23 เม.ย.63 - ที่วัดเขาย้อย หมู่ 5 ต.เขาย้อย อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี มีศิลปินชาวเพชรบุรีได้สร้างสรรค์งานประติมากรรมปูนปั้นรูปหนุมานใส่หน้ากากอนามัย เพื่อสะท้อนถึงเรื่องราวการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน
โดยพบว่าที่บริเวณทางเข้าสวนสาธารณะของวัดเขาย้อย ซึ่งตั้งอยู่บริเวณตรงข้ามถ้ำเขาย้อย มีการจัดสร้างปูนปั้นรูปหนุมานขนาดใหญ่ ยืนอยู่บนฐานปูนปั้นรูปภูเขา รวมความสูงจากพื้นประมาณ 2.50 เมตร ตัวหนุมานสูงประมาณ 1.60 เมตร ขึ้นรูปด้วยโครงเหล็กและปั้นด้วยปูนตำเมืองเพชรบุรีสีขาว ลักษณะยืนสวมเครื่องทรงประดับด้วยลายเบญจรงค์ มือซ้ายเท้าสะเอว มือขวายกขึ้นลักษณะเกาศีรษะ ที่บริเวณใบหน้ามีการปั้นปูนเป็นหน้ากากอนามัย ปิดคาดบริเวณปากและจมูก
รูปปั้นดังกล่าวมีนายธานินทร์ ชื่นใจ ช่างเขียนลายรดน้ำของจังหวัดเพชรบุรี เป็นผู้ออกแบบท่าทางของหนุมาน ส่วนศิลปินผู้ลงมือปั้นคือ นายสาโรจน์ บุญประเสริฐ ช่างปูนปั้นชื่อดังของจังหวัดเพชรบุรี ที่เคยถวายงานปั้นสัตว์หิมพานต์ประดับพระเมรุมาศ ในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9
นายธานินทร์ เปิดเผยว่า ประติมากรรมปูนปั้นเป็นงานสกุลช่างที่ช่างเพชรบุรีสร้างสรรค์งานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน ส่วนใหญ่จะเป็นงานประเพณีนิยมที่มีรูปแบบและเรื่องราวสืบทอดมาตั้งแต่โบราณ โดยบางครั้งศิลปินอาจมีการสอดแทรกเรื่องราวความคิด สอดแทรกความสนุกสนาน หรือเรื่องราวเหตุการณ์สำคัญในสังคมขณะนั้นเพิ่มเติมลงไปชิ้นงานโดยไม่ทำให้วัตถุประสงค์หลักของเรื่องราวเสียหาย ซึ่งผลงานเช่นนี้เป็นที่รู้จักในคำเรียกว่า “ภาพกาก”
ผลงาน “หนุมานใส่หน้ากากอนามัย” หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “หนุมานโควิด” นับเป็นภาพกากที่สะท้อนถึงเหตุการณ์สำคัญในยุคปัจจุบันชิ้นหนึ่ง ทั้งนี้ผลงานนี้มีที่มาที่ไปเนื่องจากเดิมตนและทีมงานได้รับคำสั่งจากพระมหานิธิกาญจน์ (นิธิวํโส) เจ้าอาวาสวัดเขาย้อย จ.เพชรบุรี ให้ออกแบบจัดทำปูนปั้นรูป พญาวานร 18 มงกุฎ หรือ เทวดา 18 องค์ ที่อาสาลงมาเกิดเป็นพญาวานรเพื่อช่วยพระนารายณ์ที่อวตารมาเป็นพระรามในวรรณกรรมเรื่องรามเกียรติ์ เพื่อประดับจัดสร้างเป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งความรู้ด้านวรรณกรรม และอนุรักษ์ศิลปะเชิงช่าง โดยเริ่มต้นทำตั้งแต่ปี 2562 แล้วเสร็จจำนวน 18 ตัว เมื่อต้นปี 2563 และได้จัดตั้งไว้ทั่วบริเวณวัดเพื่อให้ประชาชนทั่วไปชม
นายธานินทร์ กล่าวต่อไปว่า ช่วงสร้างปูนปั้นพญาวานร 18 มงกุฎใกล้เสร็จ เป็นช่วงเดียวกับที่โลกเกิดมีเหตุการณ์โรคระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตนจึงได้จัดสร้างหนุมานใส่แมสก์เพิ่มขึ้นอีก 1 ตัว โดยสื่อถึงเหตุการณ์สำคัญยุค 2563 ประชาชนทั่วโลกต้องใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันโรค ส่วนท่าทางที่ยกมือเกาศีรษะ สื่อถึงความงุนงงในสาเหตุต้นกำเนิดการเกิดโรค ทั้งนี้เพื่อให้งานปูนปั้นชุดนี้เป็นส่วนหนึ่งในการบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ เป็นการบอกเล่าเรื่องราวเมื่อเวลาผ่านไป และเป็นคติสอนให้ผู้ที่ได้มาชมหยุดคิดระลึกรู้ถึงการป้องกันตนเอง การไม่มีโรคเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และเป็นผลงานหนุมานใส่แมสก์ชิ้นเดียวของโลก
ด้านพระมหานิธิกาญจน์ (นิธิวํโส) เจ้าอาวาสวัดเขาย้อย กล่าวว่า วัดเขาย้อยเป็นสถานทางธรรมที่ต้องการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม และมอบความรู้โอกาสให้แก่เยาวชน ประชาชน ที่ผ่านมาวัดเขาย้อยเคยทำประติมากรรมปูนปั้นนูนต่ำ เป็นรูปเรื่องราวของประเพณีและการละเล่นของไทย พร้อมมีการนำอักษรเบลล์ ซึ่งเป็นตัวอักษรที่ผู้พิการทางสายตาใช้สื่อสารจากการสัมผัสมาติดสื่อความหมาย เพื่อเปิดโอกาสให้คนตาบอดได้รับทราบความหมายของรูปด้วยตนเองเป็นแห่งแรกของประเทศไทยมาแล้ว
"การจัดทำปูนปั้นพญาวานร 18 มงกุฎ ครั้งนี้ก็เป็นอีกหนึ่งโครงการที่วัดต้องการอนุรักษ์ศิลปะเชิงช่างเพชรบุรี และสอดแทรกความรู้ด้านวรรณกรรม รามเกียรติ์ และคติที่แฝงอยู่ในวรรณกรรมที่แสดงออกมาผ่านหนุมาน และ 18 มงกุฎ เพื่อสร้างความรู้ให้กับประชาชน"
ส่วนการจัดทำหนุมานใส่หน้ากากอนามัย เป็นแนวคิดของนายธานินทร์ที่ทำขึ้นมาเพิ่ม และนับเป็นสิ่งที่ดี เพราะเป็นการสอดแทรกเรื่องราวผ่านผลงานทางศิลปะผลงานให้เยาวชนรุ่นหลังได้ทราบถึงเหตุการณ์ที่สำคัญของโลก ให้ความรู้เพิ่มเติมขึ้นอีก และยังมีคติธรรมสอนถึงหนุมานคือ ทหารเอกของพระรามที่มีพละกำลังและฤทธิ์เดชมาก แต่ก็ประมาทไม่ได้ ต้องรู้จักปกป้องตัวเอง และขณะเดียวกันต้องเสียสละปกป้องผู้อื่นด้วย
ทั้งนี้ วัดเขาย้อยจะจัดทำป้ายสื่อความหมายและอักษรเบลล์ ชื่อภาพ บรรยายถึงความสำคัญของพญาวานร 18 มงกุฎ และหนุมานโควิดไว้ที่รูปปูนปั้นแต่ละตัวเพื่อเป็นประโยชน์แก่การศึกษาต่อไป
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |