23 เม.ย.63 - นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงชี้แจงกรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกมาเปิดเผยว่า ป.ป.ช.ยกข้อกล่าวหานายวัฒนา อัศวเหม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมช.มหาดไทย, นายณรงค์ ยอดศิรจินดา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลคลองด่าน, นายชะเอม ปู่มิ้ม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลคลองด่าน และนายบุญลือ โพธิ์อรุณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลคลองด่าน ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ข่มขืนใจ หรือจูงใจให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลคลองด่าน จัดประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลคลองด่าน เพื่อให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ก่อสร้างอาคารโครงการจัดการน้ำเสีย และได้มีการจัดทำหลักฐานการประชุมสภาอันเป็นเท็จ และจะส่งผลให้คดีความต่างๆ ที่เกี่ยวกับนายวัฒนาอาจจะต้องมีการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่นั้น
สำนักงาน ป.ป.ช.ขอชี้แจงว่า กรณีดังกล่าว จากการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่า ทางสภาองค์การบริหารส่วนตำบลคลองด่าน ได้มีการประชุมสภาสมัยวิสามัญประจำปี 2541 สมัยที่ 1 ครั้งที่ 1/2541 และพิจารณาเรื่องขอใช้พื้นที่เพื่อการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย โดยมติที่ประชุมได้ยินยอมให้ใช้พื้นที่เพื่อการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียเป็นเอกฉันท์ หลังจากนั้นองค์การบริหารส่วนตำบลคลองด่าน จึงได้มีหนังสือถึงนายอำเภอบางบ่อ แจ้งว่าองค์การบริหารส่วนตำบลคลองด่าน ได้พิจารณาโครงการดังกล่าวแล้ว ยินดีให้ใช้พื้นที่เพื่อการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียและใช้งานในการบำบัดน้ำเสียตลอดระยะเวลาโครงการ และส่งหนังสือยินยอมขององค์การบริหารส่วนตำบลคลองด่านให้ใช้พื้นที่เพื่อการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียบริเวณตำบลคลองด่าน ให้แก่กรมกรมควบคุมมลพิษเพื่อประกอบการเบิกเงินค่าจัดซื้อที่ดินต่อไป
นายวรวิทย์ กล่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาแล้ว มีมติว่าจากการไต่สวนข้อเท็จจริงไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่า นายณรงค์ นายชะเอม และนายบุญลือ ได้ร่วมกันจัดทำหลักฐานการประชุมสภาฯ อันเป็นเท็จ ตามข้อกล่าวหา ให้ข้อกล่าวหาตกไป ส่วนนายวัฒนา อัศวเหม ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่ามีส่วนในการเร่งรัดหรือข่มขืนใจให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลคลองด่านลงมติดังกล่าวหรือไม่ ประกอบกับนายวัฒนา อัศวเหม ได้หลบหนีหมายจับตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ อม.2/2551 จนกระทั่งปัจจุบัน เป็นเหตุให้คดีขาดอายุความแล้ว สิทธินำคดีมาอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) จึงมีมติให้ยุติการไต่สวน
ซึ่งกรณีดังกล่าวข้างต้นการกระทำของนายวัฒนา เป็นคนละกรณีกับการที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำ ที่ อม.2/2550 คดีหมายเลขแดงที่ อม.2/2551จำคุกนายวัฒนา เป็นเวลา 10 ปี ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 ซึ่งได้กระทำเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ระหว่าง พ.ศ. 2531 ถึง พ.ศ. 2535 ได้ใช้อำนาจข่มขืนใจหรือจูงใจเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองและเจ้าพนักงานสำนักงานที่ดินจังหวัด สมุทรปราการ สาขาบางพลี ให้ร่วมกันดำเนินการออกโฉนดที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ ในเขตพื้นที่สงวนหวงห้าม ทับที่สาธารณประโยชน์ ให้แก่นายวัฒนา ในนามของบริษัท ปาล์มบีช ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด โดยมิชอบ และยังเป็นคนละกรณีกับกรณีที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษา ที่ 8064/2560 เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2560 จำคุกนายวัฒนา เป็นเวลา 3 ปี ในความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 (เดิม) ซึ่งนายวัฒนา กับพวกได้ร่วมกันรวบรวมที่ดิน แล้วนำมาเสนอขายกรมควบคุมมลพิษ (เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2540) โดยหลอกลวงและปกปิดข้อเท็จจริงที่ว่าที่ดินที่มีเนื้อที่ไม่ครบ เนื่องจากมีการออกโฉนดโดยมิชอบออกทับคลองและถนนสาธารณะ
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |