วันที่ 23 เม.ย.- นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สถานการณ์วิกฤต COVID-19 ที่กำลังส่งผลกับการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะ จากรายงานของ ทส.โดย กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ล่าสุด พบว่า ขยะเพิ่มปริมาณขึ้น โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 15% จากการใช้บริการรับส่งอาหารที่มากขึ้นถึง 3 เท่า เนื่องจากคนส่วนใหญ่ทำงานจากที่บ้านและการหยุดโรงเรียน นอกจากนี้ ข้อมูลจากกรุงเทพมหานครยังระบุถึงขยะอาหารและขยะหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วเพิ่มขึ้นถึง 1,500 กิโลกรัมต่อวัน ปริมาณขยะเป็นเรื่องของวิกฤติซ้อนวิกฤติและต้องมีการเร่งรับมือ โดยการดำเนินการจัดการอย่างมีส่วนร่วมจาก ภาคประชาชน ภาครัฐ และ ภาคเอกชน มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะแก้ไขปัญหานี้ ทส. อยากขอให้ประชาชนและผู้ประกอบการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกเท่าที่มีความจำเป็น ลดขยะพลาสติกและแยกขยะเพื่อนำกลับมารีไซเคิล ส่วนขยะอาหารและขยะหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว อยากขอความร่วมมือภาคประชาชนให้แยกขยะก่อนทิ้ง เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อให้กับพนักงานเก็บขยะและลดภาระบ่อฝังกลบ ทั้งนี้ หากสถานการณ์ COVID-19 เข้าสู่สภาวะปกติ อยากขอความร่วมมือประชาชนอีกครั้ง หลังจากวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 รณรงค์ลด ละ เลิก ใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง หากมีความจำเป็นต้องใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง อยากให้ทุกคนคัดแยกขยะเพื่อนำขยะกลับมารีไซเคิล เพื่อสร้างประโยชน์ใหม่อย่างมีคุณค่า
นายวราวุธ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ทส. ร่วมกับเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย(TRBN) จัดโครงการ“ส่งพลาสติกกลับบ้าน”เกิดจากแนวคิดว่าทุกครัวเรือน คือ ต้นทางที่สามารถมีส่วนรวมในการลดและจัดการกับปัญหาปริมาณขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือ single use plastic ที่เพิ่มขึ้นนี้ได้ง่ายๆ และทำได้ทันที ระยะแรกเป็นการรณรงค์ให้ครัวเรือนร่วมกันแยกขยะติดเชื้อและรีไซเคิลออกจากขยะทั่วไป ขณะที่การดำเนินงานในระยะต่อไป ช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนที่จะถึง โครงการจะดำเนินการโมเดลนำร่องระบบ “การเรียกคืนขยะพลาสติก”บนถนนสุขุมวิท เพื่อลดปริมาณขยะอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยใช้พื้นที่ดิสเคาน์สโตร์ ซูเปอร์มาร์เกต เช่น เทสโก้ โลตัส สาขาอ่อนนุช และกูร์เมต์ มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้าเอ็มควอเทียร์ ฯลฯ เป็นจุดรับขยะพลาสติกสะอาดและแห้งจากผู้บริโภค เพื่อเข้าสู่เครือข่ายผู้ให้บริการและขนส่งทรัพยากรไปยัง “Waste hub” และเข้าสู่ขั้นตอนการรีไซเคิล (recycle)ไปจนอัพไซเคิล (upcycle) และหวังว่าโครงการจะสามารถขยายผลโมเดล “การเรียกคืนขยะพลาสติก”ไปสู่ถนนอื่นๆ รวมถึงการมีพันธมิตรมากขึ้นในการดำเนินการในอนาคต