“ประยุทธ์” ฉุนคำประกาศ “อภิสิทธิ์” อัดพูดอะไรระมัดระวังให้เกียรติกันบ้าง เตือนรอดูหลังเลือกตั้งจะเปลี่ยนท่าทีอะไรยังไง! ย้ำให้ สนช.ส่งเรื่องตีความกฎหมาย ส.ส.แล้ว เชื่อไม่กระทบโรดแมป “พรเพชร” สนองทันควันหนีบ 27 รายชื่อถึงศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนเรื่องแก้คำสั่ง คสช.53/2560 ยังต้องร้องเพลงรอ จับตา 4 เม.ย. "หญิงหน่อย" โชว์ท่าทีในเพื่อไทย
เมื่อวันอังคารที่ 3 เมษายน หลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ประกาศว่าหากใครสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ คนนอก ไม่ต้องมาที่พรรค ปชป. ให้ไปที่อื่น ว่าพูดอะไรมาก็ระมัดระวังไว้ด้วย การพูดจาต่างๆ ต้องระมัดระวัง และอยู่ที่ประชาชนเขาจะเชื่อถือได้แค่ไหนอย่างไร
“ผมไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องมาสนับสนุน แต่กรุณาพูดจาให้มันดีๆ ใครจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนผมก็แล้วแต่เขา ไอ้การพูดอย่างนี้มันฟังดูดีหรือเปล่า ให้เกียรติซึ่งกันและกันหรือเปล่า ถ้าบางเวลาผมมีอารมณ์ขึ้นมาแล้วผมพูดไปมันก็เสียหายด้วยกันทั้งหมด ผมไม่อยากจะมีอารมณ์ตรงนี้ ประชาชนก็ไปใคร่ครวญเอาเอง และดูด้วยวันหน้าเขาจะทำตัวกันอย่างไรที่ออกมาพูดกันวันนี้ ลองคอยดูวันหน้าก็แล้วกัน เลือกตั้งแล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น แล้วเขาจะเปลี่ยนท่าทีอะไรกันอย่างไร ก็ไปคอยดูตรงนู้นแล้วกัน แล้วค่อยไปถามเขาอีกที” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการยื่นตีความร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ว่าเรื่องนี้มีการประสานหารือกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลให้เกิดความชัดเจนขึ้นก่อนนำร่างดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อให้เกิดความเรียบร้อย ไม่มีความขัดแย้งมาในภายหลัง อย่างที่ทุกคนเป็นห่วง เพราะหลายคนก็เป็นห่วงในเรื่องนี้ ดังนั้นเพื่อความสบายใจ ขณะนี้ทาง สนช.ได้ส่งหนังสือมาแล้ว ว่ามีสมาชิก สนช.จะเข้าชื่อเพื่อส่งร่างดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ และรัฐบาลได้ส่งเรื่องกลับไปแล้ว อยู่ในขั้นตอนที่จะขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญ
“ทุกฝ่ายพยายามทำทุกอย่างไม่ให้เกิดปัญหาในการเลือกตั้งในภายหลัง โดยประสานงานกันอย่างใกล้ชิด ไม่ต้องการให้มีการกระทบโรดแมปใดๆ ก็ตาม” นายกฯ กล่าว
ขณะที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. กล่าวว่า ได้รับหนังสือตอบกลับจากนายกฯ แล้วเมื่อเวลา 17.00 น. ของวันที่ 2 เม.ย. โดยเนื้อหาหนังสือระบุเพียงสั้นๆ ว่า เห็นควรให้สมาชิก สนช.ดำเนินการยื่นร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เพราะเป็นเรื่องของสมาชิก สนช.ที่เข้าชื่อกัน ดังนั้นจึงต้องดำเนินการตามกฎหมาย โดยได้ให้เจ้าหน้าที่ไปยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว พร้อมทั้งขอความอนุเคราะห์ให้ศาลพิจารณาโดยเร็วด้วย
สนช.ยื่นเรื่องตีความแล้ว
และเมื่อเวลา 15.00 น. เจ้าหน้าที่จากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้นำหนังสือพร้อมสำเนาคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่มาส่งยังศาลแล้ว โดยส่งให้ตีความ 2 ประเด็น คือ 1.การตัดสิทธิ์ผู้ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง โดยให้ผู้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ข้าราชการรัฐสภา รองผู้บริหารท้องถิ่น และที่ปรึกษา ฯลฯ ต้องพ้นจากตำแหน่งทันทีที่ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง และ 2.ให้มีคนสามารถช่วยผู้พิการกาบัตรเลือกตั้งได้
สำหรับรายชื่อ 27 สมาชิก สนช.ที่ร่วมลงชื่อยื่นตีความนั้น ประกอบด้วย 1.นายปรีชา วัชราภัย 2.นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ 3.นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ 4.นายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล 5.นายศักดิ์ชัย ธนบุญชัย 6.นายสนิท อักษรแก้ว 7.นายวิทวัส บุญญสถิต 8.นายศักดิ์ทิพย์ ไกรฤกษ์ 9.นายธานี อ่อนละเอียด 10.นายอนุวัฒน์ เมธีวิบูลวุฒิ 11.นายนิเวศน์ นันทจิต 12.นายบุญชัย โชควัฒนา 13.นางนิพัทรา อมรรัตนเมธา 14.พล.ร.อ.ทวีวุฒิ พงศ์พิพัฒน์ 15.นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง 16.พล.อ.สุนทร ขำคมกุล 17.นายภาณุ อุทัยรัตน์ 18.นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ 19.นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข 20.นายประมุท สูตะบุตร 21.พล.อ.อ.อานนท์ จารยะพันธุ์ 22.พล.ร.อ.กฤษฎา เจริญพานิช 23.นายเจริญศักดิ์ ศาลากิจ 24.นายสาธิต ชาญเชาวน์กุล 25.นายกิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย 26.นายชาญวิทย์ วสยางกูร และ 27.นายเจน นำชัยศิริ
สำหรับความชัดเจนในการแก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ตามที่พรรคการเมืองเรียกร้องนั้น พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า วันนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้หารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพื่อเสนอ คสช.ในประเด็นข้อติดขัดต่างๆ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการดำเนินการทางธุรการ รัฐบาลกับ คสช.จะดูตรงนี้ว่าจะแก้ไขประการใด แต่ไม่ขอใช้คำว่ายกเลิก อาจแก้ไขในบางประเด็นเพื่อลดปัญหาเชิงธุรการของบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งพรรคเก่าและพรรคใหม่
ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม กล่าวในเรื่องนี้ว่า ยังไม่ได้มีการพูดถึงกันเลย เขากำลังพิจารณากันอยู่ว่าจะแก้ไขอย่างไร ต้องให้รัฐบาล คสช.และ กกต.หารือกันก่อน
เมื่อถามว่า ได้ประเมินบรรยากาศการยืนยันสมาชิกพรรคการเมืองเพื่อเตรียมปลดล็อกหลัง คสช.เชิญฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงพรรคการเมืองหารือในเดือน มิ.ย.ในเรื่องความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่มี บอกไปแล้วว่าเดือน มิ.ย.ไงเล่า
และเมื่อถามย้ำว่า จะไม่มีการปลดล็อกพรรคการเมืองเร็วขึ้นใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรไม่ตอบคำถาม แล้วรีบเดินไปที่รถทันที
ส่วนนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.และสมาชิก คสช. กล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว ส่วนกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นคำร้องของพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยให้วินิจฉัยคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับดังกล่าวจะมีผลทำให้การแก้ไขดังกล่าวต้องยับยั้งหรือเดินหน้าได้หรือไม่นั้น ตอบไม่ได้ว่าการแก้ไขจะทำได้หรือไม่ เพราะยังไม่ทราบว่าประเด็นที่ยื่นตีความนั้นเป็นเรื่องเดียวกันกับประเด็นที่จะแก้ไขหรือไม่ ทั้งนี้ ต้องพิจารณาเนื้อหาว่าจะแก้ไขเรื่องอะไร หากไม่ใช่เรื่องเดียวกันอาจเดินหน้าได้ แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่ทราบ เพราะเรื่องยังมาไม่ถึง
ขณะที่นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ศึกษาข้อมูลและเตรียมเอาไว้ให้หมด แต่ยังบอกไม่ได้ว่ามีเรื่องใดบ้าง โดยประเด็นที่ศึกษาเป็นเรื่องเดียวกับที่พรรคการเมืองออกมาท้วงติง เมื่อมีประเด็นที่ใครท้วงติงก็ต้องศึกษาทั้งหมด เตรียมข้อมูลเอาไว้ว่าเกี่ยวข้องกับคำสั่งฉบับใด ข้อเสนอเป็นอย่างไร และเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้สั่งการอะไร ส่วนจะเริ่มแก้ไขในคำสั่งใดบ้าง และจะทำเมื่อใด รวมถึงต้องเข้าที่ประชุม คสช.พิจารณาเห็นชอบหรือไม่นั้น ต้องถามจากนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ
นายดิสทัตยังกล่าวถึงความคืบหน้าการยกร่างแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น 6 ฉบับว่า ได้พิจารณามา 6 ครั้ง และดำเนินการไปกว่า 50 จาก 130 มาตรา ถือว่าเร็วมาก แต่ยังบอกไม่ได้ว่าจะเสนอต่อ สนช.เมื่อใด
กปปส.-ชท.ดอดพบ”สมคิด”
วันเดียวกัน เมื่อเวลา 13.30 น. ภายหลังประชุม ครม. นายสกลธี ภัททิยกุล และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) พร้อมด้วยนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ อดีต ส.ส.สิงห์บุรี พรรคชาติไทย ได้เดินทางเข้าพบนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ที่ห้องทำงาน และใช้เวลาหารือนานกว่า 2 ชั่วโมง
มีรายงานแจ้งว่า การเข้าพบครั้งนี้ นายสกลธีเป็นผู้นำทั้งสองคนมาหานายสมคิดเพื่อพูดคุยถึงอนาคตทางการเมือง เพราะทั้ง 2 รายยังไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองใด โดยนายณัฏฐพลขาดจากความเป็นสมาชิกพรรค ปชป. เนื่องจากไปบรรพชามา ส่วนนายชัยวุฒิ ตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคชาติไทย ก็ยังไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใด
ต่อมานายณัฏฐพลกล่าวภายหลังเข้าพบว่า มาหารือเกี่ยวกับโรงเรียนนานาชาติของตนเองที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ว่าจะพัฒนารองรับบุตรหลานนักลงทุนได้อย่างไรหรือไม่
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า จะไปยืนยันการเป็นสมาชิกพรรค ปชป.หรือไม่ นายณัฏฐพลกล่าวว่า ขาดความเป็นสมาชิกภาพแล้ว เพราะช่วงที่ผ่านมาได้ไปบรรพชามา และเมื่อถามย้ำว่า แล้วจะไปสมัครเป็นสมาชิกพรรค ปชป.หรือไม่ นายณัฏฐพลยิ้มพร้อมระบุว่า ตอนนี้ขอทำโรงเรียนก่อน
ขณะที่นายสกลธีกล่าวว่า ได้ยืนยันความเป็นสมาชิกกับ ปชป. เมื่อวันที่ 1 เม.ย.แล้ว
ด้านนายสมคิดกล่าวเพียงสั้นๆ ถึงการหารือว่า ไม่มีอะไร ไม่ใช่เรื่องการเมือง
ขณะเดียวกัน ยังมีความเคลื่อนไหวน่าสนใจที่พรรคเพื่อไทย (พท.) เมื่อ นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พท. กล่าวว่า ในวันที่ 4 เม.ย. ตนเองพร้อมเพื่อนอดีต ส.ส.อีสานหลายคน จะเดินทางไปยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคแน่นอน พร้อมถือโอกาสพบปะสังสรรค์ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ส่วนกระแสข่าวกลุ่มอดีต ส.ส.บางพื้นที่ที่สุ่มเสี่ยงจะไปร่วมงานกับพรรคการเมืองอื่นอาจไม่เดินทางมายืนยันความเป็นสมาชิกพรรคนั้น เชื่อว่าคงไม่มีใครกล้าประกาศ แต่อยากให้ผู้สื่อข่าวมารอทำข่าวถ่ายภาพ
“มั่นใจว่าในวันที่ 4 เม.ย.จะมีคนมายืนยันสมาชิกพรรคเป็นจำนวนมาก แต่ถึงบางคนที่ไม่มา ไม่ใช่เหตุผลจะย้ายพรรค แต่อาจติดธุระหรือไปต่างประเทศก็ได้ แล้วค่อยมายืนยันความเป็นสมาชิกพรรคภายหลัง มาตอนนี้ ในแง่กำลังใจเป็นเหมือนสัญลักษณ์ แสดงให้เห็นว่ายังเหนียวแน่นกับพรรค” นพ.เชิดชัยกล่าว
รายงานข่าวจาก พท.แจ้งว่า ฐานข้อมูลการเป็นสมาชิกพรรคเดิมมีสมาชิกประมาณ 1.3 แสนคน ซึ่งหลัง คสช.ผ่อนคลายให้พรรคตรวจสอบสมาชิกพรรคตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ก็มีสมาชิกทั้งลาออก และยืนยันความเป็นสมาชิกพรรค ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของพรรคการเมือง แต่ยังไม่ใช่บทสรุปทั้งหมด ต้องรอประมวลผลอีกครั้งในวันที่ 30 เม.ย.
รายงานแจ้งอีกว่า ส่วนเรื่องความเป็นสมาชิกพรรคของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคที่ได้รับมอบหมายให้มาถือธงนำพรรคนั้น ก็ยังไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค ทำให้อดีต ส.ส.บางคนกังวลอาจเข้าข่ายเงื่อนไขบุคคลภายนอกเข้ามายุ่มย่าม สั่งการ ซึ่งตามกฎหมายใหม่ หากมีการร้องเรียนอาจนำไปสู่การยุบพรรคได้ เรื่องนี้แม้แต่คนใกล้ชิดคุณหญิงสุดารัตน์บางรายก็ไม่ทราบสาเหตุถึงการไม่มาสมัครเป็นสมาชิกพรรคว่าเป็นเพราะสาเหตุใด แต่เข้าใจว่าน่าจะสมัครอย่างเป็นทางการในวันที่ คสช.ปลดล็อกให้พรรคการเมือง นักการเมืองได้ทำกิจกรรมได้เต็มรูปแบบมากกว่าตอนนี้ที่ คสช.เพียงแค่ผ่อนคลายให้พรรคดำเนินการเรื่องสมาชิกพรรคและงานธุรการเท่านั้น
“งานเทศกาลสงกรานต์ที่พรรคจัดพิธีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ของพรรคในวันที่ 4 เม.ย. จากความคลุมเครือในเรื่องความเป็นสมาชิกพรรค ก็ยังไม่แน่ชัดว่าคุณหญิงสุดารัตน์จะเดินทางมาร่วมงานด้วยหรือไม่” รายงานระบุ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |