เห็นหน้าของนายกฯ หลี่เสียนหลง ของสิงคโปร์ แถลงต่อประชาชนเมื่อ 2 วันก่อนแล้วรู้เลยว่าท่านเครียดหนัก
เพราะต้องประกาศขยายมาตรการเข้มข้นที่เรียกว่า Circuit Breaker ไปอีก 4 สัปดาห์ ถึงวันที่ 1 มิถุนายน
เพราะตัวเลขติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นอย่างน่ากลัว
มีคำถามว่าสิงคโปร์พลาดได้อย่างไรกับการตั้งรับโควิด-19 จนต้องเจอกับจำนวนคนติดเชื้อที่พุ่งพรวดพราดขึ้นอย่างนี้
ทั้งๆ ที่ตอนแรกๆ นั้นได้รับคำชมว่าใช้มาตรการเข้มข้นถึงขั้น “เอาอยู่”
• ชาร์ตนี้แสดงเส้นวิ่งขึ้นของจำนวนคนงานต่างด้าวสิงคโปร์ที่ติดเชื้อ...และเส้นล่างคือคนสิงคโปร์ที่ป่วย ห่างกันลิบลับ
เหตุน่าจะเป็นเพราะมองข้ามชุมชนของ “คนงานต่างด้าว” ที่กระจายตัวอยู่ในหอพักอย่างน้อย 43 แห่งทั่วเกาะ
ส่วนใหญ่เป็นคนงานจากบังกลาเทศ, ศรีลังกา, เวียดนามและไทย
(คนงานไทยที่สิงคโปร์มีประมาณ 3,000 คน ตามตัวเลขของสถานทูตไทยที่นั่น คนไทยติดเชื้อ 39 คน ในจำนวนนี้เป็นคนงานไทย 25 คน)
ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ภาพการสู้กับไวรัสของสิงคโปร์ดูดี มีความเข้มแข็ง ได้รับคำชื่นชมจากหลายองค์กรระหว่างประเทศ
ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น มีคนงานชาวบังกลาเทศวัย 39 คนหนึ่ง (หนึ่งในประชากรแรงงานต่างด้าวเกือบ 1 ล้านคน) มีอาการติดเชื้อโควิด
เขาไปหาคลินิก แต่ถูกส่งกลับบ้าน จากนั้นเขาก็ไปโรงพยาบาล แต่ก็ไม่ได้รับการรักษา
ที่อยู่ที่กินของคนงานต่างด้าวเป็นหอพัก อยู่กันค่อนข้างแออัดยัดเยียด บางห้องอยู่ถึง 10 คน ใช้ห้องน้ำและครัวเดียวกัน
คนงานบังกลาเทศคนนี้ไปแวะเวียนที่ร้านขายของชื่อดัง Mustafa Center บ่อยๆ เพราะเป็นจุดนัดพบของคนงานต่างด้านจำนวนมาก
กว่าจะได้รับเข้าโรงพยาบาลก็คือวันที่ 7 กุมภาพันธ์
วันต่อมาหมอบอกว่าเขาติดเชื้อโควิดแล้ว
เขาคือคนไข้หมายเลข 42
เขาคือเหยื่อของไวรัสกลายพันธุ์คนแรกในหมู่คนงานต่างด้าวที่พักพิงอยู่ในหอพัก
ถึงวันนี้ จำนวนคนงานต่างด้าวที่ติดเชื้อสูงถึง 70% ของคนป่วยทั้งหมดกว่า 8,000 คน
สัปดาห์ที่ผ่านมาสิงคโปร์รายงานคนติดเชื้อใหม่เกิน 1,000 คนเกือบทุกวัน
ร้อนถึงนายกฯ หลี่เสียนหลงต้องออกมาพูดกับประชาชนอีกครั้งเมื่อบ่ายวันอังคารที่ผ่านมา เพื่อตอกย้ำความจำเป็นที่จะต้องเดินหน้ารักษาความเข้มข้นของมาตรการ “ตัดวงจร” หรือ Circuit Breaker จนกว่าสถานการณ์จะกระเตื้องขึ้น
คนเสียชีวิตรายแรกเกิดขึ้นปลายเดือนมีนาคม และถึงวันนี้ก็ยังอยู่ที่ 11 คน (ณ วันที่ 21 เมษายน)
จุดอ่อนของสิงคโปร์อยู่ที่การมองข้าม “ชุมชนแออัด” ของคนงานต่างด้าวในตอนแรก มุ่งไปที่ประชากรส่วนใหญ่บนเกาะมากกว่า
สิงคโปร์ก็เหมือนหลายประเทศที่ยังใช้วิธีแบบเดียวกับการจัดการกับ SARS เมื่อปี 2003
วิธีนั้นเรียกว่า Contact tracing หรือการตามหาคนที่อาจจะสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ
แต่โควิด-19 มีความแตกต่างจากซาร์สในหลายด้าน
เกาหลีใต้ก็เจอกับสถานการณ์คล้ายกัน มีกรณีของคนไข้หมายเลข 31 ที่ไปร่วมกิจกรรมศาสนากลุ่มใหญ่ และกลายเป็น “super spreader” หรือผู้แพร่เชื้อหลักคนหนึ่ง
กว่าเธอจะได้รับการดูแลรักษาก็ได้แพร่เชื้อไปให้คนจำนวนมากแล้ว
เกาหลีใต้ปรับแผนตั้งรับจาก Contact tracing สู่ Community Testing อันหมายถึงการเข้าไปเจาะกลุ่มผู้คนในชุมชนที่กลายเป็น “โรงงานผลิตเชื้อโรค”
วิธีการนี้สิงคโปร์ก็นำมาใช้ภายหลังเหมือนเกาหลีใต้
นั่นคือเข้าไปไล่ตรวจทุกคนในชุมชนนั้นเพื่อสกัดการแพร่อย่างจริงจัง
นายกฯ หลี่เสียนหลงเรียกวิธีนี้ว่า Aggressive Testing
แต่ดูเหมือนจะช้าเกินไป
วันที่ 14 เมษายน กระทรวงสาธารณสุขที่นั่นบอกว่าได้ตรวจคนงานต่างด้าวไปแล้ว 1,500 คน และกำลังจะตรวจอีก 5,000 คน
แต่จำนวนคนงานต่างด้าวที่อาศัยรวมกันอย่างหนาแน่นในหอพักต่างๆ มีกว่า 200,000 คน สภาพความเป็นอยู่ของหอพักเหล่านั้นค่อนข้างจะเอื้อต่อการแพร่กระจายของโรคติดต่อ
นี่เป็นสัปดาห์ที่ 3 ของการ lockdown ที่เรียกว่า “ปฏิบัติการตัดวงจร” โดยเน้นที่คนงานต่างด้าว
นายกฯ สิงคโปร์ยอมรับว่ายังมีเรื่องท้าทายอีกมาก และการขอให้คนอยู่บ้านยังไม่ได้รับความร่วมมือเต็มที่
ใครฝ่าฝืนคำสั่งห้ามมีกิจกรรมที่รวมตัวกันถูกปรับ 9,000 บาท
จากที่เคยบอกประชาชนตอนแรกๆ ว่าหากไม่ป่วยไม่ต้องใส่หน้ากากอนามัย ก็มาสำทับว่าขอให้ใส่ทุกครั้งที่ออกจากบ้าน
ผ่านมาสองเดือนในห้องไอซียู “คนไข้หมายเลข 42” ยังอยู่ในโรงพยาบาล ภรรยาคลอดลูกระหว่างที่เขายังรักษาตัวอยู่ และเริ่มจะหายใจด้วยตัวเองได้แล้ว
นายกฯ หลี่พูดถึงเขาในคำปราศรัยล่าสุด...ยืนยันว่ารัฐบาลจะดูแลคนงานต่างด้าวเหมือนประชาชนคนสิงคโปร์เองอย่างเต็มที่
ทุกคนล้วนได้บทเรียนจากโควิด-19 ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว เบาหรือแรง ทางตรงหรือทางอ้อม!.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |