงาน โยน "กกพ." อุ้มค่าไฟเอกชนยาวถึงสิ้นปี โละเกณฑ์จ่ายเงินแบบเหมาให้จ่ายตามจริง ครอบคลุมผู้ประกอบการเกินแสนรายทั่วประเทศ "ศรีสุวรรณ" บี้ สตง.สอบ กฟผ.ซื้อรถเข็นแพงกว่าปกติ 100 เท่า!
    ที่กระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 23 เมษายน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือถึงแนวทางการลดภาระค่าไฟฟ้าของผู้ประกอบการภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.), สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย,  สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า กระทรวงพลังงานมอบหมายให้ กกพ.ไปพิจารณาแนวทางขยายเวลาการปรับลดค่าไฟฟ้าในประเภทธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ไปจนถึงเดือน ธ.ค.63 จากเดิมที่จะสิ้นสุดในเดือน มิ.ย.63 ตามข้อเสนอของภาคเอกชน 
    โดยก่อนหน้านี้กระทรวงพลังงานได้เห็นชอบมาตรการคิดค่าไฟฟ้าตามจริง จากเดิมที่คิดค่าไฟแบบเหมาจ่ายซึ่งคิดตามค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือนต่ำสุดต้องไม่ต่ำกว่า 70% ของค่าความต้องการพลังงาน (ดีมานด์ชาร์จ) ที่สูงสุดในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา รวม 3 รอบบิล (ตั้งแต่เดือน เม.ย.-มิ.ย.63)
    "ที่ประชุมรับข้อเสนอของภาคเอกชนที่ต้องการให้ภาครัฐขยายการคิดค่าไฟฟ้าตามการใช้จริง ซึ่งปัจจุบันมีผลในรอบบิลเพียง 3 เดือน มีผลตั้งแต่เดือน เม.ย.และจะสิ้นสุดเดือน มิ.ย.63 แต่ภาคเอกชนประเมินว่าภาคธุรกิจจะไม่สามารถฟื้นตัวได้ภายในกลางปีนี้ โดยขณะนี้แต่ละกิจการยังลดกำลังการผลิตลงมาก ทำให้มีการใช้ไฟตามจริงเพียงประมาณ 20% แต่ระบบเหมาจ่ายทำให้เอกชนต้องจ่ายถึง 70%  จึงมอบหมายให้ กกพ.ไปจัดทำรายละเอียดขยายเวลามาตรการดังกล่าวไปจนถึงสิ้นปีเพื่อกลับมาเสนออีกครั้ง" นายสนธิรัตน์กล่าว
    ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวครอบคลุมผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 3 กิจการขนาดกลางในเขตกรุงเทพมหานคร  23,921 ราย ภูมิภาคทั่วประเทศมีผู้ประกอบการขนาดกลาง 80,019 ราย ประเภทที่ 4 กิจการขนาดใหญ่  2,421 ราย ขนาดใหญ่ 7,092 ราย ประเภทที่ 5 กิจการเฉพาะอย่าง เช่น โรงแรม หอพัก/อพาร์ตเมนต์  ประเภทที่ 6 องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร และประเภทที่ 7 กิจการสูบน้ำเพื่อการเกษตร แต่ไม่รวมผู้ประกอบกิจการขนาดเล็ก เพราะกลุ่มนี้ได้รับความช่วยเหลือในการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าและการลดค่าไฟในภาคครัวเรือนแล้ว
    โดยเบื้องต้นมอบหมายให้ ส.อ.ท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งกลับไปจัดทำรายละเอียดผู้ประกอบการแต่ละกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ เพราะบางอุตสาหกรรมไม่ได้รับผลกระทบ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร,  เวชภัณฑ์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อเรียกร้องที่ภาคเอกชนต้องการให้รัฐคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้ผู้ประกอบการด้วยนั้น กระทรวงพลังงานขอติดตามและประเมินผลก่อน หลังจากนั้นจะมอบหมายให้ กกพ.พิจารณาแนวทางให้มีความเหมาะสมต่อไป
    นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานเตรียมผ่อนผันการชำระค่าไฟฟ้าสำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ เช่น  ธุรกิจท่องเที่ยว, ธุรกิจโรงแรม ซึ่ง กกพ.เห็นว่าหากธุรกิจใดได้รับผลกระทบจะดำเนินการผ่อนผันการชำระ แต่ขอให้ภาคเอกชนดูแลป้องกันปัญหาการเกิดหนี้เสียในอนาคต ที่มีข้อกังวลว่าอาจกระทบต่อโครงสร้างค่าไฟฟ้าทั้งระบบ
    "การหารือในวันนี้ เรื่องที่ภาคเอกชนต้องการผ่อนผันการเก็บอัตราค่าไฟฟ้าขั้นต่ำนั้นบรรลุวัตถุประสงค์ตามความต้องการแล้ว เพราะกระทรวงพลังงานโดย กกพ.ได้เตรียมวางมาตรการเรื่องนี้ไว้ล่วงหน้ามาก่อนแล้ว จึงทำให้การประชุมวันนี้ที่มีท่านรองนายกฯ สมคิดร่วมเป็นประธานได้ข้อสรุปในระยะเวลาสั้นมาก สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ทุกฝ่าย ซึ่งกระทรวงพลังงานทราบถึงความเดือดร้อนที่ทุกภาคส่วนได้รับจากสถานการณ์โควิดเป็นอย่างดี และพยายามที่จะผลักดันมาตรการพลังงานต่างๆ เพื่อบรรเทาและช่วยเหลือทุกกลุ่มให้ได้มากที่สุด" รมว.พลังงานระบุ
    วันเดียวกัน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา ออกมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าแก่ประชาชนเพียง 3  เดือนนั้น เป็นเพียงการขายผ้าเอาหน้ารอดในเหตุเฉพาะหน้าของกระทรวงพลังงานและรัฐบาลเท่านั้น  หากแต่ไม่เคยกลับไปทบทวนว่าต้นเหตุของปัญหาที่ทำให้ค่าไฟฟ้าราคาแพงนั้นอยู่ที่ไหนและอย่างไร  ซึ่งล่าสุดสมาคมฯ ได้ตรวจสอบพบว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้มีการจัดซื้อครุภัณฑ์ต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในสำนักงานและสถานีบริการไฟฟ้าต่างๆ ทั่วประเทศ มีความผิดปกติหลายประการ อาทิ การจัดซื้อรถเข็น (ลักษณะเดียวกับรถเข็นผักทั่วไป) เพื่อใช้ในแผนงานโครงการ Supply  and Construction of 500/230 kv(GIS) ซึ่งมีราคาต่อ 1 คัน คือ 152,956.21 บาท ซึ่งหากไปหาซื้อแถวย่านวรจักรหรือย่านรังสิตก็ไม่น่าจะเกินคันละ 1,000-2,000 บาทเท่านั้น 
    สำหรับปัญหาการจัดซื้อครุภัณฑ์ของ กฟผ.ดังกล่าว เป็นเพียงฝุ่นใต้พรมที่ไม่มีการตรวจสอบกันอย่างจริงจัง ปล่อยให้รัฐวิสาหกิจดังกล่าวบริหารจัดการเงินแผ่นดินกันอย่างโจ่งครึ่ม ประหนึ่งเป็นบ่อน้ำมันของรัฐวิสาหกิจที่นำมาหล่อเลี้ยงพนักงานเจ้าหน้าที่ถึง 22,413 คน เพราะค่าใช้จ่ายทั้งหมดดังกล่าวจะถูกนำมาคิดเป็นต้นทุนในการบริหารจัดการไฟฟ้า และผลักภาระทั้งหมดมาให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกครัวเรือนผ่านค่าเอฟที ซึ่งถึงเวลาแล้วที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจะต้องตรวจสอบองค์กรการไฟฟ้าดังกล่าวอย่างจริงจังและรวดเร็ว ตั้งแต่ฝ่ายจัดซื้อเรื่อยไปจนถึงผู้ว่าการ ว่ามีส่วนรับรู้กับการจัดซื้อจัดหาพัสดุหรืออุปกรณ์ในราคาแพงกว่าปกติหรือไม่อย่างไร เพราะแต่ละแผนงานโครงการมีการตั้งงบจัดซื้อนับพันล้านบาท อาทิ สัญญาเลขที่ W100321-222M-SPPC-S-02 มีมูลค่าถึง 1,130,698,504.73 บาท  เพื่อที่จะได้นำมาลงโทษและกำหนดมาตรการป้องกันที่เข้มงวดต่อไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"