“หมอทวีศิลป์” แถลงผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 13 ราย แม้เป็นข่าวดีแต่ยังต้องเก็บแรงอีก 12 ยก เพราะเพิ่งผ่านแค่ยก 4 เท่านั้น เผย สธ.ทำงานเชิงรุกลงตรวจพื้นที่ชุมชน “หมอเอนก” ชี้เพื่อทำเป็นต้นแบบก่อนปลดล็อก “นฤมล” แจงนายกฯ อยู่ระหว่างชั่งข้อดี-ข้อเสีย “สมช.” ชงต่ออายุ พ.ร.ก.แน่เพราะมีโพลหนุน “วิษณุ” แย้ม 28 เม.ย.รู้แน่หมู่หรือจ่า ผงะ! กทม.แชมป์ฝ่าเคอร์ฟิว เหตุคดียังตรึมเพราะ ตร.ลุยพื้นที่แทนตั้งด่าน
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 เม.ย. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.แถลงสถานการณ์ในประเทศไทยว่า มีผู้ป่วยรายใหม่ 13 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,839 ราย หายป่วยเพิ่มเติม 78 ราย รวม 2,430 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย โดยรายที่ 50 ราย เป็นหญิงไทย อายุ 78 ปี มีโรคประจำตัวเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งผู้เสียชีวิต 50 รายนั้นเป็นบทเรียนที่มีค่า ที่เราต้องเรียนรู้ถึงโรคนี้ ผู้ที่ติดเชื้อมากสุดคือวัยหนุ่มสาว วัยทำงาน แต่ไม่ได้เสียชีวิตมากที่สุด คนติดเชื้อน้อยแต่เสียชีวิตมาก
“เดือนนี้เข้าเดือนที่ 4 ของการแพร่ระบาด ซึ่งเป็นยกที่ 4 ต้องยืนยาวอีก 12 ยก ต้องเก็บแรงดีๆ การ์ดอย่าตกแม้แต่นิดเดียว เราทำคะแนนได้อย่างดี ทำคะแนนทุกยกอีกยาว บางประเทศการ์ดตกน็อกไปแล้ว ตัวเลขทะยานขึ้นไปหลักพันและจะขึ้นหลักหมื่น” นพ.ทวีศิลป์กล่าว
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ตั้งแต่ช่วง 6 มี.ค.-17 เม.ย.ที่ผ่านมามีการตรวจเชื้อในคลินิกใน กทม.แบบตั้งรับ บางช่วงมีคนเข้ามาตรวจ 200 คน บางช่วง 900 คน ซึ่งพบตัวเลขติดเชื้อแตกต่างกัน จากคนที่เข้ามาตรวจ 277 คน เจอเพียง 15 คน บางช่วง 998 คน เจอเพียง 46 คน หรือบางช่วง 666 คน เจอเพียง 14 คน ดังนั้นการตั้งรับอย่างเดียวคงไม่ถูกต้อง จึงมีการปรับระบบเชิงรุกในชุมชนเพื่อตรวจเชิงรุกในชุมชน หาผู้ป่วยกลุ่มเฉพาะทั้งแสดงอาการและไม่แสดงอาการ โดยใน กทม.เข้าไปที่ชุมนุมแออัด 2 แห่ง คือที่บางเขนและคลองเตย เพื่อนำข้อมูลมาวางแผนเชิงนโยบาย ตรวจไปแล้ว 1,876 ราย แต่พบเพียง 1 ราย จึงมีคำถามว่าทำไมตัวเลขน้อยลง อาจเป็นไปได้ว่าทุกท่านดูแลสุขภาพอย่างดี ตอนนี้เป็นช่วงลงของการพบเชื้อทำให้เจอน้อย แต่เรายังไม่หยุด กทม.ต้องหาเพิ่มขึ้น เป็นนโยบายของสาธารณสุขที่จะทำงานเชิงรุกมากขึ้น
นพ.เอนก มุ่งอ้อมกลาง ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กล่าวถึงการสุ่มตรวจในพื้นที่เขตบางเขนและคลองเตยว่า พื้นที่บางเขนมีการระบาดของโรคเป็นวงกว้าง และเป็นจุดตั้งต้นของการแพร่ระบาดโดยมีสนามมวยลุมพินีเป็นที่ตั้ง เราจึงอยากทราบว่าข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงจริงหรือไม่ โดยผ่านกระบวนการค้นหาประชุมกลุ่มระดับรากหญ้าที่สุด คือ 1.คนเก็บขยะ 2.แม่ค้าในตลาดสด และ 3.พนักงานขับรถ ขสมก. แท็กซี่และวินมอเตอร์ไซค์ ซึ่งถ้ามีการปลดล็อกพื้นที่ กทม.ต้องสร้างความมั่นใจให้ประชาชนในการเดินทางว่ามีโอกาสจะติดเชื้อไม่
“กลุ่มที่มีอาการในชุมชนเจ้าหน้าที่ได้ติดตามตรวจกว่า 1,876 ราย พบผู้ติดเชื้อเพียง 1 ราย จึงสอดคล้องว่าสถานการณ์เริ่มลดลงจริงๆ แต่การเว้นระยะห่างทางสังคมในชุมชนแออัดเป็นเรื่องที่ทำได้ยากเนื่องจากมีคนอยู่จำนวนมาก จึงเลือกนำร่องในการสุ่มตรวจพื้นที่คลองเตย ซึ่งจะดำเนินการต่อไป เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับเฝ้าระวังสถานการณ์ในชุมชนแออัดอย่างแท้จริง ก่อนเตรียมข้อมูลให้รัฐบาลในการพิจารณามาตรการต่อไป”
นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวถึงยอดผู้ป่วยที่มีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็วว่า เมื่อเจ้าหน้าที่จ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ให้คนไข้เร็วขึ้น การจัดการเชื้อโควิด-19 ในตัวคนไข้ก็จะเร็วมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับรายงานที่มีผู้ป่วยที่หายดีแล้วกลับบ้านเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้อีกประเด็นที่ส่งผลต่อจำนวนของผู้ที่รักษาหายแล้วลดลงเร็ว คือการตรวจในห้องปฏิบัติการ โดยขณะนี้มีห้องปฏิบัติการที่สามารถตรวจเชื้อได้ค่อนข้างเร็ว ดังนั้นยิ่งตรวจเร็ว ยิ่งรักษาเร็ว ยิ่งทำให้ควบคุมโรคเร็วไปด้วย
1 พ.ค.ปลดล็อกยังแค่ลือ
เมื่อถามถึงจะมีวิธีรับมือการแพร่ระบาดระลอกใหม่อย่างไร เพราะคนเริ่มใช้ชีวิตปกติมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้บริการรถสาธารณะ และไม่มีการเว้นระยะห่างตามที่ได้มีการขอความร่วมมือ นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง คนเมื่อเวลาเห็นตัวเลขแล้วเบาใจสบายใจ จึงคิดว่าน่าจะผ่อนปรนได้ แต่ให้คิดไว้เสมอว่าทุกครั้งที่ออกไปข้างนอกสุ่มเสี่ยงได้รับเชื้อแน่นอน ต้องป้องกันตัวเองใส่หน้ากากอนามัยเป็นประจำ ล้างมือบ่อยๆ เมื่อสัมผัสสิ่งใด ถ้าไม่จำเป็นไม่ต้องไปอยู่บ้านดีที่สุด ตอนนี้ถ้าผ่อนลงไปมันจะไปแสดงผลในอีก 7 วันข้างหน้า และผู้ประกอบการดูแลขนส่งมวลชนก็ต้องมีมาตรการดูแลเรื่องการเว้นระยะห่างไม่ให้แออัดเกินไป ส่วนการเดินทางข้ามจังหวัดนั้น ศบค.มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดใช้สถิติ ชุดข้อมูลออกกฎเกณฑ์ต่างๆ ซึ่งแต่ละจังหวัดมีมาตรการที่แตกต่างกันไป แต่ต้องปฏิบัติตามที่จังหวัดนั้นกำหนดขึ้นมา ที่สำคัญยังห้ามเดินทางในช่วงเวลาเคอร์ฟิว
เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวในวันที่ 1 พ.ค.จะปลดล็อก 32 จังหวัดก่อน นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า เห็นว่าออกมาจากกระทรวงสาธารณสุข แต่ถ้าบอกว่าออกมาจาก ศบค.ยังไม่ใช่ เพราะนายกฯ ยืนยันแล้วว่าต้องศึกษาให้ชัดเจนผ่านที่ประชุม ศบค. และอนุมัติผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) และขณะนี้ยังไม่ได้มีการประกาศชัดเจนแต่อย่างใด แต่แนวโน้มต้องยืดระยะเวลาประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปแน่นอน แต่จะผ่อนปรนบ้าง ซึ่งหลักการทั้งสองข้อต้องรอมติ ครม. ย้ำว่าแค่มีแนวโน้มแต่ไม่ได้ลงรายละเอียด ยังไม่ได้มีการตัดสินใจแต่อย่างใด ส่วนที่มีข้อเสนอก่อนหน้านี้มาจากทีมนักวิชาการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ซึ่งเป็นรูปแบบที่จะเกิดซึ่งจะต้องนำมาเสนอกัน แต่ยังไม่มีการตัดสินใจแต่อย่างใด
พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวภายหลังการประชุม สมช.เพื่อประเมินสถานการณ์ในการประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 ร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคงว่า เป็นเพียงการประชุมในระดับเจ้าหน้าที่ ซึ่งคาดว่าในวันจันทร์ที่ 27 เม.ย.นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหมจะเรียกประชุมร่วมกับ ศบค.อีกครั้งหนึ่ง เพื่อสรุปว่าจำเป็นต้องประกาศต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปหรือไม่ ซึ่งหากที่ประชุมเห็นสมควรต่ออายุออกไปก็จะนำเข้าที่ประชุม ครม.อีกครั้งในวันอังคารที่ 28 เม.ย.นี้
“ความเห็นของหน่วยงานด้านความมั่นคงเองนั้น มองว่าสถานการณ์ยังไม่เรียบร้อยเท่าที่ควร จึงน่าจะต่อขยายออกไปอีก แต่จะเป็นเวลาเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับฝ่ายการเมืองเป็นผู้ประเมิน ซึ่งจะหารือร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในส่วนความพร้อมเพื่อเตรียมผ่อนปรนมาตรการต่อไป”
มีรายงานว่า ในการประชุม สมช. หน่วยงานด้านความมั่นคงที่ดูแลและรับผิดชอบตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีความเห็นที่จะขยายเวลาการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก หลังจะหมดอายุในวันที่ 30 เม.ย.นี้ เพราะจากการประเมินสถานการณ์และผลสำรวจที่สนับสนุนให้ต่ออายุต่อไป แต่จะขยายไปอีกเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับนายกฯ ตัดสินใจ
28 เม.ย.ชี้อนาคต พ.ร.ก.
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงการพิจารณาขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่จะหมดอายุในวันที่ 30 เม.ย.ว่า จะเอายังไงก็ต้องตัดสินใจก่อนวันที่ 30 เม.ย. ซึ่งคาดว่าจะพิจารณาในการประชุม ครม.วันที่ 28 เม.ย.
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ขณะนี้นายกฯ ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.กำลังรอข้อมูลการวิเคราะห์ข้อดีและข้อเสียจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งมาให้ เพื่อพิจารณาและตัดสินใจว่าจะคลายล็อกบางมาตรการใดได้บ้าง เพราะขณะนี้ยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างอยู่บ้าง ทำให้การจะตัดสินใจต้องรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนและทุกมิติ ทั้งด้านสาธารณสุข สังคม และเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงขอให้รอนายกฯ ตัดสินใจ เพราะรัฐบาลจะต้องดูแลคนไทยให้พ้นวิกฤติโควิด-19 ไปให้ได้
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กว่า การจะบอกว่าพื้นที่ใดเป็นเขตปลอดโรคหรือไม่มีโรคจริงๆ จะถือเอาเวลาเป็น 2 เท่าของระยะฟักตัว เช่นสมัย SARS ระยะฟักตัวให้ 10 วัน ก็ต้องไม่มีโรคในพื้นที่นั้น 20 วัน จึงถือว่าเป็นเขตปลอดโรค เช่นเดียวกัน โควิด-19 ถ้าเราให้ระยะฟักตัวเป็น 14 วัน เราจะถือเขตปลอดภัยโรคของพื้นที่ใดต้องไม่มีโรคนั้นเป็นระยะเวลา 2 เท่า คือ 28 วัน จึงจะมั่นใจว่าในพื้นที่นั้นไม่มีโรคนี้จริงๆ
สำหรับสถานการณ์ที่คนไทยในต่างประเทศจะเดินทางกลับไทยนั้น นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ในวันที่ 23 เม.ย.จะมีคนไทยกลับจากตุรกี 55 คน เป็นกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และจากมาเลเซียอีก 144 คน ส่วนในวันที่ 24 เม.ย.จะมีพระภิกษุ แม่ชี และผู้ปฏิบัติธรรมเดินทางทางกลับ 171 ราย โดยได้ขออนุญาตจากมหาเถรสมาคม (มส.) อนุโลมให้พระภิกษุสามารถจำวัดได้ในสถานที่ที่รัฐจัดเตรียมไว้ให้ 14 วัน และกลับจากญี่ปุ่น 31 คน
นพ.เอนกกล่าวถึงสถานกักกันผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อสำหรับผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศว่า ขณะนี้มีพื้นที่ State Quarantine 14 แห่ง กทม. 10 แห่ง ต่างจังหวัด 4 แห่ง โดยมีผู้ที่ถูกกักกัน 1,478 คน และ Local Quarentine ที่กระจายอยู่ทุกที่ทั่วประเทศ 192 แห่ง มีผู้ที่ถูกกักกัน 3,506 คน โดยกลุ่ม State Quarantine เจ้าหน้าที่ได้คัดกรองคนที่เข้ามาที่สนามบิน โดยใครเป็นกลุ่มเสี่ยงเจ้าหน้าที่จะเก็บตัวอย่างตรวจทันทีและแยกออกมาคัดอีกครั้ง ซึ่งใครที่ไม่ป่วยไม่มีอาการก็ส่งตัวไปกักกันในโรงแรมตามที่กระทรวงกลาโหมได้กำหนดไว้
“State Quarantine เป็นเครื่องมือที่ใช้ลดปริมาณการแพร่เชื้อเข้าสู่ประเทศไทย ดังนั้นอยากให้ประชาชนที่อยู่ละแวกโรงแรมให้ความร่วมมือช่วยกันสนับสนุนภาครัฐ แต่อย่าต่อต้านคนกลุ่มนี้ถ้าเข้ามา เพราะเป็นหัวใจหลักที่จะหยุดการระบาด และอยากให้เข้าใจว่าเชื้อโรคไม่ได้แพร่ออกจากห้อง แต่แพร่ออกจากร่างกายจากการจาม ไอ สัมผัส” นพ.เอนกกล่าว
คดีพุ่งเพราะจับเชิงรุก
ส่วนผลการปฏิบัติงานด้านความมั่นคงในช่วงเคอร์ฟิวนั้น นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า คืนวันที่ 22 เม.ย.ต่อเนื่องเช้าวันที่ 23 เม.ย. มีผู้ฝ่าฝืนออกนอกเคหสถาน 617 ราย เพิ่มขึ้นจากคืนก่อน 63 ราย โดยเป็นการชุมนุมมั่วสุม 106 ราย เพิ่มขึ้น 51 ราย ซึ่งได้สอบถามในที่ประชุม ศบค.วงเล็กว่าทำไมตัวเลขจึงเพิ่มขึ้น ตัวแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) รายงานว่า ตอนนี้มีการปรับกระบวนการลดการตั้งด่านตรวจลง เพราะคนทำผิดไม่ได้อยู่บนถนน แต่อยู่ที่บ้านและในชุมชน มีการเล่นการพนัน ดื่มสุรา และยาเสพติดอยู่ที่บ้าน จึงจะต้องทำงานเชิงรุกโดยเพิ่มสายตรวจเข้าไปในชุมชน ทั้งนี้ตั้งแต่ประกาศเคอร์ฟิว พบว่ามีผู้ออกนอกเคหสถานโดยไม่มีเหตุอันสมควร 16,179 ราย ตักเตือน 2,983 ราย ดำเนินคดี 1,3196 ราย ขณะที่ผู้รวมกลุ่มชุมนุมมั่วสุมในลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ 1,835 ราย ดำเนินคดี 1,730 ราย ส่วนจังหวัดที่กระทำผิดมากที่สุด ได้แก่ ภูเก็ต, กรุงเทพฯ, ปทุมธานี, ราชบุรี และระยอง
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร.เปิดเผยถึงกลุ่มแรงงานเทปูน 15 คนที่ถูกจับดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนเคอร์ฟิวว่า ผู้ต้องหาทั้ง 15 คนได้ขออนุญาตประกันตัวในชั้นสอบสวน โดยมีหลักทรัพย์ประกันเป็นเงินสดคนละ 40,000 บาท ซึ่งพนักงานสอบสวนจะต้องรวบรวมพยานหลักฐานและส่งสำนวนต่อศาลแขวงสมุทรปราการภายในเวลา 30 วัน ส่วนประเด็นฉีกเอกสารตามที่เป็นข่าวนั้น ได้มีคำสั่งตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงพร้อมรายงานผลภายใน 7 วัน
รองโฆษก ตร.กล่าวต่ออีกว่า ผลการปฏิบัติช่วงเคอร์ฟิวตั้งแต่วันที่ 3-23 เม.ย. พบผู้ฝ่าฝืนออกนอกเคหสถานโดยไม่มีเหตุอันสมควรกว่า 16,000 คน และผู้ฝ่าฝืนรวมกลุ่ม ชุมนุม หรือมั่วสุมในลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อกว่า 1,800 คน จะเห็นได้ว่ายังคงมีผู้ที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดตามประกาศเป็นจำนวนมาก และต้องขอขอบคุณประชาชนส่วนใหญ่ที่ให้ความร่วมมือซึ่งก็ปฏิบัติได้ดี
นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวถึงข้อมูลสถิติคดีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ว่าภาพรวมสถิติคดีสะสมตั้งแต่วันที่ 3-23 เม.ย.63 รวม 20 วัน มีคดีที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลทั้งหมด 15,961 คดี พิพากษาแล้วเสร็จ 14,984 คดี หรือ 93.88% ข้อหาที่มีการกระทำความผิดมากที่สุดคือฝ่าฝืน พ.ร.ก. 18,203 คน
นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า เมื่อพิจารณาปริมาณคดีที่เข้าสู่ศาลช่วงแรก ตั้งแต่วันที่ 3-13 เม.ย. มีจำนวนเฉลี่ย 818 คดี/วัน ในขณะที่ปริมาณคดีที่เข้าสู่ศาลช่วงหลังตั้งแต่วันที่ 14-22 เม.ย.พบมีปริมาณคดีที่ขึ้นสู่ชั้นศาลลดลง เฉลี่ยจำนวน 772 คดี/ต่อวัน หรือลดลง 5.6% เนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดทั่วประเทศ ทำให้ผู้กระทำผิดไม่กล้าฝ่าฝืนกฎหมาย ส่วนจังหวัดที่ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินสูงสุดคือ กทม. ตามมาด้วยปทุมธานีและชลบุรี
ส่วนกรณีมีหนุ่มไลฟ์สดเต้นวิบวับท้าเคอร์ฟิวเมื่อวันที่ 19 เม.ย. บริเวณตลาดในเขตเทศบาลเมืองสระบุรี ศาลแขวงสระบุรีมีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้ปรับ 5,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงปรับ 2,500 บาท หักวันควบคุม 1 วัน คงเหลือ 2,000 บาท.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |